Posted: 20 Dec 2018 10:31 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-12-21 01:31
เมธา มาสขาว
ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย เป็นปัญหาในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามระบบเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกที่ลอกรายงานธนาคารโลกมา
ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรมากมายให้คนที่มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบมีทรัพย์สินเป็นแสนล้านได้ แต่อีกด้านยังมีคนไทยที่ยากจนข้นแค้นไม่มีเงินซื้อข้าวกิน! ทำไมเราไม่สามารถแบ่งปันความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไปได้?
เรามีรัฐบาลไว้ทำหน้าที่อะไร? จึงบริหารราชการแผ่นดินจนทำให้ประเทศเหลื่อมล้ำเช่นนี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2559) ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 รองจากรัสเซียและอินเดีย โดยที่คนรวย 1% ของไทยครอบครองทรัพย์สินในประเทศมากกว่า 58% ของทั้งหมด ผ่านไป 2 ปี (2561) ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 สูงที่สุดในโลกไปแล้ว ข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 ที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่าคนรวย 1% ของไทยครอบครองทรัพย์สินในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 66.9% ของทั้งหมด แซงหน้ารัสเซียที่ลดจาก 74.5% เหลือแค่ 57.1% และตกไปเป็นอันดับ 2 ในปีนี้
แม้รัฐบาลจะอ้างว่าตัวเลขเศรษฐกิจและการส่งออกจะมีตัวเลขที่ดีขึ้นเป็นลำดับขัดกับเสียงของแม่ค้า-ประชาชนทั่วไปในระดับล่าง แต่ก็เห็นปัญหาทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นเมื่อปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังว่า ตัวเลขการส่งออกที่ดีขึ้นนั้น มีเพียงบริษัทส่งออกรายใหญ่ราว 10 บริษัทเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่ธุรกิจ SME รายย่อยกลับไม่ได้รับประโยชน์เลย
บางคนเสนอให้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างนี้โดยใช้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ใหม่บวกกับระบบรัฐสวัสดิการ (Neoliberalism + Welfare) เพื่อสร้างทั้งความเติบโตพร้อมกับการกระจายรายได้ไปด้วยกัน แต่แนวทางดังกล่าวไม่อาจเป็นไปได้เลยตามหลักเศรษฐศาสตร์การเมืองหากรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงตลาดเสรีให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเหมือนประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) เพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) และประยุกต์ระบบเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) มากขึ้น
เนื่องจากเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบเดิมที่รัฐบาลกำลังดำเนินการโดยการอุ้มคนรวย-ช่วยคนจนอยู่นั้นเป็นโครงสร้างผูกขาดที่ไม่ใช่ตลาดเสรี (Free Trade) จริง แต่ถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนผูกขาดที่รัฐอุ้มชูและเอื้อประโยชน์ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจมากมายในปัจจุบัน แม้จะมีนโยบายแจกเงินและเพิ่มสวัสดิการเข้ามามากขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หากโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศยังถูกผูกขาดอยู่ข้างบน
แนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมเสรีคิดว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนบนแก่อุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ต่างๆ จะช่วยให้การกระจายรายได้ไหลจากบนลงล่างเหมือนภูเขาน้ำแข็ง แต่มันใช้ไม่ได้และเป็นนโยบายที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำให้กับผู้มาทีหลังในที่สุด ขณะที่นโยบายประชารัฐในปัจจุบันก็ทำให้เงินที่โปรยลงไปข้างล่างก็ไหลผ่านย้อนขึ้นไปหากลุ่มทุนใหญ่ในที่สุด
ไม่มีนโยบายที่จะถามหาความรับผิดชอบของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดและทุนข้ามชาติในการรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่า CSR และภาษีสังคมอื่นๆ ต่อผลกระทบทางสังคมโดยรวมจากการได้รับอภิสิทธิ์จากรัฐและสังคมให้ทุนได้เติบโตจากทรัพยากรของส่วนรวม รวมถึงการขูดรีดแรงงานและสิทธิต่างๆ ของสังคม
นโยบายเหล่านั้นสมควรแก้ไขด้วยโครงสร้างระบบภาษี กลุ่มทุนใหญ่ควรจ่ายภาษีคืนให้สังคมมากกว่าทุนเล็กทุนน้อย ไม่ใช่ไปลดภาษีและให้สิทธิพิเศษต่างๆ มากมายเหมือนในยุคปัจจุบัน เพราะข้อเสนอส่งเสริมการลงทุนเหล่านั้นควรเป็นข้อเสนอตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ฯ แล้ว
พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 เป็นตัวอย่างกฎหมายที่สำคัญแห่งความล้าสมัยและการสร้างความเหลื่อมล้ำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทย EEC, BOI กับการให้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นการส่งเสริมกลุ่มทุนธุรกิจผูกขาดมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเอื้อประโยชน์เอกชนไม่กี่กลุ่มที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ ลดภาษีให้มากมาย ให้สิทธิประโยชน์หลายอย่าง แต่รัฐและประชาชนเสียประโยชน์แทน นโยบายเสรีนิยมเหล่านี้ล้าสมัย และไปซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปตามลำดับ ไม่นับรวมการผันเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านโครงการช่วยเหลือของรัฐ ผ่านประชาชนเข้าสู่กลุ่มทุนอีกหลายโครงการ
การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีความพยายามที่จะใช้อำนาจรัฐผ่านกระบวนการการใช้ ม.44 และกฎหมายพิเศษ ในการยึดหรือฮุบที่ดินบริเวณที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มักกะสันจำนวนกว่า 150 ไร่ ซึ่งไม่ควรนำไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใดเพราะไม่เกี่ยวกัน แต่พื้นที่ดังกล่าวกลับถูกผนวกให้เข้าไปรวมอยู่ในโครงการฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของนายทุนเอกชนที่อยู่เบื้องหลังที่ต้องการทำพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือศูนย์การค้าใช่หรือไม่?
การประเคนที่ดินที่มีมูลค่ามหาศาลจากการซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงและจากการสัมภาษณ์ของที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้าน ในขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเขียนทีโออาร์ ประเมินราคาไว้เพียงแค่ไม่เกิน 50,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และไม่คิดถึงมูลค่าที่จะเพิ่มเป็นทวีคูณในอนาคตอีก 50 ปี และต่อเนื่องไปอีก 50 ปีข้างหน้าตามข้อกำหนดในสัมปทาน ซึ่งจะมีมูลค่ามากกว่าปัจจุบันหลายร้อยหลายพันเท่าเลยทีเดียว เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนโดยตรงหรือเปล่า ในขณะที่การซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียง (ที่ดินของสถานทูตอังกฤษและที่ดินของปาร์คนายเลิศ) ซื้อขายกันในราคาสูงกว่าราคาประเมินเกือบ 10 เท่าตัว
เป็นไปได้หรือไม่ที่โครงการเหล่านี้คือการขนย้ายถ่ายเทสิทธิ์-ทรัพย์สินของรัฐและผลประโยชน์ของประชาชน ไปให้ทุนรายใหญ่ได้ประโยชน์? นี่คือความพยายามที่จะฮุบเอาแอร์พอร์ตลิงค์ซึ่งได้ให้บริการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้สร้างโดยตรง และรับใช้ประชาชนมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว และปัจจุบันสามารถฟื้นคืนทุนและนับวันจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้น เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 11% ซึ่งหมายความว่าการลงทุนของการก็สามารถที่จะคืนทุนและสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าอีก 10 เท่าตัว ในแค่อีก 10 ปีข้างหน้าเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดๆ ที่จะต้องให้ยุติการบริการและนำโครงการดังกล่าวไปยกให้เอกชนผู้ชนะการประมูลเป็นผู้กอบโกยรายได้และผลประโยชน์ของประชาชนแทน
นอกจากนั้นผลประโยชน์ผลพลอยได้ตลอดแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงที่เริ่มต้นระหว่างสนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-เชื่อมต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภา ตามแนวเส้นทางดังกล่าว ผู้ได้สัมปทานย่อมจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบพื้นที่สถานีอย่างมากมาย เนื่องจากมีระยะเวลาสัมปทานยาวนานโดยไม่ต้องลงทุนซื้อหาที่ดินมาเพื่อการพัฒนาเลยตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งมูลค่าค่าตอบแทนของโครงการ 50 ปีแรก ประมาณว่าผู้ได้สัมปทานอาจจะมีรายรับไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท
ปัญหาสำคัญที่สร้างความเหลื่อมล้ำของประเทศคือเรื่องที่ดิน ที่รัฐควรจำกัดการถือครองที่ดินและต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบอย่างจริงจัง รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น แต่กฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กลับอนุญาตให้ทุนข้ามชาติสามารถเช่าที่ดินถึง 99 ปี สำหรับกิจการที่ไม่ได้รับส่งเสริมจาก BOI ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการขายชาติและสิทธินอกอาณาเขต
ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็สามารถใช้อำนาจให้ "กรรมสิทธิ์" แก่ต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินในพื้นที่ EEC ตามมาตรา 27 พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 ได้เช่นกัน ซึ่งให้อำนาจเท่ากับการถือครองตลอดชีวิตของนิติบุคคลของบริษัทนั้นๆ จนกว่าจะยกเลิกบัตรส่งเสริมทุกบัตรที่มีกับ BOI
ขั้นตอนการอนุมัติ คือ บริษัทที่ได้รับส่งเสริมจาก BOI หากเป็นต่างชาติจะได้รับสิทธิมาตรา 27 เพื่อสามารถถือครองที่ดินในไทยได้ โดยสามารถซื้อที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมจาก BOI และที่ดินที่จะซื้อนั้นต้องอยู่ในพื้นที่ตามเงื่อนไขที่ตั้งโรงงานซึ่งระบุไว้ในบัตรส่งเสริม และอนุมัติให้ถือครองได้ตามดุลพินิจของผู้บริหารโดยไม่มีหลักเกณฑ์ โดยอ้างเหตุผลว่า ที่ดินบางส่วนเจ้าของที่ดินไม่แบ่งขาย-จึงไม่สามารถบังคับให้บริษัทไปขอเจรจาต่อรองให้เจ้าของที่ดินขายที่ดินเท่าที่ตามต้องการหรือเหมาะสมกับกิจการได้ และบริษัทมักจะให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ซื้อที่ดินไว้เยอะสำหรับกิจการที่จะมาขอส่งเสริมในอนาคต จึงเป็นการสะสมที่ดินของกลุ่มทุนมากมายในภาคตะวันออกผ่านนโยบายส่งเสริมความเหลื่อมล้ำของรัฐอย่างชัดเจน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายบริษัทที่มีที่ตั้งโครงการในพื้นที่ EEC มาขอซื้อที่ดินเพิ่มเติม บางครั้งก็ซื้อไว้เพื่อเกร็งกำไร หรือนำไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับ EEC ในอนาคต กลายเป็นพื้นที่สงครามการแย่งยึดที่ดินในที่สุดและส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย จนในปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. ถูกเรียกร้องให้เข้ามาตรวจสอบการให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของ BOI ประเทศและประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายดังกล่าว นอกจากกลุ่มคนบางกลุ่มที่อาจได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเข้ากระเป๋าตนเอง และนับเป็นเรื่องที่ดี หากคณะผู้บริหารทุกภาคส่วนทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช.
นอกจากนี้ยังมีข้อครหาที่กำลังถูกตรวจสอบเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทต่างๆ รวมถึงกรมสรรพากรด้วย หลายครั้งมีคำถามว่าคณะกรรมการฯ ต้องทำตามคำเรียกร้องของนักการเมืองที่มีส่วนได้เสียกับบริษัทฯ หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีหรือใครก็ตามที่มีส่วนได้เสียกับบริษัทฯ กับคนคุ้นเคย เพื่อนสนิท-ญาติมิตรพี่น้อง หากต้องการอะไรแล้วสั่งการลงมาทันทีให้อนุมัติที่ดิน ฯลฯ จะมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่?
ถึงเวลาแล้วที่ต้องยุบคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่หมดสมัยและไร้ประโยชน์สำหรับนโยบายทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการแข่งขันเสรี เพราะเป็นการเสียประโยชน์ที่รัฐควรได้รับ รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด ขจัดปัญหาทุนผูกขาดเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยได้แข่งขันกันเติบโตและลืมตาอ้าปากได้ โดยใช้แก้ไขปัญหาการผูกขาดทางการค้าของกลุ่มทุนที่ผูกขาดตลาดเกิน 50% อย่างเคร่งครัดและนำไปสู่การสั่งฟ้องเอกชนทุกคดีที่ทำผิดกฎหมาย
เศรษฐกิจประเทศไทยไม่สามารถให้กลุ่มทุนใดผูกขาดตลาดได้เนื่องจากทรัพยากรมีจำนวนจำกัด ที่ผ่านมามีคดีร้องเรียนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามากกว่า 75 คดี แต่คณะกรรมการชุดเก่าไม่เคยสั่งฟ้องคดีเลยเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมไทย
สุดท้าย โครงสร้างทางเศรษฐกิจประเทศไทยที่สร้างปัญหามากที่สุดอย่างถึงคือ การขูดรีดของกลุ่มทุนธนาคารโดยไร้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากรัฐ ปัจจุบันประชาชนโดนขูดรีดจากระบบอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงมาก โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากในระบบธนาคารของประเทศไทยสูงถึงกว่า 5-6 เท่า เกือบจะมากที่สุดในเอเชียและมากกว่าหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่มาเลเซียมีอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยแค่ประมาณ 1.5 อินโดนีเซีย 4.3 ออสเตรเลีย 3.3 และจีน 2.9 ในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นในรอบ 7 ปี ซึ่งจะมีผลต่อไปยังระบบดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ประชาชนทั่วไปที่กำลังส่งบ้าน ผ่อนรถ เจ้าของกิจการต่างๆ ทุกระดับ จะได้รับผลกระทบมากขึ้น จ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น และระยะเวลาการปลดหนี้ก็จะช้าลงด้วยตามลำดับ นับเป็นโครงสร้างและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง
ทางออกประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำมีไม่กี่อย่างคือ ต้องออกกฎหมายเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า หยุดนโยบายที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาด ยกเลิกนโยบายประชารัฐ บังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด ยุบคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกนโยบายทางการเงิน-การธนาคารเพื่อแก้ปัญหาการขูดรีดประชาชนโดนลดอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยให้ลดลง ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบและจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง ทำได้ทั้งหมดนี้ก็เพียงพอแล้ว.
[full-post]
แสดงความคิดเห็น