Wake Up News ไมได้ทำผิดกฎหมาย และการรายงานข่าวจากทุกฝ่ายไม่ควรถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม
ทวิตเตอร์ของ กสท.สุภิญญา เปิดเผยว่าวันนี้มีวาระพักรายการ Wake Up News 7 วัน โดยอ้างว่าขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.และกฎหมาย กสทช. ข้อหานี้หมายความว่ารายการนี้จะถูกลงโทษเพราะมีเนื้อหาทำลายศีลธรรมของสังคม ต่อต้านเจ้าหน้าที่ หมิ่นประมาท ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ฯลฯ จึงขอให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงว่าเราไม่ได้นำเสนอเนิอหาที่ี่ขัดศีลธรรม ให้ข้อมูลด้านเดียว หรือผิดจริยธรรมสื่ออย่างแน่นอน
คณะอนุกรรมการเนื้อหาเชิญรายการไปชี้แจงในวันจันทร์ที่ 22 หัวข้อที่คณะอนุกรรมการให้ชี้แจงมีสามเรื่อง เรื่องแรกคือข่าว "ไผ่ ดาวดิน" เรื่องที่สองคือข่าวระเบิดเจ็ดจังหวัดภาคใต้ และเรื่องที่สามคือข่าว สนช.ผลักดันให้สว.มีสิทธิเลนอชื่อนายก
แม้เราจะถูก “เชิญ” ไปชี้แจงในคณะอนุกรรมการระดับทุกสองสัปดาห์ แต่การประชุมวันนั้นเป็นครั้งแรกที่มีทหารนั่งหัวโต๊ะ ประธานที่ประชุมแจ้งว่าเป็นรองหัวหน้าคณะทำงานสื่อของ คสช.
สำหรับท่านที่ไม่มีเวลา สรุปสั้นๆ ว่ารายการ Wake Up News ข้อหารุนแรงถึงขั้นเตรียมพักรายการเจ็ดวันจากการอ่านข่าวสี่ชิ้นครับ ชิ้นแรกคือโพสท์เฟซบุ๊คของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กรณี ไผ่ ดาวดิน, ชิ้นที่สองคือคำสัมภาษณ์เรื่องระเบิดใต้ของ ผ.ศ.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี, ชิ้นที่สามคืออ่านพาดหัว Bangkok Post/ Nation 15-17 สิงหาคม และชิ้นที่สี่คือรายงานเรื่องคุณวันชัยและไพบูลย์พูดเรื่องนายกคนนอกอย่างไร
เนื้อหาในรายการส่วนที่ กสท.กำลังพิจารณาล้วนเป็นเนื้อหาที่ปรากฎในสื่ออื่นมาแล้ว เมื่อการเผยแพร่เนื้อหาเดียวกันเกิดไปแล้วในสื่ออื่น และไม่มีเจ้าหน้าที่บอกว่าเนื้อหาดังกล่าวกระทบความมั่นคง การที่ Wake Up News โดนกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบ ทำลายศีลธรรม ขัดขวางฝ่ายบ้านเมือง ฯลฯ เข้าข่ายเป็นเรื่องผิดปกติพอสมควร
อนึ่ง เนืองจากการประชุมมักดำเนินไปในรูปแบบที่คณะอนุเสนอเนื้อหาส่วนที่มองว่ามีปัญหาเข้าที่ประชุม แต่คณะกรรมการชุดใหญ่พึงตรวจสอบเนื้อหารายการทั้งหมดที่ออกอากาศในแต่ละวันด้วย ไม่อย่างนั้นก็อาจถูกชี้นำโดยหลักฐานที่นำเสนอเฉพาะส่วนจนเห็นตามว่ารายการให้ข้อมูลด้านเดียวครับ เพราะรายการนำเสนอความเห็นของรัฐบาลและรัฐมนตรีประกอบทุกข่าวโดยให้สัดส่วนมากกว่าอย่างเคร่งครัด และไม่ได้นำเสนอเนื้อหาด้านเดียวอย่างที่ กสท.บางท่านเข้าใจแน่นอน
กรณีข่าวไผ่ดาวดิน
สถานการณ์ขณะนั้นคือมีการอดอาหารในเรือนจำ สื่อรายงานเรืองนี้อย้างกว้างขวาง เนื้อหาในรายการเรื่องนี้มีสามส่วน ส่วนแรกคือเสียงของพลเอกประวิตรในฐานะรองนายกที่บอกว่าไผ่ถูกจับเพราะทำผิดกฎหมาย ส่วนที่สองคือเสียงของพลเอกไพบูลย์ที่บอกว่าไผ่ไม่ได้อดอาหารจริงเพราะกินขนม และส่วนที่สามคือโพสท์เฟซบุ๊คของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ว่าไม่ควรมีใครติดคุกเพราะความเห็นต่าง
ส่วนที่คณะอนุซักถามรายการคือส่วนของข้อความวรรณสิงห์ คณะอนุบอกว่าข้อความวรรณสิงห์ทำให้คนเห็นใจนักศึกษามากเกินไป ทำให้คนมองว่า คสช.ใจดำ รวมทั้งระบุว่ารายการไม่ให้ความเป็นธรรมเพราะไม่ยอมบอกว่าไผ่ดาวดินทำอะไรผิด รวมทั้งไม่ได้อดอาหารจริงๆ
รูปแบบในการประชุมคือนำเสนอคลิปช่วงอ่านข้อความวรรณสิงห์เข้าที่ประชุม แต่ไม่ได้เสนอช่วงที่รายการปล่อยเสียงรองนายกรัฐมนตรีและพลเอกไพบูลย์ประกบ ทำให้ข้อมูลที่เข้าที่ประชุมมีแต่การอ่านโพสท์วรรณสิงห์ และนำไปสู่การสรุปต่อว่ารายการให้ข้อมูลด้านเดียว ทั้งที่เนื้อหาที่พลเอกประวิตรและพลเอกไพบูลย์นั้นได้นำเสนอไปในช่วงก่อนแล้ว
คำถามคือตรงไหนในโพสท์วรรณศิงห์ที่ทำลายศีลธรรมและขัดขวางบ้านเมือง?
กรณีข่าวระเบิดเจ็ดจังหวัดภาคใต้
ประเด็นที่สังคมสนใจคือใครเป็นมือระเบิด รัฐบาลให้ข่าววันเสาร์-จันทร์ ว่าเป็นกลุ่มการเมือง แต่สื่อและนักวิชาการเริ่มบอกว่าน่าจะเป็นกลุ่ม BRN รวมทั้งหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ก็เชื่อมโยงกับกลุ่มชายแดนใต้มากขึ้นเรื่อยๆ ทิศทางข่าวในสื่อแทบทุกที่จึงเป็นเรื่องใครวางระเบิดเหมือนกัน
ส่วนที่คณะอนุซักถามคือคำสัมภาษณ์ ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ อาจารย์ด้านอาชญวิทยา ม.รังสิต ซึ่งตอนหนึ่งระบุว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็น BRN และระบุว่ารัฐบาลให้ข่าวว่าระเบิดเกิดจากกลุ่มการเมืองเร็วเกินไป , คำสัมภาษณ์ของ ผ.ศ.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ซึ่งระบุว่าดูจากหลักฐานและพฤติกรรมแวดล้อมแล้วระเบิดไม่น่าจะเกิดจากกลุ่มเสื้อแดง และข่าวจากหน้า ๑ Bangkok Post และ Nation วันที่ 15-18 สิงหาคม ที่บอกว่าระเบิดเกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบชายแดน
คำวิจารณ์ที่คณะอนุมีต่อรายการคือการแสดงความเห็นเรื่องระเบิดเชื่อมโยงกับชายแดนใต้ แต่รายการได้แจ้งคณะอนุว่าเราอ่านข่าวตามที่สื่อรายงาน โดยได้นำหนังสือพิมพ์ในช่วงดังกล่าวแสดงต่อที่ประชุม ส่วนความเห็นของ ผ.ศ.ศรีสมภพ ก็ถูกนำเสนอเพราะเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องภาคใต้ต่อเนื่องที่สุดในประเทศไทย
ขอย้ำว่าการเรียกรายการเข้าชี้แจงคือวันที่ ๒๒ ซึ่งพล.อ.ประวิตร รองนายกและรัฐมนตรีกลาโหมยอมรับว่าระเบิดไม่เกี่ยวกับกลุ่มเสื้อแดงไปแล้ว, เจ้าหน้าที่เริ่มออกหมายจับนายอาหะมะจากตากใบ , หน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ยอมรับหมดว่าระเบิดเกิดจากกลุ่มชายแดน และตอนนี้ไม่มีใครพูดว่าเหตุระเบิดมาจากกลุ่มการเมืองอีกเลย
คำถามคือทำไมการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่อย่างเปิดเผยถึงถูกกล่าวหาว่าผิดศีลธรรมและขัดขวางเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ในเมื่อ ณ ตอนนี้ รัฐมนตรีก็ระบุว่าข่าวที่สื่อรายงานมีมูลความจริง?
กรณีสว.เสนอชื่อนายกคนนอก
สถานการณ์ขณะนั้นคือสนช.ผลักดันให้กรรมการร่างแก้รัฐธรรมนูญให้วุฒิสมาชิกเสนอชื่อนายก (Nominate) ได้ รวมทั้งคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศตั้งพรรคชูพลเอกประยุทธ์เป็นนายก ส่วนคณะอนุวิจารณ์ว่าช่องรายงานข่าวความเห็นของคุณวันชัย สอนศิริ/ คุณไพบูลย์ และคนอื่นๆ เรื่องวุฒิสภาเสนอชื่อนายกจนทำให้เกิดความสับสน บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย
อย่างไรก็ดี ข่าวเรื่องวุฒิสมาชิกเสนอชื่อนายกได้หรือไม่ปรากฏในสื่อทุกแหล่ง และยังคงเป็นประเด็นจนปัจจุบัน คำถามคือทำไมการเสนอข่าวที่คุณวันชัยและคุณไพบูลย์เป็นคนพูดเองวาจะเสนอ ให้วุฒิสภาเลือกนายกได้ถึงกลายเป็นเรื่องทำลายศีลธรรมและขัดขวางบ้านเมือง?
ทุกคนทราบว่าการทำงานสื่อภายใต้สถานการณ์นี้ไม่ปกติ แต่กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย และการกล่าวหาว่าใครผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินไปโดยหลักฐานและกระบวนการที่ปกติ ข้อกล่าวหาและกระบวนการพิจารณาความผิด Wake Up News มีแนวโน้มจะทำโดยไม่เป็นตามนี้ อย่างน้อยที่สุดก็คืออาจไม่มีการนำเสนอเนื้อหารายการทั้งหมดให้คณะกรรมการ กสท.พิจารณาอย่างสมบูรณ์ ผลก็คือคณะกรรมการอาจเข้าใจว่ารายการนำเสนอข้อมูลของภาครัฐอย่างไม่ครบถ้วนและเข้าข่ายให้ข้อมูลด้านเดียว ท้ั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย Supinya Klangnarong Jenny's Room Pravit Rojanaphruk Jon Ungphakorn

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.