Posted: 21 Dec 2017 12:09 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อัยการขอตัดกระบวนการตรวจพยานหลักฐาน อ้างเหตุผลเรื่องความรวดเร็วขณะที่ทนายยืนยันว่าเป็นสิทธิของจำเลย ไผ่จบการศึกษา พ่อแม่สวมครุยบัณฑิตให้หน้าศาล ขณะที่ไนท์ ดาวดิน 1 ใน 8 จำเลยถูกอายัดตัวคดีชูป้ายค้านรัฐประหาร 1 ปี เพื่อนระดมเงินหมื่นวางประกัน เสธพีทคนดังแขวะโรมหนีหมายจับ ถูกสวน เจอหน้าคุยกันบ่อยทำไมถึงไม่ทำการจับกุม

21 ธันวาคม 2560 เวลาประมาณ 09.30 ศาลได้นัดสอบคำให้การจำเลย คดีงานเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ที่จัดขึ้นโดย ขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ร่วมกับกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ที่ศาลาจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 2559 ในกิจกรรมได้มีการเสวนาอภิปรายในประเด็นรัฐธรรมนูญ คสช.และวิพากษ์วิจารณ์การทำประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ว่าขาดความชอบธรรม โดยมีนักวิชาการอาทิ ปิยบุตร แสงกนกกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ร่วมอภิปราย หลังจากนั้น ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วม ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนได้ถูกดำเนินคดีเบื้องต้นเป็นจำนวน 11 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. แต่มีผู้ต้องหา 2 ราย ยอมเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติจึงถูกยกเลิกการดำเนินคดี และอีก 1 ราย คือ นายรังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมนักศึกษาปริญญาโทนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ระบุว่าตนไม่ได้รับหมายเรียกให้มารายงานตัวตั้งแต่ชั้นพนักงานสืบสวนจนถึงปัจจุบัน

เวลาประมาณ 10.00 น. องค์คณะตุลาการศาลทหารจึงได้ออกนั่งพิจารณาคดี โดยศาลได้ถามคำให้การจำเลยทั้ง 8 ราย ว่าจะสู้คดีหรือไม่ จำเลยทั้ง 8 ราย ยืนยันขอต่อสู้คดี และได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือ จากนั้นศาลถามทนายความจำเลยว่าติดใจจะตรวจพยานหลักฐานก่อนสืบพยานโจทก์หรือไม่ ทนายจำเลย แถลงต่อศาลว่าขอตรวจพยานหลักฐานก่อน แต่ พท.สะอาด จากนอก อัยการทหารแถลงคัดค้านว่า ขอให้สืบพยานเลยโดยตัดการตรวจพยานหลักฐานออกไป เนื่องจากเกรงว่าคดีจะล่าช้า และจะมีข้อโต้แย้งจากจำเลยที่ 1 (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ว่าขังจำเลยเกินกำหนดอีก ด้าน น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายจำเลยได้กล่าวยืนยันว่าการตรวจพยานหลักฐานเป็นสิทธิของจำเลย ศาลมีคำสั่งให้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนที่จะมีการสืบพยาน โดยนัดหมายครั้งต่อไปในวันที่ 23 มีนาคม 2561 เวลา 0830 น.

ในส่วนคำให้การที่เป็นหนังสือของจำเลย มีใจความว่า การกระทำของจตุภัทร์, ณรงฤทธิ์, ฉัตรมงคล, ณัฐพร, ภานุพงศ์, และ นายชาดไท ในกิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. 2559 เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)และในส่วนของ ดวงทิพย์ และนีรนุช เป็นผู้ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม

นอกจากนี้ ทั้ง 8 คน ยังเห็นว่า การกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เนื่องจากคำสั่งฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่การกระทำในคดีนี้ ไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือมุ่งกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” ซึ่งเป็นการแสดงออกตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้มีความเห็นต่อเหตุผลของอัยการทหารในเรื่องความล่าช้าในการดำเนินคดีจึงขอให้ตัดกระบวนการนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปว่า "โดยทั่วไปความล่าช้าที่เกิดขึ้นในศาลทหารเกิดจากระบบวันนัดสืบพยานของศาลที่ไม่สามารถนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องได้ วันนัดสืบพยานวันหนึ่งมักสืบพยานได้เพียงคนเดียวในครึ่งวันเช้า และแทบไม่มีการสืบพยานต่อในครึ่งบ่าย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่อัยการไม่สามารถติดตามพยานมาศาลได้ในวันนัด ทำให้คดีต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเรื่อยๆ กว่าจะนัดสืบพยานนัดต่อไปได้อาจต้องรออีกอย่างน้อยหนึ่งเดือน ต่างจากระบบศาลยุติธรรมที่นัดสืบพยานต่อเนื่อง สืบพยานได้หลายคนในหนึ่งวัน และศาลเข้มงวดให้คู่ความติดตามพยานมาเบิกความต่อศาล


บรรยากาศการพิจารณาคดีในวันนี้มีประชาชนประมาณ 50 คน มาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีและร่วมแสดงความยินดีกับ ‘ไผ่ ดาวดิน’หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็นบัญฑิตใหม่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนายวิบูลย์และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา ได้นำชุดครุยมาสวมให้กับบุตรชายบริเวณหน้าศาลทหาร



ขณะเดียวกัน อัยการทหารได้ทำการอายัดตัวนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ ไนท์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน อายุ 22 ปี (จำเลยที่ 4) ขณะสืบคำให้การจำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพว่ามีหมายจับตามข้อกล่าวหาชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร โดยเหตุเกิดในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ซึ่งคดีนี้ได้มีนักกิจกรรม นศ.ถูกแจ้งความเอาผิดทั้งสิ้น 7 คน โดยมีไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นจำเลยที่ 1 ที่ถูกควบคุมตัวจากคดีแชร์ข่าว บีบีซีไทย จึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเพียงคนเดียว สำหรับนักกิจกรรมส่วนที่เหลือ เจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังอยู่ในระหว่างการติดตามตัว ส่วนนายภานุพงศ์ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยคดีชูป้ายจึงได้ถูกทางอัยการขออายัดตัว

จากนั้นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ทำคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่ทางกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมได้รวบรวมเงินเพื่อเตรียมยื่นขอประกันตัว ในช่วงบ่ายหลังจากที่เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายภานุพงศ์ไปขังที่เรือนจำแล้ว ศาลจึงได้มีคำสั่งให้ประกันตัวนายภานุพงศ์โดยใช้เงินสด 10,000 บาท และเมื่อเวลา 16.50 น.ภานุพงศ์จึงได้รับการปล่อยตัวที่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ขอนแก่น

ในขณะเดียวกัน พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าฝ่ายข่าว กกล.รส.จว.ขอนแก่น ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ได้มีการออกหมายจับนายรังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวนี้ไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อดำเนินการจับกุมตัว ตามความผิดร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จากการจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 นั้น นายรังสิมันต์ โรมกล่าวว่าตนไม่ได้หลบหนีไปไหน ยังคงใช้ชีวิตอยู่ตามปกติ แต่ก็ไม่เคยได้รับแม้แต่หมายเรียกจากเจ้าพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด โดยส่วนตัวต้องการให้การแจ้งความเอาผิดเป็นไปตามกระบวนการ สำหรับกรณีที่ พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนเข้าใจว่าต้องการดิสเครดิตตนและกลุ่มนักกิจกรรม รังสิมันต์กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีกรณี ไผ่ จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัว เขาก็เดินทางไปเยี่ยมไผ่ที่ศาลหลายครั้ง และส่วนใหญ่ก็ได้พบและทักทายกับ พ.อ.พิทักษ์พล แต่ก็ไม่เห็นว่า พ.อ.พิทักษ์พล จะได้ดำเนินการจับกุมแต่อย่างไร

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า "การให้ข่าวที่ไม่เป็นจริงและส่อเจตนาไปในทางสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงอาจเกิดจากที่ ก่อนหน้านี้ผมได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ พ.อ.พิทักษ์พล ในกรณีการปิดถนนมิตรภาพจัดงานแต่งงานบนเฟสบุ๊ค มีคนแชร์ไปและคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก จึงเข้าใจว่า เสธ.ฯคนดังเมืองขอนแก่นคงจะผูกใจเจ็บ"

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.