ทวีศักดิ์ เกิดโภคา: เรียบเรียง
ย้อนมองกระบวนการยุติธรรมในคดี 112 หลังครบรอบ 1 ปี ไผ่ ดาวดินถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัวด้วยเหตุ “เย้ยหยันอำนาจรัฐ” แม้สิทธิในการขอประกันตัวจะมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่เหมือนไม่มีอยู่จริง ท้ายที่สุดการถูกจองจำระหว่างพิจารณาคดีนำไปสู่ความจำยอมต้องสารภาพ
21 ธ.ค. 2560 เขาสวมชุดครุยทับชุดนักโทษของกรมราชทัณฑ์ ท่ามกลางผู้คนที่มาให้กำลังใจ ก่อนขึ้นให้การในคดีจัดเวทีรณรงค์ประชามติ ที่ใช้ชื่อเวทีว่า “พูดเพื่อเสรีภาพ” ที่ศาลทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร หนึ่งในห้าคดีที่เขากำลังเผชิญหน้า ซึ่งเขาได้รับมันมาหลังจากเกิดการรัฐประหาร
นอกจากครอบครัว เพื่อน และผู้คนที่สนใจติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของเขา ยังมีเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาให้กำลังใจ และขอบคุณที่เขาเคยช่วยสอนดีดพิณ เป่าแคน ก่อนที่น้องๆ กลุ่มนั้นจะเดินทางไปแข่งขัน พวกเขาถ่ายรูปร่วมกัน และแน่นอนว่า ไผ่ ดาวดิน ยังคงยิ้มอยู่
ย้อนกลับไป 364 วัน 22 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ตามหมายเรียกนัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน ซึ่งยื่นขอให้ศาลถอนสิทธิการประกันตัวของเขาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเข้าแจ้งความร้องทุกข์โดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท นายทหารที่มีหน้าที่ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยยกมูลเหตุแห่งคดีจากกรณีที่ไผ่แชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai รายงานซึ่งมีผู้แชร์ร่วมกันกับเขาราว 2,800 คน โดยพนักงานสอบสวนให้เหตุผลสำหรับการยื่นเพิกถอนสิทธิประกันตัวว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้โพสต์เฟซบุ๊กที่มีลักษณะ เยาะเย้ยพนักงานสอบสวน ซึ่งต่อมาศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
“ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน”
หลังจากวันนั้น ไผ่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวอีกเลย แม้เขาจะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกนับสิบครั้ง แต่คำตอบที่ได้รับจากศาลคือ “ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” จนกระทั่งเขาตัดสินใจยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความผิด 15 ส.ค. 2560 คือวันพิพากษา ศาลสั่งจำคุกไผ่ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ซึ่งในเวลานั้นไผ่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำมาแล้วทั้งสิ้น 244 วัน
“เย้ยหยันอำนาจรัฐ” ไม่เคยเป็นเงื่อนไขเพิกถอนสิทธิประกันตัว แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว
สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวไว้ในงานเสวนาหัวข้อ “เมื่อสิทธิการประกันตัวหายไป” ซึ่งจัดขึ้นที่ มธ. เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2560 ว่า ตามหลักการบุคคลซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีต้องได้รับการสันนิฐานว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ยังไม่มีการพิพากษา เมื่อมีหลักการแบบนี้เกิดขึ้นเวลาเจ้าพนักงานจะปฏิบัติหน้าที่กับใครสักคนจะปฏิบัติเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ ต้องสันนิฐานว่าเขายังบริสุทธิ์อยู่ ฉะนั้น การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการ ดังนั้นการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เว้นแต่เข้ากรณีข้อยกเว้น ซึ่งจะต้องตีความโดยเคร่งครัด และต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนในรายละเอียด ตามข้อหาและต้องพิจารณาตามพฤติการณ์
เธอระบุต่อว่า การปล่อยตัวชั่วคราวนั้น มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ 1.การปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข 2.การปล่อยตัวโดยมีประกัน โดยผู้ขอประกันต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่าจะมาตามนัด หรือหมายเรียกของศาล หากไม่มาตามกำหนดจะถูกปรับเงินตามที่ประกันไว้ 3.การปล่อยตัวโดยมีประกัน และหลักประกัน โดยผู้ขอประกันต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่าจะมาตามนัด หรือหมายเรียกของศาล พร้อมทั้งวางประกันไว้ ทั้งนี้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีเงื่อนไขได้ถ้าพฤติการณ์ไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาจากสถิติจะพบได้ว่า ศาลจะเรียกหลักประกันเกือบทั้งหมด ซึ่งลักษณะนี้มีปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นในต่างประเทศจึงกำหนดวิธีการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขขึ้นมา คือปล่อยโดยไม่มีหลักประกันแต่มีเงื่อนไขให้ แต่ประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น สำหรับกรณีของไผ่ เมื่อครั้งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรกเขาได้ยื่นหลักประกัน แต่ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า ไผ่ได้ทำผิดเงื่อนไขที่ศาลระบุไว้ตอนต้นหรือไม่ สาวตรี ระบุว่า ไม่ผิดเงื่อนไข
สาวตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจในการวิเคราะห์ว่าไผ่เย้ยหยันอำนาจรัฐว่า คำถามคือ หากไผ่มีเจตนาเย้ยหยันอำนาจรัฐจริงๆ การเย้ยหยันอำนาจรัฐนั้นถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ สาวตรีระบุว่า หากถามนักกฎหมายจะตอบได้ว่าไม่เป็นความผิด เพราะองค์ประกอบของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย ประชาชน ดินแดนที่แน่นอน อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน ฉะนั้น การเยาะเย้ย หรือเย้ยหยันอำนาจรัฐ ก็เท่าว่าประชาชนกระทำต่ออำนาจของตัวเอง ทั้งนี้เมื่อศาลใช้ดุลพินิจในการพิจารณาได้ แต่ต้องมีขอบเขต การใช้ดุลพินิจโดยไม่มีกรอบกฎหมายกำกับไม่สามารถทำได้ ซึ่งในกรณีการเพิกถอนสิทธิประกันการตัวของไผ่ อาจไม่อยู่ในข้อกฎหมาย
“ถ้าเราบอกว่าประเทศนี้ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ อำนาจรัฐเป็นของประชาชน คำถามคือประชาชนจะเยาะเย้ยอำนาจตัวเอง จะผิดตรงไหน” สาวตรี กล่าว
การไม่ได้รับสิทธิประกันเพื่อออกมาต่อสู้คดี เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่นำไปสู่ความจำยอมต้องสารภาพ
"ด้านความรู้สึก ตอนนี้ผมไม่มีความรู้สึกอะไรแล้ว เพราะการไม่ให้ประกันมันได้กลายเป็นเรื่องปกติแล้วกับการที่โดนกระทำแบบนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับการชกมวย ผมคงแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชก แต่ผมก็ยังจะสู้แม้จะรู้ว่าแพ้ เพราะผมคิดว่ามันคือชัยชนะของคนแพ้" ไผ่ ดาวดิน (1 มี.ค. 2560)
"กระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคดี 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ บังคับให้จนมุม บังคับให้เลือกระหว่างสารภาพหรือจะสู้คดี...ต่อให้ท่านเชื่อมั่นว่าไม่ผิด แต่ไม่มีความแน่นอนเลย เพราะทุกวันนี้การตีความมันขยับเพดานตลอด...ลักษณะสู้ติดแน่ แพ้ติดนาน คือ 112 แล้วสุดท้ายคนก็จะพากันรับสารภาพ" สาวตรี สุขศรี (19 มี.ค. 2560)
แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะระบุเรื่องสิทธิในการประกันตัว และระบุหลักการที่ว่า บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา ย่อมได้รับการสันนิฐานว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด แต่สำหรับคดีหมิ่นกษัตริย์การได้รับสิทธิในการประกันตัว ยังคงถือว่าเป็นสิทธิที่ถูกจำกัดอยู่ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์ ระบุว่า ช่วงเวลาหลังการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 22 พ.ค. 2557 ถึงวันที่ 15 ม.ค. 2560 เท่าที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 73 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งหมด 46 ราย ที่ยื่นคำร้องขอประกันตัว มีเพียง 18 รายเท่านั้นที่ได้รับสิทธิประกันตัว
ขณะที่สาวตรีเคยกล่าวไว้ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “คำพิพากศาล-สิทธิในการได้รับการประกันตัวชั่วคราวในคดี 112” ที่ มธ. เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2560 ว่า การไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในคดีหมิ่นกษัตริย์ เป็นการบีบบังคับให้ผู้ต้องหาจำต้องรับสารภาพ เพราะภายใต้สภาวะที่ถูกจองจำเป็นเวลานานจะเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจ การขาดอิสรภาพย่อมกระทบความสามารถในการต่อสู้คดีเพราะไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานภายนอกได้ อีกทั้งยังไม่สิทธิในการปรึกษาทนายอย่างเป็นการส่วนตัว ทั้งที่เป็นสิทธิที่อยู่ในกฎหมาย อีกทั้งคดีดังกล่าวศาลมักสั่งให้เป็นการพิจารณาคดีโดยลับ ห้ามไม่ให้ผู้อื่นนอกจากจำเลย และทนายเข้าฟังการพิจารณาคดี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่มีลักษณะบีบบังคับ และสร้างความหวาดกลัว
“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ศาลไทยยกคำร้องขอประกันตัวของผู้ที่รอการไต่สวนในคดี ‘ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์’ การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างเป็นระบบต่อผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ดูเหมือนเป็นความตั้งใจที่จะลงโทษพวกเขาตั้งแต่ยังไม่ได้ไต่สวนด้วยซ้ำ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ (20 ส.ค. 2557)
21 ธ.ค. 2560 เขาสวมชุดครุยทับชุดนักโทษของกรมราชทัณฑ์ ท่ามกลางผู้คนที่มาให้กำลังใจ ก่อนขึ้นให้การในคดีจัดเวทีรณรงค์ประชามติ ที่ใช้ชื่อเวทีว่า “พูดเพื่อเสรีภาพ” ที่ศาลทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร หนึ่งในห้าคดีที่เขากำลังเผชิญหน้า ซึ่งเขาได้รับมันมาหลังจากเกิดการรัฐประหาร
นอกจากครอบครัว เพื่อน และผู้คนที่สนใจติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของเขา ยังมีเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาให้กำลังใจ และขอบคุณที่เขาเคยช่วยสอนดีดพิณ เป่าแคน ก่อนที่น้องๆ กลุ่มนั้นจะเดินทางไปแข่งขัน พวกเขาถ่ายรูปร่วมกัน และแน่นอนว่า ไผ่ ดาวดิน ยังคงยิ้มอยู่[full-post]
แสดงความคิดเห็น