คิมจงฮยอน SHINee


ภาพจากเพจ SMTOWN

Posted: 21 Dec 2017 02:40 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


จากกรณีการเสียชีวิตของนักร้องเคป็อปวง SHINee ทำให้สื่อเกาหลีใต้ ประเทศที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่าพวกเขาควรจะมีแนวทางการนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของดาราอย่างไรที่จะเป็นการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้รับสื่อ ซึ่งถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมคำนึงถึงผู้อื่นและถือเป็นงานของนักข่าวที่จะคำนึงถึงผู้รับสาร

21 ธ.ค. 2560 ขณะที่กรณีการเสียชีวิตของนักร้องจงฮยอน นักร้องนำวงเคป็อปชื่อดัง SHINee ถูกนำเสนอออกไปในแง่มุมต่างๆ ผ่านสื่อจำนวนมากทั้งในเกาหลีใต้และต่างประเทศช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อ Korea Expose ก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวส่วนตัวของดาราว่า ควรจะมีการหาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารกับความเสี่ยงต่อการเปิดเผยข้อมูลที่อ่อนไหวอย่างไร

Korea Expose ระบุว่าตามหน้าสื่อต่างๆ มีทั้งการตีพิมพ์เผยแพร่จดหมายลาตายของจงฮยอนและพูดถึงดาราดังคนอื่นๆ ที่ร่วมแสดงความเสียใจต่อการตายของจงฮยอน มีการรายงานข่าวคนดังฆ่าตัวตายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงกรณีโรบิน วิลเลียมส์ ดาราฮอลลิวูด แต่ทว่าในสังคมเกาหลีใต้ที่มีตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก เกิดคำถามว่า การรายงานข่าวในเรื่องพวกนี้อย่างล้นเกินรวมถึงการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไม่สร้างสรรค์และไม่เคารพความเป็นมนุษย์ จะกลายเป็นอันตรายต่อผู้รับข่าวบางส่วนหรือไม่

เฮยุนกัง บรรณาธิการบริหารของ Korea Expose ยกตัวอย่างในบทความของเธอถึงกรณีของดาราหญิงเกาหลี ชอยจินซิล ผู้เสียชีวิตในปี 2551 ซึ่งในเกาหลีใต้ถือเป็นกรณีการฆ่าตัวตายของดาราที่มีข่าวใหญ่ที่สุดก่อนหน้าจงฮยอน ไม่เพียงเพราะเธอเป็นนักแสดงดังเท่านั้นแต่เพราะชีวิตส่วนตัวของเธอเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงและถูกนำเสนอผ่านสื่อแท็บลอยด์อย่างสม่ำเสมอ พอเธอเสียชีวิตก็มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนตัวของเธอหลายอย่างทั้งจดหมายลาตาย รูปถ่ายที่ใช้ในงานศพ ภาพครอบครัวและเพื่อนฝูงแสดงความเสียใจ มีกรณีการฆ่าตัวตายของคนในครอบครัวเธอคนอื่นๆ ตามมาภายหลัง ทำให้เรื่องการฆ่าตัวตายของชอยจินซิลมีคนค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตต่อซ้ำๆ

เฮยุนกังพยายามทำความเข้าใจโดยจำลองตัวเองเป็นสื่อที่ต้องทำเรื่องนี้และจำลองตัวเองเป็นผู้อ่าน ในฐานะสื่อเธออาจจะถูกกดดันให้ต้องนำเสนอภาพที่ใส่สีสันกับดาราเคป็อปที่เสียชีวิตและตามด้วยแฮชแท็กย้ำๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน ในฐานะคนอ่านทั่วๆ ไปแล้วเธอคงรู้สึกสะเทือนใจเมื่อคนเป็นที่รู้จักเสียชีวิต แต่ก็คงอยากจะทำภารกิจในชีวิตประจำวันต่อไปมากกว่าจะรับรู้ว่ามีภาพงานศพเป็นอย่างไรหรือมีภาพคนโศกเศร้าเสียใจ

อย่างไรก็ตามเฮยุนกังยอมรับว่ามุมมองในแบบของเธอยังจำกัดเกินไป ต้องมีการมองความเสี่ยงในการเขียนถึงเรื่องการฆ่าตัวตายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากพอสมควรแล้วว่าควรจะรายงานข่าวการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะของดาราอย่างไรจึงจะเหมาะสม เพราะการเสียชีวิตของดาราจะส่งผลสะเทือนทางจิตใจต่อผู้รับชมมากกว่าคนดังอื่นๆ รวมถึงนักการเมืองโดยเฉพาะผู้มีแรงกระตุ้นหรืออารมณ์ชั่ววูบให้อยากฆ่าตัวตายอยู่แล้ว เคยมีการเก็บสถิติว่าหลังจากการเสียชีวิตของชอยจินซิลมีคนในเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 1,000 กรณีในช่วงสองเดือนหลังจากนั้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกัน

เหตุใดคนถึงฆ่าตัวตายตามดารา เรื่องนี้สตีเฟน สแต็ก นักวิจัยที่มีชื่อเสียงในเรื่องการฆ่าตัวตายเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ไว้ว่าเป็นเพราะผู้คนมักจะนิยามตัวตนของตัวเองเข้ากับดาราเพราะดารามักจะเล่นบทของคนธรรมดา แต่ขณะเดียวกันก็แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปเพราะร่ำรวยและโด่งดังกว่า ถ้าหากดาราเหล่านี้ฆ่าตัวตายก็อาจจะทำให้คนคิดว่า ถ้าหากคนรวยและคนมีเสน่ห์ดึงดูดเหล่านี้ฆ่าตัวตายแล้วคนธรรมดาที่ดูด้อยกว่าอย่างพวกเขาล่ะ สแต็กบอกอีกว่าการโหมประโคมข่าวเกี่ยวกับเรื่องฆ่าตัวตายเป็นเวลาหลายวันติดต่อกันจะมีโอกาสทำให้เกิดผลกระทบเรื่องการฆ่าตัวตายเลียนแบบเพิ่มมากขึ้น

ที่เวียนนา ออสเตรีย สถิติการฆ่าตัวตายเลียนแบบในสถานีรถไฟใต้ดินเพิ่มมากขึ้นในช่วง 30 กว่าปีที่แล้ว จนกระทั่งในปี 2530 ก็ลดลงอย่างรวดเร็วร้อยละ 75 และยังคงตัวเลขเดิมต่อไปอีก 5 ปีหลังจากนั้น โดยการลดลงนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีการออกแนวทางการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายโดยสมาคมเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายของออสเตรีย

ในเกาหลีใต้ก็มีการออกคู่มือจรรยาบรรณการรายงานข่าวฆ่าตัวตายโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเกาหลีใต้ เช่น การไม่ทำให้การฆ่าตัวตายดูเป็นเรื่องสวยงาม (romanticize) ไม่พูดถึงสถานที่หรือวิธีการฆ่าตัวตาย รวมถึงงดการใช้คำว่าฆ่าตัวตายในพาดหัวข่าว และไม่ทำให้การฆ่าตัวตาของดาราเป็นข่าวหลักของวัน

อย่างไรก็ตาม สื่อเอียงซ้ายของเกาหลีใต้ Media Us ก็เคยวิจารณ์การนำเสนอข่าวของสื่อเกาหลีใต้ไว้เมื่อปี 2556 ว่าสื่อมักจะนำเสนอเรื่องดาราเสียชีวิต "ราวกับเป็นพิธีมอบรางวัลออสการ์" แต่เฮยุนกังก็เปิดเผยว่าในช่วงหลังๆ สื่อเกาหลีใต้ก็รายงานข่าวเรื่องการเสียชีวิตของดาราดีขึ้น และมีกรณีที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์กันเองรวมถึงมีการล่ารายชื่อเอาผิดสื่อที่รายงานเรื่องดาราเสียชีวิตในแบบใส่สีตีไข่กระตุ้นเร้าอารมณ์แบบไม่มีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ยังมีเรื่องผลกระทบของการนำเสนอแง่มุมผู้เสียชีวิตซ้ำๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว โอคาดะ จิการะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนของญี่ปุ่นกล่าวว่าการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องยาก บางครั้งภาพหรือคำก็อาจจะกระตุ้นให้คนที่มีอารมณ์ชั่ววูบฆ่าตัวตายตามได้

ทางอาซาฮีเองก็ปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายของตัวเองเพราะจิการะเชื่อว่าแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) สร้างข้อจำกัดต่อสื่อมากเกินไป ทำให้พวกเขานำแนวทางของ WHO มาหารือแล้วปรับเป็นของตัวเอง และตัวแนวทางปฏิบัติเองก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการบังคับให้ต้องทำตาม แต่ต้องอยู่ที่ตัวนักข่าวเองว่าควรจะนำเสนอมากน้อยแค่ไหนถึงจะถือว่าเพียงพอจะให้สาธารณชนรับรู้และเป็นการเคารพต่อผู้ตาย "นี่เป็นวัฒนธรรมของความละเอียดอ่อนที่ต้องฝึกฝน อย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่นักข่าวสามารถทำได้ นั่นเป็นงานของพวกเรา" เฮยุนกังระบุในบทความ


เรียบเรียงจาก

We Need to Talk About Suicide Reporting, Haeryun Kang, 19-12-2017
https://www.koreaexpose.com/suicide-reporting-shinee-jonghyun-kpop/

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.