กรธ. เปิดฟังความเห็น พ.ร.ป.คณะกรรมการสิทธิฯ มีชัยระบุ ที่ผ่านมาสรรหาไม่โปร่งใส
Posted: 25 Jan 2017 02:48 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 
มีชัย เปิดเวทีรับฟังความเห็น พ.ร.ป. กสม. ชี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิฯ ขาดความหลากหลาย ไม่คล่องตัว สรรหาไม่โปร่งใส จนทำให้ถูกลดเกรดโดย OHCHR พร้อมระบุจะปรับกลไกใหม่เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ


25 ม.ค. 2560 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. … ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่าการทำงานของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีปัญหาอย่างต่อเนื่องที่นำไปสู่การลดบทบาทในนานาชาติ  ซึ่งปัจจัยหนึ่งเกิดจาก ที่มาของ กสม. ไม่มีความหลากหลาย  ขาดความโปร่งใสในการสรรหา และไม่เชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าการทำงานของ กสม. ไม่มีความคล่องตัว ไม่ปรับตัวเข้าหากัน แบ่งงานกันทำ จนทำให้เกิดปัญหาตามมา  จึงต้องปรับหลักเกณฑ์ขั้นตอนการทำงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
ดังนั้นแล้ว ทาง กรธ. จึงได้กำหนดภารกิจของ กสม. ให้มีความชัดเจนมากขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  กำหนดองค์ประกอบที่มาของคณะกรรมการ กสม. จะต้องมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ อย่างน้อยสาขาละ 1 คน สร้างกลไกใหม่ให้ทำงานเป็นทีม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน  ทำงานให้สอดคล้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเกิดผลกับประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยัง เปิดช่องทางให้สามารถนำผู้เชี่ยวชาญมาจัดทำแผนการรายงานประจำปีไว้ล่วงหน้า
ประธาน กรธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของ กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเกี่ยวข้องกัน จนทำให้การทำงานซ้ำซ้อน ดังนั้น กรธ. เห็นว่าหากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง  เชื่อว่าภายใน 5-10 ปี  จะลดขั้นตอนและได้รับการแก้ไขให้รวดเร็วขึ้น  กรธ. พยายามเขียนใน รัฐธรรมนูญสร้างกลไกให้สำนักงานเป็นเครื่องมือรองรับการทำงานของคณะกรรมการอย่างจริงจัง  เพื่อให้มีแรงกระตุ้นในการทำงานและเกิดความสำเร็จโดยมีการทำงาน  3 แนวทาง คือ แสวงหาข้อเท็จจริง วิเคราะห์ข้อเท็จจริง หาทางแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุในอนาคต
“อยากให้ กสม. ริเริ่มทำเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างเป็นระบบให้มากขึ้น มากกว่าการแก้ปัญหารายบุคคล โดยเฉพาะเรื่องการใส่โซ่ตรวนนักโทษ และการปล่อยให้ผู้สื่อข่าวซักถามผู้ต้องหา ที่อยากให้แก้ไขทั้งระบบ ทำให้เป็นรูปธรรม ปัญหาที่ทำให้ไทยถูกมองในแง่ลบเพราะที่มาของ กสม.ไม่หลากหลายพอ ขาดความโปร่งใสในการสรรหา กสม. ต้องทำแผนงานประจำปีล่วงหน้า ถ้าจัดทำไม่แล้วเสร็จให้กสม. พ้นตำแหน่งไปทั้งคณะ เพื่อป้องกันไม่ให้การทำงานล่าช้า” มีชัย กล่าว
ขณะที่ผู้ร่วมสัมมนาได้สะท้อนความเห็นอยากให้ปรับในเรื่องของคณะกรรมการสรรหาให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะตัวคณะกรรมการสรรหาต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อใช้ความรู้ดังกล่าวสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้อย่างตรงจุด
ด้าน นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ให้สัมภาษณ์ในรายการ Inside รัฐสภา ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา ถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกว่า จัดทำร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนบ่ายวันนี้จะมีการเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สมาคมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน นักวิชาการและสื่อมวลชน เข้าแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบกับตัวร่างฉบับที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเสนอเข้ามา
นรชิต กล่าวต่อไปว่า ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยึดหลักการสอดคล้องกับกฎหมายในประเทศ และอนุสัญญาระหว่างประเทศ ส่วนจะมีการแยกสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นอิสระหรือไม่ จะต้องรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ด้วย ขณะประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าจะเซ็ตซีโร่กรรมการสิทธิมนุยชนนั้น ตนยืนยันว่า กรธ. ไม่ได้มุ่งเซตซีโร่กรรมการในองค์กรอิระใด เพียงแต่จะต้องดูให้กรรมการในองค์กรอิสระนั้นมีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนด ซึ่งหากผู้อยู่ในตำแหน่งเดิมไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนกว่า จะมีการสรรหากรรมการคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า การการปรับลดสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากสถานะสมาชิกภาพเต็มสถานะเป็น "ผู้สังเกตการณ์" โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ONCHR) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2559 โดยที่ก่อนหน้านั้น คณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ ของคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก มีมติเสนอให้ลดระดับ กสม. ของไทย จากสถานะ A เป็น B เมื่อปี 2557
ในรายงานเมื่อ ต.ค. 2557 ICC แสดงความกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการคัดเลือก กสม., การขาดการคุ้มกันและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และความล้มเหลวในการตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในบริบทที่ไทยอยู่ใต้การปกครองของทหาร
ทั้งนี้ ICC ให้เวลา กสม. 12 เดือนในการแก้ไข อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ย. 2558 ICC เสนอให้ลดระดับ กสม. เป็น B หลังไม่มีการดำเนินการตามคำแนะนำของ ICC
สำหรับการได้สถานะ B หรือสถานะผู้สังเกตุการณ์ จะส่งผลให้
1) ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ รวมถึงการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เกิดขึ้นในต้นปี 2559
2) สถานะของ กสม. คือ จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เช่น การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - Asia Pacific Forum on National Human Rights Institutions)
3) จะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ICC หรือสมัครเป็นคณะกรรมการ/อนุกรรมการของ ICC ได้
สำหรับการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รอบล่าสุด ซึ่งเป็นการสรรหา กสม. ชุดที่ 3 ได้มีการเปิดรับรับสมัครผู้สนใจเข้ารับการสรรหา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. -15 มิ.ย. 2558 โดยมีผู้สนใจเข้ารับการสรรหาทั้งหมด 121 คน ซึ่งภายใต้กระบวนการสรรหาและการเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ทำให้มีคณะกรรมการสรรหา จำนวน 7 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการสรรหาชุดที่จะทำหน้าที่คัดเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 3 ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ท่านเท่านั้น เนื่องจากประธานศาลปกครองสูงสุดถูกคำสั่งพักราชการ และไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.