Posted: 27 Dec 2017 07:39 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

โสภณ พรโชคชัย

ถ้ามอง "อีอีซี" หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ในแง่ร้ายที่สุด ก็ต้องบอกว่า EEC ที่รัฐบาลกำลังตั้งความหวังนั้น สุดจะ "ซี้ซั้ว" และ "ซี้แหงๆ" ผมก็อยากจะเป็นฝ่ายคิดผิดไปเหมือนกัน ผมไม่อายและจะดีใจด้วยซ้ำไปว่า EEC ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ผมคิด แต่โปรดฟังความอีกข้างสักนิด จะได้เผื่อใจไว้บ้าง

การวางผังเมืองแบบเปะปะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้การพัฒนาพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การพัฒนาบางอย่างดูไม่สมเหตุสมผล จะคุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนหรือไม่ ควรศึกษาให้ดี มิฉะนั้นอาจประสบเภทภัยมากกว่าวาสนา วันนี้ผมจึงขอติงโครงการอีอีซี ไม่ใช่ว่าผมไม่รักชาตินะครับ ผมลูกจีนแต่รักแผ่นดินเกิดคือเมืองไทยครับ ผมจำเป็นต้องติงโครงการ 'ซีซั้ว' นี้ในทำนอง 'ติเพื่อก่อ' เพื่อเราจะได้ไม่หลงวาดฝันหวานจนพากันลงเหวนั่นเอง

โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor หรือเขียนย่อว่า EEC ผมจึงขอเขียนเป็นภาษาไทยว่า 'อีอีซี' เพื่อให้ง่ายและสั้นลง โครงการนี้ครอบคลุม 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ก่อนหน้านี้ ผมก็เคยวิพากษ์ไว้บ้างแล้ว แต่ครั้งนี้จะมองในมุมเพิ่มเติมที่ไม่ซ้ำกัน โดยใช้แผนที่ที่ทางราชการใช้อธิบายหรือ 'โฆษณาชวนเชื่อ' โดยตรง


จากแผนที่ที่ประกอบนี้ มีระบุจะสร้างเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา พัทยา และระยอง การสร้างเมืองใหม่ ดูเป็นการแก้ปัญหาความยุ่งยากของเมืองเก่าด้วยการ (หนีปัญหา) ไปสร้างเมืองใหม่ แต่ในความเป็นจริงในโลกนี้ ไม่เคยมีการสร้างเมืองใหม่สำเร็จยกเว้นเมืองเก่าถูกทำลายลง เช่น อยุธยา หรือเปลี่ยนราชวงศ์ เป็นต้น ยิ่งเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจ ยิ่งย้ายไม่ได้ เช่น นครนิวยอร์กกับกรุงวอชิงตันดีซี นครซิดนีย์กับกรุงแคนบรา และนครย่างกุ้งกับเมืองเนปิดอว์ เป็นต้น

มีใครเคยเห็นอังกฤษคิดสร้างกรุงลอนดอนใหม่หรือไม่ ฝรั่งเศสก็ไม่มีโครงการสร้างกรุงปารีสใหม่ อิตาลีก็ไม่เคยมีกรุงโรมใหม่ในหัวเลย เมืองที่เขาอยู่กันมาเป็นพันๆ ปี ก็ไม่เคยคิดจะย้ายหนีปัญหา กรุงอัมสเตอร์ดัมที่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล ก็ยังอยู่ได้สบายๆ แต่นักวางแผนไทยกลับมีแนวคิดแบบยอมจำนน เขาไม่ตระหนักว่าขืนสร้างเมืองใหม่ไปก็ร้าง แก้ปัญหาเมืองเก่าไม่ได้ แถมยังถมงบฯ ไปสร้างเมืองใหม่อย่างไร้ค่าอีก น่าสมเพชไหมล่ะครับ

หันมาดูเส้นทางรถไฟสายอนาถที่ต้องผ่านไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราแล้วยิ่งหดหู่ เราจะเชื่อมภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับภาคตะวันออกโดยเฉพาะชลบุรีและระยอง แต่ผ่าไปอ้อมฉะเชิงเทราให้เมื่อยตุ้มเล่นซะงั้น ถ้าคิดอย่างมีบูรณาการ ต้องทำทางด่วนและรถไฟจากระยอง พัทยา แล้วทะลุจากตัวเมืองชลบุรีผ่าทะเลแถวปากน้ำบางปะกงมาขึ้นฝั่ง แล้วเชื่อมกับบางนา-ตราดตรง กม.36 ที่สามารถเชื่อมต่อไปถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่อยู่แล้ว แบบนี้ต่างหากที่ทำให้การเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพสูงสุด

มาดูที่ตั้งของ Robotics หรือแหล่งผลิตหุ่นยนต์ ที่ตั้งของ Smart Electronics ที่ตั้งของ Modern Automative หรือแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ ก็เหมือนเอามาแปะลงส่งเดชไว้ให้ดูทั่วๆ ในแผนที่หรืออาจตามแปลงที่ดินที่เอกชนเสนอ แต่ไม่รู้จะได้ทำจริงหรือไม่ แทนที่จะวางไว้เปะปะสับสนอยู่กลางทุ่งรุกพื้นที่เกษตรกรรม กิจการแบบนี้เอามาไว้ใกล้ๆ กรุงเทพมหานครก็ได้ เพราะแรงงานมีฝีมือก็มาก ไม่เห็นจำเป็นต้องทุ่มทำโครงการอีอีซีด้วยงบประมาณมหาศาลซึ่งยังไม่รู้จะได้คุ้มเสียหรือไม่

ที่ตลกร้ายก็คือ Logistics Hub หรือศูนย์ขนถ่ายสินค้า ผ่าแอบไปอยู่ฉะเชิงเทราห่างจากย่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขนส่งทางทะเลผ่านท่าเรือ 3 แห่งคือแหลมฉะบัง สัตหีบ และมาบตาพุด และห่างสนามบินอู่ตะเภา สงสัยว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือเอกชนรายใดมีที่ดินแถวนั้นหรืออย่างไร หลายคนคงงงเหมือนที่ผมซึ่งจบปริญญาเอกด้านการวางแผนพัฒนาเมืองมายังงง สิ่งที่รัฐทำควรมีความมีเหตุมีผลมากกว่านี้ และควรแจกแจงข้อมูลอย่างโปร่งใส จึงจะดี

ส่วนศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตรและศูนย์แปรรูปอาหารที่แปะไว้รวม 4 จุดนั้น ก็ไม่ทราบว่าแปะเพื่อเติมเต็มแผนที่ให้ไม่ว่างกลวงโบ๋หรืออย่างไร ศูนย์แบบนี้ควรมีที่จันทบุรี หรือจังหวัดหลักๆ ด้านการเกษตรทั่วประเทศด้วยซ้ำไป ผมก็ได้แต่ภาวนาให้ระเบียงเศรษฐกิจที่จับทุกภาคส่วนมายำร่วมกัน จะประสบความสำเร็จในที่สุด แม้ว่าโครงการนี้จะดูเป็นแบบดูเป็นแบบ 'มาม่า' 'ยำยำ' และ 'ไวไว' (เน้นแบบ top-down' ปนเปและเอาเร็วเข้าว่า)

ดังนั้นผมจึงเป็นห่วงโครงการระเบียงเศรษฐกิจนี้ ใครขืนไปบ้าจี้ทุ่มลงทุนโดยไม่ศึกษาให้ดี หวังว่าราคาบ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์จะพุ่งกระฉูดเหมือนสมัย 'น้าชาติ' เมื่อ 30 ปีก่อน อาจผิดหวังอาจประสบเภทภัยมากกว่าวาสนาได้ ผมก็ได้แต่หวังให้ทางราชการปรับปรุงแผนแม่บทโครงการนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุน (อย่างรอบรู้) ในอีอีซี

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.