คดี “อุ้มฆ่าสุภัคสรณ์” เป็น Hate Crime หรือไม่?
Posted: 29 Jan 2017 04:35 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)  


ถ้าGenderเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจกันได้ง่าย ๆ และเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับและมีพื้นที่ให้ในเรื่องตัวบทกฎหมายสำหรับปกป้องรักษาสิทธิของความแตกต่างในความเป็นเพศ ป่านนี้เราคงไม่ต้องมาเรียกร้องหาความเท่าเทียมเสมอภาคทางเพศ ไม่ต้องมารวมกลุ่มกันสร้างองค์กร LGBTเพื่อเรียกร้องสิทธิของความหลากหลายทางเพศ ไม่ต้องเรียกร้องกฎหมายแต่งงานของเพศเดียวกัน ไม่ต้องเรียกร้องการบวชภิกษุณี ไม่ต้องมีองค์กรผู้หญิงต่าง ๆ นานามากมายเพื่อรักษาสิทธิของความเป็นพลเมืองเพศหญิง
แต่บังเอิญGenderไม่ได้เป็นเรื่องที่จะเข้าใจกันได้ง่าย ๆ เช่นอ่านเขียน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูกและประเด็น Gender ก็มิได้มีสอนกันในโรงเรียน แต่ Gender เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและเข้าใจได้ยากเพราะเต็มไปด้วยเรื่องของอำนาจการกดขี่และอคติทางเพศจึงเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นว่า “คดีสุภัคสรณ์” เป็น Hate Crimeหรือไม่ ?

Hate Crime คืออะไร ?

Hate Crimeคือ อาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง หมายถึงการกระทำผิดทางอาญาที่ผู้กระทำมีมูลเหตุจูงใจมาจากอคติหรือความเกลียดชังต่อคนกลุ่มหนึ่งที่มีเอกลักษณ์บางอย่างแตกต่างไปจากตนทางด้านศาสนา เชื้อชาติ ภาษา ผิวสี และรสนิยมทางเพศ (นัทธี จิตสว่าง, ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับอาชญากรรมจากความเกลียดชัง, Go to Know, เข้าดู 21 มกราคม 2560)
ข่าว “อุ้มฆ่าทอม” ที่ปรากฏเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาเป็นเรื่องของ “สุภัคสรณ์ พลไธสง” หญิงบุคลิกทอม ผมซอยสั้น มีรอยสัก ถูกลักพาตัวหายไปและพบว่ากลายเป็นศพในเวลาต่อมา
เนื้อหาของข่าวถูกรายงานวันต่อวันนำไปสู่การสืบสาวที่มาที่ไปว่า “สุภัคสรณ์” คบหาอยู่กับหญิงซึ่งเป็นคนรักของนายตำรวจชั้นสูงท่านหนึ่ง มีการค้นพบการจีบกันระหว่าง “สุภัคสรณ์” กับหญิงคนดังกล่าวในสังคมออนไลน์  เนื้อหาข่าวรายงานว่านายตำรวจผู้ต้องหาได้จ้างวานให้ชาย 5 คนกระทำการลักพาตัว “สุภัคสรณ์” ด้วยจำนวนเงิน 200,000 บาท โดยนายตำรวจให้การว่าแค่ต้องการ “สั่งสอน” ไม่มีเจตนาฆ่า สภาพศพมีการสันนิษฐานว่าผู้ตายเสียชีวิตจากการถูกทรมาน สภาพศพถูกถอดเสื้อผ้าออกแล้วฝังลึกใต้พื้นดินประมาณ 2 ฟุตในรีสอร์ทร้างแห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี
วิเคราะห์จากวันที่ “สุภัคสรณ์” ถูกลักพาตัวคือกลางเดือนธันวาคม 2559 ไปจนถึงวันพบศพคือต้นเดือนมกราคม 2560 ซึ่งน่าจะกินเวลามากกว่า 2 สัปดาห์  จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า “สุภัคสรณ์” ไม่ได้ถูก “อุ้ม” เพื่อฆ่าในทันทีแต่มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวและ “ทรมานร่างกาย” จนกระทั่ง “สุภัคสรณ์” เสียชีวิตในที่สุด จากนั้นจึงมีการนำร่างไร้วิญญาณของเธอไปฝัง


เหตุใดจึงต้องทำกันขนาดนี้ ?

เป็นเรื่องชวนสงสัยและชวนตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงต้องลงทุนจ้างวานลักพาตัว “สุภัคสรณ์” ด้วยจำนวนเงินถึง 200,000 บาท ถึงแม้จะมีประเด็นที่ “สุภัคสรณ์” ยืมเงินจากฝ่ายหญิงเป็นประเด็นถัดมาก็ยังดูเป็นชนวนที่มีน้ำหนักน้อยเพียงการยืมเงินก็สามารถทำกันได้ขนาดนี้เชียวหรือหากมิใช่ประเด็นเรื่องชู้สาวตามที่ข่าวนำเสนอ
ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาในเนื้อหาของข่าวคือผู้ต้องหารู้สึกโกรธแค้นเมื่อพบว่า “สุภัคสรณ์” โพสต์ข้อความเหยียดหยามในสังคมออนไลน์เรื่องขนาดอวัยวะเพศของผู้ต้องหาว่ามีขนาดเล็ก เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่เป็นอีกชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆาตกรรม “สุภัคสรณ์” อย่างที่สื่อนำเสนอ
สิ่งที่เป็นความมั่นใจของชายจำนวนหนึ่งก็คือขนาดของอวัยวะเพศ  ผู้ชายหลายคนพยายามสรรหาวิธีทำอวัยวะเพศของตนเองให้ใหญ่เพราะคิดว่าเมื่ออวัยวะเพศของตนเองมีขนาดใหญ่นั่นคือ ความแข็งแรง  ความแมน  ความอึดความทนในการมีเพศสัมพันธ์  ผู้ชายจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการมีอวัยวะเพศใหญ่เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงหลงใหล พวกเขาจึงพากันไปใช้บริการฉีดอวัยวะเพศของตนให้ใหญ่ตามที่มีการโฆษณากัน
ดังนั้นหากมีใครมากล่าวหาว่าอวัยวะเพศของตนเล็กก็เหมือนกับเป็นการเหยียดหยามความเป็นชายซึ่ง ๆ หน้าอันเป็นสิ่งที่ผู้ชายจำนวนหนึ่งรับไม่ได้ ยิ่งบุคคลผู้กล่าวหาเป็น “ทอมบอย” ยิ่งเพิ่มความโกรธให้กับชายคนนั้นมากยิ่งขึ้น  เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการฆาตกรรม “สุภัคสรณ์” สอดรับกับคำให้การว่า “แค่ต้องการสั่งสอน”

วาทกรรม “สั่งสอนทอม” สั่งสอนแบบไหน ?

มีบางคนตั้งคำถามว่า “แค่ต้องการสั่งสอน” เป็นการสั่งสอนแบบไหนกันแน่ ?
สังคมไทยมีคำพูดที่กระจัดกระจายล่องลอยไปทุกหนแห่งเกี่ยวกับ “คำสั่งสอนทอม” ที่มักจะพูดให้ได้ยินอยู่เสมอว่า “เดี๋ยวโดนผู้ชายมันก็หายเป็นทอม” ซึ่งนั่นหมายถึงวาจาล่วงละเมิดทางเพศที่มีต่อทอม และเรายังพบว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศกับทอมอยู่ทั่วไปที่ไม่เป็นข่าว อย่างนี้มันแปลว่าอะไร ?
“แม่บางคน” ก็ยังให้ผู้ชายมาล่วงละเมิดทางเพศลูกทอมของตนเพื่อหวังให้ลูกหายจากการเป็นทอม นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น การสั่งสอนทอมจึงมีตั้งแต่ทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการทำให้หายสาบสูญไปจากโลกนี้ คำให้การของผู้ต้องหาว่า “แค่ต้องการสั่งสอน” จึงเป็นปริศนาว่าเป็นการสั่งสอนแบบไหน แค่ทำให้เจ็บตัวทรมานหรือทำให้หายไปจากโลกนี้ และอะไรเป็นมูลเหตุสำคัญให้ต้องสั่งสอนถึงขนาดทำให้ “สุภัคสรณ์” เสียชีวิต ?
หากรูปลักษณ์ของ “สุภัคสรณ์” ไม่ได้เป็นทอม แต่เป็น “หญิงรักหญิง” ผมยาว แล้วมาติดพันชอบพอกับหญิงคนรักของผู้ต้องหา  คิดว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เธอจะถูกทำร้ายถึงขนาดจับตัวมาทรมานจนสิ้นใจหรือไม่ หรือเพียงแค่ถูกซ้อมสั่งสอนหรืออาจจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ นี่เป็นอีกคำถามที่ควรกลับมาคิดกันหรือเราอาจจะค้นพบว่าในที่สุดไม่ว่า “สุภัคสรณ์” จะมีเพศสภาพแบบใดก็ต้องลงเอยด้วยการถูกกระทำรุนแรงอยู่ดี
คนเรามีแนวโน้มที่จะรังเกียจคนที่ไม่เหมือนเราอยู่แล้ว นั่นคือรังเกียจความแตกต่างและเป็นอื่น (Alienation, Otherness) เรายังคงมีพ่อแม่ที่ยอมรับลูกที่เป็นทอมไม่ได้  ในโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมเด็กผู้หญิงยังคงถูกห้ามไม่ให้ไว้ผมรองทรง การห้ามผู้หญิงไว้ผมรองทรงก็คือห้ามมิให้ผู้หญิงทำตัว “ข้ามเพศ” เรายังคงมีหลายบริษัทไม่รับกะเทย-ทอม-ทรานแมนเข้าทำงานแม้แต่งานข้าราชการก็อย่าได้หวังว่าบุคคลเหล่านี้ (กะเทย ทอม ทราน) จะสามารถเข้าไปยื่นใบสมัครแล้วได้รับตำแหน่งหน้าที่การงานในแวดวงราชการอย่างง่ายดาย

ทั้งหมดนี้เราน่าจะจับชีพจรแห่งความรังเกียจ “การข้ามเพศ” ที่กระจัดกระจายอยู่ในสังคมไทยได้ไม่ยาก


พฤติกรรมเดียวกันแต่เพศสภาพต่างกันมีความรังเกียจต่างกัน

สมมติว่ามีผู้ชายมานั่งสูบบุหรี่ใกล้ ๆ คุณแล้วคุณรู้สึกเหม็นและไม่ชอบ คุณอาจจะแค่รังเกียจการสูบบุหรี่ของเขาแต่คุณไม่ได้รังเกียจความเป็นชายของเขา  แต่ถ้าเป็นทอมมานั่งสูบบุหรี่ใกล้ ๆ คุณอาจจะไม่ได้แค่หงุดหงิดกับการสูบบุหรี่ของทอมเท่านั้นแต่คุณอาจพาลเกลียด “ความเป็นทอม” ของเขาไปด้วย
เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น  เพราะความเป็นชายเป็นเพศสภาพที่ได้รับการยอมรับในสังคมอยู่แล้วเราจึงไม่รู้สึกรังเกียจความเป็นชายแต่รังเกียจที่พฤติกรรมของเขา  ในขณะที่ “ความเป็นทอม” เป็นเพศสภาพที่นอกกรอบจากบรรทัดฐานของสังคม ดังนั้นไม่ว่าทอมจะทำอะไรจึงเป็นเรื่องผิดหูผิดตาคนอื่นไปเสียหมด
หรือกะเทยที่วี๊ดว๊าดกระตู้วู้ส่งเสียงดังคุณอาจจะไม่ได้แค่รังเกียจบุคลิกจัดจ้านของกะเทยเท่านั้นแต่คุณอาจรังเกียจ “ความเป็นกะเทย” ของเธอ หรือเกลียด “ภาวะข้ามเพศ” ของเธอไปด้วย กะเทยบางคนมีบุคลิกเรียบร้อยจึงมักจะโดนรังเกียจตั้งแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย
นับประสาอะไรกับคดีฆาตกรรมทอมคนหนึ่งที่กระบวนการฆาตกรรมจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นทอมเลยเชียวหรือ?  นี่อาจเป็นคำถามที่ชวนให้ผู้คนหันมาตระหนักรู้ในเรื่อง “อาการรังเกียจทอม” ที่กระจัดกระจายอยู่ในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

 
แล้วผู้หญิงที่เคยรักทอมจะหันมา “เกลียดทอม” จนฆ่าทอมได้หรือไม่

เป็นสิ่งที่เป็นไปได้  “ดี้” บางคนเคยเป็นแฟนกับทอม ต่อมาเลิกกันเพราะทอมหันไปมีคนอื่น จึงปักใจโกรธเกลียดทอม  ซึ่งภาวะ “เกลียดทอม” นี้ไม่ได้เกลียดเฉพาะทอมที่เคยเป็นคนรักเก่าเท่านั้น  แต่พาลเกลียดทอมทุกคนที่เห็นหรือเกลียดทอมทุกคนบนโลกก็มีเหมือนกัน
 จึงมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายหญิงอาจเป็นฝ่ายบงการอุ้ม “สุภัคสรณ์” เสียเองตามที่กระแสข่าวส่วนหนึ่งนำเสนอว่าอาจจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็คงต้องคอยเฝ้าดูการสรุปผลรูปคดีของตำรวจกันต่อไปว่าจะลงเอยในแบบใด


ผู้รับจ้างฆ่ามักเป็น “เพศชาย”

เราเคยตั้งข้อสังเกตกันบ้างหรือไม่ว่าเหตุใดผู้รับจ้างฆ่าหรือมือปืนจึงมักเป็นเพศชาย  ไม่ค่อยมีเพศหญิงหรือเพศสภาพอื่น ๆ เข้ามารับงานลักษณะนี้
การที่เพศชายเป็นเพศที่รับจ้างฆ่าไม่ว่าจะเป็นคดีฆาตกรรมใด ๆ ก็ตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “คดีสุภัคสรณ์” ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีฆาตกรรมที่รุนแรงระหว่าง “เพศชาย” กระทำกับ “ทอม” ไปโดยปริยาย ไม่ว่าผู้ว่าจ้างหรือผู้บงการจะเป็นเพศใดก็ตาม
ตั้งแต่กระบวนการ “อุ้ม” จนถึงขั้นตอน “ทรมาน” นำไปสู่การ “ฆาตกรรม” ประกอบไปด้วยผู้รับจ้างชาย 5 คน เป็นไปได้หรือไม่ว่าขณะรับงาน ผู้รับจ้างทั้งหมดเมื่อทราบข้อมูลและรูปถ่ายว่าพวกตนต้องลักพาตัว “ทอม” ไปสั่งสอน  ในจังหวะที่รับรู้นั้น “ความรังเกียจทอม” ที่มีอยู่ในใจแต่เดิมก็เริ่มก่อตัวขึ้น  ในขณะ “อุ้ม” เมื่อ “สุภัคสรณ์” ปกป้องขัดขืนก็เริ่มมีโทสะผสมผสานกับความรังเกียจทอมที่มีอยู่แล้วก็ยิ่งทวีความโกรธแค้นมากยิ่งขึ้นก็ยิ่งลงไม้ลงมือหนักขึ้น  ทั้งขณะ “ทรมานร่างกาย” ก็รู้สึกสะใจที่ได้กระทำรุนแรงกับบุคคลที่เป็นทอมจนกระทั่ง “สุภัคสรณ์” สิ้นใจไปในที่สุด
นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดขึ้นกับขณะจิตของผู้กระทำการฆาตกรรมทั้ง 5 คนซึ่งเป็นเพศชายทั้งหมดกระทำกับทอมคนหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่น่าคิด


ไม่เคยมีการเปลือยศพทอมลักษณะนี้มาก่อน

เรามักจะพบข่าวเปลือยศพตามหน้าข่าวอยู่บ้าง แต่สำหรับข่าวเปลือยศพนี้เป็นข่าวแรกที่กระทำกับหญิงผู้มีอัตลักษณ์ทอม มันแปลว่าอะไร ? เหตุใดจึงต้องเปลือยศพทอม ?
นี่คือ Hate Crimeหรือเปล่า ?
นี่คือความรังเกียจทอม ไม่ต้องการให้ทอมมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ใช่หรือไม่?
คล้าย ๆ กับเป็นการอนาจารศพ เหมือนกับว่าในเมื่อเป็นทอมเวลาตายก็ไม่จำเป็นต้องให้เกียรติผู้ตาย ให้ตายแบบเปลือย ๆ  ดูคล้ายกับเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง
เป็นไปได้ยากที่จะคิดว่าผู้ตายเป็นเพียง “ผู้หญิง” คนหนึ่ง  จึงเป็นประเด็นที่สามารถตั้งคำถามได้ว่า  “เพราะเป็นทอมใช่ไหมจึงต้องลงทุนทำร้ายกันขนาดนี้”


เราไม่มีกฎหมาย “อาชญากรรมแห่งความรังเกียจ” เราจึงไม่มีแว่นที่จะใช้ส่องเพื่อเฝ้ามองเรื่อง Gender

ในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองความแตกต่างในเรื่องเพศ สีผิว เชื้อชาติ ภาษาและศาสนา จะเป็นไปได้หรือที่คดีฆาตกรรมที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องเพศสภาพจะสามารถสืบสวนไปสู่มูลเหตุจูงใจแห่งการฆ่า “เพราะเหตุว่าเธอเป็นทอม”
จุดมุ่งหมายของกฎหมาย Hate Crime เกิดขึ้นมาก็เพื่อปกป้องสิทธิของคนที่แตกต่างมิให้ถูกทำร้าย สถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อกฎหมายตัวนี้กระทำไปพร้อม ๆ กับให้การศึกษาแก่สังคมได้ตระหนักรู้ถึงความแตกต่างไม่ว่าใครจะมีความแตกต่างแค่ไหนพวกเขาก็ไม่ควรถูกทำร้ายอันเนื่องมาจากความแตกต่างที่พวกเขาเป็น อย่างน้อยการทำร้ายกันด้วยความรังเกียจก็จะไม่เกิดซ้ำ และสังคมควรเรียนรู้ว่าทุกเพศมีสิทธิ์เติบโตและดำรงอยู่บนโลกอย่างเท่าเทียมกัน
และถึงแม้จะมิได้มีอะไรแตกต่างไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม จะเป็นผู้ชาย จะเป็นผู้หญิง ก็มิควรถูกทำร้าย
ไม่ว่าผลของรูปคดีนี้จะสรุปออกมาเป็นอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอัตลักษณ์ทอม  หากจะพูดว่ามันเป็น Hate Crimeก็ถือว่าเป็น Hate Crime ที่แนบเนียนเสียจนคนทั่วไปมองไม่ออกว่ามันเป็น Hate Crime ตรงไหน
Hate Crime ที่มีต่อทอมนั้นมีมาระยะหนึ่งแล้วแต่เราไม่เคยมีการนำมาพูดคุยกัน บทความนี้ต้องการตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามต่าง ๆ นานากับ “คดีสุภัคสรณ์” ในบรรยากาศที่สังคมไทยยังคงมีความรังเกียจทอมตลบอบอวลอยู่ทั่วไป  เป็นไปได้หรือที่คดี “สุภัคสรณ์” จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นทอมเลย ?


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน .teenpath.net

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.