วีระ อัดแก้สัญญา 'ศูนย์สิริกิติ์' จาก 25 ปี เป็น 50 ปี โดยไม่ประมูล เข้าข่ายเอื้อประโยชน์
Posted: 25 Jan 2017 10:26 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ประยุทธ์แจงแก้ไขสัญญา 'ศูนย์สิริกิติ์' จาก 25 ปี เป็น 50 ปี ปัด เอื้อ 'เจ้าสัวเจริญ' อธิบดีกรมธนารักษ์ระบุเดินตามสัญญาเดิม วีระ อัดแก้สัญญาโดยไม่ประมูล เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ บอกจำได้เสี่ยเจริญซื้อที่พ่อประยุทธ์ 600 ล้าน อดีตรมว.คลัง ถามจะใช้ทุกกรณีหรือเปล่า


26 ม.ค.2560 กรณีจากการต่อสัญญาบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในระยะที่ 3 ระหว่างกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ธุรกิจในเครือของ เจริญ สิริวัฒนภักดี

อธิบดีกรมธนารักษ์แจงเดินตามสัญญาเดิม

จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเรื่องการพัฒนาโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ เพื่อลงทุนก่อสร้างศูนย์ประชุมใหม่วงเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท มีระยะเวลาเช่าที่จากกรมราชพัสดุ จากกรมธนารักษ์ 50 ปี นับจากวันลงนามในสัญญา กรมธนารักษ์ จะได้รับผลตอบแทนตลอดอายุสัญญา 18,900 ล้านบาท และหากทอนมาเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 5,100 ล้านบาท
การให้บริษัทเดิมได้รับสัมปทาน เป็นผลจากการเจรจา เพราะเดิม เอ็น.ซี.ซี. ต้องดำเนินการระยะที่ 2 คือ สร้างเป็นโรงแรมช่วงปี 2534-3535 แต่ติดเรื่องผังเมือง กทม.ประกาศหลังจากเอกชนลงนามกับกรมธนารักษ์ไปแล้ว ทำให้เอกชนไม่สามารถลงทุนต่อไปได้ เรื่องนี้ค้างอยู่ที่กรมธนารักษ์มานานกว่า 20 ปี ดังนั้นตั้งแต่ตนมารับตำแหน่ง มีนโยบายเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโครงการลงทุนที่ราชพัสดุที่ยังค้างค้าอยู่ ซึ่งได้เจรจากับเอกชน รวมถึงหารือกับสำนักงานกฤษฎีกา ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเวลากว่า 2 ปี จึงเป็นที่มาอยู่การเสนอเข้าครม.
 
“ที่ไม่เปิดประมูลใหม่ เพราะการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นโครงการเดิม สัญญาเดิม ลงทุนในพื้นที่เดิม และใช้รากฐานทางวิศวกรรมเดิม หารือกับสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว และหารือกับสำนักงานโยธาแล้ว โดยได้มีการเสนอโครงการดังกล่าวเข้าคณะกรรมการร่วมลงทุน (พีพีพี) แล้ว เนื่องจากมีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านบาทเข้าข่ายพีพีพี แต่หลังผ่านครม.ไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ จากทีมโฆษก หรือกระทรวงการคลัง จึงทำให้มองว่าเงียบๆ แต่มีผู้สื่อข่าวมาถาม ผมก็ตอบ ครั้งนี้ไม่ได้ทำแบบงุบงิบ ที่ผ่านมาให้ข่าวเรื่องนี้กับสื่อมวลชนมาตลอดว่าได้เจรจรกับเอกชนรายเดิมในเรื่องศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว
 
ส่วนการยืดเวลาให้เอกชนถึง 50 ปีนั้น อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า เป็นไปตามที่ปรึกษาทางการเงินเสนอมาว่า หากให้คุ้มค่ากับการลงทุนให้เวลา 47 ปี บวกเวลาก่อสร้าง 3ปี รวมเป็น 50 ปี ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่สามารถยกเลิกสัญญากับเอกชนได้ เพื่อนำมาเปิดประมูลใหม่ได้ เพราะเอกชนไม่ได้ผิดสัญญาอะไร และถ้าไม่ทำอะไรยังทิ้งไว้เหมือนเดิม กรมจะได้ค่าตอบแทนปีละ 100-200 ล้านบาท

ประยุทธ์ขออย่ามองว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใด

ขณะที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงกรณีแก้ไขสัญญาเช่าที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ กลุ่มในเครือของเจริญ สิริวัฒนภัคดีจาก 25 ปี เป็น 50 ปี ว่า เดี๋ยวจะมีการชี้แจง อย่ามองเรื่องเอื้อผลประโยชน์ ใครมีข้อเสนอดีที่สุดก็รับข้อเสนอนั้นมา ซึ่งการทำเช่นนี้มีผลประโยชน์ระยะยาว และได้เงินมากกว่าเดิมจาก 18,000 ล้านบาท เป็นสองหมื่นกว่าล้านบาท และจะได้อาคารสถานที่ใหม่ขึ้นมา นี่คือการปฏิรูป
 
"ไม่อยากได้หรอห้องประชุมใหม่ๆ ใหญ่ๆ หรือจะเอาเก่าๆ แบบนี้" นายกฯกล่าวและว่าอย่ามองว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดทั้งสิ้น 
 

วีระ อัดแก้สัญญาโดยไม่ประมูล เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ 

ด้าน วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก 'Veera Somkwamkid' แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ด้วยว่า เรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบ ยังกล้าทำ เช่นกรณี ค.ร.ม.แก้สัญญาเช่าที่ศูนย์ประชุมสิริกิต์จากเดิม 25 ปี เป็น 50 ปี ให้แก่ธุรกิจในกลุ่มของเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยไม่มีการประมูลแข่งขัน
"ผมจำได้ว่า บริษัทของเสี่ยเจริญ เป็นผู้ซื้อที่ดินของคุณพ่อนายกฯประยุทธ์ ในปี 2556 ในราคาเกือบ 600 ล้านบาท ไม่กลัวคนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า การกระทำดังกล่าวนี้ อาจจะเป็นการเอาผลประโยชน์ของชาติ ไปตอบแทนบุญคุณส่วนตัวหรือ" วีระ โพสต์

อดีตรมว.คลัง ถามจะใช้ทุกกรณีหรือเปล่า

เช่นเดียวกับ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีดังกล่าวด้วยว่า ถ้าใช้หลักการนี้ ต่อไปทุกบริษัทที่มีสัญญาเดิมกับรัฐบาล ก็สามารถต่ออายุขยายเวลา โดยไม่มีการประมูลแข่งขันได้กัน จะทำอย่างนี้ได้หมด หรือเปล่า จะรวมไปถึงเรื่องสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเรื่องธุรกิจดิวตี้ฟรี หรือเปล่า


"ผมไม่เข้าใจว่ากระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประเทศชาติของเราได้รับประโยชน์สูงสุดที่พึงจะได้ ต้องระวัง มีความเสี่ยงอาจจะมีโทษเกิดขึ้นได้นะครับ รวมทั้งปัญหาด้านภาพพจน์ เพราะชาวบ้านยังจำได้ว่า ใครเป็นผู้ซื้อที่ดินมรดกของท่านนายกรัฐมนตรี องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นหายไปไหน ทำไมไม่เข้าไปดูติดตามเรื่องนี้ แทนที่จะไปจัดสัมมนาใหญ่โต เพื่อเชิญคนที่เกี่ยวข้องกับสินบนโรลส์-รอยซ์ อย่าให้กลายเป็นการเปิดเวที ให้ผู้ที่เดิมทำงานอยู่ในตำแหน่ง และในห้วงเวลาที่มีการจ่ายสินบน ออกมาแก้ตัวนะครับ" ธีระชัย โพสต์
 

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.