คนกรุงเทพเข้าใจการทำประชามติครั้งนี้แค่ไหน ?
เหลือเวลาเพียง 4 วันก่อนการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงท้าย ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้ บีบีซีไทยได้ไปสอบถามความเห็นของผู้คนหลากหลายในกรุงเทพมหานคร โดยสอบถามว่าพวกเขาจะไปลงเสียงประชามติหรือไม่และมีความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน
จากการสอบถามพบว่า หลายคนตั้งใจจะไปออกเสียงประชามติแต่ยังไม่เข้าใจสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังไม่ได้รับเอกสารรณรงค์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง โดยผู้ที่ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดเผยว่ายังไม่ทราบว่าในการทำประชามติครั้งนี้จะมีการออกเสียงในเรื่องคำถามพ่วงท้ายด้วย
สำหรับคำถามพ่วงท้ายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะปรากฏบนบัตรออกเสียงประชามติ มีข้อความว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้ขยายความคำถามพ่วง โดยจับโยงกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฯ มีสาระโดยสรุป 4 ประเด็น คือ 1. ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ ผู้มีสิทธิเลือกนายกฯ มีเพียง ส.ส. ทั้ง 500 คน เท่านั้น แต่คำถามพ่วงจะให้ ส.ว. 250 คน มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย 2. ในบทเฉพาะกาล ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 269 กำหนดให้ คสช. เป็นผู้เลือก ส.ว. ชุดแรกทั้ง 250 คน 3.ในคำถามพ่วง “ในระหว่าง 5 ปีแรก” ให้ ส.ว. ไปร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกฯ ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนนายกฯ ที่ ส.ว. ไปร่วมเลือกได้ แต่ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ ส.ส. มีวาระเพียง 4 ปีเท่านั้น ดังนั้น หากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้และคำถามพ่วง ก็จะแปลว่า ส.ว. ซึ่ง คสช. แต่งตั้งจะร่วมเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อย 2 หน 4. สำหรับ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ที่อ้างถึงในคำถามพ่วง ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำขึ้น แต่ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 275 กำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน เป็นผู้จัดทำ นอกจากนี้ มาตรา 162 ยังกำหนดด้วยว่า ครม. ชุดใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบายซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว
แสดงความคิดเห็น