พบผู้ป่วยมะเร็งในอังกฤษมีแนวโน้มรอดชีวิตและมีอายุยืนยาวมากขึ้น
องค์กรสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งแมคมิลแลนของอังกฤษ เผยแพร่รายงานการศึกษาที่พบว่า ผู้ป่วยมะเร็ง 170,000 คนในประเทศที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งครั้งแรกเมื่อราว 40 ปีก่อน ปัจจุบันยังคงมีชีวิตอยู่ และมีแนวโน้มว่าจะมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นกว่าผู้ป่วยมะเร็งรุ่นก่อนหน้านั้น
รายงานระบุด้วยว่า ผู้ป่วยมะเร็งในปัจจุบันมีโอกาสมีชีวิตรอดอยู่หลังการตรวจพบมะเร็งอย่างน้อย 10 ปี โดยโอกาสที่ว่านี้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับในช่วงทศวรรษที่ 1970 อันเนื่องมาจากเทคนิคการรักษาที่ก้าวหน้าขึ้นและการตรวจพบมะเร็งได้แต่เนิ่น ๆ
ศาสตราจารย์ เจน เมเฮอร์ จากองค์กรสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งแมคมิลแลน ระบุว่าทุกวันนี้ผู้ที่หายป่วยจากโรคมะเร็งมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการรักษาที่รุนแรงในภายหลัง เช่น หัวใจวายหรือเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงแบบไม่รุนแรงที่คงเหลืออยู่ เช่นเหนื่อยง่าย หรือควบคุมการขับถ่ายไม่ค่อยได้ ยังสามารถส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้เช่นกัน
ผลการศึกษาพบด้วยว่า ผู้ที่หายจากโรคมะเร็งจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ยังต้องเผชิญกับผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งในระยะยาวต่อไป เช่น มีอาการซึมเศร้าหรือประสบความยากลำบากทางการเงินหลังการรักษาเป็นเวลานาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
แสดงความคิดเห็น