พระจับต้องตัวแม่ได้หรือไม่
-----------------------------
ญาติมิตรคงยังพอจำกันได้ว่า เคยมีคนโพสต์ภาพพระอุ้มแม่ กอดแม่ บอกว่าท่านปฏิบัติดูแลแม่ของท่าน
ต่อมาก็เคยมีภาพพระอุ้มลูกสาวเผยแพร่ทางสื่อ
เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีภาพและข่าวพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดปรนนิบัติโยมแม่ในลักษณะคล้ายๆ กัน
น่าสังเกตว่า กรณีพระอุ้มลูกสาว พระบอกว่าได้ถามท่านเจ้าอาวาสแล้ว ได้รับคำตอบว่าอุ้มได้ ไม่ผิด
กรณีพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัด มีคำอธิบายประกอบ บอกว่าทำได้ ไม่ผิด อ้างกรณีต่างๆ ในพุทธประวัติมายืนยัน
เรื่องในพุทธประวัติที่ยกมาอ้างนั้นควรช่วยกันตรวจสอบว่าในคัมภีร์ท่านแสดงไว้อย่างไร
อย่างกรณีที่อ้างว่าสามเณรราหุลก็เคยปฏิบัติต่อแม่คือพระนางพิมพาเถรีแบบเดียวกัน
ในอัพภันตรชาดก ติกนิบาต (คัมภีร์อรรถกถาชาดก ภาค ๔ หน้า ๑๘๑-๑๙๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๕๘ หน้า ๒๓๙-๒๕๓) เล่าว่า พระนางพิมพาเถรีอาพาธ ต้องใช้น้ำมะม่วงรักษา สามเณรราหุลไปบอกพระสารีบุตร พระสารีบุตรไปบิณฑบาตได้น้ำมะม่วงก็จึงให้สามเณรราหุลนำไปให้พระนางพิมพาเถรี พระนางฉันน้ำมะม่วงแล้วก็หายจากอาพาธ-เรื่องมีอยู่เท่านี้
ไม่ได้บอกว่าสามเณรราหุลปรนนิบัติด้วยการจับเนื้อต้องตัวพระนางพิมพาเถรีแต่ประการใด
การยกเรื่องมาอ้างจึงควรตรงไปตรงมา และตรงประเด็น มิเช่นนั้นก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปจากข้อเท็จจริง
เมื่อมีข่าวพระปฏิบัติแม่ด้วยการจับเนื้อต้องตัว ก็จะมีคนแสดงความชื่นชมยินดีว่าท่านเป็นลูกที่ดี
นี่ก็เห็นได้ว่าคนเดี๋ยวนี้ไม่ได้แยกแยะว่า อย่างไรคือลูกที่ดี และอย่างไรคือพระที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งคือ เอาความเป็นลูกที่ดีกับความเป็นพระที่ดีไปปนกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจหลักพระธรรมวินัย
พระที่ดีคือพระที่ปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย
พระธรรมวินัยบอกไว้ชัดว่า พระจับต้องเนื้อตัวของสตรีไม่ได้ แม้ว่าสตรีนั้นจะเป็นแม่ของตนก็ตาม
-------------------
หลักพระธรรมวินัย
-------------------
บุคคลและสิ่งที่ไม่ควรจับต้อง
บาลี
ตัวบทของสิกขาบทที่ห้ามจับต้องกายหญิง ต้นฉบับบาลีว่าดังนี้
โย ปน ภิกฺขุ โอติณฺโณ วิปริณเตน จิตฺเตน มาตุคาเมน สทฺธึ กายสํสคฺคํ สมาปชฺเชยฺย หตฺถคาหํ วา เวณิคาหํ วา อญฺญตรสฺส วา อญฺญตรสฺส วา องฺคสฺส ปรามสนํ สงฺฆาทิเสโส ฯ
อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๗๗
----------------------
คำจำกัดความที่ควรรู้
----------------------
มาตุคาโม นาม มนุสฺสิตฺถี น ยกฺขี น เปตี น ติรจฺฉานคตา อนฺตมโส ตทหุชาตาปิ ทาริกา ปเคว มหนฺตตรี ฯ
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย โดยที่สุด แม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ไม่ต้องพูดถึงหญิงผู้ใหญ่.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๗๘
--------------
กรณีตัวอย่าง
--------------
[๓๙๐] เตน โข ปน สมเยน อญฺญตโร ภิกฺขุ มาตุยา มาตุเปเมน อามสติ ฯ ตสฺส กุกฺกุจฺจํ อโหสิ กจฺจิ นุ โข อหํ สงฺฆาทิเสสํ อาปตฺตึ อาปนฺโนติ ฯ ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสิ ฯ อนาปตฺติ ภิกฺขุ สงฺฆาทิเสสสฺส อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺสาติ ฯ
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องมารดาด้วยความรักฉันมารดา เธอได้มีความสงสัยว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
เตน โข ปน สมเยน อญฺญตโร ภิกฺขุ ธีตุยา ธีตุเปเมน อามสติ ฯเปฯ ภคินิยา ภคินีเปเมน อามสติ ฯ ตสฺส กุกฺกุจฺจํ อโหสิ ฯเปฯ ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสิ ฯ อนาปตฺติ ภิกฺขุ สงฺฆาทิเสสสฺส อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺสาติ ฯ
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องธิดาด้วยความรักฉันธิดา เธอได้มีความสงสัยว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องพี่น้องหญิงด้วยความรักฉันพี่น้องหญิง เธอได้มีความสงสัยว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
[๓๙๑] เตน โข ปน สมเยน อญฺญตโร ภิกฺขุ ปุราณทุติยิกาย กายสํสคฺคํ สมาปชฺชิ ฯ ตสฺส กุกฺกุจฺจํ อโหสิ ฯเปฯ อาปตฺตึ ตฺวํ ภิกฺขุ อาปนฺโน สงฺฆาทิเสสนฺติ ฯ
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับปุราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า) เธอได้มีความสงสัยว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๙๐-๓๙๑
------------
อรรถกถา
วินีตวตฺถูสุ ฯ มาตุยา มาตุปฺเปเมนาติ มาตุปฺเปเมน มาตุยา กายํ อามสติ ฯ เอส นโย ธีตุภคินีวตฺถูสุ ฯ ตตฺถ ยสฺมา มาตา วา โหตุ ธีตา วา อิตฺถี นาม สพฺพาปิ พฺรหฺมจริยสฺส ปาริปนฺถิกาว ตสฺมา อยํ เม มาตา อยํ ธีตา อยํ ภคินีติ เคหสิตปฺเปเมน อามสโต ทุกฺกฎเมว วุตฺตํ ฯ
อิมํ ปน ภควโต อาณมนุสฺสรนฺเตน สเจปิ นทีโสเตน วุยฺหมานํ มาตรํ ปสฺสติ เนว หตฺเถน ปรามสิตพฺพา ฯ ปณฺฑิเตน ปน ภิกฺขุนา นาวา วา ผลกํ วา กทลิกฺขนฺโธ วา ทารุขณฺฑํ วา อุปสํหริตพฺพํ ตสฺมึ อสติ กาสาวมฺปิ อุปสํหริตฺวา ปุรโต ฐเปตพฺพํ เอตฺถ คณฺหาหีติ ปน น วตฺตพฺพา ฯ คหิเต ปริกฺขารํ กฑฺฒามีติ กฑฺฒนฺเตน คนฺตพฺพํ ฯ สเจ ปน ภายติ ปุรโต ปุรโต คนฺตฺวา มา ภายีติ สมสฺสาเสตพฺพา ฯ สเจ วุยฺหมานา ปุตฺตสฺส สหสา ขนฺเธ วา อภิรุหติ หตฺเถ วา คณฺหาติ น อเปหิ มหลฺลิเกติ นิทฺธูนิตพฺพา ถลํ ปาเปตพฺพา ฯ กทฺทเม ลคฺคายปิ กูเป ปติตายปิ เอเสว นโย ฯ ตตฺราปิ หิ โยตฺตํ วา วตฺถํ วา ปกฺขิปิตฺวา หตฺเถน คหิตภาวํ ญตฺวา อุทฺธริตพฺพา น เตฺวว อามสิตพฺพา ฯ
น เกวลญฺจ มาตุคามสฺส สรีรเมว อนามาสํ นิวาสนปารุปนมฺปิ อาภรณภณฺฑมฺปิ ติณณฺฑูปกํ วา ตาลปณฺณมุทฺทิกํ วา อุปาทาย อนามาสเมว ฯ ตญฺจ โข นิวาสนปารุปนํ ปิลนฺธนตฺถาย ฐปิตเมว ฯ สเจ ปน นิวาสนํ วา ปารุปนํ วา ปริวตฺเตตฺวา จีวรตฺถาย ปาทมูเล ฐเปติ วฏฺฏติ ฯ อาภรณภณฺเฑสุ ปน สีสปฺปสาธนกทนฺตสูจิอาทิกปฺปิยภณฺฑํ อิมํ ภนฺเต ตุมฺเห คณฺหาถาติ ทียมานํ สิปาฏิกาสูจิอาทิอุปกรณตฺถาย คเหตพฺพํ ฯ สุวณฺณรชตมุตฺตาทิมยํ ปน อนามาสเมว ทียมานมฺปิ น คเหตพฺพํ ฯ
น เกวลญฺจ เอตาสํ สรีรูปคเมว อนามาสํ อิตฺถีสณฺฐาเนน กตํ กฏฺฐรูปมฺปิ ทนฺตรูปมฺปิ อยรูปมฺปิ โลหรูปมฺปิ ติปุรูปมฺปิ โปตฺถกรูปมฺปิ สพฺพรตนรูปมฺปิ อนฺตมโส ปิฏฺฐมยํ รูปมฺปิ อนามาสเมว ฯ ปริโภคตฺถาย ปน อิทํ ตุมฺหากํ โหตูติ ลภิตฺวา ฐเปตฺวา สพฺพรตนมยํ อวเสสํ ภินฺทิตฺวา อุปกรณารหํ อุปกรเณ ปริโภคารหํ จ ปริโภเค อุปเนตุํ วฏฺฏติ ฯ
..............
ในอรรถกถาของพระวินัยปิฎกตอนนี้ คือคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๒ หน้า ๓๓-๓๕ ได้อธิบายเรื่องการจับต้องร่างกายของสตรี โดยเฉพาะกรณี-ถ้าแม่ตกน้ำ พระจะทำอย่างไร
โปรดสดับ :
สองบทว่า มาตุยา มาตุเปเมน หมายความว่า ย่อมจับต้องกายของมารดาด้วยความรักฉันมารดา
ในเรื่องลูกสาวและพี่น้องสาว ก็มีนัยเหมือนกันนี้
ในพระบาลีนั้น พระผู้มีพระภาคปรับอาบัติทุกกฏเหมือนกันทั้งนั้นแก่ภิกษุผู้จับต้องด้วยความรักในฐานผู้ครองเรือนว่า "ผู้นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นธิดาของเรา นี้เป็นพี่น้องสาวของเรา" เพราะขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแม้ทั้งหมด จะเป็นมารดาก็ตาม เป็นธิดาก็ตาม เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ทั้งนั้น
ก็เมื่อภิกษุระลึกถึงพระอาญานี้ของพระผู้มีพระภาค ถ้าแม้นว่าเห็นมารดาถูกกระแสน้ำพัดไป ก็ไม่ควรจับต้องด้วยมือเลย แต่ภิกษุผู้ฉลาดพึงนำเรือ หรือแผ่นกระดาน หรือท่อนกล้วย หรือท่อนไม้เข้าไปให้
เมื่อเรือเป็นต้นนั้นไม่มี แม้ผ้ากาสาวะก็ควรนำไปไว้ข้างหน้า แต่ไม่ควรบอกว่า "จงจับที่นี้"
เมื่อท่านจับแล้วพึงสาวมาด้วยทำในใจว่า "เราสาวบริขารมา"
ก็ถ้ามารดากลัว พึงไปข้างหน้าๆ แล้วปลอบโยนว่า "อย่ากลัว"
ถ้ามารดาถูกน้ำซัด โผขึ้นกอดคอภิกษุผู้เป็นบุตร หรือคว้ามืออย่างกะทันหัน, ภิกษุอย่าพึงสลัดว่า "ออกไป หญิงแก่!" พึงส่งไปให้ถึงบก
เมื่อมารดาติดหล่มก็ดี ตกลงไปในบ่อก็ดี มีนัยเหมือนกันนี้ หมายความว่า ภิกษุพึงฉุดขึ้น แต่อย่าพึงจับต้องเลย
มิใช่แต่ร่างกายของสตรีอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นของไม่ควรจับต้อง แม้ของอื่นๆ ของสตรี เช่นผ้านุ่งผ้าห่มก็ดี สิ่งของเครื่องประดับก็ดี จนชั้นเสวียนหญ้าก็ตาม แหวนใบตาลก็ตาม เป็นของไม่ควรจับต้องทั้งนั้น
อันที่จริง ผ้านุ่งผ้าห่มนั้นอยู่ในฐานะเป็นเครื่องประดับนั่นเอง
แต่ถ้าสตรีวางผ้านุ่งหรือผ้าห่มไว้แทบเท้าเพื่อต้องการให้เปลี่ยนเป็นจีวร,
ผ้านั้นสมควร
บรรดาเครื่องประดับของสตรี ที่ทำด้วยวัตถุที่เป็นกัปปิยะ (คือไม่ใช่ของต้องห้ามมิให้จับต้อง และอาจดัดแปลงให้เป็นของใช้สำหรับบรรพชิตได้) ถ้าสตรีถวายว่า "ท่านเจ้าคะ ขอพระคุณท่านโปรดรับสิ่งนี้เถิด" ภิกษุควรรับไว้เพื่อเป็นเครื่องใช้ เช่นดัดแปลงเป็นฝักมีดโกนและเข็มเป็นต้น
แต่สิ่งของที่ทำด้วยทอง เงิน และแก้วมุกดาเป็นต้น เป็นของไม่ควรจับต้องโดยแท้ ถึงแม้เขาถวายก็ไม่ควรรับ
อนึ่ง มิใช่แต่เครื่องประดับที่สวมร่างกายของสตรีอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นของไม่ควรจับต้อง แม้แต่ไม้ก็ดี งาช้างก็ดี เหล็กก็ดี ตะกั่วก็ดี ปูนปั้นก็ดี รูปที่ทำด้วยรัตนะทุกอย่างก็ดี บรรดาที่ประดิษฐ์เป็นรูปสตรี ชั้นที่สุดแม้ปั้นด้วยแป้ง ก็เป็นของไม่ควรจับต้องทั้งนั้น
(จบข้อความจากอรรถกถา)
.............
--------------
ความคิดเห็น
--------------
ขนาดแม่ตกน้ำ เป็นเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง หลักพระธรรมวินัยท่านยังแนะให้ใช้วิธีต่างๆ ที่จะไม่ให้จับเนื้อต้องตัวแม่
ก็ในกรณีเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน พระมีความจำเป็นขนาดไหนจึงจะต้องจับต้องตัวมารดาด้วยตัวเอง?
แม้แต่เครื่องแต่งกายหรือเครื่องใช้ของสตรี ท่านก็ยังบอกว่าไม่ควรจับต้อง ก็แล้วนี่เป็นเนื้อตัวสตรีแท้ๆ ควรหรือที่จะจับต้อง
ถ้าจะอ้างว่าเป็นแม่ ท่านก็ย้ำไว้แล้วว่า
“มาตา วา โหตุ ธีตา วา อิตฺถี นาม สพฺพาปิ พฺรหฺมจริยสฺส ปาริปนฺถิกาว ” (ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแม้ทั้งหมด จะเป็นมารดาก็ตาม เป็นธิดาก็ตาม เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ทั้งนั้น)
ทำไมจึงไม่ศึกษาสำเหนียก?
อนึ่ง พระวินัยไม่ได้จำกัดไว้ว่า สตรีวัยไหนบ้าง ท่านว่าโดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้นก็จับไม่ได้ และท่านก็ไม่ได้บอกไว้ในที่ไหนๆ ว่า สตรีแก่หง่อมแล้วจับได้
------------------------------
พระแตะตัวโยมแม่ ไม่อาบัติ?
------------------------------
มีข้ออ้างว่า การที่พระแตะตัวโยมแม่จะอาบัติหรือไม่นั้น ตอบได้เลยว่าไม่อาบัติ เพราะท่านทำด้วยใจบริสุทธิ์ต่อบุพการี มิได้ทำจากการก่อเกิดกิเลส อันก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด (ดูข้อความนี้ในภาพประกอบ)
ในตัวบทที่ยกมาข้างต้น ท่านบอกไว้ชัดว่า กรณีอย่างไรเป็นอาบัติอะไร คือกรณีอย่างไรเป็นอาบัติสังฆาทิเสส กรณีอย่างไรเป็นอาบัติทุกกฎ
แต่ไม่มีบอกไว้ว่า การจับต้องตัวโยมแม่ด้วยใจบริสุทธิ์ต่อบุพการีไม่เป็นอาบัติ
มีแต่บอกว่า การจับต้องตัวมารดาด้วยความรักฉันมารดา การจับต้องตัวธิดาด้วยความรักฉันธิดา แม้จะไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่ก็เป็นอาบัติทุกกฎ
เพราะฉะนั้น แทนที่จะพูดว่า ตอบได้เลยว่าไม่อาบัติ ก็จะต้องพูดตรงกันข้ามว่า ตอบได้เลยว่าเป็นอาบัติ
แม้จะเป็นแค่อาบัติทุกกฎ แต่อาบัติก็คืออาบัติ
จะบอกว่าไม่เป็นอาบัติ หาได้ไม่
เคยได้ยินพระบางรูปบอกว่า-ก็แค่อาบัติทุกกฎเท่านั้น ปลงอาบัติก็หายแล้ว ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายสักหน่อย
ความคิดเช่นนี้เป็นมหาภัยในพระพุทธศาสนาที่พวกเรามองข้ามอย่างน่าตกใจ
ในคัมภีร์มีคำบาลีว่า -
อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี (อะนุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะทัสสาวี)
แปลตามศัพท์ว่า “มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณเล็กน้อย”
แปลสกัดความว่า โทษหรืออาบัติแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นเป็นโทษ เป็นภัย เป็นเรื่องสำคัญ ไม่กล้าล่วงละเมิด
คำบาลีข้างต้นนั้นเป็นคำแสดงลักษณะของภิกษุที่ประพฤติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย
: ความผิดแม้จะน้อยนิดเพียงใด บัณฑิตก็รังเกียจ
: ดูก่อนภราดา! อุจจาระแม้เพียงนิดหน่อยก็เหม็นมิใช่ฤๅ
------------
เมื่อเป็นพระ ท่านให้ปฏิบัติแม่ได้ในขอบเขตแค่ไหน ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ แล้วปฏิบัติอย่าให้เกินขอบเขต
พระที่อุ้มแม่ กอดแม่ ถือว่าเป็นลูกที่ดี
แต่จะบอกว่าเป็นพระที่ดีนั้น ไม่ได้เลย
ถ้าอยากจะปฏิบัติดูแลแม่ด้วยการอุ้มการกอด อาบน้ำป้อนข้าว ก็ต้องลาเพศจากพระเสียก่อน เมื่อพ้นจากเพศพระแล้วจะอุ้มแม่กอดแม่ อาบน้ำประแป้งให้แม่ ฯลฯ ตามหน้าที่ของลูกที่ดีสักแค่ไหนขนาดไหน ก็ทำได้ตามสบาย
ถ้าอ้างความเป็นลูกเป็นแม่แล้วทำทั้งๆ ที่เป็นพระ ก็คือทำผิดพระธรรมวินัย
พระที่ละเมิดพระธรรมวินัย ใครจะบอกว่าเป็นพระที่ดี ก็วิปริตไปแล้ว
-----------------------
หนทางอื่นๆ ไม่มีหรือ
-----------------------
ญาติพี่น้องอื่นๆ ลูกหลานอื่นๆ ไม่มีบ้างหรือ ยิ่งเป็นพระเถระระดับสูง ลูกศิษย์ลูกหา ทั้งพระทั้งฆราวาส ที่พอจะไหว้วานได้ไม่มีบ้างหรือ
ชั้นที่สุดหาญาติหรือศิษย์ไม่ได้ จ้างพยาบาลมาดูแล ทำไม่ได้หรือ
ถ้าไม่มีเงินจ้าง ออกประกาศหาอาสาสมัครหรือขอเรี่ยไรเงินมาจ้างพยาบาลดูแลโยมแม่ น่าจะเป็น “ดราม่า” ที่สังคมชื่นชมยกย่อง ควรแก่การอนุโมทนาเสียยิ่งกว่า
การกระทำดังปรากฏในภาพ เป็นการยืนยันว่า พระเณรเดี๋ยวนี้ส่วนหนึ่ง (และน่าจะเป็นส่วนมากด้วย) บวชแล้วไม่ได้เรียนให้สมกับคำที่เราพูดกันว่า “บวชเรียน”
เรื่องที่จำเป็นต้องเรียนก็มี ๒ เรื่องเท่านั้น คือ
๑ อะไรบ้างที่ห้ามทำ และ
๒ อะไรบ้างที่ต้องทำ
พระในกรณีนี้ ไม่ใช่พระใหม่ที่อาจจะยังไม่รู้หลักพระธรรมวินัย หากแต่เป็นพระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งตามเกณฑ์แล้วควรจะต้องมีความรู้ในหลักพระธรรมวินัยพอสมควร อย่างน้อยก็รู้ใน ๒ เรื่องนั้น
การที่พระระดับนี้กระทำเช่นนั้นทำให้น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นว่ามาตรฐาน “การยกและการข่ม” ในคณะสงฆ์ไทยตกต่ำลงไปถึงเพียงไหน
ภาพและการกระทำเหล่านี้ฟ้องว่า การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นส่วนตัวก็ดี การให้การศึกษาพระธรรมวินัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระธรรมวินัยนั่นเองก็ดี ในวงการคณะสงฆ์ของเราเสื่อมโทรมถึงขีดสุดแล้ว
ภาพและการกระทำเหล่านี้ย่อมขัดแย้งอย่างยิ่งกับบรรยากาศที่เราพากันชื่นชมกับผลสำเร็จในการศึกษาพระปริยัติธรรมประจำปี-โดยเฉพาะพระปริยัติธรรมแผนกบาลี-อันเป็นการรับรองว่าในสังคมของเรามีผู้รู้หลักพระธรรมวินัยอยู่มากมาย-ในขณะที่ผู้ประพฤติปฏิบัติขัดแย้งและเหยียบย่ำพระธรรมวินัยก็มีอยู่มากมายด้วยเช่นกัน-โดยที่ผู้รู้หลักพระธรรมวินัยทั้งหลายที่เราชื่นชมยินดีกันนั้นแทบจะไม่ได้มีบทบาทอะไรเลยในการช่วยกันขจัดปัญหาการประพฤติปฏิบัติที่ขัดแย้งและเหยียบย่ำพระธรรมวินัยนั้นให้ลดน้อยลงตามส่วน จนถึงให้หมดไปในที่สุด
--------------------
ในระยะนี้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขัดแย้งและเหยียบย่ำพระธรรมวินัยเมื่อถูกทักท้วง อาจจะเถียงไม่ขึ้น อาจจะยังอ้างได้ว่าตนไม่รู้ว่าทำอย่างนี้ผิดพระธรรมวินัย
ฝ่ายผู้ที่รู้ว่าทำอย่างนี้ผิดและได้ทำผิดไปแล้ว ก็ยังอาจจะต้องทำแบบซุ่มซ่อน ไม่กล้าเปิดเผย
แต่ถ้าความไม่รู้ไม่เข้าใจแผ่ขยายครอบงำหนาแน่นไปทั่วทั้งสังคม-ดังที่พระที่กอดแม่ ถูกเนื้อต้องตัวแม่ กลับมีคนยกย่องสรรเสริญ
ในระยะต่อไป เราจะได้ยินคำโต้เถียงอย่างแน่นอนว่า หลักพระธรรมวินัยข้อนั้นข้อนี้ไม่เหมาะสม คำสอนของพระพุทธเจ้าข้อนั้นข้อนี้เราไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามอีกต่อไปก็ได้
การไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่เห็นจะมีผิดมีโทษตรงไหนในเมื่อสังคมชื่นชม พระสงฆ์ควรยึดเอาความเห็นของสังคมเป็นใหญ่
เมื่อถึงวันนั้น การประพฤติปฏิบัติขัดแย้งและเหยียบย่ำพระธรรมวินัย-คือทำสิ่งที่ท่านห้ามทำ และไม่ทำสิ่งที่ท่านบอกไว้ว่าต้องทำ-จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องแอบซุ่มซ่อนอีกต่อไป แต่จะพากันเอาออกมาอวดกันและสรรเสริญกันเอิกเกริกทั่วไป
--------------------
จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้เห็นหรือได้ยินว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมอันเป็นองค์กรปกครองของคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อันเป็นหน่วยงานที่จะต้องขับเคลื่อนกิจการคณะสงฆ์ ได้ออกมาจัดการทำอะไรกับภาพและการกระทำเหล่านี้ เช่นบอกให้เด็ดขาดลงไปว่า พระทำเช่นนี้ผิดตามพระธรรมวินัยข้อไหน หรือถ้าจะว่าไม่ผิด ไม่ผิดตามพระธรรมวินัยข้อไหน
กลับมีแต่ความสงบนิ่งราวกับไม่เคยมีการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้น
ท่าทีเช่นนี้เป็นมานาน กำลังเป็นอยู่ และคงจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป ทำให้สิ้นหวังกับหน่วยงานดังกล่าวยิ่งขึ้น
เมื่อเราตกอยู่ในสังคมที่เป็นเช่นนี้จะทำอย่างไรดี?
ทางเดียวที่ดีที่สุดที่จะทำได้ก็คือ ช่วยกันหาความรู้และให้ความรู้ในหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง
ผู้ที่ควรทำหน้าที่นี้โดยตรงก็คือพระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่พอจะมีความรู้ และผู้ที่ควรช่วยทำหน้าที่นี้ไปพร้อมๆ กันก็คือชาวพุทธทั้งหลายที่พอจะมีความรู้เช่นกัน
การทำหน้าที่ดังว่านี้ ต้องทำด้วยจิตที่เป็นกุศลเป็นที่ตั้ง ทำโดยไม่ต้องรอให้ใครสั่ง ไม่ต้องรอใคร และไม่ต้องไปหวังว่าจะมีใครมาช่วยทำด้วยหรือไม่
หมายความว่า แม้เราจะทำอยู่คนเดียว ก็จงทำไปให้เต็มที่
พูดหรือเขียนอะไรออกไป มีคนรู้เรื่องและเข้าใจแม้เพียงคนเดียว ก็คุ้มเหนื่อยแล้ว
สมัยนี้ความก้าวหน้าของโลกโซเชียลมีเดียช่วยทำให้โอกาสและช่องทางที่จะช่วยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่ถูกต้องมีมากขึ้นและง่ายขึ้นอยู่แล้ว
สิ่งที่ยังล้าหลังอยู่มีเพียงอย่างเดียว คือ “จิตสำนึกที่จะช่วยกันทำหน้าที่ของชาวพุทธ”
ขออนุญาตยกตัวอย่างให้กระทบใจเล่น-ด้วยเจตนา-ก็อย่างเช่นเฟซบุ๊กนี่เอง
เฟซบุ๊กคือหนังสือพิมพ์ส่วนตัวที่มีกันแทบจะทุกคน ทุกคนมีช่องทางที่จะขวนขวายหาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัย แล้วเอามาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ส่วนตัวของตนเพื่อให้สังคมและโลกได้รับรู้ถึงหลักพระธรมวินัยที่ถูกต้อง
แต่ดูเอาเถิด มีสักกี่คนที่ทำเช่นนั้น เราโพสต์ภาพและเรื่องร้อยแปดพันเก้าแทบตลอดวันละ ๒๔ ชั่วโมง
แต่แทบจะไม่พบภาพและเรื่องที่ตั้งใจให้ความรู้ที่ถูกต้องในหลักพระธรรมวินัย-แม้ในหมู่ท่านที่เป็นพระภิกษุสามเณรเองแท้ๆ!!
--------------------
นอกจากปัญหา-ผู้มีหน้าที่ไม่ทำหน้าที่แล้ว ปัญหาอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อมีผู้นำเรื่องและภาพที่เป็นปัญหามาเผยแพร่ ก็จะมีท่านจำพวกหนึ่งออกมาพูดว่า เป็นการสร้างกระแสก่อกวนให้เกิดความไม่สงบขึ้นในวงการพระศาสนา เพื่อให้คนเสื่อมศรัทธากับคณะสงฆ์
ที่ถึงกับยืนยันว่าเป็นแผนของต่างศาสนาไปเลยก็มี
แทนที่จะเพ่งเล็งไปที่การกระทำอันเป็นตัวกรณี กลายเป็นช่วยกันเบี่ยงเบนประเด็นให้เห็นไปว่าเป็นเพียงการก่อกวนเท่านั้น ไม่ต้องไปสนใจ
นอกจากนั้นก็มีความเห็นอีกว่า เรื่องเกิดขึ้นที่ไหนก็ควรจะปล่อยให้เงียบสงบอยู่ที่นั่น การเอาเรื่องและภาพเช่นนั้นมาโพสต์ มาแชร์กันต่อๆ ไป เท่ากับเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมสถานการณ์ให้ทรุดหนักลงไปอีก เหมือนกับเปิดปากแผลให้กว้างออกไปอีก
ผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการเอาเรื่องประพฤติเกินกรอบขอบเขตพระธรรมวินัยมาเปิดเผย
แต่เมื่อเราไม่สามารถจะห้ามการกระทำเช่นนั้นได้ ก็ควรถือเป็นโอกาสที่จะช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องนั้นๆ เป็นแบบ-หนามยอกเอาหนามบ่ง ไม่ใช่นิ่งเฉยยอมให้หนามยอกเอาข้างเดียว (มิหนำบางทียังช่วยกันหาหนามมายอกซ้ำให้หนักเข้าไปอีก)
ท่านอีกจำพวกหนึ่ง เมื่อเห็นเหตุเช่นนี้ก็ไม่รั้งรอที่จะประทับตราลงไปทันทีว่า “เป็นแผนยุให้ชาวพุทธทะเลาะกัน”
ความเห็นเช่นนี้เหมือนกับปักป้ายห้ามเข้าไว้ตรงนั้น
ใครจะเข้ามาพูดถึงหรือเข้ามาชี้แจงอะไร เป็นถูกมองว่าเป็นพวกยุให้ชาวพุทธทะเลาะกันไปหมด
ผลก็คือไม่มีใครอยากเข้าไปแตะ
คนที่ทำเรื่องนั้นๆ ก็เลยสบายไป เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาว่าอะไร เปิดโอกาสให้การกระทำที่ไม่ถูกต้องคงอยู่ยั่งยืนต่อไป จนนานเข้าก็จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เลยประพฤติเช่นนั้นกันทั่วไป แล้วก็เข้าใจกันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องไปในที่สุด
ยังมีท่านอีกจำพวกหนึ่ง ยึดหลักการว่าเรื่องของสงฆ์ คณะสงฆ์มีเจ้าคณะผู้ปกครองของท่านอยู่แล้ว ให้ท่านไปว่ากล่าวจัดการกันเอง ชาวบ้านไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย
พูดคำหนักก็ว่า-ชาวบ้านอย่าเสือก
และท่านอีกพวกหนึ่งที่ผมเคยโดนมากับตัวเอง คือกระแหนะกระแหนว่า รู้ดีแบบนี้น่าจะไปบวชนะ จะได้ช่วยกันทำพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็คือสาเหตุที่ทำให้เกิดคติ “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์”
ใครคิดจะแก้ไขอะไรอย่างไร ก็ถูกตีกันไว้หมด เลยกลายเป็นว่าช่วยกันวางเฉย ไม่ต้องทำอะไร
ใครที่อยากทำงานเพื่อพระศาสนาก็ต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น เพราะจะต้องฝ่าด่านเหล่านี้ไปให้ได้
--------------------
พระมหาชนกเรือแตกกลางทะเล ท่านว่ายน้ำทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้ถ้าจะตายก็อย่าเปิดช่องให้ใครตำหนิได้ว่าไม่ทำอะไรเลย
ในอนาคต แม้การพระศาสนาในบ้านเราจะเสื่อมทรามถึงขนาดที่ว่ามา แต่ถ้าเราพยายามทำแล้ว-ในการให้ความรู้ความเข้าใจในหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง-เต็มตามกำลังสามารถ ก็ควรอิ่มใจได้ว่าได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว และไม่ได้เปิดช่องให้ใครตำหนิได้ว่า-ไม่ทำอะไรเลย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ มกราคม ๒๕๖๐
๑๔:๐๕




แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.