มองคราฟต์เบียร์ไทยให้ไกลกว่า "ผิดกฎหมาย"
Posted: 28 Jan 2017 11:03 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

"กรณีจับกุมหนุ่มหมักเบียร์ผิดกฎหมาย อ้าว เฮ้ย ไม่เข้าใจมันถามได้ยังไงวะเนี้ย ใครถามวะเนี้ย บัวใต้น้ำจริงๆ กรณีเจ้าหน้าที่จับหนุ่มหมักเบียร์ตัวเองผิดกฎหมาย มีการตั้งคำถามว่ากฎหมายให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนมากไปหรือไม่ มันเกี่ยวกันตรงไหนวะ ฮะ แล้วเขาทำผิดกฎหมายหรือเปล่า ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เล่นงานเขาไม่ได้ แล้วไอ้หมักเบียร์ตัวเองผิดกฎหมายมั้ย ผิดมั้ย ถ้าผิดก็ดำเนินคดี ถ้าทางนู้นเขาผิดก็ดำเนินคดี เอามันกันแบบนี้ ผมว่าใช่ไม่ได้ คำถามแบบนี้"
นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560[1]

จากการตอบคำถามนักข่าวของนายกรัฐมนตรี บอกอะไรกับเราบ้าง ก่อนอื่นผมต้องขอทดบางคำตอบในใจออกไปก่อน อาทิ ความสามารถในการวิเคราะห์คำถามของท่านนายกฯ แต่ขอเจาะจงไปที่ท่าทีของรัฐต่อการทำคราฟต์เบียร์หรือ การหมักเบียร์ต้มเบียร์ในครัวเรือน อันสะท้อนว่า รัฐไม่พอใจในการตั้งคำถามซึ่งกำลังสั่นคลอนความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐอยู่ ดังนั้น บทความนี้จึงอยากจะชวนคิดอยู่สองเรื่องนั้นก็คือ หนึ่ง ประชาชนสมควรต้องตั้งคำถามต่อกฎหมายหรือไม่ และสอง ถ้ากฏเกณฑ์ของรัฐสมควรถูกตั้งคำถามอะไรคือปัจจัยที่ขัดขวางอยู่


แนวคิดเรื่องความยุติธรรมกับการวางตัวต่อกฎหมาย

หลายคนอาจจะแปลกใจว่า ถ้าไม่เคารพกฎหมายแล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร สังคมคงไร้ระเบียบจนยากเกินจะจินตนาการหรือไม่ แต่การตั้งคำถามต่อกฎหมายอาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหลักนิติรัฐที่พูดกันหาใช่แค่สัตย์แต่ว่าเคารพต่อกฎหมาย สยบยอมต่อกฎหมาย แต่ใจความสำคัญคือ “การเคารพกฎหมายที่เป็นธรรม”
ดังนั้นการวางตัวต่อกฎหมายจึงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องฐานแนวคิดต่อความยุติธรรม ซึ่งสำนักสำคัญที่ส่งเสริมการตั้งคำถามก็คือ ‘แนวคิดธรรมชาตินิยม’ ที่เชื่อว่า ความยุติธรรมเป็นคุณค่าสากลที่ดำรงอยู่คู่โลกและมนุษย์รับรู้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นรัฐต้องตรากฎหมายให้สอดคล้องกับความยุติธรรมสากลนี้ หากกระทำตรงข้าม กฎหมายย่อมใช้ไม่ได้และคนในสังคมมีสิทธิจะฝ่าฝืน[2] อีกทั้ง การตั้งคำถามอาจจะช่วยป้องกันความโหดร้ายทารุณในน้ำมือของกฎหมายได้อีกด้วย

ความจริงล้นเกินและการครอบงำการตั้งคำถาม

แม้ว่าการตั้งคำถามไม่ได้อาจจะสะท้อนถึงสภาวะความไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในบางกรณีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเองก็ถูกกล่อมเกลาให้ไม่ตั้งคำถามได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ "ความจริงล้นเกิน" ที่ถูกสร้างขึ้นและชี้นำให้คนมีความเชื่ออย่างเกินจริง เช่น หากประชาชนยังปฏิบัติตนนอกลู่นอกทางจากกฎเกณฑ์ของรัฐความสุขสงบของสังคมจะถูกบ่อนทำลายลง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความจริงล้นเกินอาจจะพอมองได้ดังนี้
หนึ่ง ความเชื่อใจภายใต้รัฐสมัยใหม่ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ปกครองในระบอบของรัฐที่เป็นสมัยใหม่นัก แต่โดยโครงสร้างแล้วก็ต้องถือว่าฐานคิดของระเบียบการเมืองมีความเป็น ‘รัฐชาติ’ อันเป็นโครงสร้างของรัฐสมัยใหม่ และประชาชนมีหน้าที่แลกเปลี่ยนความเชื่อใจในรูปของการเชื่อฟังกับการได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ แต่ปัญหาก็คือ เราคิดว่าการแลกเปลี่ยนดังกล่าวนั้นเท่าเทียม ทั้งที่รัฐกำลังใช้เครื่องมือต่างๆ สร้างความจริงล้นเกินว่า ถ้าไม่เชื่อฟังรัฐความสุขสงบและไร้ระเบียบจะเกิดขึ้นกับสังคม และเมื่อคนกลัวมากเท่าไร รัฐก็ยิ่งใช้ประโยชน์ในการเรียกร้องความเชื่อฟังได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ฐานคิดแบบนี้จึงไปสกัดกั้นการตั้งคำถามต่อตัวรัฐ หรือกฎหมายของรัฐด้วย
สอง เหตุผลเชิงศีลธรรม รัฐไม่สามารถเรียกร้องความเชื่อใจโดยอ้างความคุ้มครองอย่างพร่ำเพรื่อได้ หากไม่มีหลังอิงเชิงคุณค่าที่ทำให้สังคมเชื่อโดยสนิดใจ เพราะการแค่การบังคับด้วบอำนาจแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ดังนั้น เหตุผลเชิงศีลธรรมจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างความจริงล้นเกิน เพราะรัฐจะมีข้ออ้างโดยชอบธรรมว่ากฎเกณฑ์ทั้งหมดมีฐานมาจากความเชื่อในศีลธรรม และถ้าคนไม่เชื่อศีลธรรมเหล่านี้แล้วสังคมก็ต้องเผชิญหน้ากับความเสื่อมโทรม ถึงขนาดเจ้าของโรงผลิตเบียร์ยังออกมาโจมตีนักแสดงที่ถ่ายรูปกับขวดเบียร์เลยว่า “เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของสังคม”
สาม การสร้างภาพจำลองของสื่อ เมื่อพื้นฐานของประชาชนอยู่บนความไว้วางใจต่อรัฐและรัฐมีเหตุผลเชิงศีลธรรมในการชักจูงความเชื่อ บทบาทของสื่อก็คือการสร้างภาพจำลองที่สะท้อนถึงความไม่เป็นระเบียบของสังคม เช่น ภาพโฆษณาของ สสส. ที่ผลิตแคมเปญ ‘จน-เครียด-กินเหล้า’ ที่โยงคุณภาพชีวิตกับเหล้าเข้าด้วยกัน โดยทำให้เราอาจลืมไปว่าคนมีอันจะกินตั้งมากมายก็ล้วนแล้วแต่เคยลิ้มรสแอลกอฮอล์มาแล้วทั้งสิ้น
ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการพยายามชักจูงประชาชนไม่ให้ตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องมีการควบคุมการผลิตเบียร์ โดยไม่เคยนำข้อเท็จจริงมากางว่า  ประเทศที่ต้มเหล้าหมักเบียร์เองก็มีความศิวิไลซ์ได้เหมือนกัน อย่าง ญี่ปุ่น และล่าสุดคือังกฤษที่ออกมาสนับสนุนการทำคราฟต์เบียร์
 

ต้นทุนของการไม่ตั้งคำถามต่อกฎหมายคราฟต์เบียร์

หากบอกว่า เกือบ 60 เปอร์เซ็น ของส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ไทยอยู่ในมือของเจ้าของเบียร์ที่ไทยแห่งหนึ่ง และอีก 30-40 เปอร์เซ็นก็อยู่ในมือเจ้าของเบียร์อีกเจ้าหนึ่ง คุณจะเริ่มมองเห็นแล้วใช่ไหมว่า การทำคราฟต์เบียร์กำลังส่งผลอย่างไรต่อตลาดเบียร์หากมันได้รับความนิยม
แน่นอนว่า คราฟต์เบียร์ที่ได้รับความนิยมในไทยและมีเจ้าของในไทยก็มีอยู่บ้าง แต่หลายแบรนด์หลายยี่ห้อกลับเลือกจะผลิตที่ต่างประเทศและนำเข้ามาขายไทยพร้อมเสียภาษีเพราะกฎหมายไม่เอื้อให้มีการผลิตเบียร์ภายในประเทศ และการผลิตเบียร์ก็ผูกขาดอยู่ที่เจ้าของโรงงานไม่กี่ยี่ห้อซึ่งดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานในประเทศ หากส่วนแบ่งตลาดเสียไป สิ่งที่ขาดหายก็คือรายได้ที่คงที่มาเนิ่นนานกำลังถูกสั่นคลอนเท่านั้นเอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ สังคมควรจะรู้เท่าทัน "ความจริงล้นเกิน" หรือความจริงจำลองที่ถูกสร้างขึ้น ด้วยการลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อกฎหมาย โดยไม่ต้องหวั่นกลัวว่านี่คือการทำลายขื่อแปของสังคม เพราะว่า เราต้องการอยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม มิเช่นนั้น การสยบยอมต่อกฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือให้คนบางกลุ่มฉกฉวยผลประโยชน์ไปใช้ และที่สำคัญการพยายามฉกฉวยนั้นก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการคราฟต์เบียร์อย่างแน่นอน

อ้างอิง

[1]  Voice TV
[2] วรเจตน์ ภาคีรัตน์. (2557). มายาคติว่าด้วยความยุติธรรม. ใน ถอดรื้อมายาคติ (หน้า 77).

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.