Posted: 22 Dec 2017 02:49 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ในยุคข้อมูลข่าวสาวท่วมท้น บางประเด็นเกิดขึ้นมาแล้วหายไปกับกระแสโซเชียล กองบรรณาธิการประชาไทคัดสรร 20 ประเด็นข่าวที่คิดว่ามีนัยสำคัญของปี 2560 มานำเสนอ เพื่อชวนทบทวนและมองไปข้างหน้ากับปีใหม่ที่จะถึงนี้
หมุดคณะราษฎร-หมุดหน้าใส ความทรงจำที่ถูกลบและความทรงจำที่ถูกสร้างใหม่

กรณีการหายไปของ ‘หมุดคณะราษฎร’ และถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นำมาสู่การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นฝีมือของใครและมีวัตถุประสงค์อย่างไร ซึ่งก็ไม่ยังมีคำตอบ แต่ผู้ที่เรียกร้องและทวงถามกลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม ทั้งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม บางรายครอบครัวถูกกดดัน บางรายถูกเจ้าหน้าที่ไปหาแม่ที่ที่ทำงานเพื่อเก็บข้อมูลส่วนตัว บางวงเสวนาถูกเจ้าหน้าที่สั่งงด ไปจนถึงการควบคุมตัว ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นักเคลื่อนไหวทางสังคม หลังไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบการเปลี่ยนหมุดฯ การคุมตัวนักกิจกรรมและอดีตนักโทษการเมืองอย่าง เอกชัย หงส์กังวาน เข้าค่ายทหาร หลังประกาศจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองกลับไปติดที่เดิม หรือการเอาผิดทางกฎหมาย อย่างที่วัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทย ถูกดำเนินคดี ด้วยข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ว่าหมุดดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุ

มีการวิเคราะห์ว่า การหายไปของหมุดคณะราษฎร อันเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นประชาธิปไตยไทยและการปรากฏหมุดหน้าใสคือการพยายามลบล้างประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ของคณะราษฎร บ้างก็ว่าหมุดหน้าใสคือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ เขียนไว้ในบทความ 'หมุดหาย อะไรโผล่' เห็นแย้งแนวคิดดังกล่าวข้างต้นว่า โอกาสที่จะเกิดเช่นนั้น เป็นไปได้ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เอาเลย เหตุผลก็เพราะว่า เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มไปแล้ว ก็ไม่พบในสังคมใดเลยว่า ระบอบนี้จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ใหม่ แต่ไม่จำเป็นว่าการโค่นล้มของระบอบนี้จะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตย ในหลายต่อหลายครั้งมักนำมาซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์มากกว่า พร้อมชี้ว่า หมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ไม่ใช่การสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ เมื่อเอาหมุดนั้นออกไป ก็ไม่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ฟื้นคืนชีพขึ้นได้ ตรงกันข้าม เพื่อให้หมุดนั้นสูญหายไปชั่วนิรันดร์อย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีก กลับทำให้ต้องพึ่งพิงสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลมากขึ้น จนทำให้สมบูรณาญาสิทธิ์นายพลเริ่มมีความชอบธรรมในตัวเอง



หมุดคณะราษฎรถูกรื้อถอน พบหมุดใหม่ “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” มาฝังแทนที่
เปิดภาพจากจุดเช็คอินลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนหมุดคณะราษฎรหาย
นิธิ เอียวศรีวงศ์: หมุดหาย อะไรโผล่
รวมกรณีการถูกคุกคามก่อนหน้าวันครบรอบ 85 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์กับ 'ธำรงศักดิ์': หมุดคณะราษฎร ‘เสี้ยน’ ที่บ่งไม่ออก (สักที)



โรดแมปยืดได้หดได้และภาวะรัฐธรรมนูญคู่ 2560+ม.44

หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ 6 เมษายน 2560 (อ่านเพิ่มเติม) นับเป็นเวลา 8 เดือนหลังการลงประชามติ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าประเทศจะกลับสู่ประชาธิปไตยในเร็ววัน ตรงกันข้ามสำหรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นการต่ออายุรัฐบาลทหารไปได้อีกหลายอึดใจ โดยเมื่อพิจารณาโรดแมปและเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ 2560 คสช. จะมีเวลาถึง 19 เดือน ในการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ โดยวันเลือกตั้งช้าสุดคือเดือนพฤศจิกายน 2561 สอดคล้องกับข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

อย่างไรก็ตาม โรดแมปเลือกตั้งอาจขยับได้อีก หากหัวหน้า คสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำตามข้อเสนอของไพบูลย์ นิติตะวัน คณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ที่เสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 ที่ทำให้พรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งใหม่เสียเปรียบพรรคเก่าเพราะต้องหาสมาชิกพรรคและชำระค่าบำรุงพรรค โดยหากมีการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็ต้องยืดโรดแมปไปอีก 2 เดือน

ข้อที่ต้องคำนึงอีกก็คือ แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแมป แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่มีการประกาศใช้ก็มีเนื้อหาต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 อยู่ถึง 8 มาตรา ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้

โดยเนื้อหาที่มีการแก้ไขคือ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 ตามคำถามพ่วงในการลงประชามติ เปิดทางให้วุฒิสภาชุดแรกจากการแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้มีการแก้ไขอีก 7 มาตรา ตัดเรื่ององค์กรแก้วิกฤต และเรื่องคุณสมบัติองคมนตรี อำนาจการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ไม่กำหนดให้ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก และเรื่องผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

นอกจากนี้ยังเกิดภาวะที่ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์เคยเสนอว่าเป็น "ภาวะรัฐธรรมนูญคู่" เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ยังให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อไป รวมถึงคงประกาศและคำสั่ง คสช.ก่อนหน้าไว้ด้วย ภาวะนี้เองอาจทำให้กระบวนการเลือกตั้ง หรือโรดแมปถูกเลื่อนได้เสมอ โดยการใช้มาตรา 44 หรือสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ 2560 อาจถูกละเมิดได้เสมอ ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีจริงเพราะมาตรา 44 ใหญ่กว่าตัวรัฐธรรมนูญ 2560

โดยปิยบุตรเคยเสนอว่า 'รัฐธรรมนูญคู่' ในอนาคตจะนำมาสู่ 'รัฐบาลคู่' ถ้ามีการเลือกตั้งตามโรดแมปในปีหน้า ก็จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และพร้อมกันนั้นก็จะมีรัฐบาลที่เป็นกลไกที่ คสช. ครอบงำไว้และถูกทำให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญ (Constitutionalized) ฝังเอาไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เกิดภาวะ 2 รัฐบาลคู่ขนานกัน โดยรัฐบาลตัวหลังจะฝังเข้าไปผ่านกระบวนการ เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 16 เรื่องการปฏิรูปประเทศ ที่บังคับรัฐบาลชุดต่อไปทำตามแผนการปฏิรูปประเทศที่ คสช. และพรรคพวกทิ้งเอาไว้ หากไม่ทำก็จะมีโทษ เพื่อไปจากสถานการณ์เหล่านี้ ปิยบุตรเสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ได้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะถูกออกแบบให้แก้ได้ยากมากๆ ก็ตาม





รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ 8 มาตราจากร่างฯประชามติ-ตัดองค์กรแก้วิกฤต-เพิ่มส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ
โรดแมปเลือกตั้ง-ไหนบอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน”
ปิยบุตร แสงกนกกุล: ภาวะรัฐธรรมนูญคู่ 2560+มาตรา 44 ข้อเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560


‘บัตรคนจน’ จากสวัสดิการถ้วนหน้าสู่สังคมสงเคราะห์?

โครงการประชารัฐสวัสดิการการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันว่า ‘บัตรคนจน’ ของรัฐบาล คสช. มีประชาชนซึ่งลงทะเบียนไว้กว่า 11 ล้านคนที่ได้รับบัตรดังกล่าว พร้อม 2 สิทธิพิเศษคือ มาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งมาตรการหลังเป็นการเปลี่ยนจากการไม่ต่ออายุมาตรการรถเมล์และรถไฟฟรีที่ให้แก่ประชาชนทุกคน มาเป็นการช่วยเหลือเฉพาะผู้มีบัตรดังกล่าว

ข้อวิพากษ์วิจารณ์หนึ่งของ ‘บัตรคนจน’ คือข้อกังวลว่านี่คือการนำร่องเพื่อบ่อนทำลายแนวคิด ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่วางบนฐานความคิดว่าทุกคนในสังคมไม่ว่าจะยากดีมีจนมีความเท่าเทียมกันและต้องสามารถเข้าถึงสิทธิของตนได้ โดยรัฐต้องเป็นผู้จัดสรรให้ ไปสู่ ‘รัฐสังคมสงเคราะห์’ หรือการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ข้ออ้างหนึ่งที่รัฐใช้กับนโยบายนี้คือวาทกรรมว่าคนรวยแอบมาใช้สวัสดิการดังกล่าว ซึ่งนอกจากเชิงแนวคิดจะมีปัญหาแล้ว ในเชิงเทคนิคก็ยังมีปัญหาด้วย ดังที่สมชัย จิตสุชน นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ วิจารณ์ช่องโหว่ของนโยบายดังกล่าวในบทความ ‘จนไม่จด คนจดกลับไม่จน’ พร้อมเสนอว่าการทำให้เป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าเป็นวิธีที่ช่วยเหลือประชาชนได้ผลที่สุดที่จะทำให้ช่วยเหลือคนจนได้โดยไม่ตกหล่น พร้อมโต้วาทกรรมคนรวยแอบมาใช้สวัสดิการด้วยว่า รวยจริงๆ คงไม่มาใช้ ยกเว้นแต่ชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม หากจะรั่วไหลก็ยังดีกว่าช่วยได้ไม่ทั่วถึง



นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ช่องโหว่นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ‘จนไม่จด คนจดกลับไม่จน’
จาตุรนต์ ฉายแสง: 'บัตรคนจน' อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่เป็นอยู่
'ศรีสุวรรณ' จี้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจน
TCIJ : ทำไมต้องมี ‘บัตรคนจน’? หวั่นซ้ำซ้อน-ซ้ำรอยปัญหา ‘บปช.สมาร์ทการ์ด’



เมื่อ ‘พี่ตูน’ ออกวิ่งกับคำถามที่ตามมา

‘พี่ตูน’ กับโปรเจกต์ ‘ก้าวคนละก้าว’ เป็นปรากฏการณ์การระดมทุนที่ถูกพูดถึง เป็นที่จับตา และก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เมื่ออาทิตวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม ออกวิ่งระดมทุนอีกครั้งเพื่อบริจาคให้แก่โรงพยาบาล 11 แห่ง ด้วยระยะทาง 2,191 กิโลเมตรจากเบตงถึงแม่สาย ณ เวลานี้ยอดเงินบริจาคทะลุ 700 ล้านบาทไปแล้ว

อีกด้านหนึ่ง การวิ่งเพื่อระดมเงินบริจาคได้จุดประเด็นถกเถียงหลากหลาย อาทิ การลงมือทำเท่าที่ทำได้ของคนคนหนึ่ง การตอบโต้คนที่ออกมาวิจารณ์ตัวอาทิวราห์ การบริจาคซึ่งสะท้อนลักษณะบางประการของสังคมไทยเช่นครั้งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนหรือไม่ เป็นต้น ทว่า จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ละก้าวที่ตุูน บอดี้สแลม วิ่งออกไปได้ผลักคำถามที่หนักหน่วงที่สุดไปยังรัฐบาลต่อการจัดสรรและจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณ ทำไมการซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหมโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาไปรบกับใครจึงสำคัญกว่าการดูแลสุขภาพของประชาชน ทำไมโรงพยาบาลยังขาดแคลนงบประมาณ แต่กระทรวงกลาโหมกลับได้รับงบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุขเกือบเท่าตัว หรือเพียงเจียดงบประมาณกระทรวงกลาโหมเพียง 1 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท จะได้เงินบริจาคเท่ากับตูน บอดี้สแลมวิ่ง 3 ครั้ง แต่เหตุใดสิ่งนี้จึงไม่เกิดขึ้น

ตรงกันข้าม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลคนไทย 40 กว่าล้านคนกลับถูกบ่อนทำลายจากรัฐบาลและกลุ่มคนที่ไม่พึงพอใจระบบหลักประกันฯ อย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังห้อยโหนกระแสการวิ่งของตูน บอดี้สแลมว่าเป็นสิ่งที่คนไทยควรเอาเป็นแบบอย่าง และละเลยความกังขาของประชาชนที่ว่า คสช. กำลังเปลี่ยนรัฐสวัสดิการไปสู่การเป็นรัฐสังคมสงเคราะห์หรือไม่



อีกกี่ ‘ก้าว’ จะถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (1) “เขาไม่เคยเชื่อว่าหลักประกันสุขภาพดีกับประชาชน”
อีกกี่ ‘ก้าว’ จะถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (2) เธอแช่งให้คน 5 คนต้องตาย
อีกกี่ ‘ก้าว’ จะถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (จบ) ระบบสวัสดิการทำให้ไม่สูญเสียความเป็นคน
บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน




‘สิทธิมนุษยชน’ วาระแห่งชาติจากปากกระบอกปืน

21 พ.ย. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและประกาศให้สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อนำไปสู่สังคมสันติสุข โดยมีกลยุทธ์ 4 สร้าง 3 ปรับปรุง 2 ขับเคลื่อน และ 1 ลด

4 สร้างคือการสร้างจิตสำนึกในการเคารพสิทธิผู้อื่น สร้างระบบการติดตามการละเมิดสิทธิ สร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน และสร้างเสริมการพัฒนาเครือข่ายทุกภาคส่วน 3 ปรับปรุงคือการปรับปรุงฐานข้อมูลและสถานการณ์การละเมิดสิทธิ การปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ และการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย 2 ขับเคลื่อนคือการขับเคลื่อนองค์กรหรือจังหวัดต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน การขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสู่การปฏิบัติ และ 1 ลดคือการลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม

เรียกว่าทำเอาผู้คนงงกันทั้งประเทศ เมื่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จับกุม ดำเนินคดีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ดำเนินคดีประชาชนในศาลทหาร ออกคำสั่งให้บุคคลไปรายงานตัวและปรับทัศนคติในค่ายทหาร ฯลฯ แต่กลับประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และหลังประกาศเพียง 7 วัน รัฐก็สลายการชุมนุมของชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและจับกุมดำเนินคดีชาวบ้าน 15 ราย นี่คงเป็นความย้อนแย้งแบบไทยๆ ที่ไม่มีที่ใดในโลกเสมอเหมือน



ครม.ประกาศ 'สิทธิมนุษยชน' ร่วมเคลื่อน Thailand 4.0 เป็นวาระแห่งชาติ
ไหนว่าเป็นวาระแห่งชาติ 102 นักวิชาการใต้ ร้องปล่อย 16 ค้านโรงไฟฟ้าเทพาทันที
ใบตองแห้ง: รถคันนี้มีสิทธิมนุษยชน


‘แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม’ ทางด่วนพิเศษเอื้อรัฐและทุน?

สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยเฉพาะหมวดว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โดยอ้างว่าเพื่อให้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่ภาคประชาชนและเอ็นจีโอที่ติดตามเรื่องนี้คิดว่า เบื้องหลังจริงๆ คือการมุ่งอำนวยความสะดวกแก่โครงการพัฒนาต่างๆ ที่ภาครัฐและเอกชนกำลังเร่งผลักดัน เพราะมีการยัดไส้คำสั่งตามมาตรา 44 ลงไปในกฎหมายที่เปิดช่องให้เริ่มดำเนินโครงการไปก่อนได้โดยที่อีไอเอยังไม่แล้วเสร็จ

ประเด็นอีไอเอเป็นปัญหามาตลอด 25 ปี เมื่อมันกลายเป็นตราประทับความชอบธรรมให้กับโครงการต่างๆ มากกว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ การแก้ไขเนื้อหาในลักษณะนี้กลับจะยิ่งสร้างความขัดแย้งในอนาคตและไม่ได้มุ่งปกป้องสิ่งแวดล้อมตามชื่อกฎหมาย เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนประกาศคัดค้านร่างแก้ไขฉบับนี้ ทั้งเห็นว่าหากจะแก้ไขต้องแก้ทั้งฉบับ นำเนื้อหาของภาคประชาชนและภาควิชาการที่เคยทำการสังเคราะห์ วิเคราะห์ปัญหา และข้อเสนอบรรจุลงในกฎหมายด้วย ซึ่งที่ผ่านมาถูกเมินเฉยมาโดยตลอด

กระทั่งนำไปสู่การชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ทำเนียบรัฐบาลบริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ก่อนจะยุติลงในวันที่ 7 พร้อมกับประกาศว่าจะกลับมาในอีก 1 เดือนข้างหน้าพร้อม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายสิ่งแวดล้อมประกบกับร่างกฎหมายของรัฐบาล คาดว่ากรณีนี้จะเป็นปมใหญ่ที่ต้องติดตามต่อในปีหน้าที่จะถึงนี้


เครือข่ายปชช. จี้หยุดเดินหน้าร่างกม.สิ่งแวดล้อม ชี้ยัดคำสั่ง คสช.ในกม.-อีไอเอมีปัญหา
เครือข่าย ปชช. ประกาศล่ารายชื่อเสนอ กม.สิ่งแวดล้อมฉบับประชาชน ก่อนยุติชุมนุม
รายงาน: ‘แก้ กม.สิ่งแวดล้อม’ ยัดไส้ ม.44 เมื่ออีไอเอไม่มีความหมาย


‘ชัยภูมิ ป่าแส’ อำนาจรัฐที่ตรวจสอบไม่ได้กับกล้องวงจรปิดที่เปิดไม่ได้

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ณ ด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นผู้โดยสารรถคันดังกล่าว โดยนั่งด้านข้างคนขับ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร้อย.ม.2.บก.ควบคุมพื้นที่ 1 ฉก.ม.5 ร่วมกับ ชสท.ที่ 5 กกล.ผาเมือง ได้กระทำการวิสามัญ ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่า ในวันดังกล่าวได้เรียกตรวจค้นรถฮอนด้าแจ๊ส สีดำ ป้ายทะเบียน ขก 3774 เชียงใหม่ พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวนมากซุกซ่อนอยู่ในที่กรองอากาศของรถคันดังกล่าว พร้อมอ้างด้วยว่าผู้ตายขัดขืนการจับกุม โดยหยิบมีดจากหลังรถพยายามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่และวิ่งหลบหนีเข้าไปในป่า

จากพฤติการณ์การวิสามัญฯ และข้อกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ในด่านที่ตั้งอยู่ใกล้ที่พักอาศัยของคนจำนวนมากนำไปสู่ข้อถกเถียงถึงความชอบธรรม ความสมเหตุสมผลในการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ทหารและความบริสุทธิ์ของนักกิจกรรมหนุ่ม ยิ่งมีวาทะ “ถ้าเป็นผมในเวลานั้นอาจกด (ยิง) ออโต้ไปแล้ว” จาก พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 และภาพจากกล้องวงจรปิดที่ยังคงปิดตายจากสายตาสาธารณชนจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งกระพือกระแสความกังขาในสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ปัจจุบันคดีนี้กำลังอยู่ในกระบวนการของศาล ซึ่งทางสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และทนายความของครอบครัวชัยภูมิ กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นภาพจากกล้องวงจรปิด เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยได้ฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดจากทหารแล้วแต่ก็เปิดนำภาพออกมาไม่ได้ และได้พยายามขอให้ทหารส่งมาใหม่ตั้งแต่ก่อนที่เรื่องจะถึงอัยการแล้ว โดยต้นปีหน้า สุมิตรชัยจะขอให้ศาลออกหมายขอภาพจากกล้องวงจรปิดไปยังหน่วยที่ตั้งอยู่ ณ ที่เกิดเหตุ และทำสำเนาให้กับพลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาพที่ 3 ที่เคยระบุว่าได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว

การเสียชีวิตในลักษณะนี้ไม่ใช่รายแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก็มีเหตุวิสามัญฯ อาเบ แซ่หมู่ ชายชาติพันธุ์ลาหู่ในลักษณะเดียวกันในช่วงที่ พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามกับยาเสพติดเมื่อปี 2546 เหตุการณ์เหล่านี้คือภาพสะท้อนซ้ำซากของอำนาจในการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนที่การตรวจสอบเป็นไปอย่างยากลำบากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย สิทธิในชีวิตอันเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของคนไทยจึงตั้งอยู่บนความคลอนแคลนในรัฐที่ระบบนิติรัฐพิกลพิการ


ทนายครอบครัว ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เผยยังไม่เห็น 'ภาพวงจรปิด' ในชั้นศาล
เปิด Timeline จากปากคำชาวกองผักปิ้ง วัน ชัยภูมิ ป่าแส ถูกทหารวิสามัญฯ
ฝังศพ"ชัยภูมิ ป่าแส"เยาวชนลาหู่ถูกยิงวิสามัญ-แฮชแท็ก "#RIPชัยภูมิ" กระหึ่มโซเชียล
ศาลไต่สวนนัดแรกคดีทหารวิสามัญ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ทนายมั่นใจภาพวงจรปิดไขข้อสงสัย


โกตี๋หายตัว การหายไปของการบังคับใช้กฎหมายอาญาและจารีตระหว่างประเทศ

การหายตัวไปของผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างไร้เบาะแสเกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ‘โกตี๋’ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญา มาตรา 112 และผู้ต้องสงสัยที่ คสช. คาดว่าเป็นเจ้าของอาวุธที่ค้นพบที่จังหวัดปทุมธานีในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้หายตัวไปขณะลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีการจับกุม การอุ้มหาย หรือกระทั่งว่าโกตี๋เสียชีวิตแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาจากภาครัฐทั้งฝั่งไทยและลาว นอกจากการบอกปัดไม่รู้ไม่เห็นจากทาง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการ คสช. นอกจากข่าวการหายตัวไปของโกตี๋แล้ว ยังมีการหายตัวไปของอิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ ที่หายตัวไปตั้งแต่เมื่อปี 2559 ระหว่างลี้ภัยอยู่ใน สปป. ลาวเช่นกัน ซึ่งจนขณะนี้ก็ยังไม่ทราบชะตากรรม ขณะที่ทาง คสช. ทหาร และตำรวจก็ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการหายตัวไป

ปริศนาการหายตัวของผู้ลี้ภัยทางการเมืองยังคงเป็นคำถามที่ไม่ได้คำตอบจากภาครัฐในประเทศต้นทางที่จากมาและประเทศที่พวกเขาพำนักอยู่ก่อนจะหายตัวไป ทั้งยังสะท้อนถึงความบกพร่องของการบังคับใช้กฎหมายอาญาและจารีตระหว่างประเทศ

สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ผิดหวังกับท่าทีของไทยและลาวที่ขาดความจริงจังในการค้นหาข้อเท็จจริงและการคุ้มครองคนไทยที่ลี้ภัยไปอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยประเทศอื่นอย่างเสมอกันในฐานะพลเมือง ซ้ำยังออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมกับการหายตัวไปจนกลายเป็นสภาวะสุญญากาศทางการบังคับใช้กฎหมายอาญาทั้งในลาวและไทย และยังระบุว่าไทยและลาวต่างก็ละเมิดจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่จะไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางหากพวกเขามีแนวโน้มที่จะเผชิญภัยร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียชีวิตเรื่อยมา เช่นกรณีที่ไทยส่งคนม้งกลับไปลาวจำนวนนับพันคนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ถูกนานาชาติและสหประชาชาติประณาม ด้วยท่าทีของรัฐบาลไทยเช่นนี้จึงเป็นที่น่ากังขาว่าสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศอาจไม่ได้รับการดูแลจากประเทศที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองอาศัยอยู่ในฐานะพลเมืองอย่างเสมอหน้ากัน


ผบ.ทบ.ไม่รู้ เรื่อง 'โกตี๋' โดนอุ้มหาย และไม่ขอวิจารณ์หวั่นกระทบลาว
ผู้ลี้ภัยหายในต่างแดนทำอย่างไร : คุยกับนักสิทธิฯ ปม ‘โกตี๋-ดีเจซุนโฮ’ หายตัว


ทดสอบขีปนาวุธ-นิวเคลียร์ ‘โสมแดง’ เขย่าโลก


ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ระอุอยู่แล้วกลับทวีอุณหภูมิขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2560 เมื่อเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจบรรดามาตรการหนักเบาจากประชาคมนานาชาติ เกาหลีเหนือใช้การทดสอบขีปนาวุธเป็นเครื่องมือตอบโต้ท่าทีของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมรบร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมถึงแผนการนำโดรนจู่โจม ‘เกรย์ อีเกิลส์’ และระบบต่อต้านขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง THAAD (Terminal High Altitude Area Defense System) ของสหรัฐฯ มาประจำในเกาหลีใต้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไปจนถึงการทดสอบขีปนาวุธหลังจากที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ มุนแจอิน เข้ารับตำแหน่ง รายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า ปัจจุบันมี 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ โดยคาดว่าเกาหลีเหนือครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 10-20 หัว

วิวาทะเผ็ดร้อนระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือยังเป็นที่จับตามองของชาวโลก เมื่อทรัมป์ระบุว่ายังคงไม่ทิ้งมาตรการการใช้สงครามกับเกาหลีเหนือ ความตึงเครียดทางการทูตนำไปสู่ข่าวคราวว่าเกาหลีเหนือจะโจมตีเกาะกวม อันเป็นฐานที่มั่นทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิกเมื่อเดือนสิงหาคม จากนั้นก็มีการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามประเทศญี่ปุ่นถึง 2 ครั้งในปลายเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ระยะทางที่จรวดเดินทางเป็นการบอกใบ้ว่าเกาหลีเหนือสามารถยิงขีปนาวุธโจมตีเกาะกวมได้

ปัจจุบันสหประชาชาติและนานาชาติใช้มาตรการทางเศรษฐกิจคว่ำบาตรสินค้าและแรงงานจากเกาหลีเหนือ รวมไปถึงมาตรการทางการทูต เช่น ส่งผู้แทนทางการทูตของเกาหลีเหนือกลับประเทศ ไม่ต่อวีซาให้ชาวเกาหลีเหนือ เป็นต้น การตอบโต้ของเกาหลีเหนือและท่าทีของประเทศมหาอำนาจระดับโลกและภูมิภาคเช่นสหรัฐฯ จีนและญี่ปุ่น รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้จะยังคงเป็นจุดสนใจ เพราะหากความขัดแย้งทวีความรุนแรงในยุคที่มีอาวุธทำลายล้างสูงขยายตัว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในคาบสมุทรเกาหลีที่จะขยายวงออกสู่ภูมิภาคใกล้เคียง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นหนึ่งในนั้น


ผู้นำโสมขาว สหรัฐฯ คูเวต เดินหน้าคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ผู้เชี่ยวชาญชี้มาตรการที่มียังไม่พอ
เกาหลีเหนือยิงจรวดผ่านญี่ปุ่น(อีกแล้ว) คาดจะมีบ่อยขึ้น แนวโน้มโลกแห่พัฒนานิวเคลียร์
บทความ CNN 12 ข้อ ที่ควรรู้เกี่ยววิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือในยุค 'ทรัมป์' กับ 'คิมจองอึน'
สหรัฐฯ เตรียมติดตั้งโดรนจู่โจมในเกาหลีใต้-รับมือนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ


จอดำ - 4.0

ปีนี้สถานีโทรทัศน์ถูกใบสั่งให้ปิดสถานีและยกเลิกรายการอยู่เนืองนิจ อาทิ กรณีให้วอยซ์ทีวียุติการออกอากาศทั้งสถานี โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) สั่งพักใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน ด้วยอ้างว่ามีการกระทำผิดซ้ำเดิม ให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก กรณีบอร์ด กสท. มีมติสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องพีซทีวี (Peace TV) เป็นเวลา 30 วันเนื่องจากรายการ “เข้าใจตรงกันนะ” และ “ห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์” มีเนื้อหาเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง กระทบความมั่นคงและศีลธรรมอันดี ผิดข้อตกลงที่เคยให้ไว้ กรณี กสทช. สั่งระงับออกอากาศรายการ “สนธิญาณฟันธงตรงประเด็น” บนช่องสปริงนิวส์ 1 เดือน โดยอ้างว่ามีเนื้อหาซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยใช้คำพูดในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ กรณี กสทช. สั่งให้ช่อง TV24 สถานีประชาชนมีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน ยุติการออกอากาศเป็นเวลา 30 วัน เนื่องจาก "รายการคมข่าว" และ "รายการ ไฟเขียวความคิด" ขัดต่อเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการ

การเซ็นเซอร์เหล่านี้ประกอบการกับความเคลื่อนไหวในภาพใหญ่ที่ผ่านมาอย่างการใช้คำสั่ง คสช. ห้ามการทำข่าววิจารณ์ การทำงานของ คสช. ที่ตอนหลังแก้ให้วิจารณ์ได้โดยสุจริต การแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.กสทช. ความพยายามในการร่างกฎหมายควบคุมสื่อ (ภายใต้ชื่อว่า คุ้มครอง) และแนวคิดเข้ามากำกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต (OTT) สะท้อนความพยายามในการควบคุมสื่อของรัฐไทยอย่างเข้มข้นทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งดูจะสวนทางกับแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อเพื่อให้เกิดความเป็นอิสระทั้งด้านโครงสร้างความเป็นเจ้าของและเนื้อหาที่พยายามจะปักหมุดกันในยุคพฤษภา 2535 เข้าทุกที



ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: เปิดเครื่องมือเชือด Voice TV และเนื้อหา 3 รายการที่โดนลงโทษ
รายงานเสวนา: 19 ปี ปฏิรูปสื่อไป(ไม่)ถึงไหน



‘ซื้อทำไม?’คำถามจากผู้เสียภาษีในวันที่กองทัพช้อปอาวุธล็อตใหญ่

ตลอด 3 ปีของการบริหารงานในยุค คสช. มีการอนุมัติสั่งซื้ออาวุธกว่า 7 หมื่นล้านบาท เช่น รถถัง (38 คัน 6,985 ล้านบาท) รถเกราะล้อยาง (34 คัน 2,300 ล้านบาท) เฮลิคอปเตอร์ (10 ลำ 8,083 ล้านบาท) เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง-เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (10 ลำ 6,599 ล้านบาท) เรือดำน้ำ (3 ลำ 36,000 ล้านบาท) รวมทั้งเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ แบบ T50-TH จำนวน 8 ลำ รวมมูลค่า 8,997 ล้านบาทโดยเป็นงบผูกพัน 3 ปีของกองทัพอากาศ กรณีที่เป็นที่ถูกกล่าวถึงกันมากในปีนี้คงเป็นกรณีการซื้อรถถัง VT-4 ที่เข้าประจำการแล้ว 28 คัน เรือดำน้ำ Yuan Class S26T 2 ลำจากจีน การสั่งซื้อรถหุ้มเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จำนวน 34 คันจากจีน และเครื่องบินแบล็คฮอว์คจากสหรัฐฯ 4 ลำ

เป็นที่น่าสังเกตว่าอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากซื้อมาจากประเทศจีน เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดคำถามด้านประสิทธิภาพของเทคโนโลยี การสร้างสภาวะผูกพันทั้งเรื่องอะไหล่และการฝึกฝนการใช้อาวุธ รวมถึงข้อจำกัดในการวางตัวทางการทูตอันเนื่องมาจากการพึ่งพาประเทศจีนอย่างมาก เพราะจีนเองก็มีประเด็นขัดแย้งกับประเทศในอาเซียนในหลายประเด็น แต่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นและต้องตั้งคำถามกันอย่างจริงจังคือ ‘ทำไมต้องซื้ออาวุธ’ 15 ปีที่ผ่านมางบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ยังมองไม่เห็นว่ากองทัพไทยจะนำอาวุธเหล่านี้ไปใช้ทำสงครามกับใคร และเมื่อเกิดปรากฏการณ์ก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม เพื่อระดมเงินบริจาคใหัแก่โรงพยาบาล 11 แห่ง คำถามนี้ก็ยิ่งดังขึ้น เพราะดูเหมือนวิจารณญาณในการจัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณเพื่อประชาชนของรัฐบาลบกพร่อง นำเงินภาษีไปซื้อปืนแทนที่จะซื้อยา



ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์-วรศักดิ์ มหัทธโนบล เปิดนัยสัมพันธ์ไทย-จีนหลังดีลเรือดำน้ำ
เรื่องซื้อๆ ขายๆ รถถังจากเมืองจีน ‘VT-4’ โลกที่ 3 ชื่นชอบ-ไทยจ่อจัดซื้อ 1 กองพันรถถัง
ประยุทธ์ ยันทหารไม่ได้มุ่งแต่ช็อปอาวุธยุทโธปกรณ์ ขออย่ารังเกียจ


ไผ่ ดาวดิน กระชากหน้ากากกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน อาจเป็นอีกชื่อหนึ่งที่คอข่าวการเมืองรู้จักเป็นอย่างดีในฐานะนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. อย่างต่อเนื่องและออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจนถูกจับดำเนินคดี แต่แล้วการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของเขาก็หยุดชะงักลง เมื่อเขาถูกจับกุมดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai รายงานซึ่งมีคนแชร์ร่วมกันกับเขากว่า 2,800 คน แต่มีเพียงเขาคนเดียวที่ถูกดำเนินคดี

เขากลายเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนแรกแห่งรัชสมัยใหม่ หลังจากถูกจับกุมตัว เขาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ต่อมาราว 2 สัปดาห์พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลให้เพิกถอนสิทธิการประกันตัว ศาลนัดไผ่มาฟังการพิจารณาคำฟ้อง แม้ยินดีเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สุดท้ายศาลพิจารณาถอนสิทธิประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า หลังจากได้รับการประกันตัวไผ่มีพฤติกรรมที่เป็นการ ‘เย้ยหยันอำนาจรัฐ’ อันเป็นเหตุผลที่ไม่อาจค้นหาจากประมวลกฎหมายของไทยเล่มใดมาอ้างอิงได้ เขาไม่ได้รับสิทธิประกันตัวอีกเลยแม้จะมีการยื่นคำร้องของประกันตัวต่อศาลนับสิบครั้ง ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาจากศาลคือ “ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

ไผ่ ดาวดิน เห็นว่าคดีนี้จะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมในสังคมจึงเลือกที่จะต่อสู้อย่างเปิดเผยในศาลเพื่อให้สังคมได้รับรู้ แต่เมื่อศาลใช้อำนาจสั่งให้เป็นการพิจารณาคดีลับ จึงชัดเจนว่าความตั้งใจของเขาไม่สามารถบรรลุผล บวกกับแรงกดดันจากการถูกจำคุกเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการประกันตัว 15 สิงหาคม 2560 เขาจึงตัดสินใจรับสารภาพว่าเป็นผู้แชร์รายงานชิ้นดังกล่าวจริง แต่ไม่ยอมรับว่าเนื้อหานั้นผิดหรือไม่ ศาลตัดสินลงโทษจำคุกเขา 5 ปี ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แม้จะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแต่การต่อสู้ของเขายังดำเนินต่อไป นั่นคือการเปิดให้เห็นอีกหน้าหนึ่งของอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย



ข่าวที่เกี่ยวข้องกับไผ่ ดาวดิน


ทหารเกณฑ์/นักเรียนเตรียมทหาร ปีนี้ตาย 4 ศพ ปีหน้าอีกกี่ศพ?

พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม (1 เมษายน 2560) พลทหารนภดล วรกิจพันธ์ (19 สิงหาคม 2560) นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ตัญกาจน์ (17 ตุลาคม 2560) และพลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ (11 พฤศจิกายน 2560) คือรายชื่อและวันเสียชีวิตของทหารเกณฑ์และนักเรียนเตรียมทหารในรอบปีที่ผ่านมา เฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าว สาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งการถูกซ้อมทรมานอย่างชัดเจน เช่นกรณีของพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม และยังมีสาเหตุที่ยังพร่าเลือนระหว่างการถูกสั่งทำโทษจนเสียชีวิตกับเสียชีวิตเพราะปัญหาด้านสุขภาพอย่างกรณีของนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ตัญกาจน์ หรือน้องเมย

ข้อมูลจากการรวบรวมกรณีการเสียชีวิตของทหาร ทหารเกณฑ์ และนักเรียนเตรียมทหารซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสู้รบที่ปรากฏในข่าวนับตั้งแต่ปี 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2560 พบว่ามีรายชื่อผู้เสียชีวิต 12 ราย ส่วนใหญ่กองทัพมักออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการซ้อมทรมานจนทำให้เสียชีวิต และมักอ้างว่าผู้เสียชีวิตตายเพราะโรคประจำตัวหรือเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ส่วนในกรณีที่มีพยานหลักฐานชัดเจนและเป็นเรื่องราวที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กองทัพใช้วิธีออกมาแถลงข่าวว่าจะพยายามไม่ให้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก แต่เรื่องราวการตายในค่ายทหารก็ยังเกิดขึ้นทุกปี และในอนาคตเราอาจได้เห็นข่าวในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะถึงที่ถึงที่สุดแล้ว ฆาตกรตัวจริงอาจเป็นระบบและวัฒนธรรมของกองทัพที่ไม่ได้มองเห็นคนเป็นคน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิมนุษยชน เพราะหลายกรณีเกิดจากการกระทำของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม



ศพสุดท้ายอีกกี่ครั้ง?: รวมกรณีซ้อมทรมาน-ตายแปลกในค่าย คุก บ้านพักนายทหาร
เป็นทหารเกณฑ์ได้ 10 วัน เสียชีวิตแพทย์ชี้ 'หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน' ญาติไม่เชื่อเพราะมีรอยช้ำตามร่างกาย
ทหารเกณฑ์ถูกซ้อมเสียชีวิตในค่ายอีก 1 ศพ ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุก่อนหน้านี้ถูกสั่งขังเพราะทำผิดวินัยทหาร
ทหารเกณฑ์ค่ายดอนนกเสียชีวิตปริศนา คาดถูกซ้อมอย่างรุนแรง
พ่อแม่นักเรียนเตรียมทหาร จัดงานเผาหลอกแอบนำศพลูกไปชันสูตร พบอวัยวะภายในหายหมด


‘ละเมิดอำนาจศาล’ เสรีภาพที่ไปต่อไม่ได้

ในรอบปีที่ผ่านมา เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลหลายราย อาทิ ศรีสุวรรณ จรรยา, วัฒนา เมืองสุข, และ 7 นักศึกษาที่ศาลขอนแก่น จุดร่วมกันประการหนึ่งของผู้ที่ถูกดำเนินคดีคือ พวกเขาเหล่านั้นเป็นหนึ่งในผู้เล่นทางการเมืองซึ่งมีความคิดเห็นไปในทางตรงกันข้ามกับ คสช.

21 สิงหาคม ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงโทษจำคุกศรีสุวรรณ จรรยา เป็นเวลา 14 เดือน แต่ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี และปรับเงิน 7 แสนบาท 28 สิงหาคม ศาลอ่านคำสั่งจำคุก 2 เดือนปรับ 500 บาท(รอลงอาญา) วัฒนา เมืองสุข คดีละเมิดอำนาจศาล ขณะที่วันที่ 21 ส.ค. เขาถูกสั่งจำคุก 1 เดือนปรับ 500 บาท(รอลงอาญา) 2 พฤศจิกายน ศาลจังหวัดขอนแก่นได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ 7 นักศึกษา ถูกฟ้องในข้อหาละเมิดอำนาจศาลจากการทำกิจกรรมให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ศาลเห็นว่า จำเลยทั้ง 7 คนมีความผิดจริง แต่เห็นว่าจำเลยที่ 1-6 ยังเป็นนักศึกษาอยู่จึงให้รอกำหนดโทษ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 7 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ ศาลเห็นว่า ได้จบการศึกษาแล้ว และมีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงน่าจะมีความเข้าใจในกระบวนการของศาล จึงสั่งให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

ทั้งนี้ ข้อหาละเมิดอำนาจศาลนั้นได้ถูกต้องข้อสังเกตจากวงเสวนาทางวิชาการว่า เหตุใดในช่วงหลังมานี้จึงมีลักษณะที่ขยายขอบเขตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ความผิดลักษณะนี้ได้ให้อำนาจศาลไว้เป็นพิเศษที่ทำให้ผู้พิพากษาไม่ต้องดำเนินตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ไม่จำเป็นต้องมีทนายความ ไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องร้อง ถ้าเป็นความผิดที่เกิดต่อหน้าศาล ศาลสามารถพิจารณาพิพากษา ณ ตอนนั้นได้เลย เพราะถือว่าความผิดละเมิดเป็นความผิดที่ศาลเป็นผู้เสียหาย ทุกขั้นตอนของการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณา การไต่สวน การซักถามพยานหลักฐาน หรือการพิพากษาลงโทษ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ดังที่ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า การขยายขอบเขตการละเมิดอำนาจศาลในลักษณะนี้ทำให้เสรีภาพไปต่อไม่ได้



ศาลสั่งคุก 'วัฒนา' 2 เดือน แต่รอลงอาญา 2 ปี ละเมิดอำนาจศาล หลังส่งไลน์นัดสื่อหน้าศาล
เฟซบุ๊กไลฟ์ในศาล วัฒนาโดนอีกคดีข้อหา 'ละเมิดอำนาจศาล' คุก 1 เดือน ปรับ 500 บ.
ศรีสุวรรณเข้าห้องควบคุมศาลปกครอง คดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนหา 7 แสนจ่ายค่าปรับรอดนอนคุก
สั่งจำคุกจ่านิว 6 เดือนรอลงอาญา คดีละเมิดอำนาจศาล-จำเลยอีก 6 คนรอกำหนดโทษ 2 ปี
คำพิพากศาล#3 ‘ละเมิดอำนาจศาล’ กฎหมายที่ทำให้เสรีภาพไปต่อไม่ได้



เปิดตัวเว็บ 6 ตุลา เปิดข้อมูลรอความยุติธรรม

เหตุการณ์ล้อมปราบนิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดำรงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างพร่ามัว ไม่ถูกพูดถึง และบางคนต้องการให้ถูกลืม ทั้งที่มันควรถูกบันทึกไว้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของสังคมไทย โครงการบันทึก 6 ตุลา ได้จัดงานเปิดตัวเว็ฐไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ www.doct6.com จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่กระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้นและศึกษาทำความเข้าใจกับการก่อความรุนแรงโดยรัฐ เพื่อต่ออายุประวัติศาสตร์บทนี้ให้ไปอีกไกลในอนาคต

นอกจากนี้ ทางโครงการยังระบุว่าปัจจุบันยังมีข้อมูลที่ขาดหายไปอีกจำนวนมาก ดังนั้น ทางโครงการจึงเปิดระบุข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เพื่อรวบรวมไว้เป็นเครื่องยืนยันความรุนแรงและรอวันทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ

สิ่งที่เป็นไฮไลท์สำคัญสำหรับการเปิดตัวเว็บไซต์คือ สารคดีสัมภาษณ์ 2 ครอบครัวของ 2 พนักงานการไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม หลังจากติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของสามเณรถนอม ที่ใช้ชื่อสารคดีว่า สองพี่น้อง The Two Brothers ซึ่งทางโครงการทำงานข้อมูลอย่างหนักเพื่อตามหาญาติพี่น้องของทั้งสองคน ผู้รอคอยมาตลอดว่าสักวันหนึ่งจะมีใครนำเสียงของพวกเขาออกมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้ยิน แม้ว่าถึงวันนี้ความยุติธรรมยังไม่ประจักษ์แจ้ง แต่การเดินทางเพื่อทวงหาความเป็นธรรมเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ดังที่ธงชัย วินิจจะกูล อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาและนักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเปิดตัวเว็บไซต์ว่า “มีความอยุติธรรมอีกมาก หากเราสู้ไม่ได้หมด อย่างน้อยที่สุดก็แบมันออกมา ตอนนี้พูดไม่ได้ ก็เตรียมแบในอนาคต”


เปิดเว็บ 'บันทึก 6 ตุลา' [doct6.com] จุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรม
ฐานข้อมูลออนไลน์ 6 ตุลา และความคาดหวังเห็นความยุติธรรมในอนาคต


ยิ่งลักษณ์หนีศาล การเมืองไทยหลังไร้ตระกูลชินวัตร
25 สิงหาคม 2560 คือวันที่แทบทุกสายตาจับจ้องไปที่ศาลอาญา แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เนื่องจากเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 แต่ท้ายที่สุดยิ่งลักษณ์ไม่ได้มารับฟังคำพิพากษา จนทำให้ศาลต้องออกหมายจับและเลื่อนวันพิพากษาออกไป ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2560 ศาลได้อ่านคำพิพากษาสั่งจำคุกยิ่งลักษณ์เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

กรณีนี้ สังคมส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า คสช. ปล่อยให้ยิ่งลักษณ์หายตัวไปได้อย่างไร ขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งก็ตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย อย่างไรก็ตามการเมืองไทยในยุคที่ไม่มีตระกูลชินวัตรหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ดูจะเป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อดูองค์ประกอบกติกาใหม่ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทำให้น่าจับตาว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่ (อาจ) เกิดขึ้นในปลายปี 2561 ประเทศไทยจะได้รัฐบาลรูปร่างหน้าตาแบบใด และใครคือคนที่จะก้าวข้ึนมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ภายใต้โครงสร้างการเมืองใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อคุมรัฐบาลพลเรือนทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระ การมีสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจเพิ่มขึ้นและมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. 250 คน ทั้งยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ออกแบบอนาคตของสังคมไทยไปอีก 20 ปี รวมถึงคำถามที่ตามมาจากคำพิพากษาว่า หลังจากนี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถดำเนินนโยบายอุดหนุนได้ต่อไปอีกหรือไม่

“คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวชี้อนาคตสังคมไทย คือท้ายสุดแล้ว รัฐพันลึกจะคุมสังคมไทย เขาอาจจะอยู่อีก 10 ปี 20 ปี หรืออย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) บอกว่าคงอยู่อีกนาน สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยภายใต้ฉากประชาธิปไตย และคณาธิปไตยกลุ่มนี้คือคณาธิปไตยที่ครองอำนาจในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และประสงค์ที่จะครองต่อไปให้ยาวนานที่สุด” อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อหนึ่งในบทสัมภาษณ์ของประชาไท


Timeline: ปั้นนโยบายช่วยชาวนา เป็น ‘อาชญากรรมจำนำข้าว’
'อรรถจักร์’ วิเคราะห์นัยคดีจำนำข้าว อำนาจประชาชนถูกตัด-รัฐพันลึกขยายตัว
ยิ่งลักษณ์ ขอศาลเลื่อนพิพากษาระบุน้ำในหูไม่เท่ากัน ศาลไม่เชื่อออกหมายจับ+ริบเงินประกัน
พิพากษาลับหลัง คุก 5 ปี ยิ่งลักษณ์ ไม่รอลงอาญา คดีปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการจำนำข้าว


อองซานซูจีมงหาย และวิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

หลังจาก ARSA ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีป้อมตำรวจที่ชายแดนพม่า ทำให้กองทัพพม่าใช้วิธีปราบปรามแบบไม่เลือกหน้าและมุ่งเป้ามาที่พลเรือน โดยใช้ทั้งวิธีสังหารและเผาทำลายหมู่บ้านชาวโรฮิงญา ก่อเกิดสถานการณ์วิกฤตมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ระลอกใหม่ในเดือนสิงหาคม เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญากว่า 6 แสนคนอพยพหนีตายเข้าสู่บังกลาเทศ แต่ท่าทีของอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2534 กลับมีเพียงความเมินเฉยต่อชาวโรฮิงญา สุนทรพจน์เมื่อวันที่ 19 กันยายน นอกจากเธอจะไม่ประณามสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เธอยังปฏิเสธว่าหลังวันที่ 5 กันยายนไม่มีปฏิบัติการทางทหารแล้ว และยังอ้างว่ารัฐบาลต้องการเวลาเพื่อสอบสวนว่าเหตุใดจึงมีผู้อพยพหลายแสนคนข้ามไปยังบังกลาเทศ

ภาพลักษณ์ของอองซานซูจีในเวทีโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เดือนกันยายน ภาพวาดของเธอถูกปลดออกจากอาคารวิทยาลัยเซนต์ฮิวก์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ตามมาด้วยการปลดชื่อของเธอออกจากห้องโถงกลางของวิทยาลัยในเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน สภาเมืองออกซฟอร์ดมีมติถอนรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองออกซฟอร์ดที่เธอเคยได้รับในปี 2540 โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้มีการยกย่องผู้ที่ทำเป็นมองไม่เห็นเหตุความรุนแรง เช่นเดียวกับสภาเมืองดับลินก็ได้ถอนรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองดับลินเช่นกัน ทั้งยังมีความเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการถอนรางวัลและเกียรติยศอื่นๆ ที่อองซานซูจีเคยได้รับ โดยมีการล่ารายชื่อใน change.org เรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลถอนรางวัลโนเบลของเธอ จนถึงขณะนี้ (18 ธันวาคม) มีผู้ลงชื่อแล้ว 4.3 แสนราย

แม้ในปีหน้ารัฐบาลพรรคเอ็นแอลดียังคงปกครองพม่าต่อไป ตราบเท่าที่ยังสามารถถ่วงดุลและรักษาสัมพันธภาพกับกองทัพพม่าไว้ได้ แต่ภาพลักษณ์ของอองซานซูจีที่โลกเคยรู้จักคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


ซีรีส์ข่าวการปฏิรูปในพม่า
ซีรีส์ข่าวสะกดรอยพม่า


‘รางวัลปีศาจ’ ปีศาจผู้ท้าทายซีไรต์


28 กันยายน 2560 กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนและบรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กเกี่ยวกับ ‘รางวัลปีศาจ’ รางวัลวรรณกรรมหน้าใหม่ที่สนับสนุนแนวคิดก้าวหน้าในทุกด้าน มีมาตรฐานอย่างต่ำคือความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน งานเขียนไม่จำเป็นต้องได้รับการตีพิมพ์ก็สามารถส่งเข้าร่วมการคัดเลือกได้ กับแนวคิดของรางวัลที่ “ผู้มอบรางวัลรู้สึกขอบคุณที่คุณทำสิ่งนี้ด้วยใจจริง และผู้รับไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ หรือต้องค้อมตัวลงไปรับ”

เมื่อความเป็นซีไรต์ถูกตั้งคำถาม ด้วยพิธีการรกรุงรังไม่จำเป็น ค่าใช้จ่ายมหาศาล กระบวนการตัดสินที่ปิดลับ โครงสร้างของคณะกรรมการที่มีความเป็นพวกพ้อง ไม่จำเป็นต้องอ่านงานเขียนที่ผ่านการคัดเลือก และความเป็นสถาบันของซีไรต์ที่หนีไม่พ้นการสนับสนุนค่านิยมกระแสหลัก อันเป็นที่มาของรางวัลปีศาจที่กิตติพลบอกว่า เป้าหมายหลักอาจไม่ใช่การท้าทายซีไรต์ แต่เป็นการทำ “สิ่งที่ควรมีมาตั้งนานแล้ว” ให้เป็นรูปธรรมสักที การตั้งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ทำให้รางวัลปีศาจเผชิญกับคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรถ้างานเขียนชิ้นนั้นดี แต่ตัวอุดมการณ์หรือความคิดทางการเมืองเป็นอนุรักษ์นิยม เชื่อในประวัติศาสตร์กระแสหลัก กิตติพลตอบว่าเป็นหน้าที่ของกรรมการตัดสินที่จะต้องถกเถียงกัน ความเห็นอาจไม่ได้ไปทิศทางเดียวกันทั้งหมด แต่ก็จะใช้ระบบเสียงข้างมากเพื่อตัดสิน

ด้วยแนวคิดเช่นนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า รางวัลปีศาจทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับรางวัลซีไรต์ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือก การเปิดโอกาสให้นักเขียนที่ต้นฉบับอาจยังไม่ได้ตีพิมพ์ กระบวนการตัดสินที่เปิดเผย ให้ผู้สนใจร่วมวิจารณ์ต้นฉบับ คณะกรรมการมาจากหลายสายอาชีพ แต่มีความรู้และความสนใจทางวรรณกรรม และตัดพิธีการที่รกรุงรังออก เหล่านี้อาจทำให้อนาคตวงการวรรณกรรมไทยที่เคยถูกให้คุณค่าเพียงรางวัลซีไรต์เกิดความหลากหลายทางแนวคิดและผลงานมากขึ้นในอนาคต


ปลุก ‘ปีศาจ’ กับ กิตติพล สรัคคานนท์


‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ มาตรฐานใหม่ของเสรีภาพในการแสดงออก

‘Insects in the Backyard: แมลงรักในสวนหลังบ้าน' เดิมมีกำหนดเข้าฉายในเดือนธันวาคม 2553 แต่กลับถูกระงับจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากขัดมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งระบุว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” เช่น มีฉากการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การที่ภาพยนตร์ให้เด็กหญิงและเด็กชายขายบริการทางเพศ คณะกรรมการมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง และเห็นว่าผู้สร้างควรนำเสนอการแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่น ฯลฯ

หลังรอคอยมา 5 ปี ศาลปกครองได้อ่านคำตัดสินในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 โดยพิจารณาว่า หากตัดฉากร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศเป็นเวลา 3 วินาทีออกไป จะสามารถฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ในเรต 20+ ถือเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งการห้ามฉายภาพยนตร์นับตั้งแต่ใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

29 พฤศจิกายน 2560 วันสิทธิความหลากหลายทางเพศ Insects in the Backyard เปิดตัวฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้งหลังผ่านมา 7 ปี มันได้วางบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับการห้ามฉายภาพยนตร์คือ 1.คณะกรรมการฯ ต้องให้เหตุผลละเอียดชัดเจนและเข้าใจได้ เช่น ระบุว่าฉากใดที่เป็นปัญหาพร้อมให้เหตุผลโดยละเอียด 2.คณะกรรมการฯ ต้องให้โอกาสผู้สร้างภาพยนตร์เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงและแก้ไขตัดทอนก่อนที่จะสั่งแบน และ 3.คณะกรรมการฯ ต้องอ้างอิงอำนาจตามกฎกระทรวงให้ถูกต้องมากขึ้น จะใช้เพียงแค่มาตรา 29 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ไม่ได้ ดังนั้น ในอนาคตของวงการภาพยนตร์ไทย คณะกรรมการฯ จะไม่มีอำนาจสั่งแบนภาพยนตร์เรื่องใดโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน


Insects in the Backyard ฉายครั้งแรกหลังโดนแบน 7 ปี เปิดวงคุยความหลากหลายทางเพศไปถึงไหนแล้ว
ถามเอง-ตอบเอง การห้ามฉาย Insects in The Backyard กรณีดังกล่าวสะท้อนอะไร
ยกฟ้องคดีห้ามฉาย Insects in the Backyard เหตุฉากมีเซ็กส์-เห็นอวัยวะเพศ 3 วิ ขัดศีลธรรม
ตุลาการผู้แถลง หักธงกองเซ็นเซอร์ ชี้ 'Insects in the Backyard' ฉายได้



#metoo และ Thaiconsent ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจากโลกถึงไทย

ข่าวเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้อำนวยการผลิตชื่อดังของฮอลลีวู้ด ทำให้กระแสการแสดงพลังของผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศแพร่ไปทั่วโลก นำโดยอลิสซา มิลาโน นักแสดงอเมริกันออกมาเชิญชวนผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่ออย่างเธอออกมาร่วมแสดงพลังด้วยคำสั้นๆ ว่า "me too" แฮชแท็กนี้ขึ้นแท่นเป็นแฮชแท็กยอดฮิตในอาทิตย์นั้น

ก่อนหน้านั้น ในประเทศไทยมีเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศนักกิจกรรมและนักศึกษาที่กระตุ้นให้สังคมเกิดการถกเถียงในประเด็นเรื่อง Sexual Consent หรือการยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์อย่างจริงจัง พร้อมๆ กับการเกิดเพจ Thaiconsent ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแส แต่สร้างให้เกิดมุมมองใหม่ต่อการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าเพศไหนก็มีโอกาสถูกคุกคามทางเพศได้ ดังนั้น การได้รับการยินยอมหรือ Consent ต้องเกิดในทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเผยให้เห็นความเชื่อผิดๆ และมายาคติเกี่ยวกับ Sexual Consent เช่น ความเชื่อที่ว่าการแต่งตัวไม่มิดชิดเป็นปัจจัยให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ว่าอีกฝ่ายจะแต่งตัวอย่างไร ก็ไม่มีใครมีิสิทธิล่วงละเมิดได้ บาดแผลทางใจของผู้ถูกละเมิดอาจทำให้การให้ปากคำกับตำรวจไม่สอดคล้องกันจึงต้องให้เวลากับผู้ถูกละเมิดเพื่อทุเลาบาดแผลนั้นก่อน การเมาไม่ใช่สัญญาณว่าอยากมีเซ็กส์ และจากงานวิจัยในอังกฤษพบว่าการถูกละเมิดทางเพศ ผู้ถูกละเมิดส่วนใหญ่ไม่ได้ต่อสู้อย่างรุนแรง แต่พยายามขัดขืนหรือพูดดีๆ กับผู้กระทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงการยินยอม


ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ #metoo
ถก ‘เซ็กส์แฟร์ๆ’: ‘ถ้า Yes นาทีนี้ นาทีต่อไป No ก็คือ No’
ถก ‘เซ็กส์แฟร์ๆ’ เพจ Thaiconsent: เซ็กส์ต้องยินยอม-meaning มาก่อน performance
ถก ‘เซ็กส์แฟร์ๆ’: กอด หอม สัมผัส คนข้ามเพศถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.