ผลสแกนกระดูกชี้ บรรพบุรุษมนุษย์ “ลูซี่” ตกต้นไม้ตาย
ผลการศึกษาร่องรอยแตกหักในฟอสซิลโครงกระดูกบรรพบุรุษมนุษย์ “ลูซี่” ครั้งล่าสุดชี้ว่า บรรพบุรษมนุษย์สายพันธุ์ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส (Australopithecus afarensis) ซึ่งมีชื่อเสียงมานานผู้นี้ น่าจะตายลงในวัยสาว ด้วยเหตุพลัดตกจากที่สูง
ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯและเอธิโอเปีย ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวลงในวารสารเนเจอร์ หลังจากใช้เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกนแบบความละเอียดสูง ตรวจดูร่องรอยแตกหักในฟอสซิลกระดูกของลูซี่ซึ่งมีอายุถึง 3.2 ล้านปี แล้วพบว่ารอยแตกหักดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อลูซี่ยังมีชีวิตอยู่ โดยไม่ได้เป็นความเสียหายของฟอสซิลที่มีอายุมากแต่อย่างใด โดยรอยแตกหักนี้พบในหลายตำแหน่ง เช่นที่กระดูกขา ข้อเข่า แขน ซี่โครง กระดูกสันหลัง กราม และกะโหลกศีรษะ
ร่องรอยแตกหักดังกล่าว สอดคล้องกับลักษณะศพของมนุษย์ปัจจุบันซึ่งเสียชีวิตเพราะตกจากที่สูง โดยภายในกระดูกที่แตกหักไม่มีร่องรอยของการซ่อมแซมฟื้นตัว แสดงว่าลูซี่ตายในทันทีที่พลัดตกลงมา นอกจากนี้ การที่ซี่โครงซี่แรกแตกหักเสียหายด้วย แสดงว่ามีการตกกระทบพื้นอย่างแรง เพราะปกติซี่โครงซี่แรกจะแตกได้ยากมาก นักวิจัยยังพบความเสียหายที่กระดูกต้นแขน ซึ่งแสดงว่ามีการเหยียดแขนออกขณะร่วงตกลงมา แสดงว่าลูซี่ยังคงมีสติอยู่ในขณะพลัดตก
ทีมนักวิจัยคาดว่า ลูซี่พลัดตกจากต้นไม้ เนื่องจากในบริเวณที่ค้นพบฟอสซิลโครงกระดูกของลูซี่ เป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ของเอธิโอเปีย ซึ่งสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่า ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่บนต้นไม้คล้ายลิง
ทั้งนี้ มีการค้นพบฟอสซิลของลูซี่เมื่อปี 1974 โดยมีความสูงราว 1 เมตร ทั้งเป็นฟอสซิลโครงกระดูกบรรพบุรุษมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบมา โดยยังเหลือโครงกระดูกอยู่ถึงร้อยละ 40 ของร่างทั้งหมด
บรรพบุรุษมนุษย์สายพันธุ์ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิสนั้นเดินตัวตรง ไม่มีเท้าสำหรับยึดเกาะแบบลิง แต่ร่างกายส่วนบนและแขนยังมีลักษณะเหมาะกับการปีนป่ายอยู่
(ภาพประกอบ – แบบจำลองออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส ทั้งเพศผู้และเพศเมีย)
http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-37194764

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.