‘ฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย’ ร้อง กสม.เร่งสอบหน่วยงานฟื้นฟูพื้นที่รอบเหมืองทองหลังเพิกเฉย
Posted: 27 Jan 2017 09:15 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ร้องคณะกรรมการสิทธิฯ เร่งสอบหน่วยงานฟื้นฟูเหมืองทองคำเหตุเพิกเฉยปัญหา ระบุตอนนี้ชาวบ้านยังไม่ไว้วางใจ พร้อมอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรณียกฟ้องเพิกถอนประทานบัตรแร่

ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

27 ม.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อ เวลา 9.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นกลุ่มที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริเวณดังกล่าว ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อเร่งกระบวนการแก้ไขสภาพแวดล้อมรอบเหมืองแร่ทองคำ หลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำแล้ว แต่ยังไร้หน่วยงานรับผิดชอบ
จากนั้นตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้เดินทางไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรณียกฟ้องเพิกถอนประทานบัตรแร่ เวลา 10.30 น. วันเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ในข้อ 2 ตามคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ให้ผู้มีอำนาจในการออกประทานบัตร ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในปี 2560 แต่กลุ่มกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ระบุว่า หลังจากมีการร้องเรียนว่าการประกอบกิจการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนรอบบริเวณ อ.วังสะพุง จ.เลย  ในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ สาธารณสุขจังหวัดเลย  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ฯลฯ   ทำให้กลุ่มต้องเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาผลกระทบ
พรทิพย์ หงส์ชัย ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า  สำหรับเหมืองแร่เมืองได้ปิดกิจการมา 4 ปีแล้วด้วยความเข้มแข็งของชาวบ้าน ตอนนี้หากดูตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ยังมีช่องทางหลายช่องทางให้เหมืองเปิดกิจการต่อได้  ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่ไว้วางใจ วันนี้จึงเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบาย ระดับจังหวัด ไม่ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิ์ในกรณีฟื้นฟู ตามคำสั่งของ คสช. ว่าหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายทำอะไรแล้วบ้าง เพราะปัจจุบัน แหล่งน้ำ  ทรัพยากรธรรมชาติที่ปนเปื้อนยังไม่ได้รับการดูแล
พรทิพย์ ระบุว่า ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับจังหวัด นโยบาย ต่างเพิกเฉยอยู่ ซึ่งตามความเป็นจริงต้องเข้ามาดูแลเพราะความเดือดร้อนของชาวบ้าน ประเด็นเรื่องความขัดแย้ง สุขภาวะ สิ่งแวดล้อม รอบเหมืองทองคำย่ำแย่มาตลอด 10 ปี ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้าน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เดินทางเข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง

ในวันเดียวกันเวลา 10.30 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เดินทางเข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองจากกรณี คดีดำหมายเลข ส.1544/2556  หมายเลขแดงที่ ส.816/2558 ผู้ฟ้องคดี คือ สราวุธ พรหมโสภา กับพวกรวม 589 คน ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร ซึ่งศาลพิจารณาให้ยกฟ้องเมื่อ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา
สุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าว่า  เดิมทีที่เริ่มฟ้องคดีเพราะชาวบ้านรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งเรื่องผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาทั้งหมด  ขณะคำตัดสินของศาลครั้งก่อนที่ยกงานวิจัยของ จุฬามาเปรียบเทียบ แต่พื้นทีที่ได้รับผลกระทบกลับไม่ถูกนำมาเปิดเผย ทางชาวบ้านจึงยื่นเอกสารเพิ่มเติมเรื่องผลกระทบอีกทั้งคำสั่งของรัฐบาลก็ชี้ชัดอยู่แล้วว่าผลกระทบนั้นมีจริง แต่คำตัดสินสวนทางกับคำสั่งรัฐว่า บริษัทสามารถเดินหน้าประกอบกิจการต่อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเพราะประทานบัตรหมดอายุปี 2571 จึงอยากให้ศาลพิจารณาเรื่องผลกระทบ ดูข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนอกจากงานวิจัยของ จุฬาฯที่ตรวจสอบผลกระทบเพียงจุดเดียว  
ขณที่ ส.รัตมณี พลกล้า ทนายความของกลุ่มนี้ เผยว่า ตอนนี้ศาลปกครองกลางต้องส่งคำอุทธรณ์และสำนวนคดีไปให้ศาลปกครองสูงสุดเพื่อตรวจสำนวน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  พร้อมรอคำสั่งถึงผู้ฟ้องว่าศาลได้รับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้ว  จากนั้นศาลจะส่งคำอุทธรณ์ทั้งหมดไปให้กับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องทำสำนวนคัดค้าน คำอุทธรณ์ส่งกลับมา ทั้งหมดเป็นกระบวนการโต้ตอบด้านเอกสาร  ขั้นตอนต่อไปก็แล้วแต่ศาลปกครองสูงสุดในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม  ก่อนมีคำสั่งสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดวันพิจารณาคดีครั้งแรกและกำหนดวันฟังคำพิพากษาต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.