อัพเดทเนื้อหา เวลา 11.55 น.
โฆษก กต.สหรัฐฯเรียกร้องไทยกลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด
เอลิซาเบธ ทรูโด โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวการทำประชามติในประเทศไทยวานนี้ (8 ส.ค.) เรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ให้คืนเสรีภาพในการแสดงออกในขณะที่รอการเปลี่ยนผ่าน ในขณะที่ย้ำอีกว่าทางการสหรัฐยังมีความกังวล ว่าที่ผ่านมาหลายฝ่ายไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังห้ามการถกเถียงอย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับร่างด้วย
“เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการในขั้นตอนต่อไปเพื่อให้ประเทศกลับไปสู่ระบบที่มีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าในกระบวนการที่จะนำประเทศกลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตยทางการไทยควรยกเลิกข้อจำกัดต่อการใช้เสรีภาพของพลเรือน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ เพื่อให้คนไทยมีส่วนร่วมในการถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ
ก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปเป็นอีกรายที่ออกมาแสดงท่าทีหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย
หน่วยงานด้านต่างประเทศของสหภาพยุโรป (European External Action Service) ออกแถลงการณ์ระบุว่าในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติมีการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง จำกัดการถกเถียงและการรณรงค์ และชี้ว่าจำเป็นที่จะต้องยุติการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและรวมตัวกันเพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างกระบวนการทางการเมืองที่ตรวจสอบได้ อียูเรียกร้องให้ทางการไทยสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป โดยทุกภาคส่วนในไทยจะต้องมีส่วนร่วมในการสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อไปสู่จุดหมายดังกล่าวอย่างสันติ
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆเคารพผลการลงประชามติ ทั้งยังเตรียมจะชี้แจงต่อผู้แทนองค์กรต่างประเทศและทูตในสัปดาห์นี้ ไทยพีบีเอสรายงานคำพูดของนายดอนบอกว่า แม้การลงประชามมติหนนี้จะไม่ใช่คนไทยทั้งหมดแต่ก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ตามมาตรฐานสากลเพราะว่าเกินร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิออกเสียง นายดอนบอกว่าจะเชิญผู้แทนต่างประเทศร่วมรับฟังการชี้แจงในวันที่ 11 หรือ 12 ส.ค.นี้รวมไปถึงรับฟังโรดแมปของคสช.ซึ่งจะชัดเจนขึ้นหลังการประชุมร่วมระหว่างคสช.และครม.ในวันนี้คือ 9 ส.ค.
ก่อนหน้านี้คือในคืนวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งข้อความให้กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศประณาม “การแทรกแซง” จากต่างประเทศ หลังจากนั้นได้ระบุว่า ทั้งนี้เนื่องจากมีต่างประเทศส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปดูการออกเสียงลงประชามติโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.