เรื่องราวของ 'พี่ไผ่' จดหมายจากแม่คนหนึ่งถึงเด็กๆ...
Posted: 24 Jan 2017 06:43 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


แม่ตัดสินใจเขียนจดหมายนี้เพื่อลูกและเพื่อเด็กๆซึ่งกำลังเติบโตอีกหลายคน ที่อาจรู้สึกสับสนและไม่เข้าใจความเป็นไปของโลกที่เคยสวย เมื่อได้ยินข่าวคราวของ "พี่ไผ่" ... ลูกโตพอแล้วที่จะรับรู้อะไรมากกว่าชีวิตและความสุขสบายของตัวเอง
พี่ไผ่เป็นนักศึกษา และนักกิจกรรม
นักศึกษาก็คล้ายๆนักเรียนแบบลูก คือต้องไปเรียนหนังสือ ต่างกันตรงที่พี่ไผ่เรียนในมหาวิทยาลัยแล้วในคณะนิติศาสตร์ เพื่อจะรู้เรื่องกฎหมายไว้ใช้ทำประโยชน์ในการทำงานต่อไป แต่ที่เป็นคำใหม่สำหรับเด็กๆน่าจะเป็นคำว่า "นักกิจกรรม" พูดอย่างง่าย นักกิจกรรมคือคนที่คิดทำกิจกรรมเพื่อการแสดงออกถึงความคิดความเชื่อบางอย่าง เพื่อให้คนอื่นๆรับรู้ เข้าใจ และหันมาช่วยกันทำสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้องและมีประโยชน์
กิจกรรมที่พี่ไผ่เคยทำมักเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน รักษาสิทธิในคุณภาพชีวิตของชาวบ้านจากคนรวยๆที่เข้าไปหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เช่นการทำเหมือง และสิทธิทางการเมือง พี่ไผ่เคยได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้วยนะ เพราะสิ่งที่พี่ไผ่และเพื่อนนักศึกษา"กลุ่มดาวดิน" ทำนั้นมีประโยชน์กับชาวบ้านมาก เขาจึงเป็นที่รู้จักในชื่อ "ไผ่ ดาวดิน" นั่นแหละ :)
แต่ก็ไม่ใช่แค่รางวัลหรอกที่พี่เขาได้รับ การทำกิจกรรมบางครั้งก็สร้างปัญหาให้พี่ไผ่ไม่น้อย เพราะสิ่งที่เราเชื่อก็มีคนไม่เชื่อ สิ่งที่เราคิดว่าถูก บางครั้งก็มีคนไม่ชอบใจ โดยเฉพาะคนที่เสียประโยชน์จากการทำกิจกรรมของพี่ไผ่
พี่ไผ่เคยถูกจับมาก่อนหน้านี้แล้ว จากการทำกิจกรรมเพื่อให้คนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่ผ่านมานั้น เราควรไปโหวต"ไม่รับ" เพราะไม่เป็นประชาธิปไตยและจะทำให้เราเสียสิทธิหลายๆอย่างไป แต่นายกฯ ที่สื่อมวลชนให้เด็กๆเรียกอย่างน่ารักว่า "ลุงตู่" เค้าไม่ชอบ เค้าไม่อยากให้ใครพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ดี เค้าอยากให้คนอยู่กันเงียบๆบ้านเมืองจะได้สงบ พี่ไผ่เลยถูกจับเพราะไปจัดงานเสวนาเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย ตอนนี้คดีนั้นก็ยังอยู่ และชื่อของพี่ไผ่ก็ได้ไปอยู่ในบัญชีรายชื่อคนที่ทหารจะติดตามพฤติกรรมตลอดเวลาด้วย
คราวนี้สาเหตุที่ทำให้พี่ไผ่ติดคุกในตอนนี้มันอาจเป็นเรื่องเข้าใจยากนิดหน่อยสำหรับเด็กๆ เราอยู่ในประเทศไทย และประเทศไทยมีกฎหมายที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่มีหรือไม่ใช่กันแล้วคือ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" (ม.112) ซึ่งของเรานั้นมีโทษหนักที่สุดในโลก องค์การสหประชาชาติและประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายเคยบอกหลายทีแล้วว่าเราควรแก้กฎหมายฉบับนี้ เพราะขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน พูดง่ายๆว่าการมีอยู่ของกฎหมายฉบับนี้ในแบบที่เป็นอยู่อาจทำให้คนเดือดร้อนได้มากอย่างไม่เป็นธรรม
แต่คนที่มีอำนาจในเมืองไทยก็ไม่เคยคิดจะแก้ไข เขายังเชื่อว่าคนเราควรติดคุกได้ถึง 15 ปี หากพูดจาไม่ดีเรื่องพระราชา และพี่ไผ่ก็ถูกกล่าวหาในเรื่องนี้
ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นยังไง ลูกอาจลองนึกดูว่า วันนึงหนูนั่งๆอยู่แล้วคุยกับเพื่อนเรื่องคุณพ่อ แต่ลูกไม่ได้ยกย่องคุณพ่อและพูดให้พ่อดูไม่ดีในสายตาเพื่อน แม่มารู้เข้าเลยจับหนูไปขังในห้องใต้ดิน ให้อยู่อย่างนั้นเป็นปีๆไม่ต้องออกไปวิ่งเล่นหรือเรียนหนังสือ เพราะหนูพูดจาไม่ดีเกี่ยวกับคุณพ่อ
ม.112 ก็เป็นแบบนั้น ดังนั้นหากเราอยู่ในประเทศไทย หนูต้องระวังอย่างมาก จะพูดถึงพระราชาตามใจแบบในนิทานบางเรื่องไม่ได้ ลูกต้องพูดแต่สิ่งที่ดีเท่านั้น จำไว้
คราวนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเดือนธันวาคม สำนักข่าวบีบีซี (ซึ่งลูกและใครๆทั่วโลกก็รู้จักดีเพราะหนูเคยดูสารคดีจากช่องนี้บ่อยๆ) ได้เผยแพร่บทความ"พระราชประวัติ"(แปลว่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมา) ของในหลวงพระองค์ใหม่ เหมือนทุกครั้งที่เผยแพร่ประวัติผู้นำคนใหม่ที่สำคัญๆทั่วโลก ซึ่งก็จะประกอบไปด้วยเรื่องราวรอบด้านเกี่ยวกับชีวิตคนคนนั้น เช่นเดียวกับในบทความครั้งนี้ บ่อยครั้งจะมีบางส่วนที่อาจฟังดูไม่น่าปลื้มใจนัก สำหรับบทความครั้งนี้แม่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาให้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ แม้ทางบีบีซีจะออกมาตอบแล้วว่าเป็นบทความที่เขียนขึ้นบนหลักการของบีบีซี ในการให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้กับผู้อ่านในทุกประเทศทั่วโลก
หนูคงจำได้ที่แม่เคยบอก คนเราทุกคนมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถเรียนรู้และพยายามทำดีขึ้นไปได้ตลอดชีวิต.. หากวันหนึ่งหนูเกิดได้เป็นบุคคลสำคัญขึ้นมา บีบีซีคงเขียนถึงลูกเหมือนกันนะ เขาอาจมาสัมภาษณ์แม่ด้วย และแม่ก็คงไม่พลาดที่จะเล่าเรื่องที่หนูเคยดื้อตอนเด็กๆให้ฟังแน่ๆ
ส่วนเรื่องอื่นๆ เขาคงจะไปหาข้อมูลมาเขียนเอง และคนอ่านก็จะคิดตามว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ลูกควรทำทุกครั้งที่อ่านงานเขียนของใคร
เอาหละ ปัญหาของพี่ไผ่ก็เกิดตรงนี้ ในวันแรกที่บทความเวอร์ชั่นแปลเป็นภาษาไทยถูกเผยแพร่ออกไปทางเว็บไซต์และเฟสบุ๊ค มีคนกดไลค์เป็นหมื่นและแชร์ออกไปกว่า 2,800 คน หนึ่งในนั้นก็คือพี่ไผ่
พี่ไผ่เป็นคนเดียวที่ถูกจับในเช้าวันรุ่งขึ้น ลูกอาจแปลกใจว่าทำไม แม่บอกไปแล้วว่าพี่ไผ่อยู่ในบัญชีรายชื่อคนที่ทหารในพื้นที่ต้องติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ทหารคนที่ไปแจ้งความจับพี่ไผ่เป็นคนบอกเอง เขายังบอกกับแม่ด้วยว่าเขาต้องปกป้องนายของเขา และเขาเชื่อว่าการแชร์บทความที่พี่ไผ่ทำลงไปนั้นเป็นความผิด ก่อนแจ้งความเขาได้ปรึกษาทหารคนอื่นๆบางคนด้วย และพวกเขาก็มีความเห็นตรงกัน
เรื่องราวหลังจากนั้นก็คือกระบวนการทางกฎหมาย ตามปกติในระหว่างการพิจารณาคดี (คือก่อนศาลจะตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหาทำผิดจริงหรือไม่) ผู้ต้องหาจะไม่ถูกกักขัง เพราะยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในกรณีของพี่ไผ่ ศาลอนุมัติให้ฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัวมาเดือนกว่าแล้ว
ในส่วนนี้มีรายละเอียดอีกมากมายที่พี่ไผ่ถูกละเมิด แต่คงเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไปที่แม่จะอธิบายให้ลูกฟังตอนนี้ และบางเรื่องก็อาจรุนแรงเกินไปที่เด็กวัยอย่างหนูจะต้องมารับรู้
ส่วนต่อจากนี้น่าจะเป็นส่วนที่ยากที่สุดแล้วที่แม่จะเขียนต่อ อันที่จริงก็ยังนึกไม่ออกว่าจะสรุปให้ลูกฟังอย่างไรให้เรื่องราวทั้งหมดนี้ฟังดูสมเหตุสมผล มันไม่ง่ายเหมือนเล่านิทานที่พระเอกนางเอกจะพ้นภัยเสมอในตอนจบ และแม่จะสามารถจบด้วยสุภาษิตสวยๆว่าคนทำดีต้องได้ดี หรือ ความกล้าหาญจะนำสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดี หรือ ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ฯลฯ เพราะแม่ก็ไม่รู้จริงๆว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
แต่ลูกจำได้ใช่มั้ยที่แม่บอกว่าพี่ไผ่เป็นนักกิจกรรม เขาเคยแสดงออก ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ ดังนั้นแม่และเพื่อนๆของแม่ก็จะพยายามทำสิ่งเดียวกัน สื่อสารให้คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หวังให้คนเชื่อมั่นในสิ่งเดียวกันจนเกิดการเปลี่ยนแปลง ว่าสิทธิในความเป็นคนของพี่ไผ่และอีกหลายๆคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกันกับพี่ไผ่จะต้องได้รับการเคารพ
หวังว่าในตอนจบของเรื่องนี้ แม่จะสามารถกลับมาบอกกับลูกได้ว่า คนเราต้องไม่สูญสิ้นศรัทธา และการยืนหยัดเพื่อความเป็นธรรมนั้นคุ้มค่าเสมอ
แต่สิ่งที่แม่สามารถบอกลูกได้เลยในตอนนี้ คือหากในวันหนึ่งลูกเติบโตและมีอำนาจวาสนา ขอจงใช้มันอย่างรอบคอบและสร้างสรรค์ เราได้เห็นตัวอย่างของสิ่งที่ตรงข้ามมามากพอแล้ว
ระหว่างนี้ หนูยังมีความสุขกับชีวิตในโลกสวยๆ ต่อไปได้ ขอเพียงอย่าลืมว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเรา เกิดอะไรขึ้นกับลูกของแม่อีกคนอย่าง"พี่ไผ่"
และแม่จะทำให้หนูเห็น ว่าเราเป็นได้มากกว่าคนนั่งมอง


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน  เฟซบุ๊ก 
Bow Nuttaa Mahattana

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.