Posted: 25 Dec 2018 11:25 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-26 14:25


ใบตองแห้ง

2561 กลายเป็นปีเตรียมการเลือกตั้ง ขณะที่บรรยากาศหาเสียงกำลังคึกคักส่งท้ายปี จำได้ไหม ปลายปีที่แล้วคนไทยยังคิดว่าจะได้เลือกตั้งเดือน พ.ย. 2561

ต้นเดือนตุลา 2560 ท่านผู้นำไปจับมือทรัมป์ถึงทำเนียบขาว ให้คำมั่น มีเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งนับตามโรดแมป ก็จะอยู่ราวเดือน พ.ย. หลังจากนั้น วันที่ 7 ต.ค. พ.ร.ป.พรรคการเมืองประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ธ.ค. สหภาพยุโรปแถลงฟื้นความสัมพันธ์


แต่จู่ ๆ วันที่ 22 ธ.ค.ก็มีคำสั่ง คสช.53/2560 เซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง พอต้นปี สนช.ก็ปิ๊งไอเดีย ให้ พ.ร.ป.เลือกตั้งยืดเวลาบังคับใช้ 90 วัน อ้างความปรารถนาดีให้พรรคการเมืองเตรียมตัวทัน

กฎหมายเลือกตั้งผ่านวาระ 3 วันที่ 25 ม.ค. เข้ากรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย กรธ. กกต. สนช. แล้วกลับไปผ่าน สนช.ด้วยมติเอกฉันท์ เมื่อ 8 มี.ค. 2561 แต่รัฐบาลยังไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ทักท้วงว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ ใน 2 ประเด็น คือผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งห้ามเป็นข้าราชการการเมือง กับการลงคะแนนแทนผู้พิการ

ไม่ทราบทำไมทักท้วงภายหลัง ทั้งที่ผ่านกรรมาธิการ 3 ฝ่าย ซึ่ง กรธ.ก็นั่งอยู่ทนโท่ สุดท้ายหาได้ 27 สนช.ซึ่งบังเอิญขาดประชุม สามารถเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาอีกเดือนกว่า 30 พ.ค. 2561 ศาลจึงวินิจฉัยว่าไม่เห็นขัดตรงไหนเลย ปู่มีชัยข้องใจให้เสียเวลาไปฟรี ๆ

หลังจากนั้นรัฐบาลจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 12 ก.ย. 2561 แต่ต้องนับมาอีก 90 วัน 11 ธ.ค. 2561 จึงมีผลบังคับใช้ ต้องเลือกตั้งใน 150 วัน ซึ่งอาจยื้อไปได้ถึงเดือน พ.ค. เพียงแต่ คสช.กกต.ทานกระแสไม่ไหวแล้ว ต้องกำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562

นี่ถ้าไม่ยื้อเวลาบังคับใช้ 90 วัน ถ้าไม่ส่งตีความในเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ป่านนี้เราอาจรู้ผลเลือกตั้ง รู้ดำรู้แดงกันไปแล้วก็ได้

การเลือกตั้งถูกยืดด้วยแทกติกทางกฎหมาย แม่น้ำ 5 สายอ้างว่าไม่เกี่ยวกัน สนช.ออกกฎหมายพรรคการเมือง คสช.ใช้ ม.44 แก้ แต่พอ สนช.ยื้อเลือกตั้ง นายกฯ บอกว่าฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติแยกจากกัน

ขณะที่ กกต. “สเปกมหาเทพ” สรรหามาแล้วก็ถูกคว่ำ สรรหาซ้ำได้แค่ 5 จาก 7 ระหว่างนั้นก็ใช้ ม.44 ปลด กกต.หอเอนกวนโอ๊ย ส่งท้ายด้วย ม.44 ขยายเวลาแบ่งเขตจนอัปลักษณ์

ปีทั้งปี วนอยู่กับการไม่เลือกตั้งเสียที จนคนอยากเลือกตั้งต้องทวงถาม เกิดการเคลื่อนไหวที่ไม่ใหญ่โต แต่รัฐทหารตำรวจทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต ระดมกำลังจับกุมฉลอง 4 ปีรัฐประหาร จนนิตยสารไทม์ต้อนรับการไปเยือนอังกฤษด้วยฉายา “สฤษดิ์น้อย” และนิตยสาร The Economist ก็ส่งท้ายปีด้วยภาพล้อ “จมูกยาว”

การยื้อเวลาอีก 3 เดือนดูเหมือนเป็นผลดีต่อการตั้งพรรค การดูด ส.ส. การใช้สื่อใช้วาทกรรม โน้มน้าวกองหนุนให้ยอมรับพรรคสามัคคีธรรม ครม.สัญจร โครงการประชานิยมต่าง ๆ เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2560

แต่ในกระแสการเมือง เวลาที่ยื้อแค่ 3 เดือน กลับเสียมากกว่าได้ ไม่เพียงถูกกระหน่ำ ว่าใช้แทกติกยื้อเลือกตั้ง แต่ยิ่งอยู่นานรัฐบาลยิ่งเผชิญปัญหา ขาลง กระแสตก ประชาชนยิ่งเบื่อหน่าย กระทั่งโหวตขอล้านไลก์ให้อยู่ต่อ กลายเป็นคนแอนตี้ 93% เศรษฐกิจก็ไม่เป็นใจ ครึ่งปีแรกเหมือนจะดี ครึ่งปีหลังตกลง “คนจนหมดประเทศ” กลายเป็น “จะอดตายอยู่แล้ว”

เสียดาย คิดผิดคิดใหม่ไม่ได้แล้วนะ ถ้าเลือกตั้ง พ.ย.61 ลุงน่าจะได้คะแนนมากกว่า ก.พ.62 เยอะเลย


เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/269887


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.