Posted: 04 Dec 2018 08:48 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-04 23:48
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ภายใต้คำโฆษณาหลังการยึดอำนาจและการบริหารประเทศของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำลังนำรายชื่อคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public Private Steering Committee) เสนอให้ ครม.รับทราบอย่างเป็นทางการ มีรายงานการประชุม วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ของ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2558 เปิดสู่สาธารณะ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อ้อยโรงงาน เป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยทดแทนในพื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสมจำนวน 6 ล้านไร่ ในปี 2569 โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเร่งรัดขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น หวังหากยุทธศาสตร์นี้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายจะเกิดชานอ้อยสำหรับเป็นแหล่งเชื้อเพลิงทางเลือกเพิ่มจากเดิม 30.01 ล้านตันในปี 2557 เป็น 52.70 ล้านตันในปี 2569[2]
ต่อมา คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ เผยโฉมหัวหน้าทีมภาคเอกชน คือ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ควบตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส่วน นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าภาคเอกชนใน คณะทำงานด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมีในระยะ 5 ปี โครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) หรือ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ และ ผลักดันให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (EEC) รวมถึง แผนงานต่าง ๆ เช่น แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ. 2558 – 2569) กำหนดให้เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตอ้อย 105.96 ล้านตัน ในปี 2558 เป็น 180 ล้านตัน ในปี 2569 เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย น้ำตาล เอทานอล และพลังงานไฟฟ้า โดย “ประกาศเขตเหมาะสมในการปลูกอ้อยโรงงาน” ใน 48 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 11 จังหวัด ภาคอีสาน 20 จังหวัด ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด
ตามมาด้วย กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561- 2570 โดยรัฐบาลชูนโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ หรือ “อ้อยแปลงใหญ่ประชารัฐ” สอดรับกับ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 20 ปี พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) กำหนดเป้าหมายในปี 2579 ส่งเสริมการผลิต-การใช้เอทานอล 11.3 ล้านลิตรต่อวัน และส่งเสริมการผลิต-การใช้ไบโอดีเซล 14 ล้านลิตรต่อวัน และ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 10 ปี (พ.ศ. 2555 - 2564) กำหนดเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 25 ของพลังงานที่ใช้ภายในประเทศภายในปี 2564 โดยผลิตพลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้น 3,630 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 1,751.86 เมกะวัตต์
และ ประกาศ คสช. ตามมาตรา 44 ยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ในกิจการที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ขนส่ง และระบบจำหน่ายพลังงานของกิจการ ตาม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 รวมถึง โรงงานน้ำตาลทราย โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบที่ตั้งควบคู่กับโรงงานน้ำตาล เช่น เอทานอล ไบโอเคมี ไบโอพลาสติก ตลอดจน คำสั่ง คสช. ที่ 1/2561 เรื่อง การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เพื่อรองรับการขยายโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ โรงงานน้ำตาลขยายกำลังผลิต และโรงงานน้ำตาลขยายกำลังผลิตไปตั้งยังพื้นที่ใหม่ในภาคอีสาน 28 โรงงาน[3] โรงไฟฟ้าชีวมวลที่พ่วงมากับโรงงานน้ำตาลอีกเกือบทุกโรงงาน รวมถึง ไบโอฮับ ของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะมีการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 กลุ่ม เช่น กลุ่มเอทานอล กลุ่มไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กลุ่มพลาสติกชีวภาพ กลุ่มแป้งและน้ำตาล และกลุ่มอุตสาหกรรมยา ชีววัตถุ วัคซีนขั้นสูง
นโยบาย แผนงาน ยุทธศาสตร์ การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในระหว่างที่นายทุนได้รับการสถาปนาให้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการภายใต้คณะรัฐบาล คสช. และผลพวงเริ่มปรากฏชัดสู่สังคมในช่วงต้นปี 2559 จากรายงานผลการดำเนินงาน[4] ของ คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่อยู่ในช่วง Work-in-progress โดยมีความคืบหน้าของโครงการนำร่องในแต่ละกลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ได้แก่ โครงการ Ethanol (Biodiesel และ Diesohol) วางเป้าหมาย ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านลิตร/ปี เป็น 2,000 ล้านลิตร/ปี และ ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 320 ล้านลิตร/ปี เป็น 506 ล้านลิตร/ปี ผู้ดำเนินการ : มิตรผล/ปตท./NES - ลูกค้า : รถขนส่งสินค้าของ ปตท./SCG
โครงการ Biomass/Biogas to Power ได้แก่ VSPP/SPP Firm Contract/AEDP และ Localization – โรงไฟฟ้าประชารัฐ วางเป้าหมาย นำชีวมวลจากชานอ้อยผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 500 MW/ปี เป็น 1,800 MW และ นำชีวมวลจากกากมันผลิตเป็นก๊าซชีวภาพแล้วจึงผลิตเป็นไฟฟ้าได้ 336-500 MW/ปี ผู้ดำเนินการ : มิตรผล/ปตท./ไทยวา/NES/ชลเจริญ/เอี่ยมเฮง/สงวนวงศ์ - ลูกค้า : กฟผ./กฟภ. และขายไฟฟ้าตรงต่อผู้ประกอบการในพื้นที่
โครงการผลิตน้ำมันสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ (CBG for fleet) วางเป้าหมายใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบผลิต CBG สำหรับรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ได้ 13,000 ตัน/ปี และ ผลิต CBG สำหรับรถบรรทุกสินค้าทั่วไปได้ 0.014 ตัน/ปี ผู้ดำเนินการ : ปตท./SCG/ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล - ลูกค้า : รถบรรทุกขนาดใหญ่ของ ปตท./SCG/รถบรรทุกสินค้าของบริษัทเอกชนทั่วไปในท้องถิ่น/รถบรรทุกสินค้าของ Subcontractor อื่น ๆ
กลุ่มที่ 2 Bio-based chemicals/materials วางเป้าหมายให้มีการนำ พลาสติกชีวภาพ PLA แบบย่อยสลายได้มาใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม แทนพลาสติกแบบ Petro-based คิดเป็นปริมาณ 25% ของที่ใช้อยู่ และการสร้างโรงงานผลิต Biochemicals/Bioplastics ผู้ดำเนินการ : PTTGC/บริษัทแปรรูปพลาสติก/มิตรผล - ลูกค้า : Bio-materials/Feed industry
กลุ่มที่ 3 Food / Feed for the Future วางเป้าหมาย ผลิตอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต กลุ่มโปรตีน กลุ่ม Food Additives & Ingrediento กลุ่ม Fiber/Dietary Fibero กลุ่มไขมัน/น้ำมัน ผู้ดำเนินการ : มิตรผล - ลูกค้า : อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมผลิตยาชีววัตถุ อุตสาหกรรมเพื่อความสวยงาม อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์
กลุ่มที่ 4 Biopharmaceuticals วางเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ และวัคซีนขั้นสูง เพิ่มการผลิตภายในประเทศและเพิ่มการส่งออกยา ขึ้น 5 เท่า จากเดิม 15,000 ล้านบาท/ปี เป็น 75,000 ล้านบาท/ปี ภายใน 10 ปี ผู้ดำเนินการ : มิตรผล/Siam Bioscience/Baxter Thailand/บริษัทยาจากต่างประเทศ - ลูกค้า : บริษัทในอุตสาหกรรมยาในต่างประเทศ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนในประเทศไทย
โครงการนำร่องเหล่านี้ภาครัฐต้องสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจาก BOI และด้าน R&D การสนับสนุนให้มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพ การสนับสนุนนโยบายการผลิต Bio-energy ทั้งชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ฯลฯ การสนับสนุนให้เกิดการใช้ Bio-plastics และ การปรับปรุงกระบวนการรับรองยาของ อย. ให้เป็นแบบ Fast track เป็นต้น
ภาพที่ปรากฏชัดเจนในเวลานี้คือ นายทุน และ รัฐบาล คสช. ได้ร่วมกันวางนโยบายระยะยาวด้วยนโยบาย Zoning ภาคเกษตรที่มุ่งตอบสนองการผลิตของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของเกษตรกร และเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพที่อาจส่งผลกระทบหลายมิติบนพื้นที่หลายล้านไร่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนรายใหญ่ไม่กี่รายในกิจการของตนเอง และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างสิ้นเชิง[5]
ตีแผ่จากข้อเท็จจริงการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตอ้อยปีเพาะปลูก 2557/58[6] เกษตรกรชาวไร่อ้อยในภาคอีสานมีต้นทุนการผลิตอ้อย 1,218.83 บาท/ตัน (ยังไม่รวมค่าขนส่งอ้อยไปยังโรงงานตันละ 100 -150 บาท) และมีผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 10.48 ตัน/ไร่ โดยราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้ายตั้งแต่ปี 2550/51 – 2560/61 อยู่ที่ 600 - 1,083.86 บาท/ตัน เฉลี่ยแล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 8 พันบาท/ไร่/ปี ขาดทุนประมาณ 2 พันบาท/ไร่/ปี การศึกษาดังกล่าวยังชี้ด้วยว่า ชาวไร่อ้อยจะมีกำไรก็ต่อเมื่อผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 14.81 - 15 ตันต่อไร่ การพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือเศรษฐกิจชีวภาพ จึงไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นคำโฆษณาชวนเชื่อ
ส่วนข้อมูลล่าสุดของ สอน. ในปี 2560/2561 ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อย 5.54 ล้านไร่ มีโรงงานน้ำตาล 20 โรงงาน ผลผลิตอ้อย 58.612 ล้านตัน เชื้อเพลิงชานอ้อย 15.825 ล้านตัน ผลิตไฟฟ้าชีวมวล 631 เมกกะวัตต์[7] เอทานอล 1.4 ล้านลิตร/วัน แต่ผลผลิตอ้อยทั้งหมดในภาคยังไม่พอสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเดิม[8] และ การเพิ่มขึ้นของโรงงานน้ำตาล 27 โรงงาน[9] พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกโรงงานที่ได้รับอนุญาตจาก สอน. หมายถึงจะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างน้อย 7 ล้านไร่ ไม่นับรวมผลผลิตจากอ้อยที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ส่วนการผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 1,800 เมกะวัตต์ จะต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อย 7.5 ล้านไร่ หมายถึงในภาคอีสานจะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 14 ล้านไร่
แม้ว่าภาคอีสานจะมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 63.847 ล้านไร่ (ที่นา 42.752 ล้านไร่) แต่การมีพื้นที่ปลูกอ้อยซึ่งใช้สารเคมีสูงที่จะเพิ่มจาก 5.54 ล้านไร่ เป็น 20 ล้านไร่ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังข้อมูลจาก แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ศ.2560 - 2564)[10] ที่ชี้ว่า ภาพรวมของอีสานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีสานมีปัญหาพื้นฐานด้านการขาดแคลนน้ำ ดินคุณภาพต่ำ แหล่งน้ำเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าลดลง ประสบอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซาก ประชากรมีปัญหาทั้งในด้านความยากจนและหนี้สิน ที่ผ่านมานโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในอีสานนอกจากจะไม่ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่ยังสร้างให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการศึกษาของสันติภาพ (2559) ที่ระบุว่า พื้นที่สำหรับปลูกอ้อยร้อยละ 20 เป็นการถางและบุกเบิกป่าใหม่ หรือป่าหัวไร่ปลายนาและป่าสาธารณะ และการกำหนด Zoning พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยที่ทับซ้อนกับนาข้าวทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างคนปลูกอ้อยและคนปลูกข้าวในพื้นที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงการกำหนดเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยตามที่โรงงานน้ำตาลตั้งอยู่หลายพื้นที่ไม่ได้สอดคล้องกับระบบนิเวศและวิถีการผลิตของชุมชน[11]
คำถามคือ ทำไมรัฐบาลไม่กดดันให้อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล เพิ่มผลผลิตจากพื้นที่อ้อยแปลงเดิมอย่างน้อยจาก 10 ตัน/ไร่ เป็น 15 ตัน/ไร่ ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นเฉพาะในอีสานจาก 58 ล้านตัน เป็น 83 ล้านต้น หรือถ้าเพิ่มผลผลิตอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ 10.53 ล้านไร่ จะทำให้มีผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 105.96 ล้านตัน เป็น 165 ล้านตัน ในระยะเวลาแค่ 1 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้คุ้มทุน ไม่ต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย และไม่ต้องขยายโรงงานของกลุ่มทุนเดิมในอีสานไปในอีก 13 จังหวัด
แต่เมื่อพิจารณาจากระบบพันธสัญญาอ้อยที่ทำขึ้นระหว่างกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล โดยเกษตรกรจะต้องเปิดโควตากับโรงงานน้ำตาล เอกสารในการค้ำประกันก่อนเข้าทำสัญญาส่วนใหญ่เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส่วนสินเชื่อที่โรงงานน้ำตาลออกให้เกษตรกรจะอยู่ในรูปของ ปุ๋ย สารกำจัดวัชพืช พันธุ์อ้อย เงิน และเทคโนโลยี แต่การปลูกอ้อยของเกษตรกรตามสัญญาในลักษณะจ้างทำของก่อให้เกิดปัญหาหลายด้านตามมา เช่น การใช้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม การทุจริตและความไม่เป็นธรรมในสัญญาการจัดการโควตาและการระบุคุณภาพ เกษตรกรรับภาระต้นทุน-ความเสี่ยงในการผลิตในทุกกรณีตั้งแต่การเตรียมแปลงไปจนถึงส่งอ้อยเข้าลานรับซื้อของโรงงาน เกษตรกรเกิดภาระหนี้สินจากการลงทุนทั้งทางด้านปัจจัย กระบวนการผลิต ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม และทุกกรณีไม่สามารถเรียกร้องหรือต่อรองเรื่องราคาอ้อยจากโรงงานได้ เพราะโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ผูกขาดราคาและการรับซื้ออ้อยทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อผลเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น เกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงมีความเสี่ยงที่ที่ดินทำกินจะหลุดมือมากกว่าชาวนาถึง 4 เท่า[12] เสี่ยงได้รับอันตรายจากการใช้สารเคมีที่แต่ละปีมีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางเกษตรเฉลี่ยในอีสานไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี เข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับความคุ้มครองทางด้านสวัสดิการแรงงานและสังคมโดยโรงงานน้ำตาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหรือทำประกันภัยให้แก่เกษตรกร
คำตอบของนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย การขยายโรงงานอ้อยและน้ำตาล และการขยายอุตสาหกรรมชีวภาพ จึงถูกมองว่ามีเป้าหมายซ่อนเร้นอื่น ๆ เช่น กำไรจากดอกเบี้ยหนี้สินของเกษตรกรไปจนถึงกระบวนการในการฮุบที่ดินของคนยากคนจน
ดังนั้นแล้วหากรัฐบาลหรือนายทุนจะนำนโยบายเศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ มาใช้เพื่อสร้างภาพที่ดีให้อุตสาหกรรม สังคมคงต้องมองคำว่า “ชีวภาพ” กันใหม่ว่าคือความสะอาด เป็นอนาคต หรือเป็นแค่ความสกปรกที่กดขี่เกษตรกรไว้เยี่ยงทาสต่อไป
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนระหว่างที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลแจ้งว่ากำลังจะจัดประชุมชี้แจงโครงการในพื้นที่ 39 หมู่บ้าน 6 ตำบล 3 อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
เชิงอรรถ
[1] http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/808493
[2] การผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย ตัวช่วยหลักของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2015 - กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
[3] เดิมในอีสานมีโรงงานน้ำตาล 19 โรงงาน เพิ่มรวม โรงงานน้ำตาลของ บริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ที่เปิดดำเนินการในปี 2559 เป็น 20 โรงงาน ส่วนบริษัทน้ำตาลเอราวัณขยายกำลังการผลิต เปิดดำเนินการแล้ว
[4] 2559. รายงานผลการดำเนินงาน. คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต. www.สานพลังประชารัฐ.com
[5] 2560. สรุปการประชุม นิเวศอีสาน เกษตรวิถี : การรุกคืบของอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลในอีสาน. อ้างแล้ว
[6] รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำต้นทุนผลผลิตและถ่ายทอดความรู้เพื่อลดต้นทุนการผลิตอ้อยของเกษตรกร ในปีเพาะปลูก 2557/58 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม
[7] คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กฟผ. กฟน. กฟภ. และ พพ. ณ เดือน เมษายน 2561
[8] รายงานผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำยุทธศาสตร์และประเมินประสิทธิภาพการใช้อ้อยและผลิตภัณฑ์จากอ้อยในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio-fuels). สอน.
[9] โรงงานน้ำตาลของ บ.รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม (วังสะพุง จ.เลย) เปิดดำเนินการแล้วในปี 2559 และ โรงงานน้ำตาล บ.น้ำตาลเอราวัณ (หนองบัวลำภู) ขยายกำลังการผลิตในโรงงานเดิม
[10] แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
(พ.ศ.2560 - 2564) ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2561. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[11] 2559. ชุมชนอีสาน : ความเป็นธรรมและสุขภาวะภายใต้สถานการณ์ใหม่. สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์. คณะวิทยาศาสตร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
[12] 2559. โครงการการตรวจสอบคุณภาพดิน แหล่งน้ำ และแหล่งผลิตอาหาร ต.โนนสะอาด อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น. กลุ่มเกษตรธรรม และสภาองค์กรชุมชนตำบลโนนสะอาด[full-post]
แสดงความคิดเห็น