สุภาวดี วิเวก จากกลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคตะวันออก

Posted: 27 Dec 2017 03:33 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ไปฟังเสียงของพวกเขา


หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องออกมาปกป้อง

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการซึ่งทุกคนต้องหวงแหน เพราะเดิมเวลาเจ็บป่วยถ้าไม่มีเงินก็ต้องไปยืมเงินเป็นหนี้ เป็นสิน ขายไร่ ขายนา ปัจจุบัน ประชาชนเข้าถึงสิทธิมากขึ้น เราที่เป็นแกนนำก็อยากปกป้องสิทธินี้ไว้ คนยากคนจนก็สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้ เพราะมันมีทั้งคุณภาพและมาตรฐานมีคณะกรรมการตั้งแต่ระดับตำบลขึ้นไปจนถึงระดับประเทศและประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม

เราทำงานด้านราชการ แต่พอมาทำก็สามารถช่วยผลักดันนโยบายต่างๆ เราเข้าไปเป็นกรรมการระดับตำบลถึงระดับเขต การมีส่วนร่วมคิดร่วมทำร่วมตัดสินใจทำให้มีชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ จนปัจจุบันก็จะเป็นเรื่องไต เรื่องมะเร็ง เรื่องเอดส์ ผู้ป่วยเหล่านี้ที่เป็นผู้ป่วยเรื้อรังก็สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น ต่อมาพอเราทำแล้วก็รู้สึกว่ามันควรจะขยายให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ก็ชวนเพื่อนให้ลองมาทำดู ปรากฏว่าเขาทำแล้วเขารู้สึกชอบ และจริงๆ เราไม่ได้ทำแค่เฉพาะจังหวัด แต่จังหวัดข้างเคียงก็ทำเพราะเป็นเครือข่ายกันทั้งประเทศ เราส่งข้อมูลให้กัน ช่วยเหลือกัน เป็นการทำงานเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ

ปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนอะไรบ้างเพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เราไปช่วยเป็นตัวแทนในส่วนภาคประชาชน เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในมาตรา 41 และกรรมการอื่นๆ หรือในส่วนโรงพยาบาล คนที่เข้ารับการรักษาและใช้สิทธิบัตรทองต้องใช้เวลาเป็นวันๆ กว่าจะได้รับการรักษา พอเราเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ เราก็ไปสะท้อนปัญหาของประชาชน ในการสะท้อนของเราก็สะท้อนอย่างเป็นกลาง เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เลยมองว่าเวลาเราเชื่อมกับหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อให้คนเข้าถึงสิทธิมากขึ้น แล้วมีการพัฒนาร่วมกันเวลามีปัญหาเราก็จะเป็นตัวแทนฝั่งประชาชนเข้าไปนั่งและพูดถึงปัญหา แล้วเราก็นำสิ่งที่รับฟังมาจากผู้ให้บริการไปอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ เวลาเกิดปัญหาเราจะเป็นตัวกลางในการผลักดันปัญหาให้ไปสู่การพัฒนาในระบบ ผลักดันตั้งแต่ในระบบพื้นที่ เขต ไปจนถึงส่วนกลาง

คิดว่าอะไรคือภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพมากที่สุด

การแก้กฎหมาย ถ้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเปลี่ยนไป จากนี้จะทำให้ปัญหาของคนจนเข้าไม่ถึงสิทธิมากขึ้น กลับไปสู่วังวนเดิม ไม่ได้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่นานาประเทศบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีมาก คิดว่ามันน่าจะพัฒนาต่อๆ ไป แต่ถ้าการแก้กฎหมายครั้งนี้ไม่ได้ฟังเสียงเล็กเสียงน้อย ทำไปตามใบสั่ง อันนี้อาจจะเกิดผลกระทบแน่นอน สิ่งที่เราผลักดันคือเรากำลังปกป้องเสียงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือหรือการรณรงค์

บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้

บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน
บุญยืน ศิริธรรม: ประวัติศาสตร์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคประชาชน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล: ภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือการที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน
นิมิตร์ เทียนอุดม: “เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม” กับปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพฯ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: หลักประกันสุขภาพฯ คือสิทธิที่ถอยหลังกลับไม่ได้


เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคใต้) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคเหนือ) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันตก) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคกลาง) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคอีสาน) ทำไมเราต้องปกป้อง?

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.