ถึงแม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะกล่าวตำหนิและโจมตีนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีโอบามาอย่างรุนแรงในหลายเรื่องก็ตาม แต่หกเดือนหลังการเข้ารับตำแหน่ง ก็ดูเหมือนว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน จะไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก

เช่น เรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และการมีบทบาททางทหารอย่างจำกัด ทั้งในซีเรีย อัฟกานิสถาน และอิรัก เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าข้อยกเว้นจะมีเฉพาะในสองเรื่องเท่านั้น คือการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงการค้าเสรี TPP และข้อตกลงกรุงปารีส

โดยเรื่องนี้ นักวิเคราะห์นโยบายเช่นนาย Charles Kupchan ของสถาบัน Council on Foreign Relations ได้ชี้ว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์อย่างสำคัญจากการกลับลำด้านนโยบายสองเรื่องนี้คือ "จีน" ซึ่งมีโอกาสก้าวขึ้นมาช่วงชิงบทบาทผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ ได้

นักวิเคราะห์หลายคนเห็นพ้องว่า หากสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ถอยห่างจากแนวคิดเรื่องการทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ แบบพหุภาคี และหันมายึดแนวนโยบายชาตินิยมแบบอเมริกาต้องมาก่อนแล้ว ก็จะทำให้เกิดคำถามในกลุ่มประเทศพันธมิตรเรื่องความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก

รวมทั้งต่อความเชื่อมั่นที่ประเทศต่างๆ มีต่อสหรัฐฯ ได้

นักวิเคราะห์กิจการต่างประเทศยังชี้ด้วยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้พบว่าอาจเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เช่นนโยบายเกี่ยวกับเกาหลีเหนือโดยสิ้นเชิง เพราะทางเลือกต่างๆ ของสหรัฐฯ นั้นมีอยู่อย่างจำกัด

นาย Douglas Feith อดีตรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ชี้ว่า ไม่ว่านักการเมืองจะเคยหาเสียงหรือโจมตีนโยบายของผู้นำคนก่อนๆ ไว้อย่างไร แต่เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว มักได้พบว่าสิ่งที่ตนพูดนั้นอาจทำไม่ได้เสมอไป

ส่วนนาย Reva Goujon นักวิเคระห์นโยบายต่างประเทศของ Stratfor Group ก็เสริมว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเรียนรู้จากการทำงานจริงว่าสำหรับประเด็นปัญหาระหว่างประเทศหลายอย่างนั้นสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

และเป็นผลให้สหรัฐฯ จำต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ความเป็นจริง

source ;- http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=066993855300615773

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.