ไม่แปลกที่ไทยไม่ยอมรับสอบตกปราบโกง

Posted: 26 Jan 2017 08:25 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ไม่น่าแปลกใจกับพาดหัวข่าวของเว็บไซต์ฺฺBBC Thaiที่ว่า “ไทยยังสอบตกปราบคอร์รัปชันคะแนนลดลงแถมอันดับร่วง” เพราะเป็นการจัดอันดับที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าแปลกใจคือตลอดปี 2559 แทบไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ จากสื่อมวลชนกระแสหลักของไทยถึงเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาล

มิหนำซ้ำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนก็ยังให้คะแนนรัฐบาลเรื่องปราบคอร์รัปชันมากเป็นอันดับหนึ่ง

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2559 สวนดุสิตโพลมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลการสำรวจหัวข้อ ควันหลงการแถลงผลงาน 2 ปี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์แถลงผลงาน 2 ปีของรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2559 โดยเมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนสมหวังพบว่า การปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นและผู้มีอิทธิพลมีได้คะแนนมากสุดที่ร้อยละ 82.69

อีกหนึ่งเดือนถัดมา สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง“โพล มองข้ามช็อต สู่โหมดเลือกตั้ง วันนี้ชาวบ้านเลือกใคร” ผลปรากฏว่า ประชาชนจำนวนมากที่สุด หรือ ร้อยละ 40.1 จะเลือกพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะ เป็นประชาธิปไตย ไม่ทุจริต คอรัปชั่นเหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน

สรุปแล้วโพลทั้งสองสำนักรายงานออกมาตรงกันว่า ประชาชนสมหวังและให้ความนิยมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มากที่สุดในเรื่องการปราบทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสื่อมวลชนไทยก็รายงานข่าวไปตามนั้น จึงทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นคนซื่อสัตย์

แต่รายงานข่าวของฺฺBBC Thai กลับระบุว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้เปิดเผยดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ ซีพีไอ ประจำปี 2559 ซึ่งผลปรากฏว่า ประเทศไทยได้คะแนนซีพีไอเพียง 35 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ลดลงจากปี 2558 ที่ได้ 38 คะแนน และได้คะแนนน้อยที่สุดในรอบห้าปีหลังสุดเทียบเท่าปี 2556 โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ และ ร่วงลงจากอันดับที่ 76 ในปี 2558

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันอย่างไม่น่าเป็นไปได้ เพราะถ้าประชาชนชื่นชมรัฐบาลในเรื่องการปราบคอร์รัปชันแล้ว คะแนนซีพีไอของไทยจะลดลงจากปีก่อนได้อย่างไร

นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า ต้องไปดูในรายละเอียดว่าต่ำลงหรือสูงขึ้นในตัวชี้วัดใด และเพราะเหตุใด เพราะบางเรื่องอาจทำได้ดีบ้าง บางเรื่องอาจจะไม่ดีพอ

ขณะที่นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีข้อสังเกตว่า การจัดอันดับมีเรื่องของประชาธิปไตยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

จึงเข้าใจได้ว่านายกรัฐมนตรีและเลขาธิการป.ป.ช. ต้องการสื่อออกมาว่า เหตุที่คะแนนของประเทศไทยตกลงเป็นเรื่องของประชาธิปไตยมากกว่าเรื่องของคอร์รัปชันโดยตรง

จึงน่าคิดว่าเพราะเหตุใดการจัดอันดับการปราบคอร์รัปชันจึงต้องนำเรื่องของประชาธิปไตยมาเป็นเครื่องชี้วัดด้วย หรือ เป็นเพราะว่าหากมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยการตรวจสอบการทุจริตจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการปกครองในระบอบเผด็จการ

แต่สาเหตุที่สังคมไทยไม่คำนึงถึงประเด็นนี้ อาจเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาเมื่อมีรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งสื่อมวลชนมักจะตรวจสอบการคอร์รัปชันอย่างเข้มข้น ขณะที่สื่อมวลชนไม่ให้ความสนใจต่อการตรวจสอบการคอร์รัปชันของรัฐบาลปัจจุบันเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา การทำโพลที่สนับสนุนรัฐบาลก็มีส่วนเช่นกัน มีจึงทำให้เมื่อนึกถึงการโกงจะเห็นแต่หน้านักการเมือง

สังคมไทยจึงถูกทำให้เข้าใจว่าการโกงล้วนมาจากนักการเมืองทั้งสิ้น แต่มันเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ แล้วทำไมเมื่อไม่มีนักการเมืองอยู่ในอำนาจมาเกือบสามปีแล้วแต่อันดับการคอร์รัปชันของไทยจึงตกต่ำลง หรือ การโกงเกิดขึ้นได้ในทุกรัฐบาลเพียงแต่จะสามารถตรวจสอบได้แค่ไหน คำถามเหล่านี้จะนำไปสู่คำตอบ

มีกรณีศึกษา 3 กรณีที่จะแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการปราบคอร์รัปชันขณะที่ประเทศไทยไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

กรณีแรก คือ การที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือ ผบช.น. รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัทไทยเบฟฯ ในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เดือนละ 5 หมื่นบาทตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ตรวจการแผ่นดิน

กรณีของ พล.ต.ท.ศานิตย์แม้จะยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายก็สามารถสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ได้แต่ก็ยังไม่เห็นการปฏิบัติใดๆ ในทางตรงกันข้ามกลับมีการแถลงข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ไม่มีกฎหมายห้ามตำรวจรับเงินค่าที่ปรึกษา

ด้านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดก็นิ่งเฉย ทั้งที่ได้ประกาศเสมอมาว่าจะปราบปรามทุจริตอย่างเด็ดขาด กรณีนี้จึงทำให้เห็นถึงความจริงจังในการปราบทุจริตได้ในระดับหนึ่ง

กรณีต่อมาคือมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา ขยายเวลาเช่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้แก่บริษัทในเครือของนายเจริญ จากเดิม 25 ปีออกไปเป็น 50 ปี โดยไม่เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นได้ประมูลแข่งขัน พล.อ.ประยุทธ์ออกตัวว่านี่คือการปฏิรูปและอย่ามองเรื่องเอื้อผลประโยชน์ แต่ก็มีข้อสงสัยว่าการให้ประมูลแข่งขันกันจะไม่ทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์มากกว่านี้หรือ หรืออย่างน้อยก็จะมีความโปร่งใส ส่วนกรณีเอกชนแน่นอนว่าเค้าต้องได้กำไรคุ้มค่าไม่เช่นนั้นคงไม่ยอมต่อสัญญาอีก 25 ปี

สิ่งที่เหมือนกันในทั้งสองกรณีคือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทเอกชนกับทางราชการ โดยมีข้อสังเกตถึงความถูกต้องเหมาะสมของทางราชการเท่านั้น แต่กลับไม่มีการตั้งคำถามถึงบริษัทเอกชนว่าทำไมต้องจ่ายค่าที่ปรึกษา เพราะเหตุใดถึงได้อภิสิทธิ์ต่อสัญญาโดยไม่ต้องประมูล และ มีความโปร่งใสขนาดไหน

กรณีสุดท้ายคือจะทำให้เห็นความเชื่อมโยงกัน โดยเหตุเกิดเมื่อปี 2557 หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ว่า บิดาได้มอบเงินจำนวน 540 ล้านบาทให้พล.อ.ประยุทธ์ โดยเป็นเงินจากการขายที่ดิน 9 แปลงในราคา 600 ล้านบาท ระหว่างบิดาของพล.อ.ประยุทธ์กับบริษัทในเครือของนายเจริญ ขณะที่บิดาของพล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ไม่ทราบข้อมูลเรื่องการซื้อขายที่ดินและขอให้ไปสอบถามข้อมูลจาก พล.อ.ประยุทธ์เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรื่องทั้งหมด จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องบอกกับสื่อมวลชนให้เลิกขุดคุ้ยเงินขายที่ดินมรดก

ทั้งสามกรณีพิจารณาได้ดังนี้ ประการแรกคือการที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจะเอาคนทุจริตเข้าคุกแต่กลับไม่ยอมให้สื่อตรวจสอบทรัพย์สินของตัวเอง

ประการที่สองคือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เงินจากการขายที่ดินให้บริษัทเครือนายเจริญเกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการต่อสัญญาเช่าศูนย์การประชุมฯ หรือไม่ และ เกี่ยวพันกับการไม่ใส่ใจการรับค่าที่ปรึกษาของผบช.น.หรือเปล่า

ประการที่สามวงจรของการทุจริตหามีแต่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่มีข้าราชการ และ นายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ในสถานการณ์ปัจจุบันการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้สุดทางคงทำได้ยากเนื่องจากอำนาจของคณะรัฐประหารยังคงปกคลุมทุกภาคส่วนของกลไกทางการเมืองของไทย ฉะนั้นการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่จึงเกี่ยวข้องกับความโปร่งใส

ส่วนความจริงจังในการปราบปรามคอร์รัปชันไม่ต้องไปพิจารณาให้ไกลออกไปเพียงแต่พิจารณาแค่มองไปที่ตัวผู้นำประเทศและคนรอบข้างก็คงพอมีคำตอบได้ว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ควรแปลกใจที่ประเทศไทยสอบตกการปราบโกงในปี 2559

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.