สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ม.ค. 2560
Posted: 28 Jan 2017 01:05 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
 
สั่งถอย 'เอกชน' คุมค่าหมอ คลังมึนถูก ขรก.ค้านหนัก จ่อดันแผนกระตุ้นลงทุน
 
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ชะลอเรื่องการจ้างบริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการทั้งระบบออกไปก่อน เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งข้าราชการและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เห็นด้วย
 
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะศึกษาข้อเสนอแนะของฝ่ายต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อดูข้อดี-ข้อเสียของระบบการเบิกค่ารักษาพยาบาลข้าราชการในปัจจุบัน และการว่าจ้างให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ว่าอย่างไหนจะทำให้มีประสิทธิภาพ และดูแลภาระงบประมาณของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ดีกว่ากัน
 
“ขณะนี้การดูแลควบคุมค่ารักษาพยาบาลข้าราชการก็ต้องใช้วิธีปกติไปก่อน ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้มีการออกมาตรการดูแลต่อเนื่อง ซึ่งช่วยทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้ระดับหนึ่ง” นายสมชัย กล่าว
ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้ออกมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาทั้งในบัญชียาหลักและยานอกบัญชียาหลักให้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ให้เกิดการรั่วไหลและเป็นการประหยัดเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท และปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านบาท
 
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้กำหนดว่า กรณีที่แพทย์สั่งยาในบัญชีหลักในการรักษาพยาบาลข้าราชการ จำนวนมากๆ ติดกันเป็นเวลาหลายเดือน การจ่ายยาโรคเฉพาะทางที่แพทย์ผู้รักษาไม่ได้มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะต้องเขียนเหตุผลไว้ในทะเบียนประวัติของคนไข้เพื่อใช้ตรวจสอบในภายหลัง
 
นอกจากนี้ สถานพยาบาลจะต้องวางกลไกการกำกับการจ่ายยาของแพทย์ดังกล่าว หากกรมบัญชีกลางตรวจพบว่าสถานพยาบาลไม่ดำเนินการกำกับดูแล กรมบัญชีกลางจะทำการเรียกเงินค่ายาที่มีการเบิกจ่ายทั้งหมดคืน
 
นอกจากนี้ สัปดาห์นี้จะหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อเร่งสรุปมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่า เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนก่อนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนนี้ โดยกระทรวงการคลังต้องการออกมาตรการนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เอกชนมีเวลาเตรียมตัวลงทุนเพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด
 
ทั้งนี้ เบื้องต้นจะเสนอเงื่อนไขของมาตรการเพิ่มเติมว่า เอกชนต้องลงทุนและใช้จ่ายจริงในปีนี้มากกว่าการลงทุนในปีที่ผ่านมา จึงจะสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการลงทุนดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นอกจากนี้ สศค.ยังคิดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมอีก เพื่อทำให้แน่ใจว่าเอกชนจะเร่งลงทุนในปีนี้ให้มากที่สุด
 
"กระทรวงการคลังคิดว่าเอกชนมั่นใจแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องของไทย และต้องการลงทุนเพิ่ม จึงขอให้กระทรวงการคลังขยายเวลามาตรการลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งสิ้นสุดเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าการลงทุนของเอกชนปีนี้จะมากกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะเอกชนไม่มีการลงทุนมานาน ที่ผ่านมาใช้กำลังการผลิตเต็มขีดความสามารถแล้ว ต้องมีการลงทุนเพิ่ม ไม่เช่นนั้นก็จะแข่งขันกับคนอื่นไม่ทัน" นายสมชัยกล่าว
 
 
ชง ครม.ออก กม.เว้นค่าธรรมเนียมทำงาน "ต่างด้าว" เหยื่อ-พยานคดีค้ามนุษย์
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ก.แรงงานได้เสนอร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. ... ซึ่งรวมถึงบุตรซึ่งเป็นผู้ติดตามของคนต่างด้าวดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้เสียหายและพยานในคดีค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 รวมถึงบุตรซึ่งเป็นผู้ติดตามของคนต่างด้าวดังกล่าว
 
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ โดยจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตให้สามารถทำงานได้ตามกฎหมาย หลังคดีสิ้นสุดลง โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำงานคนต่างด้าวดังกล่าว
 
"กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานได้ทุกประเภทงานตามที่นายจ้างได้ตกลงว่าจ้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเสนอร่างประกาศดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและพยานในคดีค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง เป็นแรงจูงใจให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ให้ความร่วมมือในการดำเนินคดี ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยคำนึงถึงเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยธรรมเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามแผนงานดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานตามนโยบายของรัฐบาล" โฆษก ก.แรงงาน กล่าว
 
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ขั้นตอนของร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. .... ขณะนี้ กระทรวงแรงงานกำลังอยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้ที่ประชุมครม.อนุมัติในหลักการและคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในต้นปี 2560 นี้ต่อไป
 
 
สบส.ส่งหนังสือเวียนแจ้งบังคับใช้ ‘รพ.’ ใดเก็บเงิน ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ มีโทษตามกฎหมายทันที
 
เมื่อวันที่ 22 มกราคม นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา เจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องแสดงชื่อ รายการผู้ประกอบวิชาชีพ อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่นแล้ว ยังต้องแสดงค่ายาเวชภัณฑ์ และห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่แสดงและมีการเพิ่มหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย โดยสบส. ได้แจ้งเวียนให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน
 
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขการอนุญาตการโฆษณาสถานพยาบาลให้รัดกุมขึ้น โดยกำหนดให้การโฆษณาทุกชนิดในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องขออนุญาตจาก สบส. และในส่วนภูมิภาค ให้ขออนุญาตที่ สสจ. และได้เพิ่มโทษการโฆษณาโอ้อวดให้หนักขึ้นจากเดิมซึ่งมีแค่โทษปรับอย่างเดียว แต่กฎหมายฉบับนี้เพิ่มโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา ในกรณีที่ลักลอบโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา กรณีโฆษณาที่มีการเผยแพร่ก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการขออนุญาตกับ สบส. หรือสสจ.ในพื้นที่ ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศที่ออกตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นขออนุญาตแล้วอนุโลมให้โฆษณาต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณา
 
ทพ.อาคม กล่าวอีกว่า สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ได้เพิ่มโทษหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อป้องปรามการกระทำผิด เช่น การลักลอบเปิดสถานพยาบาลโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกจากเดิมไม่เกิน 3 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี หรือปรับเพิ่มจากเดิมไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการเก็บค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์เกินกว่าที่แสดงไว้ที่ป้าย ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมมีโทษปรับอย่างเดียวไม่เกิน 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมโทษถึงผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบการดำเนินงานของนิติบุคคล จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิด จะต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดนั้นด้วย
 
 
2 แบงก์รัฐ ธอส.-ออมสิน จ่ายโบนัส 5-7 เท่าของเงินเดือน
 
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เปิดเผยว่า คาดว่าจะสามารถจ่ายโบนัสพนักงานได้ระดับ 6 ถึง 7 เท่าของเงินเดือน ใกล้เคียงกับปีก่อนที่จ่ายที่ 6 เท่าของเงินเดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนตรวจงบการเงินและการประเมินคะแนนผลการดำเนินงาน เนื่องจากปี 2559 สามารถทำกำไรได้กว่า 9,700 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อใหม่ไปได้กว่า 1.68 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การจ่ายโบนัสของธนาคารปีนี้ อาจจะแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ โดยธนาคารต้องเจรจากับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. หากได้รับอนุมัติก็จะจ่ายรอบแรกช่วงต้นปี ซึ่งจะเป็นโบนัสพื้นฐานประมาณ 3 เท่าของเงินเดือน และจ่ายส่วนที่เหลืออีกครั้งในเดือนพฤษภาคม แต่หากไม่ได้รับอนุมัติก็จะจ่ายในเดือน พฤษภาคมเพียงครั้งเดียว
 
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการรอสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจรับรองงบการเงิน น่าจะเสร็จประมาณเดือนมีนาคม เมื่อเสร็จแล้วธนาคารก็สามารถจ่ายโบนัสพนักงานรอบแรกได้ จากนั้นทาง สคร.ก็จะนำผลดำเนินงานปี 2559 ไปเทียบเคียงกับตัวชี้วัดผลงาน หรือ KPI เพื่อเป็นตัวคูณโบนัสออกมา คาดว่าใช้เวลาอีก 1 เดือน จากนั้นจึงจะจ่ายโบนัสรอบแรก ทั้งนี้ คาดว่าการจ่ายโบนัสรอบนี้น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 5 เท่าของเงินเดือน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่จ่าย 5.43 เท่าของเงินเดือน เพราะรายจ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น และคะแนน KPI น่าจะลดลงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 4.9 เหลือประมาณ 4.6 ถึง 4.7 ซึ่งมีผลทำให้ตัวคูณโบนัสน้อยลงไป ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินทำกำไรได้ราว 2.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่กำไรทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาท
 
 
ราชกิจจาประกาศค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ 12 อาชีพ
 
เมื่อวันที่ 24 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 6) ที่ลงนามโดยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการค่าจ้าง ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามมาตรฐานฝีมือ และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559ให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม 12 สาขาอาชีพ โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79(4) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้ "มาตรฐานฝีมือ" หมายความว่า มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ข้อ 3 อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละสาขาอาชีพและในแต่ละระดับ ให้เป็นดังนี้
(1) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเขียนแบบเครื่องกล ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยหกสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาท
(2) สาขาอาชีพช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยบาท
(3) สาขาอาชีพช่างเทคนิคระบบส่งกำลัง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยห้าสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสี่สิบบาท
(4) สาขาอาชีพช่างเทคนิคระบบไฮโดรลิก ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยหกสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาท
(5) สาขาอาชีพช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบห้าบาท
(6) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยแปดสิบห้าบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยเจ็ดสิบบาท
(7) สาขาอาชีพช่างเทคนิคห้องเย็นขนาดเล็ก ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยแปดสิบห้าบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยเจ็ดสิบบาท
(8) สาขาอาชีพพนักงานประกอบเครื่องปรับอากาศ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยเจ็ดสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยห้าสิบห้าบาท
(9) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยห้าสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสี่สิบบาท
(10) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องอีดีเอ็ม ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสามสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสิบห้าบาท
(11) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัทอีดีเอ็ม ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อย สามสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสิบห้าบาท
(12) สาขาอาชีพช่างขัดเงาแม่พิมพ์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยแปดสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยห้าสิบห้าบาท
ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 3(1) ถึง (12) คำว่า “วัน” หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้าง
ข้อ 5 นายจ้างที่ให้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งงานหรือลักษณะงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับใด ไม่ว่าจะครอบคลุมมาตรฐานฝีมือนั้นทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้น
ข้อ 6 ภายใต้บังคับข้อ 5 ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับใด ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากประสงค์จะใช้สิทธิให้ยื่นหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้นแก่นายจ้างโดยเร็ว
 
เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้จ่ายค่าจ้างตามอัตราในประกาศนี้ให้แก่ลูกจ้างนับแต่วันที่ได้หนังสือรับรองเป็นต้นไป
 
 
ตั้งเป้าถอดสินค้าไทย 4 ชนิดออกจากบัญชีดำของสหรัฐอเมริกา เผยอัตราโทษใหม่ของการใช้แรงงานเด็กมีผลบังคับใช้แล้ว
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายสุเมธ มโหสถ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมความร่วมมือแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับเพื่อมุ่งสู่การถอดสินค้าไทยออกจากบัญชีรายชื่อที่ถูกกล่าวหาว่า ปีนี้ได้ตั้งเป้าจะถอดสินค้าของไทยจำนวน 4 ชนิด คือ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่อนุ่งห่ม ออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริการะบุว่าผลิตโดยใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ โดยในเดือนกรกฎาคมนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทำการสำรวจแรงงานเด็กในประเทศไทย เพื่อยืนยันว่าใน 4 สินค้าไม่มีการใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับ ล่าสุดการแก้ไขเพิ่มโทษ การใช้แรงงานเด็ก ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว
 
 
แก้ร่าง กม.คุ้มครองแรงงาน เสนอ “หญิงตั้งครรภ์” ลาฝากครรภ์แต่ได้รับค่าจ้าง
 
(25 ม.ค.) นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … กล่าวว่า จากการตั้งคณะทำงานดำเนินการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธาน และมอบให้นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดี กสร. ประชุมแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ซึ่งเป็นการดำเนินการทั้ง 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และ รัฐ ฝ่ายละ 5 คน ล่าสุด ได้ยกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะมีการทำประชาพิจารณ์ในช่วงเดือนมีนาคม ก่อนจะสรุปและเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
 
นายมนัส กล่าวว่า ในส่วนของผู้ใช้แรงงานเสนอแก้ไขใน 5 ประเด็น อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 118 โดยกำหนดอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้าง สำหรับลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 400 วัน จากเดิมกำหนดให้อายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 300 วัน ส่วนค่าชดเชยอื่นๆ ยังเหมือนเดิม คือ ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน ถ้าทำงาน 3 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 180 วัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 กำหนดให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอดบุตร เพิ่มเติมนอกเหนือจากการลาเพื่อคลอดบุตร และยังเพิ่มเติมมาตรา 59 โดยกำหนดให้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ กรณีลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอดบุตรด้วย คือ หญิงแรงงานจะไปตรวจครรภ์ก็สามารถลาและได้ค่าจ้างด้วยเช่นกัน โดยให้รวมทั้งค่าจ้างรายวันและรายเดือน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้ตามกฎหมาย เป็นต้น
 
“นอกจากนี้ ยังมีเพิ่มมาตรา 55/1 กำหนดให้นายจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลา เพื่อกิจธุระอันจำเป็น ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน ไม่ว่าจะลาบวช หรือลาเพื่อกิจธุระใดก็ตาม และในมาตรา 13 วรรคสอง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษกรณีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งเดิมไม่มี โดยลูกจ้างหากต้องการเงินชดเชย ต้องไปฟ้องศาลกันเอง โดยทั้งหมดหากผ่านประชาพิจารณ์ และ ครม. รับร่าง กระทั่งประกาศเป็นกฎหมาย จะถือเป็นเรื่องดีของลูกจ้างทุกคนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ และยังเป็นการปรับแก้กฎหมายจากของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541” นายมนัส กล่าว
 
 
คาดแผนพัฒนาแรงงานเฉพาะกลุ่มรองรับไทยแลนด์ 4.0 เสร็จกลางเดือน ก.พ. นี้ เพื่อป้องกันการตกงาน หลังเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการด้านแรงงาน เรื่อง "เปลี่ยนผ่านแรงงานไทยสู่ยุค 4.0 : แรงงานไทยอยู่ตรงไหน" โดยระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศรองรับไทยแลนด์ 4.0 ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไกประชารัฐ ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
 
รัฐมนตรีแรงงาน บอกด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวอาจไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็ง สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าได้ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ SMEs รวมถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีทักษะในการทำงาน อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต จนต้องผันตัวเองออกจากระบบทำให้ขาดความมั่นคงในอาชีพ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าทางการเกษตรให้ดีและน่าสนใจยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ การพัฒนาต้องแบ่งเป็นกลุ่ม เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยสิ่งที่ต้องค้นหาคือ ประเทศไทยมีแรงงานกี่กลุ่ม มีศักยภาพมากน้อยเพียงใด และต้องเติมเต็มสิ่งใดบ้าง คาดว่าในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะได้แผนพัฒนาเฉพาะกลุ่มตั้งแต่ 1.0-3.0 ที่ชัดเจนขึ้น
 
 
อนุมัติต่ออายุรับรองสถานประกอบกิจการป้องกันปัญหายาเสพติด 211 แห่ง
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบาย ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยได้กำหนดให้สถานประกอบกิจการทุกแห่งต้องปลอดจากยาเสพติด รวมถึงมีระบบมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือ มยส. โดยมีการเฝ้าระวังและสำรวจพฤติกรรมของลูกจ้าง หากพบว่ามีพฤติกรรมเสพยา หรือติดยาเสพติดให้นำตัวลูกจ้างเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพและรับกลับมาทำงาน โดยไม่เลิกจ้างเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตตามปกติในสังคม ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการผ่านการรับรอง มยส. 5,734 แห่ง ลูกจ้างได้รับภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติด จำนวน 1,164,095 คน ซึ่งสถานประกอบกิจการจะต้องธำรงรักษาระบบอย่างต่อเนื่อง
 
การรับรอง มยส. มีอายุการรับรอง 3 ปี เมื่อครบกำหนดสถานประกอบกิจการ ต้องแจ้งความจำนงเพื่อให้กรรมการเข้าตรวจประเมินใหม่ ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เป็นต้นมา กสร.ได้อนุมัติต่ออายุการรับรองให้แก่สถานประกอบกิจการแสดงความจำนงแล้ว 211 แห่ง ทั้งนี้ การที่สถานประกอบกิจการให้ความสำคัญ ในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ โดยร่วมกันตรวจสอบตนเองให้เป็นสถานประกอบกิจการปลอดยาเสพติด เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนตามนโยบายประชารัฐ ส่งผลให้แรงงานมีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติดทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในการทำงานและเกิดประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบกิจการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศให้เจริญรุดหน้า
 
 
พนักงานรวมโชคซูปเปอร์มาร์เก็ต 70 คน ถูกเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
 
เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 27 ม.ค.ที่บริเวณ KFC รวมโชค ซูปเปอร์มาเก็ต ติดกับตลาดรวมโชค ถนนไป ม.แม่โจ้ ได้มีพนักงานของ รวมโชค ซูปเปอร์มาร์เก็ต ได้รวมตัวกันเพื่อรอผลการเจรจาของผู้บริหารรวมโชค ซูปเปอร์มาร์เก็ต ที่แจ้งเลิกจ้างเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้พนักจำนวน 70 คน ตกงานทันที ซึ่งพนักงานทั้งหมดรวม 70 คนไม่พอใจจึงมารวมตัวที่ รวมโชค ซูปเปอร์มาเก็ต วันนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไข ล่าสุดแรงงานจังหวัดและประกันสังคมจังหวัดเข้าเจราจาประชุมยุติปัญหา
 
 
50 คนไทยถูกจับใช้วีซ่าทองเที่ยวไปทำงานในมาเลเซีย
 
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบกับสำนักงานแรงงานไทยในมาเลเซียพบว่ามีคนไทยถูกจับกุม 50 คน หลังเดินทางไปออกร้านขายอาหารและสินค้าไทย ในงาน Thai Festival ที่รัฐมะละกาเมื่อวันที่ 7 ม.ค.60 ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่เจ้าของร้านที่ลงทุนจ่ายค่าเช่าพื้นที่ ถูกจับในฐานความผิดเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษสูงสุดคือปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 6เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ดังนั้น ขอเตือนคนไทยที่จะไปออกร้านขายอาหารในประเทศมาเลเซียปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องได้รับอนุญาตจากทางการมาเลเซียก่อน เพื่อป้องกันการถูกจับกุม เนื่องจากปัจจุบันทางการมาเลเซียมีนโยบายในการดำเนินการจับกุมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมจำนวนแรงงานต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยกรณีแรงงานไทยถูกจับกุมจากการลักลอบทำงานในต่างประเทศ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างการรับรู้ขั้นตอน และวิธีเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แรงงานไทยได้ทราบ
 
ทั้งนี้การเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายมีอยู่วิธีคือ 1) บริษัทจัดหางานเอกชนจัดส่งไปทำงาน 2) กรมการจัดหางานจัดส่งไปทำงาน 3) คนหางานติดต่อทำสัญญาจ้างกับนายจ้างโดยตรง 4) บริษัทนายจ้างในประเทศไทยส่งไปทำงาน 5) บริษัทนายจ้างในประเทศไทยส่งไปฝึกงาน โดยทั้งวิธีดังกล่าวคนหางานจะต้องแจ้งและเดินทางผ่านด่านตรวจคนหางานของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสายด่วนกรมการจัดหางาน
 
 
กอช. พร้อมจัดส่งใบแจ้งยอดปี 59 ถึงมือสมาชิก ก.พ. นี้
 
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เตรียมจัดส่งใบแจ้งยอดเงินประจำปี 2559 คาดถึงมือสมาชิกกลางเดือนกุมภาพันธ์ ทันยื่นเสียภาษีเงินได้ ย้ำสมาชิกตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวและยอดเงินในบัญชีให้ถูกต้อง
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวว่า กอช. ดำเนินการจัดส่งใบแจ้งยอดเงินสมาชิก (Statement) ประจำปี 2559 ทางไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ที่สมาชิกแจ้งไว้กว่า 525,000 รายทั่วประเทศ โดยจะให้ถึงมือสมาชิกช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งใบแจ้งยอดเงินฯ จะรายงานยอดเงินสะสมของสมาชิก ยอดเงินสมทบที่ได้รับจากรัฐ และผลประโยชน์จากการลงทุนในปีที่ผ่านมา อีกทั้งสามารถใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการคำนวณและยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อสรรพากรอีกด้วย ทั้งนี้สมาชิก กอช. สามารถนำไปใช้ประกอบการยื่น ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด.91 เพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของเงินสะสมที่จ่ายเข้า กอช. ตามจริงในปี 2559 สูงสุด 13,200 บาท เต็มจำนวน
 
อย่างไรก็ดี เมื่อสมาชิกได้รับใบแจ้งยอดเงินฯ แล้ว ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ-สกุล และที่อยู่ รวมถึงตรวจสอบยอดเงินในบัญชี ประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ
 
1. ส่วนเงินสะสม เป็นส่วนเงินออมที่สมาชิกส่งเข้ามาฝากกับ กอช.
2. ส่วนเงินสมทบ เป็นเงินที่รัฐบาลช่วยสมาชิกออม (สมาชิกที่มีช่วงอายุ 15-30 ปี สมทบสูงสุด 600 บาท/ปี, ช่วงอายุ 30-50 ปี สมทบสูงสุด 960 บาท/ปี และสำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สมทบสูงสุด 1,200 บาท/ปี)
3. ส่วนเงินสะสมที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบ เป็นเงินออมที่สมาชิกส่งเข้ามาฝากกับ กอช. แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้ อาทิ เงินสะสมช่วงที่สมาชิกมีงานทำเป็นแรงงานตามกฎหมาย เงินประกันสังคมหรือเงินบำนาญชราภาพที่โอนมาจากประกันสังคม เป็นต้น
4. ส่วนผลประโยชน์ เป็นดอกผลของเงินสะสมและเงินสมทบ
 

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.