ชาวลาว 3 คน ร้องยูเอ็น ดูแลสิทธิเสรีภาพในการพูดของคนลาว หลังทางการจับกุมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่วิจารณ์รัฐบาลไป 3 ราย
นายตามใจ ไค้ยะวงศ์ ชาวลาวและเพื่อนอีก 2 รายไปยื่นจดหมายถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การสหประชาชาติเมื่อช่วงสาย หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามทำกิจกรรมเรียกร้องที่หน้าสถานทูตลาวในกรุงเทพฯ ช่วงเช้า ทั้ง 3 คนเรียกร้องให้ทางการลาวเปิดกว้างให้ประชาชนมีเสรีภาพในการพูดและมีส่วนร่วมติดตามนโยบายรัฐโดยสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ และเรียกร้องให้ทางการลาวปล่อยตัวผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวลาว 3 รายที่ถูกจับเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านโซเชียลมีเดีย
“เราไม่ได้รับโอกาสในการแสดงออก เราขอเรียกร้องเรื่องการใช้เสรีภาพในการพูด ให้เราพูดจาได้ เราขอร้องรัฐบาลลาว เพราะตอนนี้การพูดวิจารณ์ หรือการใช้เฟซบุ๊กก็วิจารณ์ไม่ได้ ไม่สามารถอิสระเสรีในการพูดเรื่องโครงการต่างๆ น้องๆ สามคนที่โดนจับไป เขาเรียกร้องเท่าที่ทำได้ ก็ขอให้รัฐบาลลาวทบทวนหรือผ่อนคลายการแสดงออกและการพูดจาปราศรัยของประชาชน ให้เสรีภาพ และปล่อยตัวสามคนที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำของลาว” นายตามใจให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยที่หน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ โดยอนุญาตให้สื่อเผยแพร่ใบหน้าของเขาได้ และขอให้ระมัดระวังการเผยแพร่ภาพของผู้ร่วมเรียกร้องอีก 2 ราย เนื่องจากยังกังวลเรื่องความปลอดภัยและการถูกจับกุม
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวลาว 3 ราย เป็นแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ถูกจับกุมขณะที่เดินทางข้ามพรมแดนจากไทยกลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศลาว เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ต่อมาวันที่ 25 พ.ค. สถานีโทรทัศน์แห่งชาติลาวเผยแพร่ภาพบุคคลทั้งสาม ในที่คุมขังของรัฐบาลและระบุว่าทั้ง 3 คนละเมิดกฎหมายความมั่นคงของชาติเนื่องจากวิจารณ์รัฐบาลผ่านโซเชียลมีเดีย สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล หรือ FIDH ระบุว่า ทั้ง 3 คนเคยเข้าร่วมประท้วงรัฐบาลลาวที่หน้าสถานทูตลาวในกรุงเทพฯ มาก่อน และพวกเขาโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาลลาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นคอร์รัปชั่น
นายโลรองต์ เมลลอง รักษาการผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลลาวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ก็เห็นได้ว่ามีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยแม้ว่ารัฐบาลลาวจะรับว่าจะปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ สังเกตได้ถึงการเพิ่มขึ้นของการละเมิดและคุกคามนักกิจกรรมทางสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกด้วย และผลคือประชาชนจำนวนมากเลือกที่จะเซนเซอร์ตัวเองเพราะกลัวที่จะถูกลงโทษ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมและประชาธิปไตยอย่างจำกัด
บีบีซีไทยติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตลาวประจำกรุงเทพฯ เพื่อสอบถามถึงการทำกิจกรรมของชาวลาวเมื่อเช้า ได้รับคำตอบว่าไม่มีคำแถลงหรือคำชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.