กานดา นาคน้อย: เชือดไผ่ให้ลิงดู
Posted: 26 Jan 2017 08:51 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ภาพประกอบโดย กฤช เหลือลมัย

นักวิชาการต่างชาติคนหนึ่งที่ทำวิจัยด้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเคยถามฉันว่า เงื่อนไขอะไรจะทำให้นักศึกษาไทยประท้วงแบบนักศึกษาอเมริกันในยุคสงครามเวียดนาม? ฉันตอบเขาว่า “เมื่อพวกเขาโกรธจนลืมกลัว  แต่ฉันไม่รู้ว่าเหตุการณ์อะไรจะทำให้พวกเขาโกรธจนลืมกลัว” 

ภาวะโกรธจนลืมกลัว
นักศึกษาชายอเมริกันยุคสงครามเวียดนามประท้วงกันจนสหรัฐฯยกเลิกการเกณฑ์ทหารเพราะมีผลต่อความเป็นความตายของพวกเขา พวกเขาจึงโกรธจนลืมกลัว นักศึกษาหญิงอเมริกันไม่โดนเกณฑ์ไปรบและตายที่เวียดนามแต่แฟนหรือพี่ชายหรือน้องชายโดนเกณฑ์ไปด้วย พวกเธอจึงโกรธจนลืมกลัวและเข้าร่วมการประท้วงด้วย
ปัจจุบัน“ไผ่ ดาวดิน”อยู่ในภาวะโกรธจนลืมกลัวแต่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกเหมือนเขา นักกิจกรรมที่รณรงค์ให้“ปล่อยไผ่”ก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนเขา นักกิจกรรมเหล่านี้ยังไม่ลืมกลัว อาจเพราะมีคู่สมรสเตือนใจให้กลัว อาจเพราะมีลูกเตือนใจให้กลัว อาจเพราะห่วงพ่อแม่ที่ชราภาพแล้วก็เลยกลัว ฯลฯ ความกลัวดังกล่าวเข้าใจได้เพราะทุกคนมีภาระทางครอบครัวแตกต่างกัน และคนที่กลัวไม่ควรโดนเรียกว่าคนขี้ขลาด
ความน่าจะเป็นที่“ไผ่ ดาวดิน”จะโดนคุมขังยาวแบบนักโทษการเมืองหลายคนที่ผ่านมานั้นสูงมาก  ในเมื่อนักโทษการเมืองหลายคนโดนคุมขังยาวแล้วสังคมไทยก็ไม่ได้เข้าสู่ภาวะโกรธจนลืมกลัว ไม่ได้มีการรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง  ดังนั้นการคุมขังยาวเพิ่มอีกคนก็ไม่น่าจะผลักดันสังคมไทยให้เข้าสู่ภาวะนั้นได้ 

มายาคติของวาทกรรมพลังบริสุทธิ์
วาทกรรม“พลังบริสุทธิ์”อาจทำให้นักกิจกรรมบางคนประเมินค่าของสถานะนักศึกษาสูงเกินไป ชีวิตนักศึกษาไม่ได้มีค่ากว่าชีวิต“ชาวบ้าน”ในสนามการเมืองที่เรียกร้องให้ยอมรับว่าทุกคนเป็นคนเหมือนกัน ชุดนักศึกษาอาจทำให้วาทกรรม“รังแกเด็ก”มีราคาบ้างเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้สูงนัก เสื้อสีขาวของนักศึกษาอาจทำให้หลงว่านักศึกษาบริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าคนอาชีพอื่นทั้งๆที่นักศึกษาก็เป็นคนเท่ากันกับเด็กปั๊ม  ถ้าไม่มีเครื่องแบบนักศึกษาอาจทำให้เห็นสัจจธรรมข้อนี้ชัดเจน
นักศึกษาไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ  นักศึกษาเป็นคนอายุน้อยที่พยายามฝึกทักษะเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพในอนาคต  (มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ฝึกทักษะเต็มที่แค่ไหนก็อีกเรื่อง)  ตอนปี พศ.2516 ความสำเร็จของขบวนการนักศึกษาขึ้นอยู่กับประชาชนจำนวนมากที่เข้าร่วมประท้วง ฉันคิดว่าในยุคนั้นชาวนา กรรมกรและประชาชนนอกสถานศึกษามีบทบาทต่อความสำเร็จของการประท้วงมากกว่านักศึกษาเพราะจำนวนมากกว่านักศึกษา
แน่นอนว่านักศึกษามีสิทธิเป็นนักกิจกรรม แต่ก็ไม่ควรมั่นใจว่าสถานะนักศึกษาศักดิ์สิทธิ์และคุ้มครองตนได้ราวเครื่องรางของขลัง 

เมื่อไรสังคมไทยจะโกรธจนลืมกลัว?
ฉันคิดว่าถ้าไม่เกิดความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจที่แผ่ขยายไปสู่คนชั้นกลางและคนชั้นกลางระดับสูง (เมื่อวัดด้วยรายได้) ก็คงจะไม่เข้าสู่ภาวะโกรธจนลืมกลัวในวงกว้าง ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจระดับนั้นอาจเกิดขึ้นถ้ามีวิกฤตการคลังระดับสาหัส คือระดับที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนช้า การเบิกจ่ายสวัสดิการเป็นไปอย่างล่าช้า  สื่อมวลชนได้รับงบประชาสัมพันธ์ล่าช้า การเบิกงบประมาณเพื่อจ่ายพ่อค้าในโครงการจัดซื้อของรัฐเป็นไปอย่างล่าช้า  ฯลฯ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเกิดวิกฤตการคลังระดับสาหัสแล้วจะเกิดภาวะโกรธจนลืมกลัวในวงกว้างแน่นอน สถิติการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นและข่าวคนฆ่าตัวตายเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาอาจเป็นสัญญาณว่าสังคมไทยอาจไม่ก้าวไปสู่ภาวะโกรธจนลืมกลัวไม่ว่าความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจจะสาหัสแค่ไหน
คนไทยอาจมีความอดทนเป็นเลิศและสังคมไทยอาจต้องจ่ายค่าเสียเวลาต่อไปอีกหลายทศวรรษ


หมายเหตุ: ติดตามข้อมูลและทัศนะจาก กานดา นาคน้อย ได้ที่ เพจมายด์ https://www.minds.com/kandainthai

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.