Posted: 26 Dec 2017 01:25 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

วสุ วิภูษณะภัทร์ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า

วงเสวนาแนวทางการปฎิรูปป่าไม้ฯ ชี้รัฐตีโจทย์เรื่องความมั่งคั่งผิด ทำไทยเสียโอกาสค้าไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล แนะปลดล็อคกกฎหมาย ขาย-ส่งออกไม้เศรษฐกิจต้องง่าย และตรวจสอบแหล่งที่มาได้


เสวนา “เเนวทางการปฎิรูปป่าไม้ไทยเพื่อการปรับปรุงกฎหมาย ธรรมาภิบาล เเละการค้า” โดยศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าจัดงานเสวนา "เเนวทางการปฎิรูปป่าไม้ไทยเพื่อการปรับปรุงกฎหมาย ธรรมาภิบาล เเละการค้า" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การเสริมสร้างความสามารถในการทำไม้และการค้าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในการทำไม้และการค้าไม้เพื่อให้ปฏิบัติตามกระบวนการวีพีเออย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย” เพื่อที่จะได้นำเสนอข้อค้นพบเสียงสะท้อนจากเกษตรกรรายย่อยในการทำไม้และการค้าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นำไปสู่การหารือแนวทางการปรับปรุงระบบการบริหารป่าไม้ของประเทศไทยให้มีความประสิทธิภาพและมีความพร้อมต่อการสร้างระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายไม้ของไม้ระหว่างภาคประชาสังคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประเทศไทยกับการตีโจทย์ความมั่งคั่งที่ผิด


จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยตีโจทย์ “ความมั่งคั่ง” ตามนโยบายเศรษฐกิจThailand 4.0 ผิดไป เพราะมีกฎหมายที่ควบคุมการทําไม้มากกว่าส่งเสริมทําให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการสร้างแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

“เราเริ่มต้นจากการกลัดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่แรก ตอนนี้จะให้แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้แล้ว มันต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ ตั้งแต่เรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ. สวนป่า ผมคิดว่าเราต้องมาเริ่มใหม่ มันแก้ที่ละจุดไม่ได้แล้วตอนนี้ และต้องตีโจทย์ใหม่คือ เรื่องความมั่งคั่ง ทำไงที่จะทำให้รู้สึกว่าทุกคนขายได้ และสามารถจะส่งออกได้ วันนี้ถ้าเกษตรกรปลูกไม้ ตัดและส่งออกได้ มันก็จะเกิดความมั่งคั่งขึ้นมา วันนี้เราไม่ได้บอกว่าเรื่องของกฎหมายป่าไม้ไม่ดี ทุกวันนี้เรามีกฎหมายป่าไม้ที่เรียกว่าเข้มแข็งที่สุดในโลก แต่เราควรมีมาตรฐานในในเรื่องของการค้าขายไม้ด้วย มีระบบที่ดี มีการตรวจสอบย้อนกลับ พื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศสามารถทำให้ถูกต้องได้แค่ใส่ระบบลงไป ทุกแปลงที่ปลูกไม้ก็ทำระบบ เพื่อที่จะได้รู้ที่มาของไม้ แต่วันนี้กฎหมายป่าไม้บ้านเราไม่ใช่ 4.0 แต่เป็น 0.4 ยังห่างไกล เพราะเรามุ่งตีโจทย์เรื่องความยั่งยืนจะเกินเหตุ แต่ความยั่งยืนมันจะเกิดขึ้นได้จากความมั่นคง และมั่งคั่ง” จิรวัฒน์ กล่าว

ปลดล็อคกกฎหมาย ขาย-ส่งออกไม้ต้องง่ายและตรวจสอบแหล่งที่มาได้

จิรวัฒน์ยังกล่าวว่าในขณะที่ไม้ที่ไม่ใช่ไม้หวงห้ามตามพ.ร.บ. ป่าไม้ เช่น ไม้ยางพารา สามารถสร้างรายได้ กว่า 60,0000 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้อันดับหนึ่งของโลก

“เป็นเพราะประเทศไทยให้ส่งออกได้เฉพาะไม้ยางพารา แล้วเราก็อยู่เบอร์หนึ่งของการส่งออก สร้างรายได้ปีละ 60,000 ล้านบาท ขณะที่ประเทศเราไม่ได้มีดีแค่ไม้ยางพารา เรามีไม้เชิงเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่เรากลับมีกฎหมายที่ล็อคไว้ ในขณะที่การค้าอุตสาหกรรมไม้บ้านเรามีโอกาสที่ดีมาก เพราะมีเส้นทางเหนือจรดใต้ทะลุจีน แต่กลับซื้อขายไม้ไม่ได้ แต่สิงค์โปร์เขาซื้อไม้จากมาเลเซีย ส่งผ่านประเทศไทยไปขายต่อที่ประเทศจีน จริงๆเรามีโอกาสทางโลจิสติกส์ เราน่าจะทำการค้าตรงนี้ให้เกิดขึ้น แต่กฎหมายล็อคไว้ ตอนนี้นำเข้าไม้ได้ แต่ห้ามส่งออก ถ้าปลดล็อคแก้กฎหมายตรงนี้ได้การซื้อขายเราจะไปได้ไกลมาก”

เราต้องวางโจทย์เราความมั่งคั่งเอาไว้ก่อน แล้วมันจะกระจายไปสู่ชุมชน เพราะไม้ปลูกได้ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ และมันสามารถสร้างเศรษฐกิจได้ วันนี้เราต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการซื้อการขาย ทำให้มันง่ายขึ้น แต่ต้องมีธรรมาภิบาลต้องสร้างระบบตรวจสอบ ไม่ใช่ว่านึกจะขายก็ขายได้ เช่นไม้ที่มาจากต่างประเทศต้องมีเอกสารนำเข้าอย่างสมบูรณ์เท่านั้นถึงจะนำมาส่งออกได้ ส่วนไม้ที่ปลูกเองต้องมีการขึ้นทะเบียนสวนป่า และต้องทำระบบให้ง่าย มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ คือเราต้องมีการรับรองตัวเองได้จากเกษตรกร (Self-certify) อย่างมีระบบ และทำให้มันน่าเชื่อถือ เช่นมีองค์กรที่เป็นบุคคลที่สามเข้ามาดูแล เเละผมเชื่อว่าจะง่ายด้วย หากเราจัดระบบจัดมาตรฐานในการดูแล ซึ่งระบบแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมีคนเคยทำแล้ว เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกามีการรับรองไม้โดยสมาคม ซึ่งทำระบบได้ดีมาก สมมติว่าคุณอยู่ที่รัฐพอร์ตแลนด์ และเป็นสมาชิกสมาคม คุณอยากจะขายไม้ ก็ใส่ข้อมูลเข้าไปว่าจะขายไม้กองนี้ มันก็จะขึ้นมาโชว์เป็นระบบ”

เกริก มีมุ่งกิจ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม-เฟล็กทีในฐานะตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศมองว่าขั้นตอนทางกฎหมายในการขออนุญาตทําไม้ควรที่จะสะดวกที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจเป็นอาชีพ และลดการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ

“กลุ่มผมเป็นเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มเล็กที่ปลูกต้นไม้ เรารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำธนาคารต้นไม้ เกษตรกรแต่ละคนเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่พยายามจะทำให้ถูกต้องมากฎหมาย คือการตัดไม้ที่หวงห้าม หรือการขอเอกสารสิทธิ์ เราก็มาดูว่าอะไรบ้างที่ต้องทำตามกฎหมาย พูดกันง่ายเกษตรกรรายย่อยจะทำได้ยาก แต่ถ้าเป็นคนมีเงินที่ทำธุรกิจค้าไม้อาจจะง่ายกว่า เอาแค่เดินทางไปขออนุญาตตัดไม้ ไปกลับ แค่นี้ก็หมดเงินไปเยอะแล้ว ฉะนั้นหากว่าการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องง่าย และส่งเสริมให้ทำ ก็คงต้องฝากไปยังรัฐมนตรีด้วยว่า ไทยเป็นประเทศที่ค้าไม้มากที่สุด แต่ทุกวันนี้เรานำเข้าไม้ปีละ 3-4 แสนล้านบาท แต่ส่งออก 60,000 ล้านบาท นี่เป็นตัวเลขที่สวนทางกัน” เขากล่าว

คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกร รัฐบาลคิดอย่างไรที่เห็นคนกว่า 40 ล้านคนยังจนอยู่ เรามีวิธีที่จะทำให้เขารวยได้ และไม่ได้รวยเฉพาะเกษตรกรแต่มันจะส่งผลความเติบโตทางเศรษฐกิจไปทั่งประเทศ ทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร และรัฐก็จะได้รายได้เพิ่มขึ้น ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความจนก็จะหมดไป หากเกษตรกรสามารถที่จะปลูกไม้ไว้สำหรับขายได้ เช่นในช่วงอายุประมาณ 30-40 เกษตรกรคนหนึ่งปลูกต้นไม้เชิงเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 ไร่ รวม 1,000 ต้น เมื่อโตเต็มที่ผ่านไป 20 ปีตีราคาได้ต้นละ 20,000 บาท เกษตรกรอาจจะไม่จำเป็นต้องตัดขายทั้งหมด แต่การมีอยู่ของต้นไม้ และการมีโอกาสที่จะค้าขายได้ก็จะเป็นหลักประกันให้กับชีวิตของเกษตรกร ”


พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ 

ปลดล็อคกฎหมายป่าไม้ทั้งระบบ

ในขณะที่พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมกล่าวว่าการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้จะต้องปลดล็อคกฎหมายทั้งระบบเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ไม้ในพื้นที่เอกสารสิทธิให้มีความสะดวกขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่ยกเลิกชนิดไม้หวงห้ามตามมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ และคําสั่ง คสช. 106/2557

“วันก่อนผมไปปลูกต้นไม้ที่อยุธยา ท่านนายกฯเป็นประธาน มีต้นไม้มาปลูก มียางนา เขาหันมาถามว่า ที่บ้านผมก็มียางนาผมจะตัดได้ไหม ก็มีเจ้าหน้าที่ของมหาดไทยบอกว่า อยู่ในที่ท่านตัดได้ครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ของป่าไม้บอก ตัดได้ครับแต่ต้องขออนุญาต ท่านายกก็พูดว่าอย่างนี้คนไทยก็ไม่เข้าใจใช่ไหม แล้วการขออนุญาต ขอจากใคร แล้วยากไหม”

“ผมก็เห็นใจข้าราชการ ถ้ามาดูนโยบาย เรื่องพื้นที่เอกสารสิทธิ์ ผมให้เขาเขียนมาหลายครั้งแล้ว แก้มาหลายครั้งก็ยังไม่โดนผมก็ให้เขาแก้มาใหม่ เอาง่ายๆ ปลูกง่าย ขายง่าย ตัดง่าย ซึ่งจะมีขั้นตอนปฏิรูปกฎหมายค่อยเป็นค่อยไปเพื่อมั่นใจว่าไม้ไม่ได้มาจากการสวมตอ คือวันนี้ต้องแบ่งให้ชัด ระหว่างคนทำไม้เถื่อน กับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ เหมือนการผ่านรูตันเส้นเลือดตีบในวันนี้”

ขวัญชัย ดวงสถาพร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการปฏิรูปป่าไม้ไทยไม่ใช่แค่ยกเลิกชนิดไม้หวงห้าม ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 และคําสั่ง คสช. ในการเพิ่มชนิดไม้หวงห้าม แต่ต้องมีการแก้กฎหมายการทําไม้ทั้งระบบ

“มาตรา 7 ตัวเดียวไม่จบ ผมจึงเรียนว่าแก้ มาตรา 7 ยังเดียวไม่จบ เพราะมันเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นด้วย เรื่องการขออนุญาตตั้งโรงเลื่อย พ.ร.บ. ป่าไม้ อะไรมันไม่ใช่เรื่องเดียว แล้วที่สำคัญคือถ้าไปขึ้นทะเบียนเป็น พ.ร.บ.สวนป่า จะติดเรื่อง พ.ร.บ. สวนป่าด้วย เพราะฉะนั้นการบอกให้แก้ของท่านอย่างเดียวไม่จบหรอกครับ ต้องมองทั้งระบบ ปฏิรูปทั้งระบบ”

ปฏิรูปอำนาจการตีความเนื้อหากฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขวัญชัย ยังกล่าวถึง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ที่เรียกร้องกันมานานว่าต้องมีการปฏิรูปการตีความเนื้อหากฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ทําให้ พ.ร.บ. ต่างๆ เช่น พ.ร.บ.อุทยานฯ หรือพ.ร.บ. ป่าชุมชน มีการล่าช้าในการบังคับใช้

“พ.ร.บ. ป่าชุมชน ที่เรียกร้องกันมานาน ซึ่งเคยออกได้แล้ว ผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2550 แต่ปรากฏว่าขณะนั้นมีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญ เรื่ององค์ประชุมไม่ครบ ก็เลยเอาร่างรัฐธรรมนูญมาปรับใหม่ ขวัญชัยกล่าวว่าพอไปอ่านความเห็นของหน่วยงานของรัฐต่อ พ.ร.บ. ป่าชุมชน ปรากฏว่าทุกหน่วยงานอย่างเช่น กฤษฎีกาบอกว่าไม่ควรมี พ.ร.บ. นี้ หรือ กระทรวงการคลังบอกว่าไม่ควรนำพื้นที่สูงมาเป็นป่าชุมชน “ทุกคนไม่อ่านกฎหมายดีๆ ว่าการที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ป่าชุมชนจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินนั้นก่อน ทุกคนไม่อ่านแต่ทุกคนมีหน้าที่นั่งกอดที่ดินตัวเอง ทั้งๆที่ไม่ใช่ที่ดินของเรา คือที่ดินของส่วนรวม เขาก็เขียนเอกสารมาว่าไม่เห็นด้วย พอไม่เห็นด้วยกฎหมายก็ชะงักเข้าสู่ ค.ร.ม. ไม่ได้”

ในขณะที่ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีความเห็นตรงกับขวัญชัยว่าข้อท้าทายของการคือปฏิรูปป่าไม้ไทยคืออำนาจในการตีความเนื้อหากฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

“ปัญหาของการร่างกฎหมายของไทยที่เป็นอยู่คือกฎหมายที่มีการร่างมาอย่างดีโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญากลับถูกแก้ไขในชั้นของกฤษฎีกา ซึ่งทำการแก้ไขไม่ใช่เพียงแค่ตัวกรอบวิธีการ แต่แก้ไขที่ตัวเนื้อหาด้วย จึงทำให้ผลของกฎหมายที่ออกมาไม่ตรงตามเจตนารมณ์ จะทำยังไงที่จะทำให้กระบวนการในการปรับแก้ กฎระเบียบไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรับรองก็ตามควรมีช่องทางที่แยกส่วนออกมาจากากกฤษฎีกาออกมา นี่คือหัวใจหลักสำคัญที่มันเป็นจระเข้ขวางคลองอยู่ตอนนี้ คือ กฤษฎีกา” ขวัญชัยกล่าว

สร้างพื้นที่ทดลองนำร่องก่อนร่างกฎหมาย


นอกจากนี้เขายังมองว่าการแก้กฎหมายจะแก้ทีละจุดไม่ได้ และบางครั้งอาจเกิดความเสียหาย หรือผลกระทบที่ไม่คาดหวังได้ ดังนั้นจึงเสนอว่าปฏิรูปกฎหมายควรเริ่มจากการสร้างแนวคิดบน “พื้นที่ทดลองนำร่อง” หรือการทำSandbox แล้วทดลองทำเหมือนการทดลองวาดภาพในพื้นที่นำร่องขึ้นมา หลังจากนั้นจึงค่อยถอดชุดประสบการณ์นี้ออกมาเป็นกฎระเบียบ และหลักกฎหมายที่บังคับใช้ในอนาคต

“เมื่อก่อนมันเป็นกฎระเบียบ เป็นบทบัญญัติ ปัจจุบันเราจะร่างกัน ก็มีข้อถกเถียง จนวงแตกกัน ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์กับเรื่องทรัพยากร ต้องมาเริ่มจากการทำของจริงให้ดูก่อน เรามาดูว่าใครที่ทุ่มเท ใครที่มีจิตสำนึกจริงๆ จะต้องแยกแยะและนำไปสู่การทดลองจริง ถึงจะปฏิรูปสำเร็จ“ ขวัญชัยย้ำ


เกริก มีมุ่งกิจ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม-เฟล็กที ยื่นข้อเสนอเสนอเพื่อการปฎิรูปป่าไม้ไทยเพื่อการปรับปรุงกฎหมาย ธรรมาภิบาล เเละการค้า ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หลังจากเสวนา เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม-เฟล็กที ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อการปฎิรูปป่าไม้ไทยเพื่อการปรับปรุงกฎหมาย ธรรมาภิบาล เเละการค้า ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาส่งเสริมสิทธิการใช้ไม้ของประชาชนและเกิดการปฏิรูปประเทศเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดยข้อเสนอสำคัญคือการสร้างมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมปลูกป่าและสร้างเศรษฐกิจจากฐานป่าไม้ สร้างความชัดเจนและการรับรองสิทธิการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม การลดความยุ่งยากและซับซ้อนของการจัดการและทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติสวนป่า รวมถึงสร้างความชัดเจนในการประสานงานและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เเละนําไปสู่การปรับปรุงธรรมาภิป่าป่าไม้ไทยที่มีความยั่งยืนจากการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.