ชีวิตหลังวิกฤติอีโบลา
การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการระบาดของโรคนี้ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก เฉพาะในเซียร์รา ลีโอน มีผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาถึง 3,956 คน
การติดเชื้อโรคนี้เกิดได้จากการสัมผัสกับของเหลวจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ และแม้ว่าการฝังศพผู้เสียชีวิตอย่างถูกต้องจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด แต่ผู้ที่ต้องสัมผัสกับศพของผู้เสียชีวิตมีโอกาสติดเชื้อไวรัสอีโบลาได้ง่ายเช่นกัน
ตอนที่เกิดการระบาดของไวรัสอีโบลาในเซียร์รา ลีโอน มีชาวบ้านราว 500 คนเสนอตัวเป็นอาสาสมัครช่วยจัดการฝังศพผู้เสียชีวิต โดยอาสาสมัครเหล่านี้ได้รับการฝึกสอน เรียนรู้วิธีจัดการศพอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีพูดคุยกับนายโมฮัมเหม็ด คามารา และนายมุสตาฟา กามางกา อดีตอาสาสมัคร 2 คน ซึ่งต่างพบว่าชีวิตตัวเองต้องเปลี่ยนไปหลังการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น
นายโมฮัมเหม็ด บอกว่าศพบางศพอยู่ในสภาพแย่มาก แม้เขาเองจะบอกกับตัวเองบ่อยครั้งว่าไม่ต้องการทำงานนี้อีกแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นอาสาสมัคร เป็นคนของกาชาด ทำให้เขานึกถึงความมีมนุษยธรรม และมองข้ามความยากลำบากเพื่อเอาชนะอุปสรรค
ด้านนายมุสตาฟา บอกว่า เขาเป็นคนมุสลิม บางครั้งเขานั่งขอดุอาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้อีก ตัวเขาเองสูญเสียน้องสาวและครอบครัวของเธอเกือบทั้งหมดไปเพราะอีโบลา “เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ทีไรทำให้เขาเศร้าใจมาก”
แม้องค์การอนามัยโลกจะประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นปีว่า การระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกสิ้นสุดลงแล้ว แต่บรรดาอาสาสมัครเหล่านี้กลับตกที่นั่งลำบาก เพราะถูกสังคมรังเกียจ และไม่สามารถหางานอื่นทำได้ บางคนต้องเข้าร่วมกลุ่มรับคำปรึกษาเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้
แสดงความคิดเห็น