ฉลุย 1.9 แสนล้าน สนช. ผ่าน 3 วาระ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 60
Posted: 27 Jan 2017 01:02 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
รมว.คลัง ระบุหวังสร้างความเข้มแข็ง-ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน และชดเชยเงินคงคลัง 

แฟ้มภาพ
27 ม.ค. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีมติ ผ่าน 3 วาระ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2560 พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
โดย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ. ว่า รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณเพิ่มเติม 2560 จำนวนไม่เกิน 190,000,000,000 บาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนคือ ในส่วนที่ 1. เป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น จำนวน ไม่เกิน 162,921,721,300 บาท แบ่งเป็น เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 22,921,721,300 บาท จัดสรรให้แก่กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10,000,000,000 บาท จัดสรรให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 15,000,000,000 บาท จัดสรรตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีการจัดสรรเป็นกลุ่มจังหวัดและรายกระทรวง หน่วยงาน 115,000,000,000 บาท  และในส่วนที่ 2. ชดเชยเงินคงคลัง จำนวน 27,078,278,700 บาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า การจัดสรรงบเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัด โดยให้ประชาชน และประชาสังคม เข้าร่วมนั้น  ถือเป็นการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ผ่านกลุ่มจังหวัด ที่จะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็ว  และงบประมาณ จะถูกจัดสรรไปยังพื้นที่ที่ต้องการจริง ๆ และได้โครงการที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่  ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มจังหวัดได้งบเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลเองก็ยังมีเงินสำรองไว้ให้สำหรับโครงการที่กลุ่มจังหวัดยังทำไม่เสร็จ และในงบประจำปี 2561 ก็จะจัดสรรงบให้ด้วย เพราะฉะนั้นโครงการที่กลุ่มจังหวัดตั้งใจทำ ก็จะทำได้อย่างต่อเนื่อง   และยืนยันว่า กรณีเหตุอุทกภัยภาคใต้สามารถใช้งบฉุกเฉินได้โดยตรง รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ให้เพียงพอ
ขณะที่สมาชิก สนช. ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการติดตามการใช้จ่ายงบสำรองกรณีฉุกเฉิน  ที่ควรตั้งหน่วยงานกลางในการตรวจสอบว่าการใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพและเป็นไปเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่อย่างไร  เพราะการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่ควรเป็นไปอย่างรวดเร็วตามแผน เพราะถือเป็นหัวใจของการบริหารงบประมาณ รวมไปถึงการกู้เงินเพื่อชดเชยเป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่ และการจัดสรรงบให้กับกลุ่มจังหวัดในเชิงพื้นที่  ที่จะต้องกระจายความเจริญได้อย่างทั่วถึง  และเห็นผลของโครงการที่ดำเนินการได้ในเชิงประจักษ์ ขณะที่การจัดสรรงบฯ เพิ่มเติม จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด และพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2560 พ.ศ. ....  จะมีผลบังคับตั้งแต่วัดถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เป็นต้นไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.