Posted: 05 Dec 2018 09:18 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-06 00:18


พีร์ พงศ์พัฒนพันธุ์

อ่านข่าวโละพนักงานบริษัททีวี “ช่อง 3 ชี้แจงปมเลิกจ้าง พนง.คลาดเคลื่อนจากความจริง” ไม่ว่าข้อจริงเท็จจริงของข่าวนี้จะเป็นอย่างไร ผมเกิดความรู้สึกว่า ยุคไอทีแต่เดิมได้สิ้นสุดลงเร็วเกินคาด

ยุคดิจิตอล (4.0) ในปัจจุบันได้กวาดเอาระบบงานสื่อสารมวลชนบางอย่างที่เคยบูมมาแต่ในอดีตไป ด้วยอย่างไม่เหลือเยื่อใย ไม่ว่าจะยอมรับกันหรือไม่ สื่อธุรกิจสื่อทีวีแบบเดิมๆ กำลังจะตาย เหมือนฟิล์มถ่ายรูป เหมือนคาสเซ็ท และเหมือนสื่อกระดาษ อย่างหนังสือพิมพ์ วารสารและหนังสือต่างๆ ทุกอย่างทีเอ่ยมากำลังจะหมดไปจากโลกนี้ไม่เร็วก็ช้า วัฒนธรรม (ธุรกิจ) AI (ปัญญาประดิษฐ์) ของสื่อแบบใหม่กำลังเข้ามาทดแทนอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่า การทดแทนด้วย AI ของระบบสื่อสารมวลชนดังกล่าว ส่งผลต่อการใช้กำลังคนที่จะลดลงอย่างมาก แต่นี่ก็ไม่สำคัญเท่าพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วย ชนิดไม่มีวันกลับ เหมือนกับที่เราไม่สามารถกลับไปใช้ฟิล์มถ่ายรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป ในเมื่อ platform การใช้งานไม่รองรับ หรือมันได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

ในแง่การทำข่าวก็เช่นเดียวกัน ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสื่ออเมริกันมานานหลายปี เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะล่มสลาย จากจุดเริ่มต้นที่บอสตันโกลบหรือเดอะโกลบ (สื่อรายใหญ่ฝั่งตะวันออกของอเมริกาเกิดเจ๊งขึ้นมา และต้องปรับตัวจากการสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ลงเป็นสื่อออนไลน์ธรรมดาๆ https://www.bostonglobe.com/) เพื่อรักษาชื่อไว้ก่อนที่มันจะหายไปทั้งยวง และเราคงเห็นว่าในอนาคตอันใกล้จะมีสื่อสิงพิมพ์ในอเมริกาและที่อื่นๆ ทั่วโลกต้องพากันล้มหายตายจากไปมากขนาดไหนครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะไม่สามารถต้านพายุดิจิตอลได้

ที่เกินคาดหรือมากไปกว่านั้น พายุดิจิตอลได้กวาดพัดสื่อโทรทัศน์ (ทีวี) ที่แต่ก่อนคิดกันว่าเป็นสื่อที่รวดเร็วที่สุดแล้วไปด้วย สื่อทีวีในอเมริกาเองนับว่าประสบชะตากรรมก่อนใครอื่นทุกช่อง ไม่ว่าจะเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ก็ตาม ต่างเข้าสู่กระบวนการปรับตัวหลอมรวมสื่อ หรือ Multi-media สื่อผ่านช่องทางการกระจายเสียงละภาพ(ทีวี) อย่างเดียวไม่พอเสียแล้ว พวกเขาโถมเข้าหาสื่อออนไลน์อย่างเต็มเหนี่ยว ผลิตและพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ภาคออนไลน์เต็มตัว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ดีพอ มิใช่ว่ามันจะช่วยให้ธุรกิจไปรอดได้ในบัดดล บริษัททีวีอเมริกันบางรายหันไปร่วมทุนหรือร่วมหุ้นกับบริษัทอื่นที่อยู่ในภาคธุรกิจเดียวกัน เช่น ธุรกิจภาพยนตร์ เป็นต้น ซึ่งก็พอไปได้ชนิดดึงเอาไว้ให้ทรงๆ ไม่ให้ทรุดมากไปกว่านี้เท่านั้นเอง

สื่อทีวีกระแสหลักในอเมริกาเองก็ใช่ว่าจะไม่อยู่บนหน้าผาความเสี่ยง ทุกช่อง ทุกบริษัทกำลังหาทางออกอย่างหนัก เช่น การปรับตัวเมื่อหลายปีมาแล้ว ผ่านเทคนิคการทำข่าว เพราะทุกช่องมีปัญหาในเรื่องการแข่งขันกับช่องอื่นๆ จากการที่ได้รับข้อมูลดิบมาเท่าๆ กัน เร็วพอๆ กัน ทำให้สื่อทีวีอเมริกันปรับตัวโดยการใช้นักวิเคราะห์ข่าวหรือผู้เชี่ยวชาญจากข้างนอก เรียกว่า เป็นข่าวชั้นสอง Secondary news หรือก็คือข่าววิเคราะห์นั่นเอง

ยิ่งยุคที่ข้อมูลดิบหรือข้อมูลชั้นต้นเข้าถึงได้ง่าย แทบทุกคนสามารถรับข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย ทำให้การวิเคราะห์ข่าวตามวัฒนธรรม 4.0 ซึ่งก็คือ Critical thinking มีความจำเป็นมากขึ้น

หมายความว่า การที่ทีวีนำเสนอข่าวดิบๆ หรือข้อเท็จจริงของข่าวหรือเหตุการณ์เพียงอย่างเดียว ถือว่าไม่พอเพียงแล้วสำหรับโลกปัจจุบัน แต่จะต้องอธิบายข่าวหรือข้อมูลดิบนั้นด้วยว่ามันคืออะไรด้วย ผู้รับชมมีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผู้วิเคราะห์ก็ได้ แต่อย่างน้อยผู้รับชมก็จะเกิดการรับรู้แบบวิพากษ์หรือเข้าใจในบริบทของข่าวๆ นั้นได้ดีขึ้น เชื่อมโยงกับเหตุการณ์อื่นได้ดียิ่งขึ้น ดังมีดิจิตอลทีวีบางช่องของไทยนำเอารูปแบบดังกล่าวมาใช้บ้างแล้วในขณะนี้

ซึ่งก็แปลว่า การนำเสนอข้อมูลหรือข่าวแบบเดิมๆ จะไม่มีอีกต่อไป รูปแบบการนำเสนอดังกล่าวจะค่อยๆ หมดไป จะเหลือแค่การแปลหรือการตีความข่าว เดินนำด้วยข่าวหรือข้อเท็จจริง ตามด้วยความเห็นของนักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ รูปแบบนี้ทีวีช่องหลักของอเมริกันใช้มานานหลายปีมาแล้ว เช่น MSNBC CBS FOX หรือแม้แต่ CNN ผมเห็นทีวีของจีน ของญี่ปุ่น ของสิงคโปร์ด้านข่าวที่เป็นช่องอินเตอร์ ก็ใช้รูปแบบการทำงานแบบเดียวกันนี้ ข่าวหรือข้อมูลดิบถูกแปลงเป็นสารชั้นรอง นำมาพิจารณาว่าทิศทางหรือกระแสของข่าว/ข้อมูลดิบจะเป็นอย่างไรซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์ การคาดการณ์หรือวิเคราะห์อย่างแม่นยำจะทำให้ธุรกิจหรือผู้คนเกิดความมั่นใจว่า พวกเขาอยู่ถูกที่ถูกทางแล้ว ไม่รวมถึงการพัฒนาระบบการสื่อสารแบบ 2 ทาง (two ways communication) และการมีส่วนร่วมของผู้ชมแบบซึ่งๆ หน้า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภูมิทัศน์นิเทศศาสตร์เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก จนกล่าวได้ว่ามันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของช่อง 3 จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ทีวีดิจิตอลของไทยเองมีปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีที่มีการออกใบอนุญาตอยู่แล้ว เพียงแต่อาการที่เกิดกับช่อง 3 เป็นจุดชี้ เพราะว่าเป็นช่องทีวีใหญ่ มีผลการประกอบการที่ค่อนข้างดีเยี่ยมมาตลอด ที่สำคัญ แนวทางของทีวีช่องนี้ไม่ใช่ข่าวหรือสาระหนักๆ หากแต่เป็นช่องบันเทิงขวัญใจประชาชนทั่วไปมากกว่าเจาะกลุ่มผู้ชมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ

สถานการณ์ของช่อง 3 ที่ว่านี้ บอกเราอะไรบ้าง อนุสนธิคงจะอยู่ที่การเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคงจะเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านี้แน่นอน โดยเฉพาะในภาคส่วนของสื่อ ธุรกิจแถวหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าธุรกิจใดๆ เพราะมีองคาพยพที่ต้องเคลื่อนไหวให้ทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ชนิดพลาดไม่ได้

ในเมื่อ ช่องทางการรับข่าวสารเต็มไปหมด ทั้งข่าวจริง ข่าวลวง ผู้รับชมเองพัฒนากำลังความฉลาดหลักแหลมขึ้นมาตลอดเวลา สื่อเองก็ต้องปรับตัว จะเล่นแค่ข้อมูลดิบๆ เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้อีกแล้ว ทีวีหลักอเมริกันทุกช่อง “ลงทุน” จ้างนักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นการเฉพาะ อย่างที่บอกเป็นการทำงานรูปแบบ Secondary news ใช้ผู้แปลข่าวหรือผู้ถอดรหัสข้อมูลดิบเชิงก้าวหน้า

เกรงว่าทีวีไทยไม่มีระบบที่ว่า อย่างดีทำได้แค่ลูกจ้างประจำวิเคราะห์ข่าวแบบครอบจักรวาล ประเภทกูรูคนเดียวรู้หมดทุกเรื่อง...

ธุรกิจเก่าไป ธุรกิจใหม่มา เวลานี้สื่อทีวีกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย แต่เป็นเทรนด์โลก ถ้าไม่ปรับตัวก็รอวันเจ๊งทุกช่อง...

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.