Posted: 24 Dec 2018 05:54 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-12-24 20:54


สนช.เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ด้วยคะแนนเสียง 140 คะแนน โอนย้ายอำนาจการควบคุมกำกับเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ให้กระทรวงสาธารณสุขดูแล นายกทันตแพทยสภาชี้เป็นของขวัญปีใหม่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานอย่างสบายใจขึ้น พร้อมเสนอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดกลุ่มกำกับดูแลตามระดับรังสีและความเสี่ยงของเครื่อง พร้อมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมออกกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดการยอมรับและไม่มีปัญหาตามมาในภายหลัง

24 ธ.ค.2561 ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภาและโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ... เปิดเผยว่า วันที่ 20 ธ.ค. 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ประชุมในวาระที่ 3 และเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้วด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 140 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง โดยเนื้อหาเป็นไปตามร่างฉบับของรัฐบาล ไม่มีการแก้ไขใดๆ กล่าวคือถ้าเป็นเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์จะโอนอำนาจการกำกับดูแลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาที่กระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการออกกฎกระทรวงเพื่อกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัย และอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัย หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาโดยจะมีผล 60 วันหลังการประกาศ

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า หลังจากกฎหมายบังคับใช้แล้วจะต้องมีการออกกฎกระทรวงภายใน 90 วัน ซึ่งเข้าใจว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขน่าจะมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและออกกฎกระทรวง เบื้องต้นในฐานะนายกทันตแพทยสภาได้หารือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในหลักการ 3 เรื่อง ประกอบด้วย
การควบคุมกำกับเครื่องกำเนิดรังสีวินิจฉัยทางการแพทย์ อยากให้แบ่งกลุ่มในการกำกับ 3-4 กลุ่มตามปริมาณรังสีและความเสี่ยงของเครื่องแต่ละชนิดเพราะเครื่องเอกซเรย์ยังมีระดับรังสีที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องเอกซเรย์ CT กับ เอกซเรย์ฟัน มีรังสีต่างกันหลายเท่า จะควบคุมกำกับโดยใช้วิธีการแบบเดียวกัน ความเข้มงวดเหมือนกัน ก็จะมีปัญหาเหมือนกับที่เกิดกับกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์ฯที่เอาเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ไปควบคุมกำกับแบบเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
การควบคุมกำกับ ควรให้ราชวิทยาลัย เช่น ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยทันตแพทย์ซึ่งเชี่ยวชาญเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม และราชวิทยาลัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนช่วยออกแนวปฏิบัติในการควบคุมกำกับ รวมทั้งต้องให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติสากลเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนที่มารับบริการ
ถ้าเป็นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม ขอให้ทันตแพทย์สภาหรือทันตแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมพิจารณากฎกระทรวงเพื่อให้เกิดการยอมรับและไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

"เราขอ 3 ข้อนี้ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เห็นตรงกัน หลังปีใหม่เราคงตั้งคณะทำงานมาพิจารณากฎกระทรวงร่วมกัน ผมต้องขอขอบคุณรัฐบาลและ สนช. โดยเฉพาะ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ซึ่งได้ติดตามและเร่งรัดจนสามารถพิจารณาเสร็จสิ้นก่อนปีใหม่ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่มอบให้ผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ปฏิบัติงานได้สบายใจขึ้นและให้บริการแก่ประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" ทพ.ไพศาล กล่าว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.