ประกาศผลรางวัลสื่อเพื่อสิทธิฯ ปี 59 'นักเรียน ม.ปลาย-บ.ก.สปริงนิวส์' ปาฐกถา สื่อป้องสิทธิ
Posted: 26 Jan 2017 05:20 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
แอมเนสตี้ประกาศผลรางวัลสื่อเพื่อสิทธิฯ ปี 59 พร้อมปาฐกถาหัวข้อ “สื่อป้องสิทธิ” นักเรียน ม.ปลายเล่าปมลุกขึ้นมาทำข่าว-ถูกฟ้องหมิ่นฯ บ.ก.สปริงนิวส์ ชี้นักข่าวมักตกหลุมพรางตัวเอง เมื่อทำข่าวสิทธิฯ ปธ.แอมเนสตี้ ชี้สื่อเป็นเหมือนครูบ่มเพาะคนในสังคมตระหนักถึงสิทธิฯ


26 ม.ค. 2560 ที่  โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานประกาศผลมอบรางวัล สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559 พร้อมปาฐกถาหัวข้อ “สื่อป้องสิทธิ” จาก วันเพ็ญ คุณนา หรือ น้องพลอย  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและนักข่าวพลเมืองผู้รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย และ สุรชา บุญเปี่ยม บรรณาธิการข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์

นักเรียน ม.ปลายเล่าปมลุกขึ้นมาทำข่าว-ถูกฟ้องหมิ่นฯ

วันเพ็ญ คุณนา กล่าวว่าการที่ตนได้ออกไปพูดนั้นถือว่าได้ทำหน้าที่สื่อสารเล่าเรื่องราวบ้านเกิด ให้สังคมภายนอกรู้ว่า บ้านนาหนองบง เกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านบ้าง ทั้งกรณีชาวบ้านไปขึ้นศาล ไปประชุมการขอต่ออายุป่าไม้ของบริษัทที่มีประเด็นตั้งคำถามต่อองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ว่ามีการละเมิดสิทธิชาวบ้านหรือไม่ เหล่านี้มีข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่คนภายนอกยังไม่รู้ ถ้าไม่มีสื่อ ตอนนี้บ้านนาหนองบงคงไม่ได้รับการแก้ปัญหา ผลกระทบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่ง คืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 ที่ตนถือว่าเป็นวันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ชายชุดดำหลายร้อยคนเข้ามาทำร้ายร่างกายชาวบ้านมือเปล่าในตอนกลางคืน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเข้ามาสนใจ ทำให้คนในพื้นที่จำเหตุการณ์นี้จนวันตาย


“เพียงเพราะอยากเล่าเรื่องบ้านเกิดของตัวเองให้สังคม พื้นที่อื่นๆ ได้รับรู้ มันผิดขนาดนั้นเลยหรือ” วันเพ็ญ ตั้งคำถาม เนื่องจากตนเองถูก บริษัททำเหมืองแร่ ฟ้องหมิ่นประมาท
วันเพ็ญกล่าวต่อว่า หลังจากที่ตนโดนบริษัทฟ้อง เพียงเพราะเด็กคนหนึ่งอยากเล่าเรื่องบ้านเกิดของตัวเอง ก็รู้สึกท้อ เสียใจมาก แต่เพราะกำลังใจจากพ่อๆ แม่ๆ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย และทุกคนทำให้มีกำลังใจสู้ต่อ พร้องทั้งฝากกำลังใจถึง พิธีกรรายการนักข่าวพลเมืองที่ถูกฟ้องจากบริษัทเช่นเดียวกับตนด้วย   
สำหรับ วันเพ็ญ เธอเป็นเยาวชนนักข่าวพลเมือง ของ ThaiPBS ซึ่งเป็นผู้ร่วมผลิตและนำเสนอข่าวพลเมืองตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ได้ถูกบริษัททำเหมืองแร่เป็นโจทก์ฟ้องในคดีอาญาความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งต่อมาสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย มีหนังสือลงวันที่ 2 มิ.ย.2559 ถึง เยาวชนนักข่าวพลเมือง ระบุมีความเห็นไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องวันเพ็ญต่อศาลเยาวชนและครอบครัว

บ.ก.สปริงนิวส์ ชี้นักข่าวมักตกหลุมพรางตัวเอง เมื่อทำข่าวสิทธิฯ

สุรชา บุญเปี่ยม บรรณาธิการข่าวอาวุโสสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ กล่าวว่า สื่อคืนฐานันดรที่ 4 ทำหน้าที่แทนประชาชนในการนำเสนอข่าวสารออกไป การทำข่าวดีที่สุดอันดับแรกที่สื่อควรคำนึงคือ เรื่องจริง เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในอดีตมีข่าวสิทธิมนุษยชนมากมายที่ปรากกฎในข่าวอาชญากรรม การเมือง ข่าวอื่นๆ แต่ความแปลกในปัจจุบันนักข่าวและผู้รับข่าวเองมักนึกถึงแต่ผู้ที่มีชื่อเสียงทางสังคม ข่าวจึงได้แค่ความคิดเห็นไม่ใช่ข้อเท็จจริง 
สุรชา กล่าวต่อว่าข่าวสิทธิมนุษยชน เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งนักข่าวต้องปกป้องสิทธิเหล่านี้ เพราะการต่อสู้ของแหล่งข่าวผู้ด้อยโอกาสทางสังคมกับนายทุน ภาครัฐเป็นเรื่องยาก เรื่องบางอย่างนักข่าวมักตกหลุมพรางตัวเอง ทำให้ทำข่าวไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรมกับแหล่งข่าว เช่นกรณีทำข่าวสืบสวนสอบสวนเมื่อเข้าตามสถานีตำรวจ ได้รับปัจจัย สินบน สนิทถึงขนาดเรียกตำรวจว่า "นาย" "ท่าน" ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวมากเกินไป จากนักข่าวจึงไม่ต่างจากนักประชาสัมพันธ์ขององค์กรนั้นๆ 
สุรชา ระบุด้วยว่า ทุกวันนี้นักข่าว บรรณาธิการ มีความกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ไม่กล้านำเสนอ จนลืมวิชาชีพของตนหรือการทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ อีกทั้งการละเมิดสิทธิผู้อื่นไม่ว่า เด็ก ผู้ต้องหา การใช้ภาพต่างๆ ที่สื่อมักทำละเมิดผู้อื่นโดยที่ตั้งใจหรือไม่ต้องใจก็ตาม

ปธ.แอมเนสตี้ ชี้สื่อเป็นเหมือนครูบ่มเพาะคนในสังคมตระหนักถึงสิทธิฯ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือน “ครู” ผู้ทำหน้าที่ในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น  จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม และสื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป ในส่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม

ผลรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน 59 

ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ผลการตัดสินมีดังนี้
 
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ  ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 2 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ข่าวชุด “พิพาทที่ดินราไวย์ ปมละเมิดสิทธิ์ไล่ชาวเลพ้นแผ่นดินเกิด” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  สารคดีเชิงข่าว "Forest clampdown hurts poor" หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์    
 
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น  ประกอบด้วยรางวัลชมเชย 2 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ข่าวชุด “คนบ้านแหง ต้านการเมือง โค่นป่า ระเบิดภูเขา ถมลำธาร ทำเหมือง” หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ข่าว “ชาวเลย์ราไวย์ ฮึดสู้! รักษาสิทธิ์ที่ทำกิน " หนังสือพิมพ์ปักษ์ใต้ทูเดย์
 
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์  ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “มหากาพย์ "จีที 200" กับบาดแผลในใจของคนจังหวัดชายแดนใต้” เว็บไซด์ข่าวไทยพีบีเอส และรางวัลชมเชย 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “บาดแผลที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง คำขอโทษของรัฐและน้ำตาของผู้สูญเสีย” เว็บไซด์ข่าวไทยพีบีเอส สารคดีเชิงข่าว “คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ” เว็บไซด์โพสต์ทูเดย์ และสารคดีเชิงข่าว “สั่งซ่อมพลทหาร พลาดพลั้งถึงตาย ใครต้องรับผิดชอบ” เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์
 
รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 2 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่สารคดีเชิงข่าว "สิทธิเด็ก...สิทธิปกป้องชุมชน” สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี สารคดีเชิงข่าว "เบื้องหลังคดีเผานั่งยางบ้านผือ...กับพยานที่ยังมีชีวิต" สถานีโทรทัศน์ NOW26 และรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “ซ้อมทรมาน คำสารภาพสุดท้ายที่ปลายด้ามขวาน” สถานีโทรทัศน์ TNN24 สารคดีเชิงข่าว " ‘ฉุด’ กระชากชีวิต” สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี และสารคดีเชิงข่าว "เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้...บาดแผลจากความรุนแรง" สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี
 
รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบเคเบิลทีวี ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลดีเด่น แต่มีรางวัลชมเชย 1 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “แพะทุ่งกุลา” สถานีโทรทัศน์เสียงไทยแลนด์เคเบิลทีวี          
 
พรเพ็ญ กล่าวต่อว่าในปีนี้ มินาร์ พิมเพิล ผู้อำนวยการอาวุโสงานปฏิบัติการระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่สื่อมวลชน
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพวาด การแสดงเชิงสัญลักษ์และมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2559 จากการคัดสรรผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด     

    

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.