ออกกฎกระทรวง ยกเว้นภาษีมรดก ผู้ได้เงินค่าใช้จ่ายในพระองค์-พระองค์เจ้าขึ้นไปที่ได้รับเงินปี
Posted: 26 Jan 2017 08:44 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
คลังออกกฎกระทรวงบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี และบุคคลซึ่งได้รับเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง กําหนดประเภทหรือรายชื่อของบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2560 ระบุว่า  อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
 
ข้อ 2 บุคคลตามมาตรา 13 (1) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี และบุคคลซึ่งได้รับเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บําเหน็จบํานาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535
 
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 ม.ค. พ.ศ. 2560 อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พร้อมระบุหมายเหตุไว้ด้วยว่า เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษี การรับมรดก พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนดประเภท หรือรายชื่อของบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
สำหรับ มาตรา 12 และ 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ระบุไว้ดังนี้
มาตรา 12 ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกินหนึ่งร้อยล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท
 
มูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่ง หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สิน อันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น
 
ให้มีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่งทุกห้าปี โดยนําอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคที่กระทรวงพาณิชย์คํานวณเพื่อใช้ในราชการในรอบระยะเวลานั้นมาประกอบการพิจารณาด้วยโดยการกําหนดมูลค่ามรดกขึ้นใหม่ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา 13 บทบัญญัติในมาตรา 12 ไม่ใช้บังคับแก่
 
(1) บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ 
 
(2) หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการ สาธารณประโยชน์
 
(3) บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
 
ทั้งนี้ เฉพาะตามประเภทหรือรายชื่อที่กําหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงดังกล่าว จะกําหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีตรวจสอบติดตามไว้ด้วยก็ได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.