Posted: 21 Dec 2017 06:00 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้

อ่านรายละเอียดที่ บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน
บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค หนึ่งในเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ เธอเป็นฟันเฟืองหนึ่งจากอีกหลายชีวิตในการก่อร่างสร้างตัวของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่เริ่มเขียนกฎหมาย ล่ารายชื่อ ร่วมผลักดันให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ถูกพัฒนา กระทั่งวันนี้ก็ยังต้องคอยเฝ้าระวังและจับตาการบ่อนทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากจะนับเวลาก็เกือบ 2 ทศวรรษแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าบทสัมภาษณ์นี้ เป็นภาพสรุปประวัติศาสตร์การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคประชาชน ที่กว่าจะพัฒนามาถึงวันนี้ต้องผ่านการต่อสู้ เรียกร้องสิทธิอย่างเข้มข้น ช่วยปกป้องผู้คนไม่ให้ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล

“ฉันมองว่ามันเป็นสิทธิของประชาชนคนไทยทุกคนที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาล”

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบุญยืนและ ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ต้องปกป้องระบบนี้เอาไว้

หรือคนจนไม่มีสิทธิมีชีวิตต่อ?

“ตัวฉันผลักดันเรื่องนี้จากประสบการณ์ เคยไปเอายาให้แม่ที่โรงพยาบาล บ้านฉันไกลจากโรงพยาบาลมาก รถ เรือก็ไม่มี ไปกลับคือหมด 1 วัน วันนั้น จำได้เลยว่าคุณหมอคิดค่ายา 250 บาท แต่เรามีเงินมาไม่พอก็บอกว่า มีเงินมาไม่พอ ทางโรงพยาบาลถามว่ามีเงินมาเท่าไรล่ะ ตอบว่ามีเงินมา 200 บาท โรงพยาบาลก็จัดการแบบง่ายๆ คือเทยาออกและนับยา มีเงินเท่าไหร่ เอายาไปเท่านั้น โดยไม่ได้มองเลยว่าคนไข้ต้องกินยาแค่ไหนอาการเขาถึงจะดีขึ้น”

ความเจ็บป่วยและการรักษาเป็นเรื่องที่ต่อรองไม่ได้ ในยุคนั้น บุญยืนเล่าว่า ถ้าคุณมีเงินแค่ร้อยสองร้อยบาท คุณไปโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะเงินคุณไม่มีพอจ่ายค่าหมอ ค่ายา

“ประสบการณ์ตรงของฉันอีกเรื่อง คือฉันเป็นโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลสมุทรสงครามตรวจและบอกว่าเป็นเนื้องอกในช่องจมูก เพราะตอนแพ้มีอาการบวมมาก จึงส่งตัวมาที่โรงพยาบาลศิริราช ตอนนั้นอาการแพ้ลดลงแล้ว หมอตรวจและบอกว่าไม่เห็นมีเนื้องอกเลย ฉันก็ถามคุณหมอว่า เราจะหายจากอาการภูมิแพ้มั้ย หมอตอบชัดเจนว่า ต้องตายแล้วไปเกิดใหม่ถึงจะหาย การที่เราอยู่ในชนบท การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล การป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่คนมีเงินมีสิทธิมีชีวิตต่อได้ แต่คนจนไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ และโรคเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจทำให้ตายได้เพราะว่าเราจน”

ต่อมาบุญยืนได้รู้จักแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียม เธอบอกว่ามันเป็นเรื่องที่เธอทุ่มเททั้งกายใจและเห็นด้วยอย่างรุนแรง เพราะมันคือสิทธิของประชาชนทุกคนที่เสียภาษี รัฐบาลต้องดูแลประชาชนผู้เสียภาษี

ผลักดันกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

บุญยืนและอีกหลายๆ คนช่วยกันร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมา แต่ในรัฐไทย ไม่มีสิทธิอะไรที่ประชาชนได้มาโดยง่าย รัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุว่า หากประชาชนจะเสนอกฎหมายต้องมีรายชื่อ 50,000 รายชื่อ ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน เธอเล่าว่ามันคืองานที่หนักที่สุดในชีวิตที่เคยทำ ต้องขอเงินบริจาคเพื่อซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร ต้องเดินทางไปถึงบ้านเพื่อถ่ายสำเนา กว่าจะได้สัก 1,000 รายชื่อช่างยากเย็นแสนเข็ญใช้เวลาครึ่งค่อนเดือน

หลังจากได้รายชื่อแล้วก็ต้องมาตรวจสอบอีก เช่น หากคนใดไม่ได้ไปลงคะแนนเลือกตั้งก็จะไม่มีสิทธิลงชื่อ เรื่องขำขื่นก็คือรวบรวมรายชื่อไปนานเข้า รายชื่อเดิมที่ได้มาก็ถูกปลวกกินอีก เมื่อได้ครบ 50,000 รายชื่อยากมากจึงนำรายชื่อและกฎหมายไปเสนอพรรคการเมืองทุกพรรค

“เราเคยไปเสนอพรรคประชาธิปัตย์และได้การตอบรับที่ดีมาก เห็นด้วยในหลักการ แต่งบประมาณคงไม่พอ หมอสงวนเลยเสนอว่าถ้าอย่างนั้นลองนำร่องดูมั้ย”

รัฐบาลชวน หลีกภัยทดลองทำนำร่องโดยให้ครอบครัวละ 500 บาทสำหรับดูแลคน 5 คน บุญยืนเล่าว่าตอนนั้นครอบครัวเธอมีสมาชิกอยู่ 7 คน ก็ต้องมานั่งคิดว่าจะใส่ชื่อใครลงไป 5 คน กลัวว่าถ้าคนที่ไม่ได้ลงชื่อเกิดป่วยขึ้นมาจะทำอย่างไร กลุ่มประชาชนผู้พยายามผลักดันระบบหลักประกันฯ ตระหนักชัดขึ้นทุกขณะว่า การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิ เมื่อสิทธิที่ได้รับจากรัฐบาลขณะนั้นมีเงื่อนไขมาก พวกเขาจึงทดลองนำแนวคิดนี้ไปเสนอพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คือตัวแทนจากสมาชิกพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นที่มารับฟังข้อเสนอของ นพ.สงวน และเป็นจุดตั้งต้นของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ไม่เลย มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ขณะที่กฎหมายอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ กลุ่มแพทย์จำนวนมากออกมาประท้วงคัดค้าน มีการรวมตัวที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทุกคนสวมปลอกแขนสีดำเป็นสัญลักษณ์ จอน อึ๊งภากรณ์ หัวเรี่ยวแรงอีกคนหนึ่งบอกให้บุญยืนในฐานะภาคประชาชนขึ้นชี้แจง

“เราขอร้องคุณหมอว่าอย่าค้านกฎหมายฉบับนี้ เรียนหมอต้องใช้เงินนะ ที่บ้านน่าจะมีฐานะพอสมควร หมอไม่มีทางเข้าใจคนที่ลูกป่วย ผัวป่วย พ่อแม่ป่วย แล้วไม่มีปัญญาเอาเขาไปหาหมอ แล้วเขาต้องตาย แต่ความทุกข์ใจยังคงอยู่ เราไม่มีปัญญาดูแลรักษาเขา ทำให้เขาต้องตายในมือเรา มันทุกข์ทรมาน วันนั้นพอคุยกัน ตกลงเขาก็ให้ผ่าน

“ต่อจากนั้น ฉันถูกวางตัวไว้ว่าให้ไปล็อบบี้คุณมนูญกฤต รูปขจร (ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น) ไม่ได้ล็อบบี้หรอก แค่เข้าไปคุยถึงความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ ล็อบบี้ในบ้านเราฟังดูไม่ดี แต่ที่เยอรมนีมีตึกไว้ใช้ล็อบบี้ มีคนที่สนับสนุนเรื่องนั้นๆ มาให้เหตุผลว่าทำไมสนับสนุนเรื่องดังกล่าวเพราะอะไร ที่ค้าน ค้านเพราะอะไร บ้านเราเรื่องแบบนี้ชอบคุยกันใต้โต๊ะ ไม่เอามาคุยกันบนโต๊ะเหมือนต่างประเทศ สุดท้าย กฎหมายฉบับนี้ก็ออกมา แต่หนทางของมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ใช่แค่พรรคการเมืองมาปุ๊บก็ได้ มันมีการผลักดันมาตลอด พอได้มาแล้ว งบก็ใส่มาไม่พอ เราต้องไปผลักดันสิทธิตรงนู้น สิทธิตรงนี้ต่อ”

ความก้าวหน้าสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกประการหนึ่งคือมาตรา 41 ที่นำเอาแนวคิดจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาปรับใช้ นั่นก็คือผู้รับบริการมีสิทธิได้รับการชดเชยเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการ มาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ คือกองทุนชดเชยเยียวยาผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาล มันไม่ใช่การเอาคุณหมอหรือพยาบาลไปติดคุก เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเหตุสุดวิสัย พูดได้ว่ากองทุนชดเชยเยียวยานี้ช่วยลดการฟ้องร้องไปได้มาก

ไม่มีอะไรที่ได้มาแล้วดีเลย
“ฉันเชื่ออยู่อย่างว่าไม่มีอะไรที่เราได้มาแล้วมันดีเลย” บุญยืนกล่าว

แม้จะผลักระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ แต่ในช่วงแรกคนไทยกว่า 40 ล้านคนได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวเพียงคนละ 1,200 บาทติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี จนทำให้โรงพยาบาลจำนวนหนึ่งเกิดขาดทุน ซ้ำที่โฆษณาว่า 30 บาทรักษาทุกโรคก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ครอบคลุมถึงโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ และโรคไต

“พวกเราก็ต้องออกแรง ออกพลัง ฟ้องบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าเลือกปฏิบัติเพราะคนที่เป็นโรคร้ายแรง โรคที่ค่าใช้จ่ายสูง เขาไม่ได้เลือกว่าเขาจะเป็นโรคนั้นเอง คุณมีระบบหลักประกันสุขภาพคุณต้องดูแลเขาทุกโรค เราก็เลยรวมกันจัดตั้งชมรมผู้ป่วยโรคไตในสมัยนั้น คุณลุงสุบิน นกสกุลเป็นคนผลักดัน เพราะเขาไม่มีเงินล้างไตแล้ว ถ้าเขาไม่ได้ล้างภายในอาทิตย์สองอาทิตย์ เขาต้องตาย นี่คือความทุกข์ยากของผู้บริโภค เราจึงคุยกันว่าจะทำยังไงถึงจะช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ได้ เพราะผู้ป่วยโรคไตมีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถ ขายทุกอย่างเพื่อเอาเงินมาฟอกไต ต้องบอกว่าเราไม่ได้ผลักดันกับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) อย่างเดียว เราไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุข ไปคุยกับสำนักงานประกันสังคม จนสุดท้ายบอร์ดก็ยอมให้โรคไตเข้ามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์

“หรืออย่างโรคหัวใจ ถึงจะเข้าไปอยู่ในหลักประกันแล้วก็จริง แต่ก็มีคนตายด้วยโรคหัวใจเยอะ เพราะถ้าโรงพยาบาลนั้นรักษาไม่ไหว ก็ให้ส่งต่อ แต่มีข้อแม้ว่าโรงพยาบาลต้นสังกัดต้องตามไปจ่าย ตรงนี้ทำให้ไม่เกิดการส่งตัว กลัวโรงพยาบาลตัวเองต้องตามไปจ่ายเพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เราก็เข้าไปผลักดันอีก สปสช. จึงจัดตั้งกองทุนโรคหัวใจไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อเฉลี่ยความรับผิดชอบจากโรงพยาบาลเล็กๆ คือถ้าใครเป็นโรคหัวใจก็ไปเบิกจากกองทุนส่วนกลาง โรงพยาบาลไม่ต้องตามไปจ่าย พอมีกองทุนตรงกลางอยู่ใน สปสช. แล้ว ก็ทำให้โรงพยาบาลไม่มีความกังวลเรื่องการส่งตัวผู้ป่วย ใช้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นตัวจ่าย นี่คือการแก้ปัญหา หลังจากนั้นมาโรคหลายโรคเหมือนยกภูเขาออกจากอก ต้องบอกว่าสิทธิทุกอย่างที่ได้มา เราต้องเรียกร้องและผลักดัน”

บุญยืน เล่าความหลังให้ฟังว่า ช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การรัฐประหารปี 2549 เธอและคนอื่นๆ กว่า 140 คนต้องแอบประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะมีคำสั่งห้ามไม่ให้ชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป เธอเสียดสีว่าทำไมรัฐบาลที่มาด้วยปืนถึงต้องกลัวประชาชนเกิน 5 คนขึ้นไป การประชุมได้ข้อสรุปว่าจะส่งตัวแทน 16 คนไปยื่นหนังสือที่กองทัพบก เธอขับรถขึ้นทางด่วน ปรากฏว่าโดนจับเนื่องจากตอนนั้นมีกฎหมายห้ามผู้โดยสารนั่งท้ายรถกระบะขึ้นทางด่วน

“เราก็ต่อรองกับตำรวจว่ากำลังจะไปยื่นหนังสือกับทหาร แต่ตำรวจบอกว่าปล่อยคุณไปไม่ได้หรอกครับ ถึงปล่อยไปคุณก็ไปติดตรงอื่นอีก ก็ถามเขาว่ากฎหมายว่ายังไงนะ ห้ามนั่งกระบะ ตำรวจบอกให้ไปนั่งในแค็ป แต่คนตั้ง 16 คน ไม่ไหวหรอก ถ้าห้ามนั่ง ถ้าอย่างนั้นขอนอนไปได้มั้ย ก็นอนไปแบบนั้น แล้วขับไปลงที่อุรุพงษ์เพื่อเข้าถนนราชดำเนินไปยื่นหนังสือที่กองทัพ”

หนังสือที่บุญยืนและอีก 16 คนถือไปมีข้อเสนอ 3 ข้อต่อรัฐบาลชุดนั้น หนึ่ง-ยกเลิกบัตรทอง ให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียว สอง-เพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัว และสาม-เลิกเก็บ 30 บาท ซึ่งรัฐบาลก็รับข้อเสนอนี้ไป แต่เมื่อพรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้งกลับมาเก็บอีกครั้ง โดยมี วิทยา บุรณศิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ข้อเสนอให้เก็บเงิน 30 บาทก็กลับมาอีก

“ฉันถามว่าจะเก็บเงินเขาอีกทำไม เงินก็นิดเดียว มันช่วยไม่ได้หรอก ถามคุณวิทยาตรงๆ ว่าคุณเก็บ 30 บาทเพื่อรีแบรนด์พรรคไทยรักไทยใช่มั้ย อย่าเอาตรงนี้ไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้มั้ย แต่สุดท้ายด้วยอำนาจก็กลับมาเก็บ 30 บาทเหมือนเดิมเพื่อรีแบรนด์ เพราะมีการเมืองเข้ามาแทรกคนเลยด่าว่าเป็นของพรรคการเมือง เป็นของคนนู้นคนนี้ มันช่วยให้หาเสียงให้คนนู้นคนนี้”

อย่างไรก็ตาม การเก็บ 30 บาทไม่ได้เป็นการบังคับ หากใครไม่ต้องการจ่ายสามารถแจ้งกับทางโรงพยาบาลได้

ต่อมามีการพัฒนาขึ้นในกรณีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ก่อนในระยะเวลา 48 ชั่วโมงแรก โดยไม่ต้องชำระค่าบริการ ซึ่งบุญยืนบอกว่ายังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือนัก ทำให้ต้องคอยเฝ้าระวังไม่ให้โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาพยาบาลก่อน หากเกิดขึ้นก็ให้มาร้องเรียน

ชีวิตคือการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ

“ชีวิตคือการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ กว่าจะผลักดันเป็นกฎหมายได้ แล้วยังต้องเรียกร้องให้ได้สิทธิอีก ไม่ว่าใครจะมาล้มระบบหลักประกันก็แล้วแต่ เราคงยอมไม่ได้ และที่มีคนออกมาบอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของทักษิณ คนที่ออกมาปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นคนของทักษิณ อันนี้ไม่เป็นความจริงเพราะฉันไม่เคยสวามิภักดิ์กับพรรคการเมืองไหนและนายกฯ คนไหน ดีชม ไม่ดีด่าทุกรัฐบาล” บุญยืนพูดตรงไปตรงมา โผงผางตามบุคลิก

“คนที่เข้ามามีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน เข้ามาโดยการยึดอำนาจ คุณไม่มีปัญญาทำเรื่องดีๆ ก็อย่าทำลายเรื่องดีๆ ที่เขาทำไว้ ถามว่าทำไมถึงสู้แบบสู้ตาย เพราะนี่เป็นสิทธิของคนไทยทุกคน ตอนรัฐประหารครั้งที่แล้วก็เหมือนกัน อะไรที่เป็นของทักษิณ มันไม่ดีทั้งหมด ต้องทำลาย แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่ของทักษิณ แต่เป็นของเรา เราไปร่างใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งแต่ก่อนคุณทักษิณจะมีพรรคอีก คุณทักษิณเป็นแค่กลไกหนึ่งที่ทำให้กฎหทายเราออกมาและเป็นผลบังคับใช้ เพราะตรงนั้นเป็นหน้าที่ของนักการเมือง

“ไม่ว่ารัฐบาลไหน ใช่ว่าเราจะได้สิทธินั้นทันที ไม่มีทาง เราต้องผลักดัน ระบบหลักประกันฯ เมื่อช่วงปี 2545-2547 กับตอนนี้ต่างกันมาก มันพัฒนาไปเยอะมาก เพราะแรงผลักดันของกลุ่มคนรักหลักประกัน และคราวนี้ที่แก้กฎหมายก็ทุ่มสุดตัว ตายเป็นตาย ติดคุกก็ยอม นอนให้ถูกเหยียบ ถูกกระชากตามข่าว ยอมทุกอย่าง มีคนโจมตีว่าอยากได้เงินเขาล่ะสิ ฉันก็บอกว่าฉันเป็นเอ็นจีโอสายชาวบ้านนะ ชาวบ๊านชาวบ้าน มาทำงานแบบนี้เขาเรียกเอ็นจีโอ แต่จริงๆ แล้วเป็นชาวบ้าน มีอาชีพเป็นเกษตรกรกับทำประมง ไม่จำเป็นต้องกินเงินเดือนจากงบเหล่านี้ แล้วถามว่าทำไมต้องมาทำเรื่องนี้เพราะมันถูกจริตและนี่เป็นสิทธิของคนไทย ซึ่งรัฐบาลไหนๆ ที่เข้ามาก็ต้องทำแบบนี้ แต่ที่เราไม่ได้สิทธิเพราะรัฐบาลละเลยการทำหน้าที่”

ภัยพิบัติทางกฎหมาย

บุญยืนพูดถึงการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่กำลังดำเนินการอยู่เวลานี้ว่า ถ้าแก้แล้วแย่อย่าแก้ดีกว่า กฎหมายฉบับนี้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับมาตั้งแต่ต้น แต่กลับจะแก้กฎหมายด้วยอคติ นำบุคคลที่มีอคติต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาแก้

เมื่อถามว่า อะไรคือภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวลานี้

“ภัยพิบัติธรรมชาติยังไม่ร้ายแรงเท่าภัยพิบัติทางนโยบาย แต่ก็ยังไม่ทำร้ายประชาชนเท่าภัยพิบัติทางกฎหมาย ถ้ามีการแก้กฎหมายหลักประกันฯ ซึ่งเอื้อเอกชน เอื้อให้มีการรีดไถประชาชนมากขึ้นโดยการร่วมจ่าย ฉะนั้น ไม่ควรฟังผู้ประกอบการอย่างเดียว ต้องฟังประชาชนด้วย ณ วันนี้ฉันก็ไม่เข้าใจว่าโรงพยาบาลของรัฐที่มีงบประมาณสนับสนุนตลอดทำไมถึงอยากเก็บเงินจากประชาชนนักในเมื่อประชาชนจ่ายไปแล้วในรูปแบบของภาษี คือถ้าคุณจะร่วมจ่ายโดยเก็บภาษีเพิ่ม อันนี้โอเค แต่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย ถ้ามีเงินมากกว่าคุณก็ดูแลมากกว่าใช่มั้ย คนนี้มีเงินจ่ายน้อยกว่าก็ดูแลน้อยกว่า มันใช่เหรอระบบแบบนี้

“ปีหน้าสิ่งที่เราต้องจับตาคือการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะกฎหมายนี่แหละที่จะทำให้เราได้สิทธิหรือไม่ได้สิทธิ ผู้นำประเทศชอบพูดว่าคนไทยต้องเคารพกฎหมาย ฉันเคารพกฎหมาย แต่ไม่เคารพการแก้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชนเท่านั้นเอง ขอประกาศไว้ตรงนี้เลยว่า นี่คือก้าวที่ไม่วันถอยเด็ดขาด ไม่ได้สู้เพื่อทักษิณ แต่สู้เพื่อสิทธิของคนไทยทุกคน ยืนยันชัดเจนวันนี้ ยืนยัน นอนยัน นั่งยัน ว่าฉันไม่มีวันถอยเรื่องนี้เด็ดขาด”
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.