Posted: 28 Nov 2018 07:43 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-11-28 22:43

สุรพศ ทวีศักดิ์

เท่าที่ผมตามอ่าน “ความเห็น” ของคนที่ยืนยันว่ามี “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ผมไม่พบคอนเซปต์หรือไอเดียของคำว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ที่ “ชัดเจน” เลย อ่านๆ ไป พบว่าทั้งหมดที่เขายืนยันในข้อเขียนของเขา มันคือการยืนยัน “หลักสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก” เท่านั้น

ตามคอนเซ็ปต์หรือไอเดียของ “สิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก” คุณจะพูด เขียน หรือแสดงออกในทางใดๆ ในเรื่องอะไรก็ได้ ตราบที่คุณไม่ทำอันตราย หรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่น ฉะนั้น คุณจะพูด เขียน แสดงออกใดๆ ในทางนิยมชมชอบ สนับสนุนเผด็จการก็ได้ ตราบที่การพูด เขียน หรือการแสดงออกด้วยวิธีใดๆ ของคุณไม่เป็นการทำอันตราย หรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่น แต่นี่มันเป็นเพียง “สิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก” เท่านั้น เราไม่เรียกว่ามันเป็น “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” เพราะมันอธิบายไม่ได้ว่าสิทธิสนับสนุนเผด็จการคืออะไร

พูดสั้นๆ คือ การพูด เขียน หรือแสดงออกใดๆ ที่อยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำอันตรายหรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น มันคือ “สิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก” ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ที่มีอยู่อย่างเป็นอิสระ หรือเป็น “เอกเทศ” หรือ “อยู่นอกกรอบ” ของสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก

ในเมื่อมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” เป็นเอกเทศ หรืออยู่ “นอกกรอบ” ของ “สิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก” เราจะประดิษฐ์วาทกรรม “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ขึ้นมาให้เกิดความสับสนในการสื่อสารกันทำไม

ถ้ามีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ที่เป็นอิสระ หรือเป็น “เอกเทศ” จากสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก คุณก็ต้อง “ทำได้ทุกวิถีทางไม่ว่าผิดหรือถูก” ในการสนับสนุนเผด็จการได้ทั้งหมดสิ เช่นจะยึดหีบบัตรเลือกตั้ง ช่วยเจ้าหน้ารัฐยิงนักศึกษาที่ชุมนุมทางการเมือง เก้าอี้ฟาดศพ ฯลฯ ทำได้หมดเลยและเผด็จการก็ไม่เอาผิดทางกฎหมายกับคุณด้วย แต่ตามหลักสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออกแล้วคุณทำแบบนั้นไม่ได้ มัน “ผิด” และผิดที่ว่านี้ก็คนละเรื่องกับบาป หรือความชั่ว แต่มันผิดเพราะมัน “ละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่น” เนื่องจากหลักการใช้สิทธิและเสรีภาพต้องอยู่บนการเคารพสิทธิและเสรีภาพคนอื่นด้วยเสมอ

ถ้าคุณยืนยันว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” มันก็น่าจะเป็น “สิทธิทางการเมือง” อย่างหนึ่งใช่ไหมครับ ถามว่าสิทธิทางการเมืองนี้อยู่บนฐาน “คนเท่ากัน” อย่างไร มันเป็น “สิทธิเท่าเทียม” ที่ทุกคนมีร่วมกันอย่างไร คนที่สมัครใจไปเป็นเนติบริกรเขียนคำสั่ง คสช., ม.44 เป็นต้นที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เขากำลังใช้ “สิทธิ” อะไร หรือจริงๆ แล้วเขากำลังใช้ “อภิสิทธิ์” กันแน่

ตกลงสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” มันคือ “สิทธิ” หรือ “อภิสิทธิ์” นึกภาพนะครับ ในระบอบประชาธิปไตยใครจะเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องมาจากการเลือกตั้ง นี่คือกระบวนการที่เป็นไปตามหลัก “สิทธิ” แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้ผ่านกระบวนการตามหลักสิทธิ จึงไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง พวกเขาถูกสั่งหรือบังคับให้ไปเป็น สนช.ไหม ก็ไม่ ที่จริงแล้วพวกเขาสมัครใจที่จะสนับสนุนเผด็จการ ในแง่นี้ถือว่าพวกเขาใช้ “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” หรือครับ ผมไม่รู้ ฝากผู้เชี่ยวชาญด้าน “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ช่วยอธิบายด้วย

เมื่อมาดูข้อเท็จจริงของวิวาทะเรื่อง “เรามีสิทธิสนับสนุนเผด็จการหรือไม่?” ฝ่ายที่ปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” แต่ยืนยัน “สิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก” ไม่เคยเสนอให้รัฐปิดปากหรือใช้กฎหมายเอาผิดฝ่ายที่สนับสนุนเผด็จการที่พูดและแสดงออกภายในกรอบของ “สิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก” เลย เราเพียงแต่ตั้งคำถาม วิจารณ์ ด่า เกรียนการสนับสนุนเผด็จการก็เท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงการใช้สิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออกเท่านั้น

ส่วนเกณฑ์การประเมินการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามแนวคิดเสรีนิยม ก็มี 2 เกณฑ์หลักๆ คือ เสรีนิยมสายคานท์ มองว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเอง ไม่ควรเอาผลลัพธ์ของการใช้สิทธิและเสรีภาพมาตัดสิน แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพต้องอยู่บนกรอบของการไม่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายอื่น ซึ่งหมายความว่า เราต้องใช้สิทธิและเสรีภาพบนฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นด้วยเสมอ

แต่เผด็จการนี่โคตรใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือเลย ไม่เห็นหรือครับมีกี่คนที่ยังอยู่ในคุกและลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือให้เผด็จการมีความมั่นคงและใช้อำนาจเหนือหลักสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยต่อไป การสนับสนุนเผด็จการมันคือสนับสนุนอำนาจที่ใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือ มันเป็น “สิทธิ” บนการเคารพความเป็นคนของทุกคนเท่ากันอย่างไร

ส่วนเสรีนิยมสายอรรถประโยชน์นิยม เอาผลลัพธ์มาเป็นเกณฑ์ตัดสินการใช้สิทธิและเสรีภาพ ถ้าผลของการใช้สิทธิและเสรีภาพมันเป็นอันตรายต่อคนอื่น หรือการใช้สิทธิและเสรีภาพมันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่น เช่น นาย ก.ไปยึดหีบบัตรเลือกตั้ง ผลที่เกิดขึ้นคือคนอื่นๆ ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง การกระทำของนาย ก.จึงผิดหลักสิทธิและเสรีภาพ ในกรณีนี้รัฐเอาผิดทางกฎหมายได้

แต่ถ้านาย ก.ประกาศว่า “ไม่เอาการเลือกตั้ง ขอเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร” คำประกาศของ นาย ก.ไม่อาจส่งผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่นได้โดยตรง จึงยังอยู่ในกรอบสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก แต่มันใช่ “สิทธิสนับสนุนรัฐประหาร” หรือไม่ เราควรวิจารณ์หรือด่านาย ก.ไหม คำตอบก็คือ “ควร” เพราะอะไร ก็เพราะเราไม่ถือว่าการสนับสนุนรัฐประหารเป็นสิทธิไง (สิทธิต้อง “ชอบธรรม” ด้วยหรือไม่ ฝากให้ช่วยกันคิดด้วยครับ ถ้าไม่นึกถึง “ความชอบธรรม” คิดแค่ว่าสิทธิเป็นเรื่องของ “กฎหมาย” รับรองเท่านั้น ประยุทธ์ใช้ ม.44 ก็ต้องเป็น “สิทธิ” ด้วยเช่นกัน)

ถ้าคุณยืนยันว่า นาย ก.ประกาศเรียกร้องทหารทำรัฐประหารเป็น “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” คำถามก็จะวนกลับไปที่เดิมว่า สิทธิที่ว่านี้มันอยู่บนหลักการ “คนเท่ากัน” อย่างไร คุณจะอธิบายกับไผ่ ดาวดินอย่างไรว่า ทำไมไผ่ถึงถูกดำเนินคดีเพียงเพราะชูป้ายต้าน คสช. (เป็นต้น) ขณะที่นาย ก.แสดงออกได้เต็มที่

จริงๆ แล้วเราควรจะพูดตรงไปตรงมาว่า นาย ก.ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ไผ่ก็ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเหมือนกัน แต่ภายใต้อำนาจเผด็จการทำให้ไผ่ไม่มีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ขณะที่นาย ก.มี ทว่าเมื่อพิจารณากันจริงๆ แล้ว สิ่งที่นาย ก.มีหรือแสดงออกได้จริงๆ นั้น มันกลายเป็น “อภิสิทธิ์” เมื่อเทียบกับอีกฝ่ายที่แสดงออกไม่ได้ เพราะภายใต้อำนาจเผด็จการ คนแบบนาย ก.ใช้อภิสิทธิ์นี้ตลอดเวลา เราจะเรียกมันว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” งั้นหรือครับ มัน make sense ยังไง

ถ้าพูดกันถึงที่สุดแล้ว ในการเมืองภายใต้เผด็จการ มันไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออกตามกรอบคิดเสรีนิยมอยู่จริง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ฝ่ายเสรีนิยมยืนยัน เรียกร้อง ต่อสู้ให้มีสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออกอย่างแท้จริง กับอีกฝ่ายที่ใช้อภิสิทธิ์สนับสนุนเผด็จการที่ใช้อำนาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น

ไม่พึงสรุปว่า การยืนยันสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออก เป็นการสงวนให้ฝ่ายเสรีนิยมใช้เท่านั้น เพราะหลักการนี้ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นหลักการที่ครอบคลุมสิทธิและเสรีภาพของทุกคนเสมอกัน ความจริงที่เจ็บปวดของประเทศนี้คือ คนที่ยืนยันหลักการทั่วไปสำหรับทุกคนอย่างถึงที่สุดต่างหาก คือคนที่ถูกเขี่ยออกไปจากสังคมคนแล้วคนเล่า

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.