นิติ-วิพากษ์ 1: เมื่อ ศาล-อัยการ-ตำรวจงานล้น ข้อเสนอปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม
Posted: 28 Jan 2017 01:23 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
คนในกระบวนการยุติธรรมถกปัญหา พร้อมข้อเสนอในการปรับปรุงชั้นศาล อัยการ พนักงานสอบสวน รวมถึงการเยียวยาแพะ การรื้อฟื้นคดี (มีคลิป) พ่อไผ่ ดาวดิน บุกยื่นหนังสือโฆษกศาลในงาน 


27 ม.ค.2560 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด นิติ-วิพากษ์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม (Miscarriage of Justice) ปัญหาและทางออก โดยมีผู้เข้าร่วมทั้ง ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ กรมคุ้มครองสิทธิ ภายหลังการเสวนา วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้ตั้งคำถามถึงกระบวนการฝากขังที่ไม่เป็นธรรม และการไม่ให้ประกันตัวลูกชาย นอกจากนี้เขายังได้ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาผ่านโฆษกศาลยุติธรรมที่มาร่วมงานนี้
"ผมคงไม่เอาเรื่องราวในศาลมาพูด เห็นด้วยกับท่านโฆษกที่ว่าไม่ควรแสดงควาเห็นระหว่างพิจารณา แต่ผมเห็นว่า กรณีที่หากเกิดกรณีใดๆ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ควรต้องหยิบยกมาพูดในเชิงหลักการและวิชาการ ถ้าบอกไม่ให้พูด ผมไม่เห็นพ้องด้วย 
ผมเป็นพ่อของไผ่ ดาวดิน กรณีที่เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ผมจะไม่ลงรายละเอียดเพื่อไม่ให้ละเมิดอำนาจศาล ผมจะนำสิ่งที่วิทยากรพูดมาสรุปเป็น 3 ประเด็นกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้
 
ประเด็นที่หนึ่ง ไผ่ไม่ได้รับสิทธิตามปฏิญญาสากล กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง กฎหมายรัฐธรรมนญู ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และที่พูดมาทั้งหมดว่าเราต้องถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่จริง คดีไผ่อยู่ในชั้นสอบสวนไม่ใช่ชั้นพิจารณา แต่ไผ่ถูกกระทำโดยไม่ได้ยึดถือกฎหมายใดๆ 
 
ประเด็นที่สอง ที่กรมคุ้มครองสิทธิและหลายคนพูดว่า ถ้าเขายังบริสุทธิ์ต้องดูแลปกป้องเขา เกิดอะไรขึ้นต้องดูแลเขา ไผ่เหลือวิชาเดียวคือ คอมพิวเตอร์ ขอประกันตัวศาลหลายครั้ง ไม่ให้ ขออนุญาตไปสอบ ไม่ให้ นี่คืออะไร นี่กำลังจะทำลายคนบริสุทธิ์และเป็นเด็กนักศึกษาใช่หรือไม่ 
 
ประเด็นสุดท้าย คดี 112 เข้าใจว่าไม่ต้องไปยุ่ง อย่าไปอภิปราย น่าจะเป็นพิจารณาลับ ผมเป็นทนายความผมก็รู้ แต่กระบวนการตอนนี้ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นเรื่องของการฝากขัง การคัดค้านการฝากขัง ทนายความได้บอกหลายครั้งว่าไม่ใช่เรื่องลับ ทุกครั้งที่พิจารณาเขาเอามาให้ดูก็ไม่ได้คุยเรื่องอื่น ถามแค่ว่าเหลือสอบพยานเท่าไหร่ ทำไมต้องลับ แล้วไผ่ปฏิเสธเรื่องพิจารณาลับมาตลอด ทำไมไม่ดำเนินการตามนโยบายของประธานศาลฎีกาว่ากระบวนการพิจารณานั้นต้องเป็นธรรมและเปิดเผย แล้วทำไมศาลขอนแก่นจึงเปิดเผยไม่ได้ และสิ่งที่แย่มากที่สุด เพราะการพิจารณาลับๆ แบบนี้ ทำลับๆ ไผ่ถูกละเมิดสิทธิในการฝากขังครั้งที่ 3 โดยศาลไม่ได้เรียกเขามา ไม่ได้บอกเขาด้วยว่ามีการฝากขังจะคัดค้านหรือไม่ แต่ศาลไปลงบันทึกในรายงานของตัวเองว่า ไปบอกไผ่แล้วและไผ่ไม่คัดค้าน ผมอยากให้เห็นว่า เราเห็นกระบวนการที่อาจทำลายกระบวนการยุติธรรมให้เสียความศรัทธาลงไป เรามาปรับปรุง เยียวยา หรือแก้ไขข้อบกพร่องกันไม่ดีกว่าหรือ หรือจะต้องรอให้งวดหน้าเรามาพูดกันอีกครั้งในเวทีแบบนี้ เรื่องความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม หรือจะพูดกันใหม่ว่า จะทำอย่างไรดีเมื่อไผ่เป็นแพะ"วิบูลย์กล่าว 
 
ด้านปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ ตอบว่า "เรื่องของไผ่ ท่านสืบพงษ์ (โฆษกศาลยุติธรรม) อาจจะตอบยากเพราะท่านเป็นผู้พิพากษา และท่านไม่ได้อยู่ขอนแก่นอาจตอบไม่ได้ดีเท่าที่ควร มีเรื่องที่เราไม่ได้พูดกันเลย คือ คดียาเสพติด พวกคดียาเสพติดล่ะหนึ่ง คดี 112 ล่ะหนึ่ง ท่านทราบไหมว่าคดีพวกนี้กดดันมาก ใครจับคดีนี้เข้ามาปั๊บต้องเดินไปจนสุดซอย ไปกันถึงศาล นี่คือหลักของมัน เราถูกบังคับอย่างนี้ อัยการเคยสั่งไม่ฟ้องคดียาเสพติด ป.ป.ส.ตามเป็นเดือน .... แล้วทำยังไง อันนี้ตอบแทนศาลได้เลย พอเจอคดี 112 มันจะกดดันมาก กรณีของไผ่ผมอ่านแล้ว ผมเข้าใจ ไม่รู้นะ ไม่รู้ว่าท่านผู้พิพากษาท่านวินิจฉัยอย่างไร ท่านคิดอย่างไร เราก็ไม่ว่ากัน แต่มันจะมีอะไรกดดันท่านบ้างไหม อันที่หนึ่ง ท่านยอมรับไหมครับว่ากระบวนการยุติธรรมถูกกดดันบ่อยมาก และโดยสภาวะบ้านเมืองไม่ปกติอย่างนี้ ยาก ที่ท่านพูดผมเข้าใจ" 

สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม

สังคมเองก็มีความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับศาลยุติธรรม เช่น การเชื่อเรื่อง “แพะ” ทันทีแม้มีคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว การให้ความเห็นมากมายระหว่างที่กำลังพิจารณาอยู่ซึ่งอาจกระทบต่อการสืบพยานในคดี
ส่วนการมองความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมนั้น ด้วยภาระที่หนักมากย่อมทำให้มีข้อผิดพลาดได้ โดยหลักเกณฑ์กำหนดให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี 1,000   คดีต่อคนต่อปี แต่ทำคดีจริงๆ 1,700-1,800 คดีต่อคนต่อปี
ประเด็นที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมคือ มันยังมีลักษณะเป็นท่อนๆ ที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด ในต่างประเทศ มีผู้พิพากษาที่คุมตั้งแต่ก่อนฟ้อง เรียกว่า ผู้พิพากษาไต่สวน ซึ่งจะสามารถเห็นสำนวนเป็นเนื้อเดียวกัน


นอกจากนี้ งานยุติธรรมบ้านเรายังถูกจำกัดด้วยเวลา เพราะเมื่อจับผู้ต้องหามาแล้วต้องดำเนินการต่างๆ ให้ทันตามกฎหมายกำหนด ไม่มีคอนเซ็ปท์ของการรวบรวมหลักฐานให้พร้อมให้สมบูรณ์ที่สุดก่อนแล้วค่อยดำเนินการจับกุม ทำให้สำนวนเกิดความบกพร่อง
สำหรับความเปลี่ยนแปลงในชั้นศาลนั้น น่าจะมุ่งเน้นให้ผู้พิพากษาพิจารณาคดีให้ครบองค์คณะ ซึ่งโดยปกติจะนั่ง 2 คน แต่ควรมากกว่านั้น เป็น 5 คน 7 คน นอกจากนี้ในการสืบพยานก็มีข้อเสนอให้บันทึกเป็นภาพและเสียงแทนตัวอักษร เพราะจะเห็นชัดกว่าการตีความตามตัวหนังสือ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะศาลมี 3,000 แห่งทั่วประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่หากทำได้ก็จะเป็นหลักประกันอันหนึ่งให้ประชาชน
ข้อเสนอ
1.พนักงานสอบสวนและอัยการควรทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน
2.การใช้เทคโนโลยี บันทึกเป็นภาพและเสียงในการสืบพยานในศาลทุกแห่ง ตอนนี้กำลังจะเริ่มต้นในศาลขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณ 3 แสนบาทต่อห้อง
3.หากประเด็นเรื่อง แพะ กรมคุ้มครองสิทธิควรมาคุยกับอัยการและยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อร่วมกันค้นหาความจริงว่าจะรื้อฟื้นคดีหรือไม่ หากให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นเรื่อง ศาลไม่ต้องไต่สวน เป็นการลดขั้นตอนได้มาก และระหว่างยื่นคำร้อง สังคมไม่ควรเรียกว่า “แพะ” จนกว่าศาลจะชี้ในที่สุด
4.ค่าทดแทนในพ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีควรมีการปรับปรุง เช่น โทษประหารชีวิต มีการเยียวยาเพียง 2 แสนบาท

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด


โดยหลักกฎหมายพนักงานสอบสวน (พนง.สส.) เป็นคนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด แล้วอัยการเป็นผู้กลั่นกรอง ถ้าตำรวจสอบตามแนวทางแบบที่ศาลใช้รับฟังพยานหลักฐาน รับรองว่าไม่มีทางได้ตัวผู้ต้องหามาลงโทษ มันต้องใช้จิตวิทยามากกว่ามาก ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การรับฟังผู้ต้องหา แต่หลายต่อหลายคดีผู้ต้องหาไม่ให้การ “รายละเอียดขอให้การในชั้นศาล” แบบนั้นทำให้อัยการต้องสั่งฟ้องหมด เพราะไม่รู้จะพิจารณาอย่างไร
ในชั้นสอบสวนต้องยอมรับว่าบางที “ไม่ครบถ้วน” จริงๆ พอมาถึงอัยการ อัยการก็สั่งไม่ฟ้อง ผบ.ตร. ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค ก็มีนโยบายแย้งทุกเรื่องไม่ว่าศาลยกฟ้อง ลงโทษน้อย รอการลงโทษ  มีเรื่องจำนวนมากส่งมายังสำนักงานชี้ขาดของอัยการสูงสุด ร้อยละ 20 พบว่า แย้งเพื่อให้อัยการสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม คำถามคือทำไมตำรวจไม่สอบมาตั้งแต่ต้น นี่ นอกจากนี้บางเรื่องการสอบสวนก็ไม่มีอารัมภบท การจะให้ศาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วนต้องพูดในสำนวนด้วยว่าก่อนจะแทงจะยิงกันมีปัญหาอะไร แต่ก็เข้าใจว่าภาระงานของพนง.สส.หนักมาก ระบบการจ่ายสำนวนของพนง.สส.จะไม่เหมือนของอัยการของศาลที่ยังพิจารณาขีดความสามารถด้วย แต่ พนง.สส.นั้นหนักยิ่งกว่า แล้วเราก็พบข่าว พนง.สส.ยิงตัวตายทุกปี
ในส่วนของอัยการ ก็มีข้อบกพร่องกันตั้งแต่การวางเงื่อนไขรับพนักงานอัยการคือ กำหนดคุณสมบัติต้องเป็นทนาย ต้องว่าความหลายคดี แต่ความเป็นจริงคนไปขอเข้าชื่อร่วมเป็นทนายในคดี เราคิดว่าวางเงื่อนไขนี้จะได้คนมีประสบการณ์ แต่จริงๆ ไม่มี ต้องใช้เวลามากสอนงานกันใหม่ เราต้องทำให้อัยการว่าความอย่างมีคุณภาพ ใช้เวลาเกือบ 5 ปี แต่เดี๋ยวนี้เข้ามาใหม่ส่งไปต่างจังหวัดเลย เพราะคนไม่พอ ทำให้คุณภาพการทำสำนวนอาจไม่ละเอียดพอ อีกประการที่เป็นปัญหาคือ พนักงานอัยการถูกจำกัดโดยกำหนดเวลาที่ต้องฟ้องให้ทัน โดยส่วนตัวถ้าข้อเท็จจริงไม่ครบ ผู้ต้องหาครบฝากขังแล้วหากไม่ยื่นฟ้องหรือยื่นฟ้องไม่ทันต้องปล่อยก็ต้องเป็นเช่นนั้นไป อายุความยังอยู่ แต่อัยการใหม่ๆ จะกังวลเกรงว่าจะถูกลงโทษทางวินัย ทัศนคตินี้ติดมาตั้งแต่อดีต ว่า “ต้องทำให้ทันๆ”
“แล้วพนักงานสอบสวนงานเยอะ เวลาฝากขังกับศาลก็โกหกศาลตลอด เหลือ 4 ปาก เหลือ 5 ปาก ลองเปิดดู สอบอาทิตย์แรกก็เสร็จแล้ว 4-5 ปากแต่เขารอผลการพิสูจน์ลายนิ้วมือ มันก็เป็นเสียอย่างนี้ คือ เรายังทำงานไม่เป็นไปตามระบบ บางครั้งอาจต้องตำหนิผู้พิพากษาบ้าง เร่งรัดมากเกินไป แต่ที่ท่านเร่งรัดก็เพราะต้องการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ตรงนี้ยังเป็นสิ่งที่เป็นปัญหายังจูนกันไม่ได้”
ข้อเสนอ
1.       การสอบสวนควรต้องมีการบันทึกเทป เพื่อให้ทุกส่วนได้เห็นอากัปกริยาของผู้ต้องหา
2.       ปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักกฎหมายว่าต้องทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ
3.       สังคมต้องไม่กดดันกระบวนการยุติธรรม
4.       กรณีแพะ กรมคุ้มครองสิทธิควรมาคุยกับอัยการและพนักงานสอบสวน ในเมื่อข้อบกพร่องเกิดจากรัฐก็ควรให้รัฐจัดการ ไม่ใช่เป็นภาระให้เจ้าตัวไปหาทนายมาจัดการ

พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก. สน.ทุ่งสองห้องและเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน


ปัญหางานล้นนั้นเป็นประเด็นในทุกระดับ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวน โดยมาตรฐานทั่วไป พนักงานสอบสวนควรทำ 70   คดีต่อปีต่อคน แต่บางสน.พนักงานสอบสวนทำ 300 คดีต่อปีต่อคน
ข้อเสนอ
1. ประเทศไทยออกกฎหมายมากมาย ข้อพิพาทของประชาชนก็มีมากมาย ทำให้งานของพนง.สส.มีมหาศาล อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าคดีอาญาหลายคดีนั้นน่าจะเป็นคดีแพ่ง แต่เมื่อกฎหมายบัญญัติให้เป็นคดีอาญาทำให้ต้องทำการสอบสวนทั้งหมด เป็นการเพิ่มภาระงานให้พนักงานสอบสวน นอกจากนี้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังไม่มีการกำหนดเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งจริงๆ แล้ว หลายเรื่องสามารถจบได้ตั้งแต่ชั้นตำรวจ น่าจะมีการกำหนดมาตรฐานการไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวนให้ตำรวจมีอำนาจตรงนี้เลย
2. ควรให้อำนาจพนักงานสอบสวนแบบอังกฤษหรือฝรั่งเศส ว่า จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานหรือไม่ แต่ไม่ได้ลบหรือจบคดี ต้องทำการสืบสวนต่อไป เพียงแต่สามารถคัดกรองทุ่มสรรพกำลังไปกับเรื่องที่สำคัญและมีความเป็นไปได้
3. พนักงานสอบสวนมีงานมาก ควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.