Posted: 28 Dec 2017 09:18 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามี 'การกีดกันเพศหญิง' ในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ศาสนาที่กำลังเป็นข้อถกเถียงในโซเชียลมีเดียไทย ขณะเดียวกันในตะวันตกยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ก็มีการกีดกันผู้หญิงออกจากพื้นที่ศิลปะ แต่ก็มีกลุ่มสตรีเรียกร้องให้มีการนำภาพจากฝีมือศิลปินหญิงในยุคนั้นมาจัดแสดงในเมืองแห่งศิลปะอย่างฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ได้เป็นผลสำเร็จ

28 ธ.ค. 2560 คำว่า "จิตรกรชั้นครู" (Old Master) มักจะใช้เรียกขานศิลปินชายที่ได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะเท่านั้น ผู้สะสมศิลปะและพิพิธภัณฑ์ให้ความสนใจกับศิลปินหญิงน้อยมาก แม้ว่าในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือ "เรเนสซองส์" (Renaissance) ที่อิตาลีจะมีศิลปินหญิงที่มีความสามารถก็ตาม

อย่างไรก็ตาม จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยมกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เออิเก ชมิดต์ ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์อุฟฟิซี ในฟลอเรนซ์ นำภาพศิลปินหญิงที่ถูกซ่อนอยู่ในกรุผ่านยุคสมัยมานาน ออกมาจัดแสดงให้เห็นในเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น "แหล่งกำเนิดของเรเนสซองส์"

กลุ่มที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชมิดต์คือกลุ่มนักกิจกรรมศิลปะสตรีนิยม "กอริลาเกิร์ลส์" ที่เคยบอกกับชมิดต์ว่าพิพิธภัณฑ์จำนวนมากมีผลงานของศิลปินหญิงอยู่แต่มันถูกเก็บลืมอยู่ในโกดัง ทำให้ชมิดต์กลับไปค้นพบว่าพิพิธภัณฑ์ของเขามีผลงานของผู้หญิงช่วงก่อนยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 อยู่มากที่สุด และนำออกจัดแสดงเป็นครั้งแรก โดยเขายังมีแผนการจัดแสดงผลงานเหล่านี้ในวันที่ 8 มี.ค. ของทุกๆ ปี ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนมุมมองศิลปะในอดีตเท่านั้น ในฟลอเรนซ์ยังมีมูลนิธิเพื่อการพัฒนาศิลปินหญิง (AWA) ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 10 ปีที่แล้วโดย เจน ฟอร์จูน คนรักศิลปะผู้เคยเขียนหนังสือเรื่อง "ผู้หญิงไร้ตัวตน ศิลปินที่ถูกลืมแห่งฟลอเรนซ์" มูลนิธิของเธอตั้งขึ้นเพื่อพยายามฟื้นฟู กอบกู้ และอนุรักษ์ศิลปะของผู้หญิงในอดีต และบางครั้งก็มีการให้ทุนจัดแสดงถ้าเป็นไปได้

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา AWA ทำการฟื้นฟูศิลปะจากฝีมือศิลปินหญิงในประวัติศาสตร์มาแล้ว 40 ชิ้น แต่พวกเขาก็ยังคงมีปัญหาเรื่องทัศนคติของภัณฑารักษ์ที่มักจะถามกลับว่าทำไมต้องมีการฟื้นฟูศิลปะของศิลปินหญิงด้วย ลินดา ฟัลโคเน ผู้อำนวยการของ AWA บอกว่าศิลปินหญิงมักจะถูกหลงลืมจากประวัติศาสตร์แม้ว่าหลายคนจะประสบความสำเร็จมากในยุคสมัยของตัวเอง ในสมัยนั้นผู้หญิงที่อยากมีตัวตนในฐานะศิลปินมืออาชีพต้องพยายามประสบความสำเร็จในสมัยของเธอให้ได้

หนึ่งในจิตรกรหญิงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 คือ เพลาทิลลา เนลลี เธอเป็นแม่ชีที่มีความทะเยอทะยานทางศิลปะ ฟัลโคเนมองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญเพราะหญิงส่วนใหญ่ในยุคนั้นมักจะทำงานศิลป์ในสเกลเล็กมีแต่เนลลีที่สร้างผลงานสเกลใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์ไบเบิลชื่อ "The Last Supper" (เป็นคนละแบบกับฉบับของลีโอนาร์โด ดา วินชี) ที่มีขนาดยาว 21 ฟุต

ฟัลโคเนเล่าอีกว่าในยุคสมัยนั้นผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนหนังสือรวมถึงศิลปะทำให้เธอต้องฝึกฝนด้วยตนเอง อีกทั้งผู้หญิงยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมสมาคมศิลปิน ทำให้พวกเธอไม่สามารถแลกเปลี่ยนบริการเป็นเงิน

ชมิดต์บอกอีกว่าการจัดแสดงในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการนำเสนอผลงานของผู้หญิงในประวัติศาสตร์แล้วยังเป็นการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ศิลปะในตัวมันเองด้วย ชมิดต์เปิดเผยว่างานจัดแสดงได้รับการตอบรับที่ดีมีคนต่อคิวเข้าชมอย่างล้นหลาม และสิ่งที่ถือว่า "ประสบความสำเร็จ" สำหรับยุคสมัยนี้คือมีคนมาถ่ายเซลฟีกับผลงานเหล่านั้น


เรียบเรียงจาก

In Florence, they're bringing the works of women artists out of the basement, PRI, 22-12-2017
https://www.pri.org/stories/2017-12-22/florence-theyre-bringing-works-women-artists-out-basement


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Plautilla_Nelli

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.