ที่มาภาพ-http://www.tnamcot.com/view/5a3f725ce3f8e420aa433fe9
Posted: 24 Dec 2017 04:13 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนาโต๊ะกลมสาธารณะบ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ตอน "รัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้งครั้งแรกสู่ประชาธิปไตย" ชี้คำสั่ง คสช.53/60 ขัดหลักนิติธรรม หวังเซ็ทซีโร่ ส.ส.เก่า ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้ายังอึมครึม
24 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนาโต๊ะกลมสาธารณะ ครั้งที่ 2/1 หัวข้อ บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ตอน "รัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้งครั้งแรกสู่ประชาธิปไตย" โดยมี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.เพื่อไทยและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ร่วมแสดงความคิดเห็น
นายจุรินทร์ กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 53/ 2560 เรื่องการดำเนินการตามกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า ทุกครั้งที่ลงพื้นที่มักจะได้รับคำถามจากประชาชนว่าจะเลือกตั้งหรือไม่และจะมีเมื่อใด ซึ่งตอบได้แต่เพียงว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน แต่เมื่อใดไม่ทราบ ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามโรดแมปยังอึมครึม เพราะแม้จะมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายกกต.และกำลังจะเสร็จอีก 2 ฉบับ คือ กฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) รวมถึงมีโรดแมปชัดเจน แต่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่มีอะไรแน่นอน เช่น กฎหมายพรรคการเมืองที่ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2560 คสช.ยังใช้มาตรา 44 แก้ไขได้ ล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีอธิบายคำสั่งคสช.ที่ 53/60 โดยระบุว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน เว้นแต่จะมีตัวแปรอย่างอื่น
“หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงก็จะอยู่ภายใต้บริบทประชาธิปไตยครึ่งใบ อยู่ภายใต้การกำกับของคสช. ที่มีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นการแข่งขันทางการเมืองที่มีอยู่เดิมกับพรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่ ในส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่าจะไม่ตั้งพรรคการเมือง ซึ่งตนเชื่อว่าพูดจากใจเพราะพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องตั้งพรรคเองก็มีคนตั้งพรรคสนับสนุนให้ ซึ่งหลังจากนี้จะอีก 1 ปีหรือเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดนี้จะต้องไม่โกง เร่งปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรม สร้างผลงานให้ชัดเจน และเร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน” นายจุรินทร์ กล่าว
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ตั้งข้อสังเกตคำสั่งคสช.ดังกล่าว ว่า เปรียบเหมือนการรีเซ็ตพรรคการเมืองในทางอ้อมหรือไม่ เพราะภาพรวมประเทศไทยขณะนี้ ยังขาดความเชื่อมั่นในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย เช่น การออก พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาแล้วก่อนหน้านั้น แต่คสช.กลับออกคำสั่งที่ 53/2560 ออกมาอีก แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมั่นใจในคำสั่งนี้ว่าจะมีอำนาจเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมรวมถึงกรณีสหภาพยุโรป(อียู) มีหนังสือมายังทางการไทยเรื่องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่แสดงออกทางการเมือง ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งปลดล็อคให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้
“3 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยรั้งท้ายในเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ การเลือกตั้งครั้งหน้า ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งตามโรดแมป ผมมองว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่แปลกที่สุด เพราะมีมาตรา 44 คอยกำกับอยู่ ทางออกที่ดีที่สุดคือรัฐบาลควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ด้วยการใช้กฎหมายปกติที่ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมป เพราะการเลือกตั้งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของระบอบการเมือง รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารประเทศด้วยความเป็นกลาง มีจริยธรรม และควรทำให้ประเทศเป็นที่ยอมรับ” อดีตส.ส เพื่อไทย กล่าว
สมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวว่า การเลือกตั้งตามโรดแมปที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 เกิดขึ้นได้ยาก เพราะทุกอย่างต้องนิ่งและต้องเสร็จก่อนอย่างน้อย 3 เดือน เมื่ออ่านคำสั่งที่ 53/60 อย่างละเอียดเห็นว่าที่น่าสนใจคือ ข้อ 8 ที่ระบุว่าเมื่อกฎหมายเลือกตั้งสส. สว.แล้วเสร็จ และประกาศใช้อย่างทางการ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) แจ้งคสช. ยกเลิกคำสั่งต่าง ๆ ที่ขัดขวางการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ซึ่งตอนนั้นฝ่ายพรรคการเมืองจะเป็นฝ่ายบอกเองว่าเลือกตั้งไม่ทัน ขอเลื่อนการเลือกตั้งเอง
“ขอแนะนำพรรคการเมืองว่าต้องบอกว่าทัน แต่เมื่อมีการประชุมใหญ่พรรคการเมือง พรรคเล็กที่มีจำนวนมากกว่าจะลงมติว่าไม่ทัน ขอเลื่อน ซึ่งหากเป็นแบบนี้รัฐบาล คสช.ไม่เสียหาย ส่วนที่บางพรรคการเมืองมองว่าคำสั่ง 53/60 เป็นการรีเซ็ตพรรคการเมืองแล้วออกมาโวยวายก็ไม่ได้เดือดร้อนจริง ๆ ซึ่งอาจเข้าทางพรรคใหญ่ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม มีการเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าพรรคที่มีสมาชิกมากจะชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นขอแนะนำว่าพรรคไม่ต้องมีสมาชิกมาก เพราะจะบริหารจัดการได้ง่ายกว่า” นายสมชัย กล่าว
ขณะที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า คำสั่งคสช.ที่ 53/60 คือการเซ็ตซีโร่ส.ส.เก่าหรือล้างไพ่ ให้ส.ส. สามารถเลือกพรรคใหม่หรือย้ายพรรคได้ โดยไม่ต้องลาออกจากพรรคเดิม สามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ทันที ซึ่งผลในทางกฎหมายคำสั่งดังกล่าวทำให้ไม่ต้องยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคใด และหากเจตนาของคสช.คือต้องการล้างไพ่ ในส่วนของ ส.ส.ก็สามารถอยู่ได้ หากไม่ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา และการเลือกตั้งครั้งนี้คสช.อาจเตรียมการเข้าสู่สนามการเลือกตั้งไว้แล้ว
“ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นภายใน 150 วัน หลังจากที่กฎหมายเลือกตั้งสส. สว.แล้วเสร็จและประกาศใช้ทางการ ในช่วงนี้จะย้ายพรรคให้เห็น ผมมองว่าคำสั่งคสช.ที่ 53 /60 ไม่ได้เป็นการปลดล็อคทางการเมือง เพราะหากจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ยังต้องขออนุญาตคสช. ในส่วนคำสั่งล่าสุด อนุญาตให้สามารถทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันสมาชิกภาพพรรคการเมืองหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.ป.พรรคการเมืองเท่านั้น แต่เรื่องอื่น ๆ ยังไม่อนุญาต” นายปริญญา กล่าว
แสดงความคิดเห็น