Posted: 21 Jul 2017 06:17 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่าแม้รัฐจะส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ตรงจุด อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายครอบคลุม 98% แต่รัฐยังเพิ่มโครงข่ายมีสาย แนะควรส่งเสริมนโยบายกระตุ้นให้เกิดการใช้งานแพ็กเกจเน็ตถูก-เน็ตฟรี ช่วยเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง ลดช่องว่างเชิงดิจิทัล



21 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ "พินิจอินเทอร์เน็ตไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0(?)” ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เพื่อนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับสภาวการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคตของอินเทอร์เน็ตไทย โดยเฉพาะประเด็นทางนโยบาย

โดยพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงนโยบายรัฐในการส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่เป็นอยู่ โดยเขาเสนอสถิติต่างๆ ประกอบการอธิบาย

พัชรสุทธิ์เริ่มจากการแสดงถึงอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย ในปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 60 หรือถ้าเทียบจำนวนประชากรจาก 68 ล้านคน เข้าถึงกว่า 40 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราการเข้าถึงเฟซบุ๊กของคนไทยเท่ากับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เมื่อเทียบกับประเทศอื่นไทยเป็นประเทศที่เล่นเฟซบุ๊กสูงมาก

แต่ประเด็นสำคัญคืออัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเชิงพื้นที่ โดยในกรุงเทพฯ ทุกคนมีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อย เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในการเข้าถึง ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้เกิดช่องว่างเชิงดิจิทัล (Digital Divide) หรือโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ชายขอบจริงๆ ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่มาก

แม้รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ แต่ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้ก็ไม่ได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์นี้โดยตรง จึงต้องไม่ลืมคนกลุ่มนี้ ไม่ควรตื่นเต้นกับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องสนใจความเท่าเทียมในการเข้าถึง คำถามคือ แม้รัฐบาลพยายามมีนโยบายออกมา แต่นโยบายนี้แก้ปัญหาถูกจุดหรือเปล่า

จากข้อมูลสถิติอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงมาก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยส่วนใหญ่มาจากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ไร้สาย ตัวเลขจากข้อมูลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในปี 2558 ร้อยละ 86.3 ของคนไทยใช้สมาร์ทโฟนแต่ไม่ใช่ทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟน

อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากอินเทอร์เน็ตไร้สาย การเข้าถึงปี 2015 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเพราะในปี 2555 มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ในการประมูลคลื่นความถี่นั้นมีเงื่อนไขหนึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตนี้ต้องสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมประชากรถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในสี่ปี ซึ่งจริงๆ เขาสร้างเกินเงื่อนไขไปอีก เพราะการแข่งขันดี ถ้าการแข่งขันดีก็ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งกับตลาด

พัชรสุทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การเข้าถึงมาก แต่นโยบายอาจเน้นไม่ถูกจุด การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เกิดจากการสนับสนุนจากภาครัฐกับการลงทุนของเอกชนเอง เอกชนมีการลงทุนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ความครอบคลุม 98 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แทบจะครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว แต่ยังมีพื้นที่ที่เป็นช่องโหว่

แต่กลับกันนโยบายจากภาครัฐ อันได้แก่ นโยบายเน็ตประชารัฐที่ใช้เงินหลายหมื่นล้านลากสายไฟเบอร์ไปยังหมู่บ้านเป้าหมายเกือบ 25,000 หมู่บ้าน และตั้ง access point ไว้ฟรีหนึ่งจุด รวมถึงโครงการ USO (โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ) 15,000 หมู่บ้าน นั้นอาจไม่ตอบโจทย์

พัชรสุทธิ์อธิบายว่า ตัวโครงข่าย (Network) มี Core Network ลากสายไฟเบอร์ต่อไปยังหมู่บ้านเป็น Feeder Network พอลากสายแล้วต้องกระจายให้คนในหมู่บ้านได้เข้าถึง ตรงนี้คือ Last miles ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ แต่นโยบาย USO หรือนโยบายเน็ตประชารัฐไปเน้นแค่ Feeder Network

ทั้งหมดนี้ทำให้นโยบายรัฐดูย้อนแย้ง เพราะโครงข่ายมือถือครอบคลุมอย่างน้อย 98 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ยังออกนโยบายที่มีสายไฟเบอร์และไม่มี Last miles ในการกระจายสู่คนทั้งหมู่บ้าน ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ปัญหาของการไม่เข้าถึงคืออะไร อาจมาจากความต้องการไม่มากพอ หรือศักยภาพในเชิงธุรกิจของพื้นที่นั้นๆ น้อย หรือไม่มีเงินจ่าย

การสนับสนุนที่ถูกต้องอาจต้องกระตุ้นตรงจุดที่อุปสงค์ไม่พอ อาจมีนโยบายอื่นที่ส่งเสริมอุปสงค์ หรือสร้างเบสิกแพ็กเกจให้ราคาลดลง หรือวิธีที่ต่างประเทศใช้ เช่น การประมูลให้มีผู้บริการแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตที่ราคาถูกหรือให้ฟรีไปเลยจนกว่าพื้นที่นั้นจะพัฒนาขึ้นมาแล้วมีศักยภาพในเชิงธุรกิจจนไม่ต้องได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป แต่พอไม่มีนโยบายเหล่านั้น เราจึงเห็นแต่การไปเน้นที่อุปทานซึ่งมีมากอยู่แล้ว

การเข้าถึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thailand 4.0 แน่นอน แต่การเข้าถึงทำให้เกิดช่องว่างเชิงดิจิทัล ทำให้ความเหลื่อมล้ำเชิงเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น ต้องไม่ลืมคนที่ยังเข้าไม่ถึง รัฐบาลต้องกลับมาถามตัวเองว่านโยบายที่ทำจำเป็นไหม หรือแก้ปัญหาถูกที่หรือไม่

พัชรสุทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า คลื่นความถี่เรามีมากแต่เราจัดสรรคลื่นความถี่ไปเพียงแค่ 380 MHz แก่กิจการโทรคมนาคม ในปี 2553 ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศชี้ว่า ประเทศอย่างไทยต้องการ 760 MHz ซึ่งเรายังมีคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือรัฐวิสาหกิจอีกมากที่อาจไม่มีการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ควรต้องเอามาจัดสรร และคลื่นที่มีค่าสูงที่สุดคือคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เป็นความหวังของ 4G ทั่วประเทศ ไม่ต้องลากสายไฟเบอร์ แต่เอาคลื่นความถี่ไปทำ Last miles ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์ที่ทุกคนมีอยู่แล้ว เป็นนโยบายที่รัฐแทบไม่ต้องทำอะไร ประมูล แล้วให้เกิดการแข่งขันโดยรัฐไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง แต่ต้องมีกฎเกณฑ์ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวก

ดังนั้นจะแทรกแซงตลาดต้องรู้ว่าปัจจัยใดทำให้เกิดปัญหา พื้นที่ใดไม่มีโครงข่ายครอบคลุม การมีกระทรวงดีอีมาดูแลภาพรวมก็ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แค่ดูแลเสร็จแล้วต่างคนต่างทำ ตอนนี้มีการซ้ำซ้อนของหน้าที่กันอยู่ และการใช้เงินอย่างคุ้มค่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นโยบายตั้งต้นออกมาดี ‘เข้าถึง พร้อมใช้ จ่ายได้’ อันนี้ตอบทุกอย่างแล้ว แต่ประเด็นคือเราจะทำให้เป็นจริงอย่างไร
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
‘ยิ่งชีพ iLaw’ ชี้ ‘ขู่ โม้ โชว์ โกหก’ คือวิธีควบคุมโลกออนไลน์ยุค คสช.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.