Posted: 28 Dec 2017 09:21 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ใบตองแห้ง
ซูเปอร์โพลยกลุงตู่กับพี่ตูนเป็นขวัญใจมหาชน ด้านการเมือง ด้านบันเทิง แบบทิ้งห่างคู่แข่ง กรุงเทพโพลล์ยกพี่ตูนเป็นบุคคลน่าชื่นชมยกย่องที่สุดในรอบปี แบบทิ้งห่างลุงตู่ 83.5% ต่อ 11.4%
แหม่ ไม่ค่อยจะเป็นธรรม เอามาวัดกันได้ไง ลุงตู่ไม่ใช่ซุป”ตาร์ แต่เป็นซุป”ฮีโร่เหมือนกันนะ ไปพิษณุโลก สุโขทัย ประชาชนยกให้เป็นฮีโร่ ตูนก็บรรลุเป้าหมาย วิ่งถึงแม่สาย วันเดียวกัน
กระนั้นไม่เป็นไร ยกย่องตูนไปเถอะ ลุงตู่ชอบด้วยซ้ำ เพราะตูนทำเพื่อชาติ เหมือนที่ลุงตู่ทำมา 3 ปี ต่างแค่วิธีการ
คนหนึ่งเป็นนักร้อง คนหนึ่งเป็นนักให้โอวาทออกทีวี ทำความดีเหมือนกัน ลุงตู่จึงสนับสนุนทุกอย่าง สั่งตำรวจทหารอำนวยความสะดวก ส่วนราชการ จังหวัด ผู้ว่าฯ ช่วยระดมเงินบริจาค แม้แต่กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน ก็ต้องระดมเงินช่วย จะแบมือรอรับเฉยๆ ได้ไง
กระแสบ่นว่ารัฐบาลเอาแต่ซื้อรถถัง เรือดำน้ำ ไม่จัดงบให้ โรงพยาบาลอย่างเพียงพอ ก็เลยเงียบหายไป กลายเป็นรัฐบาล กองทัพ ร่วมสร้างมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่กับตูน (และท่าน ว.) นี่ก็เพิ่งส่งเครื่องบิน ทบ.ไปรับ
แน่ละครับ รัฐบาลยินดีสนับสนุนเต็มที่ ให้ตูนเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำความดี เป็นพรีเซ็นเตอร์แห่งความร่วมแรงร่วมใจ มีปัญหาอะไรเราก็ช่วยกันคนละไม้ละมือ ไม่ใช่เอาแต่บ่น เอาแต่เรียกร้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ต้อง “ทำมากกว่าพูด”
อ๊ะอ๊ะ พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าตูนเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เพราะตูนไม่ได้คิดอะไร คิดแค่จะช่วยโรงพยาบาล เหมือนเคยทำที่บางสะพาน แต่พอเริ่มโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ก็กลายเป็นอภิมหาปรากฏการณ์ ซาบซึ้งตื้นตันใหญ่โต เพราะสังคมไทยกำลังโหยหา “ไอดอลแห่งความดี”
จนบางคนคาดหวังไปไกลว่า ตูนจะสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวให้คนไทย สร้างปรากฏการณ์ใหม่แห่งความกลมเกลียวของคนในชาติ ที่ขัดแย้งมาสิบปี สร้างพื้นที่ตรงกลางที่คนโหยหา
ซึ่งเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ นั่นมันหน้าที่ของน้องเกี่ยวก้อยหน้าดำ มาฝากความหวังพี่ตูนของน้องก้อยรัชวินได้ไง
เพียงแต่พอตูนวิ่ง ระดมเงินบริจาค ก็ต้องอาศัยทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งวัฒนธรรมไทยใจบุญสุนทานแต่โบราณ วัฒนธรรมคลั่งไคล้ดาราเซเลบในสมัยปัจจุบัน วัฒนธรรมโปรโมชั่นงานอีเวนต์แบบแกรมมี ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือทำความดี รวมทั้งอาศัยการอุปถัมภ์จากทุกฝ่าย จะปฏิเสธความคาดหวังได้อย่างไร ใครเกาะกระแสทำบุญก็ต้องรับ
แต่หลังจากนี้ เชื่อว่าตูนฉลาดพอที่จะเฟดตัวเองไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม เพราะรู้ว่าไม่ง่ายนักที่จะมาเป็นไอดอลแห่งพื้นที่ตรงกลางอะไรนั่น
ว่าที่จริง รัฐบาลก็ไม่ได้ต้องการให้ตูนมาสนับสนุน แค่ต้องการให้เป็นไอดอลแห่งการทำดี เป็น “ฮีโร่ในระบบ” ผู้นำกระแสจิตอาสา เสียสละ ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อชาติบ้านเมือง
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติและประกาศใช้ ก็ได้กำหนดโครงสร้างอำนาจที่จัดลำดับชั้นไว้อย่างมั่นคงแน่นอน ไม่สามารถพลิกผันด้วยอำนาจเลือกตั้ง อย่างหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐแห่งความมั่นคงเริ่มกระชับอำนาจทางความคิด ทางวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนยอมรับระบบที่กำหนด และเป็น “คนดีของระบบ” ซึ่งมีหน่วยงานความมั่นคงเป็นศูนย์กลาง
รัฐจึงปลูกฝังให้ประชาชนเป็นพลเมืองดี สำนึกในหน้าที่ เชื่อมั่นในรัฐบาลที่ใช้อำนาจเป็นกฎหมาย ไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง เพราะใส่นาฬิกาธรรมาภิบาล
ประชาชนมีหน้าที่ร่วมมือเชื่อฟังข้าราชการ ตำรวจ ทหาร กอ.รมน. ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามลำดับชั้น ร่วมกันทำความดี เช่น บริจาคทำบุญ ช่วยผู้ยากไร้ รักสัตว์ ปลูกป่า รักษาสิ่งแวดล้อม งดเหล้าเข้าพรรษา สวดมนต์ข้ามปี อย่านั่งท้ายรถกระบะ (เพราะรัฐบาลห่วงใย)
ถ้าเชื่อฟังแล้วรัฐบาลจะดูแลให้ทุกอย่าง จะทำให้หายจน แจกของขวัญ แจกบัตรคนจน ไม่ต้องฝากความหวังกับการ เลือกตั้ง เพราะเลือกอย่างไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนหมดสมัยแล้ว ต้องเป็น “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” คือร่วมมือเชื่อฟังอย่างนี้แหละ
ตูนจึงเป็นจิ๊กซอว์ที่โผล่มาโดยบังเอิญ ในขณะที่รัฐกำลังต้องการฮีโร่ของระบบ คนดีของระบบ รวมทั้งสังคมก็กำลังโหยหาไอดอลแห่งความดี
ขณะที่พวก “เด็กดื้อ” หัวแข็ง ต่อต้านโครงสร้างอำนาจ วิพากษ์วิจารณ์ระบบ ก็จะถูกเบียดขับออกไปเป็นคนนอกของสังคม แบบไผ่ ดาวดิน, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, รังสิมันต์ โรม, จ่านิว ฯลฯ พวกเรียกร้องเสรีภาพประชาธิปไตยทั้งหลายก็จะกลายเป็นพวกชังชาติ โทษฐานไม่ยอมร่วมสร้างชาติ และจะรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า “บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา”
นั่นคือภาพที่ตัดกันในรอบปีที่ผ่านมา
ที่มา: www.khaosod.co.th
แสดงความคิดเห็น