รู้จัก “คำสั่ง 66/23” การปรองดองและยุติสถานการณ์สู้รบในชนบทที่ถูกพูดถึงอีกครั้งยุค คสช.
Posted: 26 Jan 2017 03:57 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ช่วงนี้เลข 66/2523 อยู่ในข่าวปรองดองเยอะ บางคนร้องอ๋อ แต่บางคนอาจนึกไม่ออกว่าคืออะไร มันคือสูตรสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้การเมืองนำการทหาร “ยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์” โดยใช้วิธีทางการเมืองนำการทหาร ขจัดการขยายแนวร่วม พคท.ในเมือง พร้อมเสนอว่ารัฐบาลจะขจัดความไม่เป็นธรรม สนับสนุนประชาธิปไตย ปฏิบัติต่อผู้เข้ามอบตัวอย่าง “เพื่อนประชาชนร่วมชาติ”

ภาพประกอบ: อิศเรศ เทวาหุดี

ช่วงนี้นอกจากเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นเฉพาะ โรดแมปเลือกตั้งที่เถียงกันวุ่นวายว่าจะได้เลือกตั้งกันเมื่อไร อีกข่าวสารการเมืองที่กำลังร้อนเห็นจะเป็นเรื่อง “การปรองดอง” ที่รัฐบาลบอกว่าจะพยายามหาทางยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมากว่าสิบปี
การปรองดองที่ว่า มีการตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง” หรือ ป.ย.ป. ซึ่งสร้างความประหลาดใจยิ่ง นอกจากชื่อที่ยาวแล้ว โครงสร้างคณะกรรมการก็มีสัดส่วนประหลาด เป็นทหารเกือบหมด
นอกจากนั้นเรายังเห็นข่าวการปรองดองที่นำเสนอโดย สปท. คือ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน มีการนำเสนอว่า น่าจะใช้นโยบาย 66/2523 และ 66/2525 เป็นต้นแบบ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่าจะไม่ใช้มาตรา 66/23 เพราะแนวทางของเขาไม่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย แต่เน้นการสร้างความเข้าใจของทุกฝ่าย เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
เลข 66/2523 นั้นสำคัญยิ่งสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ วันนี้เราจะพาให้ทุกคนไปรู้จักกับคำสั่งนี้ ซึ่งสร้างจุดเปลี่ยนยุติสงครามสู้รบในชนบทจะถูกนำมาใช้ได้หรือไม่ในปัจจุบัน ซึ่งบริบทในยุคนี้ก็แตกต่างไปอย่างมาก และองค์ประธานสร้างความปรองดองก็ถูกตั้งคำถามเพราะเป็นตัวหลักของความขัดแย้ง
000

สาระสำคัญของคำสั่ง 66/2523

1. ช่วงแรกกล่าวถึงสถานการณ์ในบริบทโลกว่า การเผชิญหน้าในรูปแบบของสงครามเย็นอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยดำรงเจตนาอันแน่วแน่ทำสงครามปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐ โดยใช้เงื่อนไขประชาชาติประชาธิปไตยเป็นหลักและใช้เงื่อนไขอื่นๆ

2. รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างเคร่งครัด รัฐบาลถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญและเร่งด่วนในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อันเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งในการบั่นทอนความมั่นคง

3. รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะบริหารราชการแผ่นดินโดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชน ยึดมั่นในการประสานผลประโยชน์ของคนในชาติ ปลูกฝังให้คนไทยทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์เสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพในการรับใช้ประชาชน และให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

4. นิยามบทบาทของกองทัพใหม่ คือ ให้กองทัพมีบทบาทและหน้าที่สำคัญคือป้องกันประเทศและรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

5. คำสั่ง 66/2523 กำหนดนโยบายให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปปฏิบัติว่า “ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เน้นหนักในการปฏิบัติทั้งปวง เพื่อลิดรอนทำลายขบวนการแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธเพื่อยุติสถานการณ์ปฏิวัติ ยับยั้งการปฏิบัติเพื่อสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติด้วยนโยบายเป็นกลาง และขยายผลจากโอกาสที่เปิดให้เพื่อเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการการต่อสู้ในแนวทางสันติ”

7. ในขั้นการปฏิบัติระบุว่าให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการยืดเยื้อ ต้องเอาชนะอย่างรวดเร็วด้วยการรุกทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของการปกครอง ใช้งานการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาด งานการทหารจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองเป็นสำคัญ

8. ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทิ้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

9. กำหนดการปฏิบัติให้มีการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เสียสละผลประโยชน์ของชนชั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีจิตใจที่เป็นธรรม และเข้าใจปัญหาของประชาชนทุกชนชั้น

10. ส่งเสริมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพให้สามารถในการปกครองตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกชนชั้นและสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมทางการเมือง

11. สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้นที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มชนนั้นๆ อันพึงจะมี อย่างไรก็ตามเตือนให้ให้ระมัดระวังและอย่าสับสนระหว่างขบวนการประชาธิปไตย กับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่แอบแฝงประชาธิปไตยนำหน้า

12. ภารกิจของเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มีทั้งการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธ และการปฏิบัติในด้านการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น แต่การปฏิบัติด้วยกำลังอาวุธให้พิจารณาประเภท ขนาดกำลังและยุทธวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อกดดัน ลิดรอน ทำลาย กองกำลังติดอาวุธโดยต่อเนื่อง

13. ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม

14. ขจัดการจัดตั้งและขยายแนวร่วมตามแนวทางการเมืองสนับสนุนป่า และการขัดขวางการสร้างสถานการณ์ปฏิวัติ หรือสถานการณ์ที่นำชาติไปสู่การสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถปฏิวัติได้สำเร็จ

15. การข่าว การจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ เป็นมาตรการอันสำคัญและให้ดำเนินการในลักษณะเชิงรุกอย่างมีแผนและสอดคล้องกับการปฏิบัติทุกขั้นตอน

16. สำหรับโครงสร้างการบริหาร กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สนช.) รับผิดชอบในการเสนอคณะรัฐมนตรี ในเรื่องอันเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นกองอำนวยการเฉพาะกิจ

000
ภาพจากคลิปของแฟ้มภาพยนตร์ของ AP Archive พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแม่ทัพภาคที่ 2 และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เดินทางไปเป็นประธานตรวจพลสวนสนามของกองกำลังอาสาสมัครที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในอำเภอต่างๆ ของ จ.นครราชสีมา เพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2524 การสวนสนามที่สนามกีฬาจังหวัดนครราชสีมาดังกล่าว เกิดขึ้นหลังประกาศใช้คำสั่ง 66/2523 เพื่อเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์มาได้เกือบ 1 ปี (ที่มา: รับชมคลิปได้ที่ AP Archive)

ที่มาของแนวคิดคำสั่ง 66/2523

สำหรับคำสั่ง 66/2523 ที่มีการพูดถึงกันนั้น หมายถึงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 โดยในเว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทยของ SIU ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวมีที่มาจากแนวคิดของ พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ต่อมาเลื่อนยศเป็น พล.ท. เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ระหว่างปี 2517-2520 และต้องเผชิญสงครามแย่งชิงมวลชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.อ.เปรม และคณะทำงานคือ พล.ต.ปฐม เสริมสิน, พ.อ.หาญ ลีนานนท์, พ.อ.เลิศ กนิษฐะนาคะ เริ่มตระหนักว่าวิธีการปราบปรามอย่างเดียวไม่น่าจะได้ผล เพราะชาวบ้านไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องใช้วิธีต่อสู้ทางความคิด และดึงเอาประชาชนมาเป็นฝ่ายเดียวกับราชการ

ทั้งนี้กองทัพไทยเริ่มใช้วิธีจัดตั้งชาวบ้านในพื้นที่มาเป็นกองกำลังอาสาสมัคร ทั้งในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ที่มี พล.ท.สัณห์ จิตรปฏิมา แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะที่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 พ.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เสนอรูปแบบการจัดตั้ง "ทหารพราน" โดยเป็นการฝึกชาวนาในพื้นที่ให้กลายเป็นกองกำลังฝ่ายรัฐ

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2519 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และหลังจากรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 พล.อ.เปรม ก็ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และเป็นผู้บัญชาการทหารบกเดือนตุลาคม 2521 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม2522 เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

และในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี เดือนมีนาคม 2523 พล.อ.เปรม ได้รับแต่งตั้งจากสภา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และหลังจากนั้น 1 เดือน ในวันที่ 23 เมษายน 2523 จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง “นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์” โดยเน้นการใช้การเมืองนำการทหาร เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ และปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ที่เข้ามามอบตัวอย่างประชาชนร่วมชาติ และช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม

000

รายละเอียดคำสั่ง 66/2523

โดยรายละเอียดของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 มีรายละเอียดดังนี้
(สำเนา)
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่ 66/2523
เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์
------------------------------------------------
1. ทั่วไป
1.1 สถานการณ์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในห้วงเวลาที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาควิกฤตการณ์ดังกล่าวเกิดจากปัญหาหลักในเรื่องการขาดพลังงานความแตกต่างในดุลยอำนาจทางทหารของอภิมหาอำนาจและความขัดแย้งของโลกในค่ายสังคมนิยม สถานการณ์โดยทั่วไปได้เปลี่ยนเข้าสู่สภาพการเผชิญหน้าในรูปแบบของสงครามเย็นอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยอย่างที่สุด
1.2 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังดำรงเจตนาอันแน่วแน่ ในการทำสงครามปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐ โดยใช้เงื่อนไขประชาชาติประชาธิปไตยเป็นหลักและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เปิดให้สนับสนุน ได้พลิกแพลงสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้เป็นประโยชนต่อตน โดยให้ความสำคัญอย่างที่สุดต่อการสร้างแนวร่วมทุกระดับเพื่อสร้างสถานการณ์ปฏิวัติและสร้างสถานการณ์สงครามต่างลัทธิโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการเปลี่ยนความขัดแย้งภายในให้เป็นสงครามประชาชาติ การปฏิบัติในท้องถิ่นได้เปลี่ยนสภาพจากป่าพึ่งป่าเป็นป่าพึ่งเมืองเพื่อสอดคล้องกับนโยบายการสร้างแนวร่วมดังกล่าว ความแตกแยกทางความคิดในขบวนการโดยเฉพาะข้อสงสัยในเรื่องความสำเร็จในการปฏิวัติประชาธิปไตย โดยชนชั้นกรรมาชีพเป็นจุดอ่อนสำคัญที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้
1.3 รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างเคร่งครัดบริหารราชการแผ่นดินโดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชน ยึดมั่นในการประสานผลประโยชน์ของคนในชาติและในเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทยยึดถือหลักการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมโดยเที่ยงธรรมและสันติวิธีรวมทั้งจะปลูกฝังให้คนไทยทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องการเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพในการรับใช้ประชาชน และให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กองทัพมีบทบาท และหน้าที่สำคัญในการป้องกันประเทศและรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐบาลถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญ และเร่งด่วนในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อันเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งในการบั่นทอนความมั่นคงของชาติ
2. วัตถุประสงค์
เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์อันมีความสำคัญ และเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างที่สุดของประเทศให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว
3. นโยบาย
ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เน้นหนักในการปฏิบัติทั้งปวง เพื่อลิดรอนทำลายขบวนการแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธเพื่อยุติสถานการณ์ปฏิวัติ ยับยั้งการปฏิบัติเพื่อสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติด้วยนโยบายเป็นกลาง และขยายผลจากโอกาสที่เปิดให้เพื่อเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการการต่อสู้ในแนวทางสันติ
4. การปฏิบัติ
4.1 ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยรวดเร็ว หลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในสภาพยืดเยื้ออันเป็นความประสงค์ของฝ่ายตรงข้าม การจะเอาชนะดังกล่าวได้โดยรวดเร็วจะต้องกลับเป็นง่ายรุกทางการเมือง ซึ่งได้แก่การปฏิบัติทั้งสิ้นที่ส่งผลให้ประชาชนสำนึกว่าแผ่นดินนี้เป็นของตนที่จะต้องปกป้องรักษา ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของการปกครอง และได้ผลประโยชน์ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ งานการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาด งานการทหารจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองเป็นสำคัญ
4.2 ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทิ้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

4.3 กำหนดการปฏิบัติให้มีการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เสียสละผลประโยชน์ของชนชั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีจิตใจที่เป็นธรรม และเข้าใจปัญหาของประชาชนทุกชนชั้นและสำนึกว่า ประชาชนไทยทุกชนชั้นต่างก็มีจิตใจรักประเทศชาติ และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
4.4 ส่งเสริมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพให้สามารถในการปกครองตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกชนชั้นและสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมทางการเมือง กำหนดวิธีการให้ได้รับรู้ปัญหาของประชาชนให้ถือความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดแนวทางปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองความต้องการ
4.5 สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้นที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มชนนั้น ๆอันพึงจะมีให้ระมัดระวังและอย่าสับสนระหว่างขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่แอบแฝงโดยยกประชาธิปไตยนำหน้า
4.6 ภารกิจของเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ มีทั้งการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธ และการปฏิบัติในด้านการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ขอบเขตและระดับของการปฏิบัติงานในการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธอาจแตกต่างกันออกไปบ้างแต่ภารกิจในด้านการเมืองซึ่งเป็นเรื่องหลักมีความทัดเทียมกันทุกประการ การปฏิบัติด้วยกำลังอาวุธให้พิจารณาประเภท ขนาดกำลังและยุทธวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อกดดัน ลิดรอน ทำลาย กองกำลังติดอาวุธโดยต่อเนื่อง
4.7 ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม
4.8 ให้ความสำคัญการต่อสู้ในเมืองให้มากที่สุดเพื่อขจัดการจัดตั้ง และขยายแนวร่วมตามแนวทางการเมืองสนับสนุนป่า และการขัดขวางการสร้างสถานการณ์ปฏิวัติ และสถานการณ์สงครามประชาชาติ สถานการณ์ปฏิวัติมีรูปแบบในการโดดเดี่ยว รัฐบาลจากประชาชนทำลายรัฐบาลให้อ่อนแอ การทำลายหรือช่วงชิงการนำขบวนการประชาธิปไตย อันเป็นศัตรูของคอมมิวนิสต์ การสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติจะอาศัยแนวร่วมซึ่งมีแทรกอยู่ทุกระดับเพื่อสร้างประชามติ และนำชาติไปสู่การสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถปฏิวัติได้สำเร็จ หากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จในการจัดตั้ง และขยายแนวร่วมในเมืองได้ จะสามารถดำรงขีดความสามารถในการรุกทางการเมือง สามารถสร้างความสับสนทางการเมือง ความวุ่นวายในทางเศรษฐกิจและสามารถสร้างกระแสคลื่นของประชาชนส่วนใหญ่ไปแนวทางที่ต้องการได้ จะต้องทำความเข้าใจว่าการสร้างแนวร่วมในเมืองนี้ยากที่จะมองเห็นได้แจ่มชัดเพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายอาศัยตัวแทนในรูปแบบต่างๆ และการใช้เหตุการณ์เฉพาะกรณีให้เป็นไปเสมือนการขัดแย้งโดยทั่วไป นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง
4.9 การข่าว การจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ เป็นมาตรการอันสำคัญและให้ดำเนินการในลักษณะเชิงรุกอย่างมีแผนและสอดคล้องกับการปฏิบัติทุกขั้นตอน

5. การบริหาร
5.1 การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์นั้นเป็นภารกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ จึงเป็นหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดของรัฐบาล ให้กระทรวง ทบวง กรมและองค์การต่างๆ กำหนดแผนโครงการ และการปฏิบัติทั้งสิ้นให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งนโยบายนี้
5.2 สภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบในการเสนอคณะรัฐมนตรี ในเรื่องอันเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง
5.3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นกองอำนวยการเฉพาะกิจ มีผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไป เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามนโยบายและการสั่งการ ตลอดจนการประสานงานของกระทรวง ทบวง กรม และองค์การที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษที่เป็นผลต่อข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหารและบุคคลอื่น ๆ ซึ่งผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปได้แต่งตั้งจากส่วนราชการต่าง ๆ มาปฏิบัติงาน
5.4 การสนับสนุนงบประมาณในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ให้ถือว่ามีความเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ
5.5 บรรดาคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับใดซึ่งขัดแย้งกับคำสั่งนี้ให้ใช้คำสั่งนี้แทน

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 23 เมษายน พุทธศักราช 2523
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
(เปรม ติณสูลานนท์)
นายกรัฐมนตรี

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.