Posted: 22 Dec 2017 12:49 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ปิดม่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 ฉันทมติ 4 ประเด็นสำคัญ กิจกรรมทางกาย พื้นที่เล่น ยาเสพติด ขยะ


22 ธ.ค. 2560 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า วันนี้ มี การแถลงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นมงคลยิ่งที่การจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 นี้ ได้รับประทานพระคติธรรมจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมจัดพิธีประกาศและพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” โดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,200 คน จาก 250 กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ มีระเบียบวาระใหม่ที่เสนอเข้าพิจารณาหาฉันทมติใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น (2) ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (3) การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา และ (4) การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการรายงานและประกาศชื่นชมรูปธรรมความสำเร็จจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้งระดับชาติและพื้นที่ ตลอดจนการเสวนานโยบายสาธารณะในประเด็นที่หลากหลาย รวมถึงกิจกรรมในลานสมัชชาสุขภาพที่สะท้อนดอกผลความสำเร็จของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ผ่านตลาดนัดสุขภาวะ-นิทรรศการมีชีวิต

ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ วางเป้า 10 ปี พระแข็งแรง-วัดมั่นคง-ชุมชนเป็นสุข
เปิดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 10 หาฉันทมติ 4 ระเบียบวาระ กิจกรรมทางกาย-ยาเสพติด-ขยะ-พื้นที่เล่น

นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 กล่าวถึงสาระสำคัญของ มติชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ว่าหัวใจของการแก้ปัญหาคือการใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในแก้ไขปัญหา เน้นที่การปรับทัศนคติของชุมชนต่อผู้เสพยาเสพติด ให้เห็นว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นคนในชุมชนที่คุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา เพื่อให้กลับมาเป็นทรัพยากรที่มีค่าของสังคมและชุมชนต่อไป ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาทุกระดับด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติจะได้ผลมากกว่าการปราบปราม แต่จะไม่ใช่การค้นหาหรือบังคับให้ผู้เสพเข้ามารับการบำบัดรักษา ต้องเน้นการชักนำให้ผู้เสพสมัครใจเข้ารับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเอง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีบทบาทเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานกับชุมชน องค์กรศาสนา สถาบันครอบครัว องค์กรสตรี เด็กและเยาวชน รวมทั้งสถาบันศึกษา เพื่อช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกัน รวมถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เป็นไปได้และการกำกับดูแล สำหรับคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอทั่วประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ จะช่วยในการประสานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชน รวมถึงมีบทบาทในการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ สนับสนุนให้ผู้รับการบำบัดให้มีอาชีพที่เหมาะสม รวมถึงติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้วย

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 กล่าวถึง มติการพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา กล่าวถึงสาระสำคัญของมติ คือ การเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ดำเนินการ 3 ประเด็น คือ 1. เพิ่มเติมเรื่องการพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยในร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เด็กปฐมวัย พ.ศ.2560-2564 เพื่อสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกัน 2. การบูรณาการการพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษาทั้งระดับชาติและพื้นที่ และ 3. สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาพื้นที่เล่นฯ พร้อมทั้งขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เพิ่มเติมการพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยปฐมศึกษา ไว้ในแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2564 ขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ กทม. ร่วมกับสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยของพื้นที่เล่นของเด็กให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมถึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เร่งจัดทำระบบเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่เล่นของเด็กในระดับพื้นที่และประเทศ ส่วนในระดับพื้นที่นั้น จะเป็นการทำงานร่วมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอและระดับเขตเพื่อให้เกิดคณะกรรมการพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา โดยขอให้คณะกรรมาธิการศึกษาจังหวัดร่วมกับสถานการศึกษาในพื้นที่ สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เล่นที่มีมาตรฐานและปลอดภัยด้วย

ขณะที่ ปรีดา คงแป้น ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 2 กล่าวถึง มติการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ว่า สามารถแบ่งบทบาทที่เกี่ยวข้องขององค์กรใน 3 ระดับคือ 1. ระดับพื้นที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาขยะ โดยให้กำหนดมาตรการควบคุมจัดการขยะและรายงานผลการดำเนินงานต่อชุมชนด้วย 2. ในระดับจังหวัดและ กทม. ให้มีคณะกรรมการจัดการขยะมูลฝอยที่ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด โดยร่วมมือกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน สนับสนุนให้ชุมชนมีกลไกร่วมกันในการจัดการขยะ พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ความรู้กับชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม 3. ระดับชาติ ให้มีคณะกรรมการจัดการขยะในระดับชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ทำงานเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการขยะ รวมถึงจัดหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย สนับสนุนการศึกษาวิจัยการจัดการขยะ และมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดการขยะและคัดแยกขยะในพื้นที่ท่องเที่ยวผ่านสื่อทุกรูปแบบทั้งภาษาไทยและต่างประเทศด้วย

ภารนี สวัสดิรักษ์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 2 เปิดเผยว่า มติการส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. กิจกรรมทางกายสามารถทำได้ทันที แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจและปลอดภัย โดยให้เครือข่ายช่วยกันพัฒนายุทธศาสตร์แผนระดับองค์กร ระดับพื้นที่ เชื่อมโยงกับกลไกของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต 2. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดการความรู้ระบบฐานข้อมูล เพื่อการวางแผนพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นและการติดตามผล 3. ขอให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลักในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพื้นที่และการใช้พื้นที่ให้เกิดกิจกรรมทางกาย 4. นำองค์ความรู้ใช้ในการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมทางกายให้เกิดเป็นผลในทางปฏิบัติ โดยในระดับครอบครัว เป็นบทบาทของกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหลัก ส่วนในสถานศึกษาเป็นบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของสถานประกอบการและภาคเอกชน ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนเมือง โดยให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ 5. ศึกษาถึงการใช้มาตรทางการคลังเพื่อส่งเสริมเรื่องนี้อย่างเหมาะสม และ 6. การรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์

อนึ่ง “สมัชชาสุขภาพ” คือ เครื่องมือพัฒนานโยบาย สาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม เกิดขึ้น ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ถือเป็นแนวทางใหม่ของการพัฒนานโยบายสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สมัชชาสุขภาพแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2) สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และ 3) สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น โดย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติได้กำหนดให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.