กฤตยา อาชวนิจกุล: หาทางออกจากวงจรอาชญกรรมแห่งความเกลียดชัง
Posted: 27 Jan 2017 11:21 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่าต้องทำเข้าใจเรื่องอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง สังคมต้องหยุดวงจรความเกลียดชัง อดทนต่อความแตกต่าง ทำความเข้าใจต่อความแตกต่างทั้งการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา และเพศ ไม่เช่นนั้นจะมีความเชื่อที่หล่อเลี้ยงวงจรความรุนแรงต่อไป
28 ม.ค. 2560 จากเหตุอาชญกรรมสะเทือนขวัญ จากกรณีคดีนายตำรวจถูกกล่าวหาว่าบงการอุ้มฆ่าอำพรางสตรีชื่อ "สุภัคสรณ์" เนื่องจากความหึงหวงที่มายุ่งกับภรรยาของนายตำรวจ
กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำอธิบายอาชญกรรมแห่งความเกลียดชังว่า อาชญากรรมบนความเกลียดชัง เป็นอาชญากรรมที่ผู้กระทำกระทำต่ออีกฝ่ายบนฐานของความไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว อาจเป็นเรื่องความคิดทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา หรือเป็นเรื่องสีผิว หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ


อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง เกิดขึ้นเพราะมีความเชื่อกระแสหลักในสังคม ที่มองว่าความแตกต่างที่เบ้ออกไป หรือที่ไม่อยู่ในกระแสหลัก เป็นสิ่งที่ไม่ปกติ ไม่ดี เป็นสิ่งที่ต้องถูกกำจัด อย่างความคิดทางการเมืองสมัยก่อนเช่น เคยเชื่อว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป หรือเพราะเป็นกลุ่มมุสลิมภาคใต้ หรือเพราะเป็นกะเหรี่ยง อย่าง "บิลลี พอละจี" ที่ถูกอุ้มฆ่า หรือเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่ถูกมองเห็นว่าต่างออกไป เช่น ผู้หญิงเป็นทอม ผู้ชายกลายเป็นกระเทย เพราะฉะนั้นจึงถูกคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าไม่ปกติ ต้องถูกกำจัดออกไป
"เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเขา อย่างกรณีฆ่าทอม หรือทอมมาแย่งแฟน หรือทอมจีบแฟนซ้อนกัน ผู้ชายรู้สึกว่าดูหมิ่นเหยียดหยามมากกว่า กรณีที่มีผู้ชายมาจีบแฟนตัวเอง เวลาเกิดอาชญากรรมเหล่านี้ การทำร้ายร่างกาย ข่มขืน หรือฆ่า จึงเกิดความรุนแรงในอัตราที่มากกว่าการทำร้ายกันในเรื่องอื่นๆ"
"สิ่งที่สังคมต้องช่วยกันคือ สังคมต้องลดทอนความเกลียดชังด้านต่างๆ ลง เราสังคมไทย มีความอดทนน้อยต่อเรื่องความแตกต่างทางเพศ วัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา ระบบการศึกษาอ่อนแอเราไม่ทำความเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องกลับมาฟื้นฟู กลับมาทำความเข้าใจความหลากหลายเหล่านี้ และยุติความเกลียดชังที่อยู่บนฐานความเชื่อเรื่องต่างๆ ให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับเรามีความเชื่อที่หล่อเลี้ยง และกระทำความรุนแรงซึ่งกันและกันในสังคม ไม่เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม"

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.