ป.ป.ช.ชี้ หากไม่ใช้เกณฑ์ประชาธิปไตย-เสรีภาพ มาวัด ดัชนีคอร์รัปชันไทยคงไม่ตกมาขนาดนี้

Posted: 27 Jan 2017 12:08 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เลขาธิการ ป.ป.ช. รับดัชนีคอร์รัปชันไทย ร่วง 25 อันดับจากปีก่อน มีผลต่อภาพลักษณ์การลงทุนและอื่นๆ พบมีหลายเหตุผลที่ไม่คาดคิดว่าจะมีการประเมิน เช่น ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพ ฯลฯ ชี้หากไม่ใช้เกณฑ์นี้คะแนนของไทยจะไม่ตกอย่างที่ปรากฏ


27 ม.ค. 2560 จากกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เปิดรายงานดัชนีคอร์รัปชัน 2016 ไทยได้ 35 เต็ม 100 อยู่อันดับ 101 ร่วง 25 อันดับจากปีก่อน โดยรายงานดังกล่าวระบุถึงถึงช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. ปีที่แล้วด้วยว่า การถกเถียงอย่างเสรีในเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปไม่ได้ การณรงค์เพื่อต่อต้านนั้นถูกห้าม และมีคนหลายสิบถูกจับกุม รัฐบาลทหารก็ห้ามไม่ให้มีการสังเกตการณ์ลงประชามติ สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการขาดแคลนอิสระ การตรวจสอบ และการดีเบตถกเถียงอย่างจริงจัง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีผลต่อภาพลักษณ์การลงทุนและอีกหลายๆ เรื่อง หลายฝ่ายไม่สบายใจ จึงต้องกลับมาดูข้อมูลว่าเกิดจากอะไร และพบว่ามีหลายเหตุผลที่ไม่คาดคิดว่าจะมีการประเมิน นั่นคือการใช้เกณฑ์การวัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพ ฯลฯ ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการประเมิน 4 ประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตามในเร็วๆนี้ ป.ป.ช.จะพิจารณาสอบถามไปยัง CPI ว่าเหตุใดจึงมีเกณฑ์นี้ในการประเมิน
ต่อกรณีคำถามว่าเป็นเพราะไทยมีรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารหรือไม่นั้น สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ทราบต้องถามไปยัง CPI เพราะปีที่แล้วไม่มีเกณฑ์นี้ ถ้าไม่มีเกณฑ์นี้คะแนนของไทยจะไม่ตกอย่างที่ปรากฏ

ขณะที่เมื่อ ก.ย.ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ผลจากโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 115 หน่วยงาน ปรากฏว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เองอยู่ในอันดับที่ 100 ได้เพียง 73.52 คะแนนเท่านั้น

โดยในครั้งนั้น สรรเสริญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงว่า การวัดคุณธรรมและความโปร่งใสในระบบราชการ (ITA) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจหน่วยงานของรัฐว่ามีมาตรฐาน คุณธรรมและความโปร่งใสในระดับใด ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานนั้นๆ ไปพิจารณาประเด็นที่มีค่าคะแนนน้อย เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่ได้รับค่าคะแนนน้อย จะต้องปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้น เพื่อคุณธรรมและความโปร่งใสในภาพรวมของประเทศจะดีขึ้น และได้รับการยอมรับจากสากล สำหรับ สำนักงาน ป.ป.ช. สังคมอาจจะมองเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับการขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลทางคดีอันนี้จึงอาจเป็นจุดที่ทำให้ได้คะแนนประเมินในปีนี้ไม่สูง แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช. มีความจำเป็นเนื่องจากข้อมูลทางคดีมีผลต่อการพิจารณา มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในคดี ทำให้บางครั้งไม่อาจให้ข้อมูลหรือเปิดเผยได้ซึ่งก็คงต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.