ศาลปกครองยกฟ้องกรณีญาติเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เหตุ 'สูเพียง-อุสมาน' ถูกจนท.ยิงตายที่นราฯ
Posted: 27 Jan 2017 10:30 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องกรณีญาติ สูเพียง สาและ และอุสมาน เด็งสามิง ผู้ตาย ฟ้อง สตช.และสำนักนายกฯ จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ในสังกัดของหน่วยงานทั้งสองยิงผู้ตายทั้งสองเสียชีวิตที่ จ.นราธิวาส
27 ม.ค. 2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. ศาลปกครองสงขลานัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 155/2557 และคดีหมายเลขดำที่ 156/2557 ซึ่งทั้งสองคดี ได้แก่ กรณีภรรยากับบุตรผู้เยาว์อีก 3 คน กับมารดาของ สูเพียง สาและ(ผู้ตาย) และกรณีภรรยากับมารดาของ อุสมาน เด็งสาแม (ผู้ตาย) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา เรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐ 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยศาลปกครองซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดี
ทั้งสองคดีดังกล่าว เหตุสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวชาวบ้าน ณ บ้านสะแนะ หมู่ที่ 1 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แล้วยิง สูเพียง สาและ และ อุสมาน เด็งสาแม ถึงแก่ความตาย ที่บริเวณบนบ้านที่เกิดเหตุ และที่สวนยางพาราซึ่งอยู่ด้านหลังบ้านที่เกิดเหตุ ตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าสาเหตุที่ยิงเนื่องจากทั้งสองคนที่ถูกควบคุมตัวนั้นได้ไปนำอาวุธมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ฯ แต่ญาติของผู้ตายที่นำคดีมาฟ้องเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองไม่ได้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่ประการใด เพราะผู้ตายทั้งสองได้เดินออกจากบ้านที่เกิดเหตุมาพบเจ้าหน้าที่โดยสมัครใจและถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวใช้สายพลาสติกรัดมือทั้งสองข้างไพล่หลังแล้ว แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่กลับนำตัวทั้งสองคนกลับเข้าไปยังบ้านที่เกิดเหตุอีกครั้งขณะที่มัดมือไพล่หลังอยู่ แล้วทั้งสองคนก็ถูกเจ้าหน้าที่ยิงถึงแก่ความตาย
ศาลปกครองสงขลาได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีทั้งสอง โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรับมนตรี ที่ยิง สูเพียง และอุสมาน ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ซี่งได้ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น ณ บ้านสะแนะ หมู่ที่ 1 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงผู้ตายทั้งสอง เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่อยู่ในสถานการณ์ที่คับขันจำเป็น อยู่ในวิสัยที่จะต้องป้องกันตนเองเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันภยันตรายตามความจำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิด เมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของหน่วยงานทั้งสองเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการละเมิด หน่วยงานทั้งสองซึ่งเป็นต้นสังกัดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่อย่างใด
ทั้งนี้คำพิพากษาทั้งสองคดีอาศัยเสียงข้างมากขององค์คณะตุลาการที่ทำคำพิพากษานี้จำนวน 2 ใน 3 คน เพราะตุลาการอีกหนึ่งคนมีความเห็นแย้งว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุ เป็นการกระทำละเมิดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้สรุปความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อย ดังนี้
ตุลาการเสียงข้างน้อยซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าว ทำความเห็นแย้งไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นขององค์คณะตุลาการอีก 2 คน โดยตุลาการเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่า
กรณีของคดีหมายเลขดำที่ 155/2557 ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามคำให้การของพนักงานสอบสวนที่ให้คำให้การต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ในชั้นไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ประกอบกับภาพถ่ายประกอบสำนวนการสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพ พบศพ สูเพียง สาและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฎอาวุธระเบิดมือแบบขว้างในที่เกิดเหตุหรืออาวุธอื่นใกล้กับศพ สูเพียงฯ นอกจากนี้ในสถานการณ์ดังกล่าวโดยสามัญสำนึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การควบคุมตัว สูเพียง ซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าเป็นพวกเดียวกับกลุ่มบุคคลที่ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างถึงที่สุด และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องตัดสายรัดพลาสติกที่ข้อมือของ สูเพียง การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิง สูเพียง เสียชีวิต โดยอ้างว่า สูเพียง ได้หลบหนีระหว่างการควบคุมตัวภายหลังตัดสายรัดพลาสติกที่ข้อมือ แล้วเข้าไปในบ้านหลังที่เกิดเหตุเพื่อนำวัตถุระเบิดเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นข้อโต้แย้งที่ไม่อาจรับฟังได้ การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่มีเหตุอันควร จึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต
และกรณีของคดีหมายเลขดำที่ 156/2557 ตุลาการเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่า ในสถานการณ์ดังกล่าวการควบคุมตัว อุสมาน เด็งสาแม ซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นพวกเดียวกันกับกลุ่มบุคคลที่ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปในสวนยางพาราเพื่อค้นหาอาวุธปืนที่ซุกซ่อนอยู่นั้น จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างถึงที่สุด และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องตัดสายรัดพลาสติกที่ข้อมือของ อุสมาน การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิง อุสมาน เสียชีวิต โดยอ้างว่าขณะนำ อุสมาน ตรวจบริเวณสวนยางพาราเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามคำกล่าวอ้างของ อุสมาน ว่าได้นำอาวุธปืนมาซ่อนแถวบริเวณดังกล่าว ขณะนำตรวจนั้น อุสมาน ได้ร้องขอให้ตัดสายพลาสติดรัดข้อมือออก เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ควบคุมตัวเห็นว่า อุสมานฯให้ความร่วมมือจนเป็นที่น่าไว้วางใจ จึงได้ตัดสายรัดข้อมือออก ต่อมา อุสมานได้หลบหนีระหว่างการควบคุมตัวแล้วหยิบอาวุธปืนซึ่งซ่อนในบริเวณสวนยางพารายิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ อุสมาน ถึงแก่ความตาย เป็นข้อโต้แย้งที่ไม่อาจรับฟังได้ การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่มีเหตุอันควร จึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต เช่นเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 155/2557
ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ(ทั้งสองคดี) ซี่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี(ทั้งสองคดี)
แสดงความคิดเห็น