คำสั่งโดนัลด์ ทรัมป์แบน 7 ชาติเข้าสหรัฐ-ศาลสั่งระงับชั่วคราว-ห้ามเนรเทศ
Posted: 29 Jan 2017 05:24 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เกิดโกลาหลหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีห้ามพลเมือง 7 ชาติมุสลิมเข้าเมืองเป็นเวลา 90 วัน ได้แก่ อิหร่าน อิรัก ซีเรีย เยเมน ซูดาน ลิเบีย และโซมาเลีย

ทำให้มีผู้ติดค้างที่สนามบินหลายเมืองในโลก เนื่องจากถูกปฏิเสธขึ้นเครื่องบินเข้าสหรัฐ และมีผู้ถูกควบคุมตัวที่สนามบินสหรัฐทั้งที่มีเอกสารเดินทาง จนศาลรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ที่นิวยอร์กมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามรัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งตัวคนเข้าเมืองจาก 7 ชาติเหล่านี้ กลับไปยังประเทศต้นทางเพราะจะ "ได้รับอันตรายอย่างไม่อาจแก้ไขได้"

ด้านกระทรวงต่างประเทศอิหร่านประณามคำสั่งแบน เตรียมพิจารณามาตรการตอบโต้ ขณะที่ประธานาธิบดีอิหร่านแนะโลกทุกวันนี้ต้องเป็นเพื่อนบ้านกัน

ส่วนผู้นำแคนาดา จัสติน ทรูโด ยินดีต้อนรับผู้อพยพ ย้ำความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง พร้อมให้คำมั่นผู้ถือหนังสือเดินทางแคนาดาจะไม่กระทบจากคำสั่งทรัมป์

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แสดงความกังวลต่อคำสั่งประธานาธิบดี พร้อมย้ำว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศของผู้อพยพและเราควรภูมิใจในสิ่งนี้ ขณะที่มาลาลา ยูซาฟไซ เยาวชนปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลก็แสดงความผิดหวังเช่นกัน

ขณะที่บลูมเบิร์กตั้งปมคำสั่งแบน ไม่รวมประเทศที่เครือทรัมป์ทำธุรกิจ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อาเซอร์ไบจาน และอียิปต์

เกิดโกลาหลหลัง 'โดนัลด์ ทรัมป์' ลงนามคำสั่งแบนพลเมือง 7 ประเทศเข้าสหรัฐ

(ซ้าย) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีซึ่งมีผลห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศ และผู้อพยพเข้าสหรัฐอเมริกา (ขวา) ผู้ประท้วงคำสั่งทรัมป์ ที่สนามบินนานาชาติเคนเนดี (ที่มา: The White House/VOA)
29 ม.ค. 2560 เมื่อคืนวันที่ 28 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ประจำเขตบรุกลิน ทางตะวันออกของนิวยอร์กได้มีคำไต่สวนฉุกเฉิน และสั่งให้ระงับคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าประเทศ ไว้เป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้เมื่อเวลา 16.42 น. วันที่ 27 มกราคม 2560 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา หรือ 04.42 น. วันที่ 28 มกราคม 2560 ตามเวลาประเทศไทย โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี "ปกป้องประเทศจากผู้ก่อการร้ายต่างชาติเข้าสหรัฐอเมริกา"
ซึ่งมีผลห้ามผู้อพยพทั้งหมดเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 120 วัน ซึ่งมีผลห้ามผู้ลี้ภัยจากซีเรียเข้าประเทศทันที และห้ามพลเมืองจากประเทศที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ได้แก่ อิหร่าน อิรัก ซีเรีย เยเมน ซูดาน ลิเบีย และโซมาเลียเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 90 วัน
โดยหลังจากที่มีการใช้คำสั่ง ทำให้ผู้ที่กำลังเดินทางซึ่งเป็นพลเมืองของ 7 ชาติดังกล่าว ต่างได้รับผลกระทบ ทั้งถูกกักอยู่ในสนามบินของสหรัฐอเมริกา และไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้
และหลังจากนั้น ยังมีการประท้วงอยู่รอบๆ สนามบินนานาชาติของสหรัฐอเมริกา ทั้งที่สนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี ในรัฐนิวยอร์ก สนามบินนานาชาติดัลเลส ในรัฐเวอร์จิเนีย

 

คำสั่งศาลห้ามเนรเทศคนเข้าเมืองกลับประเทศต้นทาง เพราะจะได้รับอันตราย

ในรายงานของ New York Times คำสั่งของศาลรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ยังห้ามรัฐบาลในการส่งตัวคนเข้าเมืองกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยผู้พิพากษาแอน ม. ดอนเนลลี (Ann M. Donnelly) กล่าวว่า การส่งตัวกลับจะเป็นการ "ได้รับอันตรายอย่างไม่อาจแก้ไขได้"
คำสั่งของศาลดังกล่าว มีขึ้นหลังจากทนายความจากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน หรือ ACLU ยื่นคำร้อง เนื่องจากมีชาวอิรัก 2 คน ถูกควบคุมตัวในสนามบินเคนเนดี คนหนึ่งกำลังเดินทางไปพบภรรยาและลูกชายที่รัฐเท็กซัส อีกคนหนึ่งทำงานกับกองทัพสหรัฐอเมริกาในอิรักมาเป็นสิบปี
ทั้งนี้หลังมีคำสั่งของศาล ฮามีม คาลิด ดาร์วีช (Hameed Khalid Darweesh) ล่ามแปลภาษาประจำกองทัพสหรัฐอเมริกาชาวอิรัก ก็ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวในสนามบิน 19 ชั่วโมง เมื่อเขาเจอนักข่าวก็ถึงกับปล่อยโฮ และเอามือไพล่หลังเหมือนท่าถูกสวมกุญแจมือ เขากล่าวด้วยว่า "สิ่งที่ผมทำเพื่อประเทศนี้คืออะไร พวกเขากลับสวมกุญแจมือผม?"
ขณะที่ชาวอิรักอีกคนที่ได้รับการปล่อยตัวคือ ไฮเดอร์ ซาเมียร์ อับดุลคาเล็ก อัลชาวี (Haider Sameer Abdulkhaleq Alshawi) ซึ่งกำลังเดินทางไปเมืองฮุสตัน ก็ได้รับการปล่อยตัวเมื่อคืนวันเสาร์ โดยกรณีของอัลชาวีนั้น เป็นผู้ได้รับวีซ่าให้เข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้ามาอยู่กับภรรยาและลูกชายที่มีสถานะผู้ถือกรีนการ์ด
นอกจากนี้ผู้พิพากษาลีออนนี ม. บรินเคมา (Leonie M. Brinkema)แห่งศาลรัฐบาลกลาง รัฐเวอร์จิเนีย ได้มีคำสั่งเพื่อเพิกถอนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้ที่ถือกรีนการ์ด และถูกกักตัวที่สนามบินนานาชาติดัลเลสสามารถเดินทางออกมาได้ ทั้งนี้กรีนการ์ดเป็นเอกสารของทางการสหรัฐอเมริกาที่รับรองให้ผู้ถือกรีนการ์ดอยู่และทำงานในสหรัฐอเมริกาได้
อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ที่ออกโดย กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิในวันอาทิตย์ (29 ม.ค.) ระบุว่าจะยังคงบังคับใช้คำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้จะมีคำตัดสินของศาล โดยยังระบุว่าคำสั่งนี้เป็นขั้นตอนแรกของการฟื้นฟูระบบควบคุมชายแดนของสหรัฐอเมริกาและความมั่นคงของชาติ
มีรายงานว่า คนเข้าเมืองที่มาถึงสหรัฐอเมริกาจะถูกกักตัวยาวนานเพียงใด แต่คำสั่งของศาลจะคุ้มครองไม่ให้คนเหล่านี้ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ โดยในรายงานของ VOA ภาคภาษาไทย เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุว่ามีผู้ที่ถูกกักกันทั่วประเทศราว 170 คน

 

ผู้ได้รับผลกระทบนอกจากผู้อพยพแล้ว ยังรวมถึงผู้ที่เรียน-ทำงาน-มีญาติในสหรัฐ

(ซ้าย) มุรทาดา อัล-ทามินี วิศวกรซอฟต์แวร์ของเฟซบุ๊กชาวอิรัก ทำงานในสหรัฐอเมริกา มีญาติอยู่แคนาดา (ขวา) ฮามาเซท์ ทายารี) ถือหนังสือเดินทางอิหร่าน ทำงานในสกอตแลนด์ ไปเที่ยวคอสตาริกาและถูกปฏิเสธขึ้นเครื่องบินกลับประเทศเนื่องจากเครื่องต้องแวะนิวยอร์ก (ที่มา: The Guardian)
ผู้ได้รับผลกระทบทันทีคือผู้ที่ถือสัญชาติจาก 7 ประเทศที่ถูกแบน ซึ่งอาจเป็นผู้ที่กำลังเรียนหรือทำงานในสหรัฐอเมริกา ในจำนวนนี้มีผู้ที่อยู่ระหว่างเดินทางกลับเข้าไปในสหรัฐอเมริกาด้วย
รายงานใน The Guardian มุรทาดา อัล-ทามินี (Murtadha Al-Tameemi) อายุ 24 ปี วิศวกรซอฟต์แวร์ของเฟซบุ๊กชาวอิรัก ซึ่งทำงานและอาศัยอยู่ที่ซีแอตเติล ในระหว่างที่เขาไปเยี่ยมญาติและมาชมการแสดงของน้องชายในแคนาดา ทนายความก็แจ้งให้เขาข้ามกลับมาที่สหรัฐอเมริกาทันที ทั้งนี้ครอบครัวชาวอิรักของทามินีอาศัยอยู่ใกล้กับแวนคูเวอร์ และพวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะได้เจอกันอีกเมื่อไหร่
นอกจากนี้ครอบครัวของทหารอิรักซึ่งต้องรบกับกลุ่มก่อการร้ายก็ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของประธานาธิบดี โดย อัสเซม อายัด (Assem Ayad) ทหารอิรักวัย 23 ปี ซึ่งประจำการอยู่ในโมซุลของอิรัก และมีลูกพี่น้อง 3 คนอาศัยอยู่ในเท็กซัสกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเขาควรมีสิทธิไปเยี่ยมญาติของเขา "คำสั่งของประธานาธิบดีเป็นเพราะว่ามีกลุ่มผู้ก่อการร้ายในอิรัก แต่ที่นี่ก็มีคนบริสุทธิ์เช่นกัน"
ขณะที่ไฮเดอร์ ฮัสซัน (Haider Hassan) อายุ 45 ปี ทหารอิรักในโมซุล และมีญาติอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเช่นกันกล่าว่า ทีทหารสหรัฐอเมริกายังมาประจำการในอิรัก "ทำไมจึงต้องแบนพวกเราไม่ให้ไปสหรัฐอเมิกา ทั้งที่พวกเขาก็มาอยู่ในประเทศเรา มาตั้งฐานทัพที่นี่"
ขณะที่ฮามาเซท์ ทายารี (Hamaseh Tayari) ผู้มีถิ่นพำนักในสกอตแลนด์ ถือหนังสือเดินทางอิหร่าน เมื่อสัปดาห์ก่อนเธออยู่ระหว่างท่องเที่ยวที่คอสตาริกากับแฟนหนุ่ม และมีกำหนดบินกลับกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์เพื่อกลับไปทำงานสัตวแพทย์ แต่เธอถูกปฏิเสธให้ขึ้นเครื่องบินเนื่องจากเครื่องบินต้องไปพักที่นิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา
ทายารี ซึ่งเติบโตในอิตาลี และไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อนบอกว่า เรื่องนี้ช็อกฉันมากๆ พวกเราได้พบกับเรื่องนี้ (คำสั่งแบนของโดนัลด์ ทรัมป์) เมื่อมาเช็คอินที่สนามบิน ฉันเรียกร้องให้ผู้คนตระหนักว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับผู้ลี้ภัยเท่านั้นแต่เป็นตัวเธอเองซึ่งจบถึงปริญญาเอก "เรื่องนี้กระทบกับคนที่กำลังทำงานและเป็นผู้เสียภาษี"

ปธน.อิหร่านแนะโลกทุกวันนี้อยู่กันอย่างเพื่อนบ้าน ไม่มีใครขวางโลกาภิวัตน์ได้

นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลอิหร่าน ประณามคำสั่งแบนของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า "เป็นการดูหมิ่นโดยเปิดเผยต่อโลกมุสลิมและอิหร่าน" โดยระบุว่าทางการจะมีมาตรการอย่างเหมาะสมทั้งในทางการทูต กฎหมาย และการเมือง
"แทนที่จะเป็นการต่อต้านการก่อการ้าย และปกป้องพลเมืองอเมริกา มาตรการเหล่านี้จะถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นของขวัญให้กับพวกสุดขั้วและผู้สนับสนุนของพวกเขา"
ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 ม.ค.) ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) กล่าวด้วยว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาของการก่อกำแพงกั้นระหว่างประเทศ "พวกเขาลืมไปแล้วหรือว่ากำแพงเบอร์ลินเพิ่งถูกโค่นล้มไปเมื่อหลายปีมานี้?"
ในการแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวด้วยว่า "โลกวันนี้ไม่ใช่โลกที่จะมีผู้ใดสร้างระยะห่างระหว่างชาติและประชาชนที่อยู่ในดินแดนต่างๆ วันนี้เป็นวันของความเพื่อนบ้าน เราเป็นเพื่อนบ้านกันทั้งในทางวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และอารยธรรม และรวมทั้งการติดต่อสื่อสาร และเทคโนโลยีโทรคมนาคมก็ได้ทำลายระยะห่างนี้ ... วันนี้ ไม่มีใครต่อต้านโลกาภิวัตน์ได้"

ตั้งปมคำสั่งห้ามเข้าสหรัฐ ไม่รวมประเทศที่เครือทรัมป์ทำธุรกิจ

แผนที่แสดง 7 ประเทศ (สีแดง) ที่คำสั่งห้ามเข้าเมืองของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ มีผลบังคับใช้ ขณะที่ประเทศที่เหลือ (สีเหลือง) เป็นประเทศที่มีเครือธุรกิจของทรัมป์ลงทุนอยู่ (ที่มา: บลูกเบิร์ก)

บลูมเบิร์กรายงานเมื่อ 27 ม.ค. ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศมุสลิมที่ไม่อยู่ในคำสั่งห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ธุรกิจในเครือของเขาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรวมทั้งสนามกอล์ฟในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอาคารหรู  2 แห่งในตุรกี นอกจากนี้รายงานของบลูมเบิร์กเปิดเผยด้วยว่า เครือธุรกิจของเขายังอยู่ในซาอุดิอาระเบีย อาเซอร์ไบจาน และอียิปต์ด้วย

ผู้นำแคนาดายินดีต้อนรับผู้อพยพ ความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง ด้านมาลาลา ยูซาฟไซ - มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทรัมป์

จากซ้ายไปขวา (1) มาลาลา ยูซาฟไซ ชาวปากีสถานวัย 20 ปีเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (2) จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา และ (3) มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ทั้งหมดต่างแสดงความกังวลต่อนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ (ที่มา: (1) Southbank Centre/Wikipedia (2) Justin Trudeau/Facebook (3) Jason McELweenie/Wikipedia

โดยหลังจากมีคำสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีความเห็นของผู้นำและบุคคลสำคัญทั่วโลก โดยที่นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กว่า "สำหรับผู้ที่หนีการถูกข่มเหง ก่อการร้าย และสงคราม ชาวแคนาดาจะต้อนรับคุณ ไม่ว่าคุณจะมีความคิดความเชื่ออะไร ความหลากหลายคือความแข็งแกร่งของเรา" พร้อมติดแฮชแท็ก #WelcomeToCanada
ทรูโดยังเปิดเผยด้วยว่าเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลแคนาดาได้ขอคำชี้แจงจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และกระทรวงคมนาคม ของสหรัฐอเมิกา รวมทั้งสั่งการไปยังที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลแคนาดาให้หารือกับ ไมเคิล ฟลิน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยได้รับคำยืนยันว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางแคนาดาและถือสองสัญชาติ จะไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งแบนของสหรัฐอเมริกา
"เราได้รับคำมั่นว่าพลเมืองแคนาดาที่เดินทางด้วยหนังสือเดินทางแคนาดาจะได้รับการปฏิบัติอย่างปกติ"
ในรายงานของ The Guardian มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เยาวชนอายุ 20 ปี ชาวปากีสถาน เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ผู้รณรงค์การศึกษาของสตรีและถูกกลุ่มตาลีบันยิงเมื่อตอนอายุ 15 ปี กล่าวว่า "เธอรู้สึกหัวใจสลายเมื่อทราบว่าสหรัฐอเมริกาได้หันหลังให้กับประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจของสหรัฐอเมริกาที่ต้อนรับผู้อพยพและคนเข้าเมือง ประชาชนที่ช่วยก่อร่างสร้างประเทศ และพร้อมทำงานหนักเพื่อแลกกับโอกาสอันยุติธรรมในการมีชีวิตใหม่"
ผู้บริหารเฟซบุ๊กอย่างอย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ก็โพสต์แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความกังวลต่อผลกระทบจากคำสั่งของประธานาธิบดี
เขาบอกว่าตัวเขาเองมีเชื้อสายยิว ฝ่ายทวดของเขาก็มาจากเยอรมนี ออสเตรีย และโปแลนด์ ในขณะที่ภรรยาก็มีพ่อแม่ที่มาจากจีนและเวียดนาม
"สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศของผู้อพยพและเราควรภูมิใจในสิ่งนี้"
การขยายการใช้กฎหมายเกินไปกว่าผู้คนที่เป็นภัยคุกคามจริงๆ จะทำให้ชาวอเมริกาทุกคนปลอดภัยน้อยลงด้วยการเบี่ยงเบนนี้ ในขณะที่มีคนนับล้านที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ไม่ได้มีภัยคุกคามใดๆ จะต้องตกอยู่ภายใต้ความกลัวว่าจะถูกเนรเทศ

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Trump’s Immigration Ban Excludes Countries With Business Ties By Caleb Melby, Blacki Migliozzi and Michael Keller, Bloomberg, January 27, 2017
Judge Blocks Trump Order on Refugees Amid Chaos and Outcry Worldwide By MICHAEL D. SHEAR, NICHOLAS KULISH and ALAN FEUER, New York Times, JAN. 28, 2017
Donald Trump anti-refugee order: 'green-card holders included in ban' – as it happened, Nicola Slawson and Jamie Grierson, The Guardian, Saturday 28 January 2017 18.14 GMT

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.