Posted: 27 Dec 2018 04:25 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-27 19:25
ค่ำวันที่ 25 ธันวาคมหรือวันคริสต์มาสปีนี้ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ กอฟ เปิดการแสดงสดที่ถนนข้าวสาร เธอเดินกลางถนน ตะโกนนับเลขแต่ละก้าวดังลั่น ท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่งุนงงกันพอสมควร บางจังหวะก็หยุดแล้วนั่งลงเฉยๆ เป็นพักๆ บนตัวเธอมีหมึกเขียนกลางหลัง Released but still Locked Up for 10 Years
ระหว่างนั้นจะมีเพื่อนๆ ของกอฟซึ่งเป็นทั้งนักศึกษา นักวิชาการ อดีตผู้ต้องขัง ถือป้ายข้อความภาษาอังกฤษที่อธิบายว่าผู้เคยต้องโทษในไทยแม้จะพ้นโทษได้รับการปล่อยตัวแล้วก็ยังถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลายอย่าง ไม่ว่าจะป็นสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สิทธิในการร่วมกันดําเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง ฯลฯ ตามพรป.พรรคการเมืองและรัฐธรรมนูญ 2560
ในมือของพวกเขามีกล่องใส่ลิปสติกหลากสีเชื้อเชิญให้คนที่ผ่านไปมาร่วมนำลิปสติกไปวาดบนตัวนักแสดง วาดอะไรก็ได้ที่รู้สึก และโดยเฉพาะให้ผู้ชมกำหนดเองว่า อดีตนักโทษควรถูกตัดสิทธิทางการเมืองกี่ปี
กอฟเล่าว่า โดยส่วนตัววันคริสต์มาสเป็นวันที่เธอชอบ เป็นวันที่มีความหมายกับตัวเองตั้งแต่เด็กและอยากระบายพลังของตัวเองออก ประกอบกับอึดอัดและเบื่อกับเรื่องเลือกตั้ง เพราะมันเป็นเกมที่ถูกล็อคไว้แล้วแทบจะในทุกทาง ที่สำคัญ อดีตนักโทษนั้นขาดสิทธิหลายประการ ไม่เหมือนประชาชนทั่วไป
“อดีตนักโทษไม่มีสิทธิเสนอนโยบาย สมัครสมาชิกพรรคยังไม่ได้เลย ยอมเจ็บยอมตายยอมติดคุกไปเท่าไร แต่พอเห็นความหวังว่าจะทำอะไรสักหน่อยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ผ่านระบบเลือกตั้งแม่งก็ทำไม่ได้อยู่ดี เลยอยากจะตั้งคำถามว่า พวกกูเมื่อไหร่จะทำได้ กูต้องรออีกนานเท่าไร ปล่อยออกมาแล้ว ความผิดจบแล้ว ให้สิทธิคืนไม่ได้หรือไง ให้กาบัตรเลือกตั้งได้อย่างเดียวเหรอ”
“งานแสดงนี้ไม่ได้จะระดมมวลชน ไม่ใช่การประท้วง ไม่ใช่แม้แต่แอคชั่นก่อกวนรัฐบาล เราไม่ได้ทำแบบนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปคาดหวังตั้งคำถามอะไรกับรัฐบาลนี้ และไม่ได้อยากตั้งคำถามกับคนเสื้อแดงด้วย เราแค่อยากเจอมนุษย์คนอื่น อยากสบตาคนอื่น อยากเห็นคำตอบจากคนอื่น เราก็เลยคิดว่าเลือกพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ควบคุมอะไรไม่ได้ คนไม่รู้จักเรา เราไม่รู้จักพื้นที่นั้น”
“ทำสองอย่างคือ เรื่องนักโทษหญิงกับสิทธิทางการเมืองของอดีตนักโทษ ตัวลิปสติกคือสัญลักษณ์ของผู้หญิง มันเหลือน่ะ ไม่อยากทิ้งอยู่ในกล่อง และมันสื่อสารเรื่องได้ดี มันเล่าเรื่องโดยตัวของมันเอง เลยเอามาผสมกับสิทธิทางการเมือง ให้คนที่ผ่านไปผ่านมาเอาลิปสติกมาเขียนบนตัวเราได้”
“มันยากอยู่เหมือนกัน ในฐานะนักแสดง เราไม่สิทธิพูดหรืออธิบาย เราทำแค่นับเลขไปเรื่อยๆ บางคนเราไปประจันหน้ากับเขาแล้วเขาก็ตกใจ เด็กแม่งก็มองคนบ้าหรือเปล่า คนพากันมองอย่างประหลาดใจ เราก็จะไม่นิยามว่ามันดีหรือไม่ดี แต่ความประหลาดใจมีช่องว่างให้คนได้เข้าไปอธิบาย แต่ทีมงานมีน้อย ไม่เพียงพอ บางคนก็ยังงงอยู่เลยว่ากอฟชวนกูมาทำอะไร (หัวเราะ)”
“ตอนเราหยุดจะมีช่องว่างสำหรับการอธิบาย แล้วเราตั้งคำถามว่าควรจะตัดสิทธิทางการเมืองของอดีตนักโทษเท่าไร ฝรั่งบางคนก็ตกใจเพราะบ้านเขาไม่มีกฎหมายแบบนี้ บางคนบอกว่าฉันยังให้ความเห็นไม่ได้ ต้องศึกษาก่อน แต่ฝรั่งมีส่วนร่วมดี เขาเดินเข้ามาถามเลย คนไทยจะไม่ค่อยกล้า เขาไม่เรสปอนซ์กับร่างกายเราแต่จะใช้วิธีโพทะนาต่อ เรียกเพื่อนมาฟังการอธิบาย อีกอันที่ประทับใจคือ กระเทยกับเด็กผู้หญิงที่มาด้วยกัน เขาเดินผ่านไปแล้ว แล้วเดินกลับมา เค้าพูดกัน น้องผู้หญิงถามว่า “มึงเขียนเท่าไร” “กูให้สาม” “งั้นกูให้สามด้วย” คนไทยจำนวนไม่น้อยยังเชื่ออยู่ว่านักโทษไม่ควรจะมีสิทธิเลย ให้พ้นโทษมาซักสามสี่ปีก่อน”
กอฟระบุด้วยว่า จะทำการแสดงนี้ในพื้นที่ปิดอีกครั้งอาจเป็นหอศิลป์หรือห้างสรรพสินค้า เน้นกลุ่มเป้าหมายคนไทยและอธิบายโจทย์ให้ชัดเจนให้คนดูได้ขบคิดจริงๆ เพื่อดูกระแสความคิดของคนในสังคม
ทั้งนี้ ภรณ์ทิพย์ เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและเป็นนักแสดงละคร เธอทำละครสะท้อนสังคมการเมืองมายาวนาน และทำงานกับเด็กเป็นส่วนใหญ่ ภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักแสดงอีกคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 จากกรณีมีส่วนร่วมในละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่าที่จัดแสดงในงานรำลึก 14 ตุลาเมื่อปี 2556 ต่อมาวันที่ 30 ต.ค.2556 เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน มีการจัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อแจกจ่ายคลิปดังกล่าวและนัดแนะให้เครือข่ายฯ เข้าแจ้งความตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัย หลังรัฐประหาร 2557 ไม่นานภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ถูกจับกุมและดำเนินคดี ทั้งคู่ถูกพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน หลังออกจากเรือนจำเธอและเพื่อนๆ เปิดตัวกลุ่ม Fairly Tell ทำกิจกรรมทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
แสดงความคิดเห็น