กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
อาจกล่าวได้ว่าบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือเชิงอรรถอีกแง่มุมหนึ่งของการก่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ช่วยให้เห็นที่มาที่ไป ข้อเท็จจริง มุมคิด และก้าวต่อไปที่ควรจะเป็นจากปากคำผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มันเกิดขึ้น
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่ได้รับการรู้จักครั้งแรกในชื่อ ’30 บาทรักษาทุกโรค’ คือแบรนด์ที่ผูกติดกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคไทยรักไทย เป็นนโยบายที่เข้านั่งอยู่ในหัวใจคนรากหญ้าจำนวนมากและพาทักษิณเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนถล่มทลาย
ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า หากไม่มีทักษิณ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาจไม่เกิดขึ้น อีกข้อเท็จจริงหนึ่ง ถ้าไม่มี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันแนวคิด ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็อาจไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
ทว่า คนที่เราจะลืมบทบาทไปไม่ได้ ที่ถือเป็นโซ่ข้อกลางให้ 2 คนข้างต้นได้พบปะกันคือ หมอเลี๊ยบ หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอีกหลายตำแหน่งในเวลาต่อมา
ประวัติศาสตร์บอกเล่าจาก นพ.สุรพงษ์ เผยให้เห็นบางแง่มุมของการก่อเกิดระบบที่เป็นหลังพิงให้คนไทย 48 ล้านคนในวันนี้ ยังคงเฝ้าดูสถานการณ์ และภัยคุกคามที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเขายืนยันว่า สิ่งนี้คือสิทธิของประชาชนและเราจะถอยหลังไม่ได้
โซ่ข้อกลาง
นพ.สุรพงษ์ เล่าย้อนกลับไปกลางปี 2541 ครั้งที่พรรคไทยรักไทยเพิ่งก่อตั้ง ทักษิณในฐานะหัวหน้าพรรคต้องการสร้างแนวทางพรรคการเมืองที่ต่อสู้กันด้วยตัวนโยบายที่เป็นรูปธรรม ใช้นโยบายเป็นจุดขาย และนำเสนอแก่ประชาชนผู้เลือกตั้ง มองในมุมนี้ถือเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องใหม่ของการเมืองไทย
ณ เวลานั้น นพ.สุรพงษ์เป็นผู้รับผิดชอบการทำนโยบายด้านสาธารณสุข เวลากล่าวถึงนโยบายสาธารณสุขหมายถึงอะไร? เช่น การลดอัตราตายของทารกแรกเกิด การควบคุมโรคติดต่อและไม่ติดต่อ เป็นต้น มันคือความคุ้นชินที่ทุกวันนี้ก็ยังคงได้ยินอยู่เสมอ คือการจัดการปัญหาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ นพ.สุรพงษ์กำลังมองหา สิ่งที่เขามองหาคือการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิรูปนโยบายสาธารณสุขของไทย
“พอดีผมรู้จักคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่เป็นรุ่นพี่ผม 3 ปีที่คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และทราบว่าหมอสงวนทำเรื่องยุทธศาสตร์สาธารณสุขมานานพอสมควร จึงคิดว่ามีหลายเรื่องที่น่าจะมองเห็นภาพรวมและนำไปสู่บทสรุปที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการต่อไป ผมเลยนัดหมายหมอสงวนเพื่อพูดคุยว่าเขาคิดอย่างไร”
หากใครเคยได้ยินประวัติศาสตร์การก่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาบ้าง เหตุการณ์ที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้เป็นต้นทางแนวคิดระบบหลักประกันสุขภาพฯ เดินสายนำเสนอความคิดกับพรรคการเมืองทุกพรรค แต่ไม่มีพรรคใดซื้อแนวคิดนี้แบบจริงจังด้วยเหตุผลหลักว่า ไม่มีเงิน แต่ทักษิณและพรรคไทยรักไทยกลับซื้อแนวคิดนี้ เรื่องเล่าจากปากคำของ นพ.สุรพงษ์ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างไปเล็กน้อย
นพ.สุรพงษ์ บอกว่า ปี 2542 พรรคไทยรักไทยเกิดมาได้ไม่ถึง 1 ปี ยังไม่เคยลงสนามเลือกตั้งระดับประเทศ เป็นม้านอกสายตาที่ยังไม่มีใครสนใจ
“เรื่องราวไม่ใช่ว่าคุณหมอสงวนมาขอพบหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แต่เพราะพรรคไทยรักไทยต้องการเป็นพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้ประชาชนพิจารณา ตอนเราทำนโยบายก็ไม่มีใครรู้และไม่มีใครสนใจ ทุกคนมองข้ามว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งที่ ดร.ทักษิณ อยากจะลองทำการเมืองอีกครั้ง ผมจึงได้ขอนัดหมอสงวนและได้เจอกันที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ที่เป็นโรงแรมที่จัดประชุมของกระทรวงสาธารณสุขบ่อยมาก
“ผมได้ขอพบหมอสงวนตอนพักเบรก แล้วบอกว่าผมขอใช้เวลาสั้นๆ แล้วก็ถามไปตรงๆ ว่า พี่หงวน ชีวิตนี้พี่มีความฝันอะไรที่ยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่ได้ทำบ้าง ไม่ต้องคุยเรื่องจิปาถะ เล็กๆ น้อยๆ คุณหมอสงวนก็บอกว่ามีความฝันสองเรื่องที่ชีวิตนี้ต้องทำให้เสร็จ หนึ่ง จัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งในไทยก็มีการจัดตั้งเป็นรูปร่างแล้วในขณะนั้น อีกเรื่องที่หมอสงวนบอกว่าอยากทำ แต่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จไหมคือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หมอสงวนก็บอกว่าไปเสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรคแล้ว แต่ถ้าพรรคไทยรักไทยสนใจจะลองเสนอดูก็ได้ แต่น้ำเสียงคือไม่ได้คาดหวังว่าพรรคไทยรักไทยจะนำนโยบายนี้ไปทำได้ เพราะพรรคไทยรักไทยยังเป็นพรรคเล็ก ตอนที่รับรู้แนวคิดนี้ผมก็คิดว่าน่าสนใจ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนโดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีหลักประกัน จึงขอให้หมอสงวนสรุปไอเดียพอสังเขปเพื่อนำเสนอหัวหน้าพรรคไทยรักไทย”
’30 บาทรักษาทุกโรค’
แนวคิดของ นพ.สงวน ถูกถ่ายทอดต่อในคณะรัฐมนตรีเงาที่พรรคไทยรักไทยตั้งขึ้น คำบอกเล่าของ นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงทักษิณที่พูดขึ้นในที่ประชุมตอนนั้นว่า ระหว่างลงพื้นที่ก็พบภาพคนแน่นโรงพยาบาลเป็นเรื่องปกติ แต่ นพ.สุรพงษ์ บอกกลับไปว่ายังมีคนป่วยอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ ยังมีผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงที่ญาติพี่น้องต้องขายวัวขายที่มาจ่ายค่ารักษา และก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่มีทางออกต้องยอมตายอยู่ที่บ้าน นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลง
นั่นคือจุดเริ่มต้นการนัดพบกันระหว่าง นพ.สงวน และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่ง นพ.สุรพงษ์ ยังจำวันนั้นได้ดี มันคือวันที่ 24 ธันวาคม 2542
หลังจากใช้เวลานำเสนอประมาณ 40 นาที อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยพูดขึ้นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อทำเรื่องนี้ แต่ต้องศึกษาในแง่รายละเอียดว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ นพ.สุรพงษ์และ นพ.สงวนจึงต้องมาช่วยกันคิดต่อเพื่อสานความฝันนี้ให้เป็นจริง
“ในที่ประชุมนั้น ดร.ทักษิณพูดขึ้นมาคำหนึ่งที่ผมยังจำได้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี่ฟังยาก ไปบอกให้คนทั่วไปฟังคงไม่เข้าใจ ผมเองฟังก็ยังไม่เข้าใจ ต้องค่อยๆ ดูรายละเอียดที่นำเสนอ น่าจะพูดไปในทางว่า 15 บาทรักษาทุกโรค ชาวบ้านน่าจะเข้าใจมากกว่า” ก่อนที่วลีนี้จะแปรเปลี่ยน ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ในท้ายที่สุด
นพ.สุรพงษ์ เล่าต่อว่า หลังจากนั้นทางพรรคไทยรักไทยกลับไปทำการบ้านต่อและออกสำรวจความเห็นประชาชนถึงนโยบายที่ต้องการ นั่นคือช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งไม่นาน ประชาชนยังคิดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เรื่องสาธารณสุขตกไปอยู่อันดับท้ายๆ ของการสำรวจ เขาบอกว่าสิ่งนี้สะท้อนความคิดของประชาชนในขณะนั้นว่า ระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากกว่านี้อีกแล้ว ยอมรับสภาพ ยอมรับการล้มละลายจากการรักษาพยาบาล
“ผลสำรวจออกมาแบบนี้ทุกครั้ง สะท้อนว่าสิ่งที่ดีที่สุดอาจไม่ได้อยู่ในความคิดของคนทั่วไป เพราะมองไม่ออกว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ ดร.ทักษิณก็พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แม้ผลสำรวจจะเป็นแบบนั้นทุกครั้ง สมาชิกพรรคก็มาสารภาพทีหลังว่าตอนนั้นไม่เชื่อว่าทำได้ เป็นนโยบายขายฝัน ถึงเวลาก็ต้องลืมๆ ไป หรือแม้แต่ตอนติดป้ายหาเสียงที่ชูนโยบายหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี กองทุนหมู่บ้าน และ 30 บาทรักษาทุกโรค ป้ายหาเสียงจำนวนไม่น้อยลบคำว่า 30 บาทรักษาทุกโรคออกเพราะกลัวเป็นการผูกมัด เมื่อชาวบ้านทวงถามมาจะตอบไม่ได้
“ที่เล่ามาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ได้เกิดแค่ความคิดอยากจะทำ การผลักดันไปสู่การปฏิบัติมันยากตั้งแต่ตอนเริ่มต้นวางเป็นนโยบายของพรรค ตอนหาเสียงกับชาวบ้านหรือแม้แต่ตัว ส.ส. ก็ไม่เชื่อ แต่พอหาเสียงไปเรื่อยๆ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเริ่มคิดว่า ถ้าพรรคไทยรักไทยทำได้ก็อาจทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ยุคนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย พวกเราก็ไปติดป้ายเล็กๆ เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคกระจายไปเกือบทุกหมู่บ้านล่วงหน้าครึ่งปีก่อนจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ทำให้ชาวบ้านมองว่านี่คือนโยบายที่เราตั้งใจอยากทำ
กำเนิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“พอเริ่มหาเสียง ความเข้าใจก็มีมากขึ้น ผลการเลือกตั้งเมื่อ 6 มกราคม 2544 ทุกคนคาดว่าเราจะได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงพอสมควร แต่ไม่มีใครคิดว่าจะได้มากขนาด 248 เสียง เกือบครึ่งหนึ่งของสภา ทำให้เราสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งและนำไปสู่การดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้อย่างเต็มตัว ต้องยอมรับว่าหมอสงวนเป็นผู้ตกผลึกในด้านองค์ความรู้ แต่ถ้าพรรคไทยรักไทยไม่ชูว่าเราจะทำนโยบายเสนอต่อประชาชนอย่างจริงจัง และถ้าประชาชนไม่เลือกตัวแทนได้ถึง 248 ที่นั่ง 30 บาทรักษาทุกโรคอาจจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ก็ได้”
ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ทาง นพ.สงวน เอ็นจีโอ และภาคประชาชน ต่างระดมสรรพกำลังเผยแพร่แนวคิด ร่างกฎหมาย และล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาล 1 เดือนหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา การทดลองนำร่อง 30 บาทรักษาทุกโรคใน 6 จังหวัดก็เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 ก่อนจะเพิ่มเติมเป็น 21 จังหวัดในวันที่ 15 มิถุนายน 2544 และขยายจนครบทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ระหว่างนั้นกระบวนการจัดทำกฎหมายก็เดินหน้าไปด้วย การนำเสนอร่างกฎหมายให้สภารับหลักการในวาระแรกเกิดขึ้นหลังจากที่ทุกฝ่ายเห็นภาพแล้วว่า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นอย่างไร
หลังนำเสนอเสร็จ ที่ประชุมสภารับหลักการ นพ.สุรพงษ์ เล่าถึงปรากฏการณ์สำคัญครั้งนั้นว่า เป็นการโหวตรับหลักการในวาระแรกที่ได้รับเสียงเป็นเอกฉันท์ ไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว แม้แต่ประธานในที่ประชุมก็สนับสนุน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภามักจะสงวนสิทธิ์ไม่ออกเสียง
“แต่ที่ลำบากคือช่วงนำร่อง 6-7 เดือนแรกที่คนไม่รู้ว่ารูปธรรมมันเป็นอย่างไร ก็ได้รับเสียงเยาะเย้ยถากถางมากมาย เช่น 30 บาทตายทุกโรค พอมีใครเจ็บป่วยตายก็จะโทษว่าเกิดจาก 30 บาทรักษาทุกโรค อาจจะโชคดีที่ตอนนั้นโซเชียลมีเดียไม่แข็งแรงแบบนี้ ถ้าโซเชียลมีเดียแข็งแรงแบบทุกวันนี้ ผมกับหมอสงวนคงอัดอั้นใจมากพอสมควรเพราะถูกถล่มทุกวัน แต่พอผ่านไป 7-8 เดือน ทุกคนรู้ว่ารูปธรรมเป็นแบบนี้ ตอนนำเสนอกฎหมายก็ไม่มีเสียงค้าน”
ยืนระยะ
การเริ่มต้นสิ่งใหม่ถือเป็นเรื่องยาก แต่การยืนระยะต่างหากเป็นสิ่งที่ยากเย็นกว่า นพ.สุรพงษ์ ยอมรับว่า จริง
“อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนในบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนว่า ถ้าไม่รีบทำก็ไม่ได้ทำ ตอนที่เริ่มทำมีแนวคิดหลากหลาย นักวิชาการจำนวนหนึ่งบอกว่าอย่าเพิ่งรีบทำ ต้องละเอียด ประณีต ใช้เวลา 2 ปีจึงทำให้จบ ผมซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง ฝ่ายนโยบายก็มองว่า 2 ปีน่าจะช้าเกินไปสำหรับสิ่งที่เราบอกว่าจะเป็นนโยบายเร่งด่วนและจะรีบทำให้จบ
“ผมเคยอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน รู้ว่าโดยองคาพยพแล้ว การจัดสรรงบประมาณไม่น่าจะใช้เวลานานมาก ถ้ามีงบประมาณประจำปีแล้ว 1 ปีก็ควรทำให้จบ ผมก็ตั้งเป้าไว้ 1 ปี แต่เราก็ทำได้เร็วกว่านั้น ต้องยกให้เป็นเครดิตของปลัดกระทรวงสาธารณสุขตอนนั้นคือ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นปัจจัยที่ประจวบเหมาะกับความตั้งใจจากฝ่ายนโยบาย นายกฯ และรัฐมนตรีที่นำเสนอนโยบายต่อประชาชน มีองค์ความรู้จากหมอสงวน ภาคประชาชนสนับสนุนในเชิงการเคลื่อนไหวทางสังคม ฝ่ายข้าราชการประจำก็มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จริงจัง นำหน้า ฟันธงการนำเสนอให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว หมอมงคลบอกกับเราตอนที่พวกเรารับตำแหน่งว่า เขาสนับสนุนนโยบายนี้เต็มที่ เราเดินหน้ากันเต็มตัว และทุกองคาพยพในกระทรวงสาธารณสุขก็เดินหน้ากันเต็มตัวจริงๆ จนจบภายในวันที่ 1 ตุลาคม วันที่หมอมงคลเกษียณพอดี บทบาทฝ่ายข้าราชการประจำสำคัญมาก ถ้าปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนไหนที่ไม่สนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือว่าอันตรายมาก”
ประเด็นนี้ทำให้ นพ.สุรพงษ์ สรุปได้ข้อหนึ่งว่า บทบาทของฝ่ายข้าราชการประจำมีความสำคัญมาก แนวคิดของปลัดกระทรวงในแต่ละยุคมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบาย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เช่นกัน มันเป็นการต่อสู้ของ 2 แนวความคิดระหว่างความคิดที่ว่าหลักประกันสุขภาะถ้วนหน้าเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนกับแนวคิดที่ว่ารัฐควรช่วยคนยากจนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่องบประมาณและต่อโรงพยาบาล
บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน
บุญยืน ศิริธรรม: ประวัติศาสตร์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคประชาชน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล: ภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือการที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน
นิมิตร์ เทียนอุดม: “เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม” กับปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพฯ
เสนอ 2 ประเด็นช่วยพัฒนาระบบ
บทสนทนานำไปสู่ข้อโจมตีสำคัญที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยอัตโนมัติที่ว่า มันทำให้โรงพยาบาลขาดทุน นพ.สุรพงษ์ อธิบายเบื้องต้นว่าการคิดกำไร-ขาดทุนกับเรื่องสุขภาพของประชาชนก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผิด ประเด็นต่อมา การที่โรงพยาบาลขาดทุนหมายความว่ารายรับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีอาจน้อยกว่ารายจ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายไปกับการรักษาพยาบาล
“คำถามก็คือ ถ้าเงินมันน้อยจริงๆ มันควรมีภาวะขาดทุนทุกแห่ง แต่ทำไมมีโรงพยาบาลบางแห่งที่อยู่ได้ อย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่เป็นองค์การมหาชน ทำงานมา 16 ปี ขาดทุนปีเดียว ปีล่าสุดมีกำไร 60 กว่าล้านบาทจากรายได้ 1,000 ล้านบาท ทำไมบ้านแพ้วไม่ขาดทุนทั้งที่ไม่ต่างจากโรงพยาบาลหลายแห่ง คืออยู่ในเมือง มีประชากรที่ต้องดูแลไม่เยอะมาก มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วไม่ขาดทุน
“ผมเสนอว่า มันต้องไล่ดูรายรับ-รายจ่ายทุกโรงพยาบาล แล้วหาข้อมูลสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลากหลาย ไม่ได้เกิดจากปัจจัยหนึ่งเดียว บางโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาของตัวเอง ต่อให้พยายามแก้ไขอย่างไรก็ประสบภาวะขาดทุน เช่น โรงพยาบาลอุ้มผางที่จังหวัดตาก เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะสนับสนุนอย่างไร ผมจึงพยายามเชียร์ว่าแต่ละโรงพยาบาลควรทำงบดุลของตัวเองเหมือนงบดุลของบริษัท ที่ต้องมีกำไร-ขาดทุนประจำปี ทำอย่างโปร่งใส ให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถไล่ดูว่ารายรับ รายจ่ายที่ไม่สมดุลกัน อยู่ตรงไหน ถ้าเราพัฒนาศักยภาพเต็มที่แล้วและรายรับยังน้อยกว่ารายจ่ายก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องต่อสู้ของบประมาณให้ได้เพิ่มมา”
ในฐานะผู้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นพ.สุรพงษ์ แสดงทัศนะว่า มีอย่างน้อย 2 เรื่องที่ตัวระบบควรพัฒนาไปให้ถึง หนึ่งคือการทำให้เกิดโรงพยาบาลในลักษณะองค์การมหาชนแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้วซึ่งผูกโยงกับการกระจายอำนาจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาลอย่างแท้จริง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลควรผ่านการคัดสรรโดยคนในพื้นที่ที่เป็นผู้รับบริการ
ประการที่ 2 เพื่อความยั่งยืนและการพัฒนาทางการแพทย์ นพ.สุรพงษ์ตั้งคำถามว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังจะลงทุน 3.4 ล้านล้านบาทกับโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลเคยคิดจะลงทุนกับระบบสุขภาพครั้งใหญ่หรือไม่
“โรงพยาบาลทุกวันนี้มีตึกน้อย ประชาชนมารักษาพยาบาลบางทีต้องมานอนแออัด ก็สร้างตึกเพิ่มได้ ถ้าเราลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือให้เพียงพอในโรงพยาบาลทุกระดับทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอ จะใช้เงินเท่าไหร่
“นอกจากนี้ เรายังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ ปัญหาการกระจุกและกระจายตัวของแพทย์ โดยรวมแล้วจำนวนแพทย์ต่อประชากรยังน้อยอยู่ ควรมีแพทย์และพยาบาลมากกว่านี้ไหม มันเคยมีความเชื่อหนึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนว่าผลิตแพทย์มากไม่ได้ เดี๋ยวตกงาน เพราะในบางประเทศแพทย์ต้องไปขับแท็กซี่เพราะไม่มีงานทำ ในวันนี้ อาชีพแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ยังคงรุ่ง โอกาสที่โซเชียลมีเดีย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมาแย่งงานไม่มี โอกาสที่หุ่นยนต์จะมาแทนที่ก็ยังไม่ชัด อาจจะได้เฉพาะหุ่นช่วยผ่าตัด แต่การมีแพทย์ที่มีทั้งความเข้าใจผู้ป่วยไม่ใช่อะไรที่หุ่นยนต์ทำแทนได้ ดังนั้น ควรส่งเสริมให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มผลิตแพทย์เพิ่มได้แล้ว ถ้าเพิ่มปีหนึ่งสักพันคน เราก็จะมีแพทย์เพิ่มเข้ามาช่วยในการดูแล
“ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุยิ่งอยู่นานก็มีโอกาสจะเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น และแต่ละโรคก็มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน ถ้าลงทุนตรงนี้สักแสนถึงสองแสนล้านผมเชื่อว่าคุ้มกว่าการลงทุน 3.4 ล้านล้านบาทมากมาย”
ภัยคุกคามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
คำถามที่เลี่ยงไม่ได้-อะไรคือภัยคุกคามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวลานี้
“ผมเชื่อว่าปัญหาใหญ่ที่คุกคามคือการทำให้ทุกคนมีความเข้าใจว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือสิ่งที่ดีที่สุดในสังคมที่มีอยู่ในตอนนี้ เราต้องมีความศรัทธา เราต้องทำให้การบอกว่าไม่ต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องถูกต่อว่า ต้องเป็นสิ่งที่ผิด ถ้าผ่านตรงนี้ไปได้ อุปสรรคทุกอย่างแก้ได้หมด วันนี้มีงบประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าต้องจัดสรรเพิ่มอีกหนึ่งถึงสองหมื่นล้านบาท แล้วไปประหยัดที่อื่น ถามว่าคุ้มไหม ยิ่งกว่าคุ้มครับสำหรับสุขภาพของคน”
แน่นอนว่าประเด็นนี้เลี่ยงยากที่จะไม่แตะรัฐบาล นับตั้งแต่ระดับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจนถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่กำลังดำเนินการอยู่ มันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคลอนแคลน นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า หากทิศทางการเมืองในอนาคตยิ่งมีการรวมศูนย์มากขึ้น ก็น่าวิตกว่าระบบจะไม่คงทน ดังนั้น การกระจายอำนาจจึงเป็นคำตอบในการพัฒนาประเทศมากกว่า
“ผมต้องเรียนว่า คนจำนวนหนึ่ง แม้แต่ในวงการสาธารสุขก็เชื่อว่าการมีอำนาจที่เข้มแข็งจะนำไปสู่การปฏิรูป บางคนถึงกับบอกว่า ทุกครั้งที่มีอำนาจที่เข้มแข็งเข้ามา จะมีการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขทุกครั้ง คราวนี้ผมเชื่อว่าเริ่มไม่มั่นใจว่าจะเป็นอย่างนั้นได้อีกต่อไปแล้ว ผมยังมีความรู้สึกว่า การส่งเสริมให้คนมีโอกาสเข้ามาร่วมทำงานเพื่อบ้านเมืองโดยผ่านเส้นทางประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ไม่มีทางลัดสำหรับประชาธิปไตย ไม่มีอัศวินม้าขาวหรอก ต้องทำให้ระบบมันเดินหน้าไปด้วยการพยายามให้ทุกคนเข้าไปช่วยเหลือให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”
นพ.สุรพงษ์ ปิดท้ายบทสนทนาว่า
“ถ้าเราคิดว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิ เป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประเทศแรกและกลายเป็นแบบอย่าง ได้รับการศึกษาจากทั้งองค์การอนามัยโลก นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เราต้องมีศรัทธาว่านโยบายนี้เรามาถูกทางแล้ว ทำได้ก่อนคนอื่นแล้ว การที่เราจะถอยหลังกลับไป ผมว่าเป็นความน่าอับอาย ถ้าบอกว่าเรามีข้อจำกัดบางอย่าง ก็ต้องกลับมาดูว่าจะฝ่าฟันข้อจำกัดไปอย่างไร ไม่ใช่ย้อนกลับมาถามคำถามเชิงหลักการว่าเราควรจะทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไปหรือไม่”
[full-post]
แสดงความคิดเห็น