พบก้อนมะเร็งในกระดูกบรรพบุรุษมนุษย์อายุ 1.7 ล้านปี
มีรายงานการค้นพบร่องรอยของโรคมะเร็งที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา ในซากฟอสซิลส่วนกระดูกหัวแม่เท้าของบรรพบุรุษมนุษย์ที่เรียกว่า Homo ergaster ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากการดำรงชีวิตแบบสมัยใหม่เสมอไป
ฟอสซิลกระดูกหัวแม่เท้าซึ่งมีอายุเก่าแก่ 1.7 ล้านปี ถูกค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในแหล่งมรดกโลกต้นกำเนิดของมนุษยชาติ (Cradle of Humankind) ใกล้นครโจฮันเนสเบิร์ก โดยมะเร็งที่พบเป็นมะเร็งกระดูกชนิดออสทีโอซาร์โคมา ซึ่งเป็นมะเร็งกระดูกชนิดร้ายแรงและพบได้ยากชนิดหนึ่ง
ดร. แพทริค แรนดอล์ฟ-ควินนีส์ จากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลแลงคาเชียร์ของสหราชอาณาจักรบอกว่า แม้จะพบการเกิดมะเร็งได้ในสัตว์หลายชนิด แต่แวดวงวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่า มะเร็งในมนุษย์เกิดจากสภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิตแบบสมัยใหม่ เช่นการกินอาหารขยะ ดื่มสุราและสูบบุหรี่ และเนื่องจากการศึกษาร่างของมัมมี่อียิปต์โบราณด้วยรังสีเอ็กซ์นั้นไม่พบก้อนมะเร็งภายใน ยิ่งทำให้ตอกย้ำความเชื่อที่ว่ามะเร็งเป็นโรคสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การค้นพบมะเร็งในฟอสซิลบรรพบุรุษมนุษย์ที่มีความเก่าแก่มาก ๆ อาจทำให้ต้องทบทวนถึงสาเหตุการเกิดมะเร็งว่ามาจากเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ มีการค้นพบร่องรอยของมะเร็งที่เก่าแก่ที่สุดในฟอสซิลของนีแอนเดอร์ทัล ซึ่งมีความเก่าแก่ราว 120,000 ปี และค้นพบในประเทศโครเอเชีย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.