Posted: 20 Dec 2018 03:09 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-20 18:09


กลุ่มผู้ค้าแผงลอยโพธิ์สามต้น 82 ราย ยอมฝ่าฝืนจะตั้งแผงค้าบนทางเท้า ร้อง กทม.วางมาตรการเยียวยาตามคำสั่งมหาดไทย แม้ว่ากทม.จะมีคำสั่งยกเลิกจุดผ่อนผันแล้วตั้งแต่ปี 60 ขณะที่ทางสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ

20 ธ.ค.2561 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส รายงานว่า กลุ่มผู้ค้าตลาดโพธิ์สามต้น ย่านถนนอิสระภาพ ซอย 23/2 จนถึงซอย 29/2 รวมตัวตั้งแผงค้าบนทางเท้า ในพื้นที่ยกเลิกจุดผ่อนผัน เพื่อเรียกร้องต่อกรุงเทพมหานคร ให้ร่วมหารือการเยียวยาผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ 82 คน

"เราไม่มีที่ไปทางออกไม่มี กลุ่มจึงอารยะขัดขืน เพื่อขอประทังความอยู่รอดไปจนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะประชุม และมีผลออกมาเป็นอย่างไร พวกเรายินดีที่จะปฏิบัติตาม” คำยืนยัน จากตัวแทนผู้ค้าแผงลอยโพธิ์สามต้นที่จะตั้งแผงค้าบนทางเท้า ที่มีการลงทะเบียนกับสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ รวม 82 คน พร้อมบอกว่าจะตั้งแผงค้าบนทางเท้า จนกว่าภาครัฐจะมีความคืบหน้าผลการเยียวยา

กลุ่มผู้ค้าบอกว่า หลังจากที่กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งยกเลิกจุดผ่อนผันบนทางเท้า เมื่อเดือนม.ค. 2560 กลุ่มผู้ค้าพยายามเข้าร้องเรียน เพื่อให้เกิดการหารือร่วมกันกับกรุงเทพมหานคร แต่ไม่เป็นผล จึงร้องเรียนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงมหาดไทย ตั้งกรรมการเพื่อประชุมร่วมบรรเทาทุกข์ให้ผู้เดือดร้อน

ผู้ค้าคนหนึ่งบอกว่า ค้าขายของที่นี่มากว่า 10 ปี ก่อนหน้านี้ยอมออกจากทางเท้า เข้าไปขายในตลาด ภายในซอยอิสระภาพ 25 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รับภาระค่าเช่าวันละ 100 บาทไม่ไหว เพราะไม่มีลูกค้าเดินเข้าไปซื้อ

ไทยพีบีเอสยังรายงานด้วยว่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ตรวจสอบเหตุการณ์ พร้อมให้ข้อมูลว่า เขตบางกอกใหญ่ มีจุดผ่อนผัน 2 จุด ซึ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกการผ่อนผันทั้งหมด ตั้งแต่ม.ค.2560 ไม่พบผู้ค้าฝ่าฝืน กระทั่งวันนี้พบผู้ค้าฝ่าฝืนรวม 21 แผงค้า ยืนยันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกรุงเทพมหานคร แต่วันนี้จะใช้มาตรการทำความเข้าใจก่อนผลักดัน ขณะที่การฝ่าฝืนมีโทษตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่เทศกิจ มีอำนาจกล่าวตักเตือนไปจนถึงจับเปรียบเทียบ ปรับเป็นเงินสูงสุด 2,000 บาท

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีการจัดระเบียบทางเท้า ทั้ง 50 เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร อาทิ ย่านสยาม ปทุมวัน หรือหน้าห้างสรรพสินค้า ย่านลาดพร้าว

ถกจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย รื้อ 3 มายาคติ แนะหาทางออกบนฐานประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ
จี้ 'ประยุทธ์' เร่งแก้ปัญหาของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย หลังร้องมา 60 วันแล้ว ไร้คืบหน้า


สำหรับแถลงการณ์ ของ ชมรมผู้ค้าแผงลอยโพธิ์สามต้น เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ มีดังนี้

18 ธันวาคม 2561
“จะอดตาย จึงต้องออกมา”

นโยบายการจัดระเบียบสังคมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) กำหนดนโยบายจัดระเบียบทางเท้า โดยมุ่งเน้นการขับไล่ผู้ค้าออกจากทางเท้าและยกเลิกจุดผ่อนผัน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาได้ยกเลิกจุดผ่อนผันทั่วกรุงเทพมหานครไปแล้ว 451 จุด ทำให้ผู้ค้ากว่าสองแสนคนและผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย อีกกว่าล้านคนได้รับผลกระทบอย่างมาก

จุดผ่อนผันที่ถูกยกเลิกนี้รวมถึง จุดผ่อนผันบนทางเท้าขนาด 4.6 เมตร บริเวณตลาดโพธิ์สามต้น (บริเวณถนนอิสรภาพ ซอยอิสรภาพ 23/2 – 29/2) โดยเขตบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นเขตชานเมือง และแผงลอยไม่เคยสร้างปัญหาเรื่องการจราจร ได้มีคำสั่งยกเลิก เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 โดยไร้ซึ่งมาตรการเยียวยา และไร้การปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ผู้ค้าจำนวนกว่า 82 ราย ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงมีอายุตั้งแต่ 45-75 ปี และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้ากับทางสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ เพื่อค้าขายบนจุดผ่อนผันนี้มาตั้งแต่ปี 2533 เป็นเวลากว่า 28 ปี ที่ผู้หญิงเหล่านี้ได้มีโอกาสประกอบอาชีพสุตจริต เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลและสังคม แต่ทว่านโยบายกวาดล้างแผงลอยประหนึ่งว่าเป็นอาชญากรของกรุงเทพมหานคร ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ค้าอย่างหนัก ไม่สามารถทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองได้เหมือนเช่นเคย

เมื่อไร้หนทาง ผู้ค้าจึงรวมตัวกันเพื่อไปเช่าที่ดินเอกชนขายของ แม้ว่าจะห่างจากจุดเดิมเข้าไปในซอยเพียง 20 เมตร แต่ลูกค้ากลับไม่ตามเข้าไป ผู้ค้าส่วนใหญ่ขายอาหาร ซึ่งเมื่อขายไม่ได้ก็ไม่มีทุนหมุนเวียนในวันต่อไป ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาหมุนเวียนเป็นวัฏจักรเลวร้ายได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงรวมตัวไปร้องเรียนสำนักงานเขตบางกอกใหญ่แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ จนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ผู้ค้าได้รวมตัวกับผู้ค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากทั้ง 50 เขต กว่า 2,000 คน ขอเข้าพบผู้ว่าอัศวิน ซึ่งในวันนั้นท่านผู้ว่าฯรับปากฯในห้องประชุมว่า “พื้นที่ไหนที่ทางเท้ากว้างกว่า 3 เมตรให้มาคุยกันได้” เราวางใจ เพราะเห็นท่านเป็นพ่อเมือง ซึ่งคงจะรักษาคำพูด แต่เราก็คิดผิด

เมื่อการเรียกร้องกับทางกรุงเทพมหานครไม่เป็นผล ต่อมาผู้ค้าจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 รวมทั้งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 61 ได้เข้ารายงานความไม่เป็นธรรมของนโยบายจัดระเบียบต่อ สนช. ในงาน สนช.พบประชาชนเขตกรุงเทพใต้ และวันที่ 30 เมษายน 2561 ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าจากคำพูดของผู้ว่า กทม กับท่านรองฯ สกลธี แต่ท่านกลับปัดความรับผิดชอบให้ บชน. โดยอ้างว่า บชน เป็นผู้ขอให้มีการยกเลิกหาบเร่แผงลอย น่าเศร้าใจที่ผู้บริหารบ้านเมืองเกี่ยงกันแก้ไขปัญหาและไม่หันมาสนใจปัญหาความเดือดร้อนของคนในระดับรากหญ้า เราไร้ที่พึ่ง เราไร้ซึ่งหนทาง จึงได้พากันเดินจากหน้าตึกสหประชาชาติไปยื่นหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล อีกครั้งหนึ่งเมื่อ วันที่ 4 กันยายน 2561 ซึ่งท่านนายกฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคมเมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา แต่เวลาก็ล่วงเลยมากว่า 3 เดือนแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานก็ยังไม่มีวี่แววที่จะจัดประชุม

ฟางเส้นสุดท้ายของเราคือการที่ กทม. พูดสวนทางกับกระทรวงมหาดไทย โดยประกาศผ่านสื่อว่าจะไม่มีทางให้แผงลอยกลับมาและจะไม่รายงานต่อมหาดไทย ทั้งๆที่มหาดไทยมีจดหมายด่วนที่สุดถึง กทม. ให้บรรเทาความเดือดร้อนและให้จัดประชุมร่วมระหว่างผู้ค้าและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตเพื่อหาทางออกร่วมกันไปก่อนที่คณะกรรมการชุดนี้จะได้ข้อสรุปออกมา ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 61 โดยมีข้อความรั้งท้ายจดหมายให้กรุงเทพมหานคร “คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยของสังคม”

แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะยอมรับการมีอยู่และการอยู่ร่วมกันได้ของหาบเร่แผงลอยบนพื้นที่สาธารณะและเข้าใจว่าทุกคนสามารถอยู่บนพื้นที่สาธารณะร่วมกันได้อย่างชัดเจนและไม่เลือกปฏิบัติ แต่ กทม กลับเพิกเฉยและไม่ยอมเข้าใจ เราไม่ได้อยากก่อความไม่สงบ เราไม่ได้อยากสร้างปัญหา เราแค่ต้องการอาชีพ และการอยู่ร่วมกันได้บนกติกาที่กำหนดร่วมกัน ที่ผ่านมาผู้ค้าหลายชีวิตต้องตายไปเพราะความกดดันและความยากไร้

เราต้องขอออกมาวันนี้เพื่อไม่ให้ผู้ค้าอีกหลายสิบชีวิต ณ ที่นี้ต้องอดตาย !!!

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.